Beautiful Pain – ศัลยกรรม ความงาม ผู้หญิง

ผู้คนมากมายและโดยเฉพาะผู้หญิง ยอมอดทนต่อความเจ็บปวดและความเสี่ยงรอบด้านที่อาจเกิดขึ้นได้จากการศัลยกรรม เพื่อให้ได้รับสิ่งตอบแทนที่คุ้มค่าอย่างความงามและประโยชน์อื่นๆ ที่จะตามมาจากการได้ครอบครองความงามเหล่านั้น

แต่การศัลยกรรมแท้จริงเริ่มขึ้นจากเหตุผลทางการแพทย์ เพื่อแก้ไขภาวะผิดปรกติต่างๆ ของร่างกายเรา

การทำศัลยกรรมในยุคแรกเริ่มมีขึ้นในช่วง 4,000 ปีก่อน เพื่อรักษาอาการผิดปกติทางร่างกายของมนุษย์ที่เป็นมาแต่กำเนิด เช่น การปลูกถ่ายผิวหนังของชาวอินเดียโบราณ การรักษาอาการปากแหว่งเพดานโหว่ การผ่าตัดขากรรไกรเพื่อแก้ปัญหาในช่องปาก รวมถึงการผ่าตัดเต้านมจากภาวะเต้านมโตในเพศชาย (Gynecomastia)

ในยุคกลางและยุคเรอเนซองส์ ซึ่งศาสตร์ด้านศัลยกรรมตกแต่งมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การทำศัลยกรรมได้ถูกยกระดับให้มีบทบาทสำคัญในการช่วยปรับปรุงรูปลักษณ์ภายนอกของทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากสงครามให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติในสังคมอีกครั้งจากปาฏิหาริย์ทางการแพทย์ จนหลายฝ่ายเริ่มมีแนวคิดที่จะประยุกต์เทคนิคการผ่าตัดมาใช้กับพลเรือนเมื่อสงครามสงบลง ซึ่งเป็นสาเหตุให้การทำศัลยกรรมตกแต่งและความงามเกิดขึ้นหลังจากนั้นเป็นต้นมา

ในปี 1921 (หลังจากการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในปี 1918) มีการก่อตั้งสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Society of Plastic Surgeons หรือ AAPS) เพื่อสร้างมาตรฐานและพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมการแพทย์ให้กับวงการศัลยกรรม และในปีเดียวกันนั้นเอง การประกวดนางงาม Miss America ก็เริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อเมริกา ซึ่งกระแสความตื่นตัวด้านความงามนี้ส่งผลให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นต้นกำเนิดของมาตรฐานความงามแบบตะวันตก รวมถึงครองตำแหน่งประเทศที่มีอัตราการทำศัลยกรรมสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบัน ศัลยกรรมเพื่อความงามเป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และเป็นเรื่องปกติในสังคมไม่ต่างจากการเสริมความงามรูปแบบอื่นๆ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ภายนอกและคงความเยาว์วัย

นัยหนึ่งอาจเป็นตอบสนองมาตรฐานความงามทั้งแบบตะวันตกและแบบตะวันออกที่มาจากมุมมองของเพศชาย (Male Gaze) ซึ่งถูกส่งผ่านสื่อในชีวิตประจำวัน เช่น ดารา นักแสดง โฆษณา การประกวดนางงาม และนิตยสาร แต่ในขณะเดียวการทำศัลยกรรมก็ถือเป็นสิทธิเหนือร่างกายของผู้หญิงที่มาจากการตัดสินใจของตัวเอง เพื่อทำให้รู้สึกรักในร่างกายและเพื่อความมั่นใจ โดยไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับผู้หญิงคนอื่นหรือกดดันอยู่ภายในกรอบความงามของผู้หญิงที่สังคมประกอบสร้างขึ้นมา

จากผลการสำรวจหลายชิ้นในต่างประเทศ พบว่าผู้หญิงที่ได้รับการทำศัลยกรรมมาแล้วส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีเพียงส่วนน้อยประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยังรู้สึกไม่พอใจกับผลลัพธ์ที่ออกมาภายหลังการศัลยกรรม จนตกอยู่ในอาการ Body Dismorphia Disorder (BDD) หรือโรคคิดหมกมุ่นเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตนเอง

เนื่องจากความเชื่อผิดๆ ที่ว่าการที่เขาหรือเธอเข้าใกล้บรรทัดฐานความงามของสังคมได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้ชีวิตมีความสุข เป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งถือเป็นความคาดหวังที่เกินจริงต่อการศัลยกรรม ทำให้เกิดความไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาของตนเองและเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า นอกจากนี้ กลุ่มคนที่เคยมีประวัติด้านอาการทางจิตก็มีโอกาสที่จะมีอาการ BDD ภายหลังการศัลยกรรมได้เช่นกัน ซึ่งต้องได้รับการรักษาเพื่อปรับความคิด ควบคู่ไปกับสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกายของตัวเองในเชิงบวก

จะเห็นได้ว่า การทำศัลยกรรมเพื่อความงามให้ปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจในระยะสั้นและระยะยาวภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีความสำคัญเป็นลำดับแรก เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ออกมาช่วยส่งเสริมความมั่นใจต่อผู้ทำมากที่สุด โดยปราศจากผลข้างเคียง

ทั้งนี้ ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์ต่างมีรูปลักษณ์ภายนอกที่มากมายแตกต่างกันออกไป ความงามของผู้คนก็ย่อมมีความหลากหลายแปรผันตามเอกลักษณ์ของแต่ละคนเช่นกัน ดังนั้นการนำเสนอภาพลักษณ์ความงามที่แตกต่างหลากหลายในสื่อ อุตสาหกรรมบันเทิงหรือวงการแฟชั่น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสื่อสารว่า โลกเรายอมรับในความหลากหลาย และความงามไม่จำเป็นต้องมีเพียงรูปแบบเดียว

References:

Elizabeth Haiken, Venus Envy A History of Cosmetic Surgery, (The Johns Hopkins University Press, 1999)

https://www.verywellhealth.com/the-history-of-plastic-surgery-2710193 The History of Plastic Surgery

https://www.bbc.com/news/magazine-35380469 A Point of View: Does cosmetic surgery really make people feel better about their bodies?

https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=27261 กรมสุขภาพจิต ห่วงคนไทยสมัยใหม่ป่วย “โรคบีดีดี”เพิ่ม

 

Written by Dusida Worrachaddejchai

 

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply