จาก Dear Ex ถึง A Boy and Sungreen : สองเรื่องราวที่ถูกร้อยเรียงผ่านครอบครัวที่ไม่สัมพันธ์กับคำว่าเกย์

*** บทความนี้มีการสปอยล์เนื้อหาของภาพยนตร์ Dear Ex (2018, Lee Sung-yong) และ A Boy and Sungreen(2019, Ahn Ju Young) ***

 

ในสังคมทุกวันนี้เราคงไม่ต้องมานั่งเถียงกันแล้วว่า เกย์คือสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ ชายรักชายเป็นสิ่งที่สมควรหรือเปล่า เพราะในปัจจุบันก็มีเรื่องราวมากมายที่ถูกบอกเล่าต่างเป็นข้อพิสูจน์ว่าการจะรักใครสักคนนั้น เพศสภาพมันไม่ใช่ข้อจำกัดแต่อย่างใด 

แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงถูกตั้งคำถามต่อจากความรักก็คือ หากการค้นพบว่าตัวเองเป็นเกย์ นั้นเกิดขึ้นในขณะที่เรากลายเป็นหัวหน้าครอบครัวและพ่อคนแล้วล่ะ มันถูกต้องหรือไม่? แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอยู่แล้วหากคุณจะนอกใจภรรยาและทิ้งลูก เพื่อไปคบหาชายคนอื่นในฐานะชู้ แต่มันก็ไม่ถูกต้องเช่นกันหากเขาจะไม่สามารถรักใครสักคนได้เพราะถูกจำกัดความรู้สึกด้วยคำว่า ครอบครัวและลูก

แน่นอนว่าความเจ็บปวดเหล่านี้เกิดขึ้นจากฝั่งคนที่ค้นพบตัวเองเท่านั้น ทั้งภรรยาและลูกรวมถึงคนรักอีกคนก็ต่างได้รับผลกระทบเช่นกัน และถ้าหากยังนึกไม่ออกว่าปัญหาที่พูดถึงไปนั้นจะส่งผลกับพวกเขาอย่างไรบ้าง NYLON ก็ขอชวนไปดูเรื่องราวของครอบครัวเหล่านี้ผ่านหนังดราม่า ทั้ง 2 เรื่อง ได้แก่ Dear Ex (2018,Lee Sung-yong) และ A Boy and Sungreen (2019,Ahn Ju Young) กัน

 

 A Boy and Sungreen ไม่ใช่พ่อเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เปลี่ยนไป

ผลงานจาก ลี ซุง ยง (Lee Sung-yong) ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ ที่ว่าด้วยเรื่องราวของ โบฮี เด็กชายอารมณ์อ่อนไหววัยประถมผู้ใช้ชีวิตอยู่กับแม่ เนื่องจากผู้เป็นพ่อประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ตามคำบอกเล่าของแม่ ด้วยอารมณ์ที่อ่อนไหวและท่าทีที่อ้อนแอ้น ทำให้เขาไม่มีเพื่อนคนไหนคบหาด้วยเลย นอกเสียจากซังรีน หญิงสาวผู้เกิดวันเดียวกันกับโบฮี และเคยช่วยเหลือเขาจนกลายมาเป็นเพื่อนสนิทในที่สุด 

ช่วงต้นของหนังได้บอกเล่าถึงเรื่องราวประจำวันของโบฮี ที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายไม่หวือหวาอะไร ยกเว้นเสียแต่ว่าความคิดถึงของพ่อของเขาที่ยังคงตามหลอกหลอนอยู่เสมอ นั่นจึงเป็นเหตุให้เขาเริ่มสืบเรื่องราวของพ่อที่ถูกตัดตอนไปในวัยเด็ก และพบว่าความจริงคือพ่อเขานั้นยังมีชีวิตอยู่ 

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ หลังจากโบฮีเริ่มออกตามหาของพ่อเขานั้น จะมีอยู่ 1 คำถามที่โบฮีถูกถามตลอดเวลาว่า จะตามหาพ่อไปทำไม? ไม่กลัวว่าจะเสียใจหรอถ้าพบว่าพ่อไม่ได้รักแล้ว? แต่สิ่งที่โบฮีกับเลือกที่จะตอบกลับไปคือ จะไปหาพ่อนั้นต้องมีคำถามว่า “ทำไม” ด้วยเหรอ? ซึ่งจากบริบทนี้มันช่วยสะท้อนปมปัญหาที่อยู่ในใจของโบฮีว่า การเกิดมาของเขามันทำให้ครอบครัวแตกแยกหรือไม่? แต่สุดท้ายเรื่องราวทั้งหมดก็ถูกเฉลยในความจริงที่ว่า ที่พ่อของโบฮีทิ้งครอบครัวไป เพียงเพราะพ่อเขานั้นได้รักผู้ชายอีกคน และไม่สามารถอยู่กับพวกเขาในฐานะ พ่อ ได้อีกต่อไป 

แต่ถึงอย่างนั้น พ่อของโบฮียังคงรักเขาอย่างหมดหัวใจ สังเกตได้จากภาพยนตร์ทุกเรื่องที่พ่อของเขากำกับจะมีตัวละครชื่อว่าโบฮี เป็นพระเอกอยู่เสมอ มันจึงนำไปสู่ข้อสงสัยที่ชวนให้เราคิดต่อไปอีกว่า หรือแท้จริงแล้วสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาอย่างคำว่า ครอบครัว มันจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยตัดเส้นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก รวมไปถึงพ่อกับแม่ ให้ขาดจากกันอีกด้วย? 

ทำความเข้าใจกับคำว่า คู่ชีวิต ที่ไม่ได้รวมอยู่กับคำว่า ครอบครัว ผ่านภาพยนตร์เรื่อง Dear Ex

Dear Ex คือภาพยนตร์ดราม่าจากประเทศไต้หวันงานกำกับ ชิ้น เย่น ซู (Chih-Yen Hsu) ที่พูดถึงเรื่องราวของคำว่าครอบครัวและความรักได้อย่างแยบยล ซ่งเฉินซิ่น คือเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่พ่อและแม่แยกทางกัน โดยสาเหตุก็เพราะพ่อเขาพบว่าตัวเองเป็นเกย์และได้หนีตามคนรักอย่าง เกาอวี้เจี๋ย ซึ่งมันส่งผลให้ ซ่งเฉินซิ่น มีปมภายในใจเกี่ยวกับการถูกทอดทิ้งและยังเกิดปัญหาบาดหมางกับหลิวซานเหลียน แม่ของเขาอีกด้วย

ซึ่งหากอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ทุกคนคงจะโบ้ยความผิดให้ไปทาง เกาอวี้เจี๋ย  ที่ทำให้ครอบครัวนี้ต้องพังอย่างแน่ แต่สุดท้ายหนังก็กลับพลิกด้วยความจริงที่ว่า พ่อของซ่งเฉินซิ่นและเกาอวี้เจี๋ยนั้น รักใคร่กันมาเป็นเวลานานก่อนที่จะมีครอบครัวเสียด้วยซ้ำ แต่ด้วยเหตุผลทางสังคมจึงทำให้เขาต้องละทิ้งความรู้สึกทั้งหมดและไปใช้ชีวิตในฐานะหัวหน้าครอบครัวแทน 

ถึงตรงนี้คำถามตัวใหญ่ที่สุดในบทความนี้คงเป็นคำถามที่ว่า สุดท้ายแล้วการมีครอบครัวคือสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ในสังคมปัจจุบัน เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่กักขังและคอยทำร้ายความรู้สึกของทุกฝ่ายผ่านหนังทั้งสองเรื่องกลับเป็นสถานะครอบครัว ที่พ่อต้องเป็นผู้ชาย แม่ต้องเป็นผู้หญิง ซึ่งหากจะถามถึงการแก้ปัญหาคงต้องไปคุยกันต่อถึงเรื่องกฏหมาย การแต่งงาน ความเชื่อ อีกจำนวนมาก สิ่งสำคัญที่เราได้เห็นจากหนังเรื่องนี้คือ มุมมืดเล็กๆ ที่เป็นช่องว่างระหว่างความรักและครอบครัว สะท้อนให้เราเห็นเป็นอยู่ระยะอย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้นเอง

Written by  Kithanai Jongaijuk