BODY WORLDs ฝากร่างกายไปเป็นงานศิลปะ!

  • นอกจากจะบริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่แล้ว เรายังสามารถบริจาคร่างกายเพื่อไปสร้างงานศิลปะได้ด้วยล่ะ
  • งานนิทรรศการกึ่งวิทย์กึ่งศิลป์ ดำเนินการโดยกุนเธอร์ ฟอน ฮาเกนส์ นักกายวิภาคชาวเยอรมันและทีมงาม ที่เอาร่างกายมนุษย์มารักษาสภาพด้วยกระบวนการพลาสติเนชั่น
  • แสดงไปเกือบจะทั่วโลกแล้ว ทั้งยุโรป อเมริกา โอเชียเนีย ขาดแค่เอเชียนี่ล่ะ

ตายแล้วไปไหน คำถามนี้อาจจะยังตอบยากไปสักหน่อย แต่ถ้าถามใหม่ว่า ตายแล้ว (ร่างกาย) ไปไหน หนึ่งในชอยส์ที่ตอบได้ คืออุทิศให้เป็นงานศิลปะไงล่ะ!)

ฟังดูอี๋ๆ ไปหน่อย ถ้าจะบอกว่างานศิลปะเหล่านี้สร้างจากศพมนุษย์ แต่ช้าก่อน มันไม่ได้สยองขวัญเหมือนโหลเด็กดองในห้องแล็บชีวะหรอกนะ เพราะศพในนิทรรศการบอดี้เวิร์ลส์ทุกสาขา ผ่านกระบวนการทำให้คงตัว และดัดแต่ง จนถ้าไม่บอก ก็แทบไม่รู้เลยว่าหุ่นจัดแสดงพวกนี้มาจากร่างกายคนจริงๆ

บอดี้เวิร์ลส์ (Body Worlds) เป็นนิทรรศการกึ่งวิทย์กึ่งศิลป์ ที่นำร่างกายของคนจริงๆ มาดัด จัด แต่ง ให้กลายเป็นงานศิลปะ บางทีก็มาทั้งตัว บางทีก็มาแค่เป็นส่วนๆ หรือเป็นอวัยวะชิ้นใดชิ้นหนึ่ง แต่มันก็ไม่ได้สยองดองโหลหรอกนะ เพราะชิ้นส่วนจัดแสดงเหล่านี้ ผ่านการรักษาสภาพด้วยเทคนิคพลาสติเนชั่น (Plastination) ซึ่งคิดค้นโดยดร.กุนเธอร์ ฟอน ฮาเกนส์ (Dr. Gunther von Hagens) นักกายวิภาคชาวเยอรมัน

เทคนิคพลาสติเนชั่น คือคือกระบวนการรักษาร่าง หรือชิ้นส่วนอวัยวะไม่ให้เน่าเปื่อย ด้วยการใช้ระบบสุญญากาศในการดูดของเหลวในร่างกายกับไขมันออกไป แล้วแทนที่ด้วยเรซิ่นและอีลาสโตเมอร์ (เป็นโพลิเมอร์แบบหนึ่ง) แล้วทำให้แห้งด้วยการฉายแสง ความร้อน หรือบ่มแห้งด้วยแก๊ส เพื่อให้อยู่ในสภาพนั้นถาวร โดยการจัดท่าทางของร่างกายเพื่อนำไปแสดงในนิทรรศการนั้น จะจัดโดยยึดหลักการทำงานของกายวิภาคจริงๆ เป็นหลัก ไม่ได้บิดดัดเอาตามในยังไงก็ได้ ผิวหนังจะถูกลอกออก เพื่อแสดงให้เห็นการทำงานของระบบกล้ามเนื้อตามสภาพที่ควรเป็นจริง

 

นิทรรศการบอดี้เวิร์ลส์มีทั้งแบบถาวรและหมุนเวียน พวกนิทรรศการถาวรจะปักหลักอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ในยุโรป โดยในเยอรมัน บ้านเกิดของนิทรรศการนี้ มีอยู่ด้วยกัน 3 เมือง คือ ไฮเดลเบิร์ก เบอร์ลิน และกูเบน ส่วนนอกประเทศก็จะมีอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ แล้วก็ซานโฮเซ่ สหรัฐอเมริกา แต่ละที่ก็จะมีธีมและไอเดียในการจัดงานที่ต่างกัน เช่น ที่ไฮเดลเบิร์กและอัมสเตอร์ดัม จะพูดถึงเรื่องความสุขกับสุขภาพจิตที่ส่งผลถึงร่างกาย ส่วนในกูเบนจะเป็นกึ่งแล็บ ให้ดูการทำงานและการรักษาร่าง ลอนดอนจะพูดถึงความงามที่อยู่ภายใน นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการหมุนเวียนที่พูดถึงเรื่องสัตว์ ก็จัดว่าเป็นแรร์ไอเท็มพอดูเหมือนกัน เพราะบอดี้เวิร์ลด์ค่อนข้างจะเน้นไปเรื่องคนเสียมากกว่า

ส่วนใครที่กำลังห่วงว่า แล้วร่างกายพวกนั้นมาจากไหนล่ะ! ก็ตอบกันตรงนี้ได้เลยว่าเป็นร่างกายของอาสาสมัครที่ลงชื่อบริจาคไว้ โดยจากข้อมูลของ The Institute for Plastination ที่ไฮเดลเบิร์ก ตอนนี้มีคนลงชื่อไว้แล้ว 18,183 คน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากประเทศเยอรมันนี่ล่ะ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ลงชื่อบริจาคจะได้กลายเป็นชิ้นงานจัดแสดงในนิทรรศการหรอกนะ เพราะบางส่วนเขาก็จะเอาไปรักษาสภาพ แล้วส่งไปเป็นสื่อการสอนในโรงเรียนแพทย์ล่ะ — แต่ใครที่สนใจจะร่วมโปรเจกต์นี้ ก็ต้องขอแสดงความเสียใจด้วย เพราะทาง The Institute for Plastination รับแต่ร่างกายที่อยู่ในยุโรปและอเมริกาเท่านั้น แต่ไม่เป็นไรนะ เพราะโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทยก็ยังต้องการอาจารย์ใหญ่อยู่ไม่น้อยเลยล่ะ

References:

  1. https://bodyworlds.com/plastination/bodydonation
  2. http://travelantics.co.uk/index.php/2016/09/12/the-faces-of-happiness
  3. https://bodyworlds.com/plastination/developments
  4. https://bodyworlds.com/exhibitions
  5. https://bodyworlds.com/plastination/plastination-technique/https://bodyworlds.com/about/faq

Written by Yanynn

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply