Femme Fatale และสาวๆ มือสังหารของเทพมรณะ

  • ในโลกนิยายแฟนตาซียุคกลางที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ก็มีตัวละครสาวๆ ประเภท Independent Female Character เป็นตัวเอกด้วยเหมือนกัน
  • นวนิยายไตรภาค เรื่องราวของสามสาวจากอารามนางชีแห่งเซนต์มอร์เทนที่ต้องออกไปปฏิบัติภารกิจเพื่อพิทักษ์แคว้นบริตตานีแผ่นดินเกิด ให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของฝรั่งเศสที่หมายมั่นจะฉวยโอกาสช่วงผลัดแผ่นดินใหม่ ยึดเอามาเป็นของตัวเองให้ได้
  • ตัวละครหญิงที่เป็นตัวเอก ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดไว้ว่าต้องเป็นนางเอก เก่งกาจแค่ไหนก็ยังมีพลาดท่าให้ชายรูปงาม (?) มาช่วยเหลือ แต่พวกเธอเหล่านี้ นอกจากจะไม่ต้องให้ใครมาช่วยแล้ว ยังต้องไปช่วยหนุ่มๆ เสียอีก!

 

ฟามม์ ฟาทาล เป็นคำที่ไว้ใช้เรียกตัวละครสาวๆ โหดแซบ แบบที่ทั้งลึกลับ ฉลาด อันตราย และทรงเสน่ห์อย่างร้ายกาจ พลังอำนาจของพวกเธอไม่ได้โดดเด่นในแบบที่จะออกไปต่อยตีกับตัวร้ายอย่างเจ้าแม่สายบู๊ แต่อยู่ที่การใช้ความเป็นหญิงให้เป็นประโยชน์ จนสามารถล้มคนที่มีอำนาจเหนือกว่าได้สบาย (?) พอๆ กับธานอสดีดนิ้ว

แล้วจะมีสาวๆ แบบไหนเหมาะกับคำจำกัดความ ฟามม์ ฟาทาล ได้เท่าสาวๆ มือสังหารอีกล่ะ!

His Fair Assassin โดย โรบิน ลาฟีเวอร์ส (Robin LaFevers) หรือ ยอดหญิงมือสังหาร ตามชื่อฉบับแปลไทยโดยสำนักพิมพ์มิวส์ (Muse Publishing) (ซึ่งไปออกบูธในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ วันที่ 17 ถึง 28 ตุลาคม 2561 นี้ด้วย #F05)  เป็นนวนิยายไตรภาค เซ็ตติ้งในฝรั่งเศสยุคกลาง เกี่ยวกับสามสาวในสำนักชี ที่มีหน้าที่เป็นมือสังหารของเทพแห่งความตาย

ทำไมสำนักนางชีถึงมีเทพล่ะ ก็ต้องเล่ากันก่อนว่า ในสมัยกลางนั้น การศาสนาคริสต์แผ่อิทธิพลไปได้มากนั้น ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการบวชเอาเทพของพวกเพแกน หรือเทพในศาสนาพื้นถิ่นต่างๆ มาเป็นนักบุญในศาสนาคริสต์เสีย จะได้ไม่เกิดการต่อต้าน แล้วก็น้อมรับคำสอนได้ง่าย มอร์เทน เทพแห่งความตาย ก็เลยกลายเป็นเซนต์มอร์เทนไปด้วยประการนี้

เรื่องเริ่มต้นที่เล่ม Grave Mercy หรือ มรณะประกาศิต เมื่ออิสเม นางชีจากอารามแห่งเซนต์มอร์เทนต้องเข้าไปแฝงตัวในราชสำนักบริตตานี ที่เป็นแคว้นอิสระในอิทธิพลของฝรั่งเศส เพื่อตามหาคนทรยศ และช่วยให้ดัชเชสวัยสิบสี่ขึ้นครองบัลลังก์ให้สำเร็จจงได้ และ Dark Triumph หรือ ลิขิตสังหาร ก็เป็นเรื่องที่เริ่มต้นเหลื่อมซ้อนกับช่วงปลายของมรณะประกาศิต เมื่อซีเบลล่า ถูกส่งให้เข้าไปช่วยภารกิจของอิสเมอีกทางหนึ่ง ซึ่งยากลำบากไม่แพ้กัน

ยอดหญิงมือสังหารมีส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างนิยายอิงประวัติศาสตร์ (คืออ้างอิงจากยุคสมัยที่มีอยู่จริงนะ แต่ไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด) นิยายสืบสวน นิยายการเมือง กับนิยายรัก นิด นิดดด พอให้กระชุ่มกระชวยหัวใจ

การดำเนินเรื่องที่พลิกผันไปมา แผนที่วางไว้กลับไม่เป็นไปอย่างใจ อุปสรรคขวากหนามและความยากลำบาก เหล่านี้ต่างเผยอีกมุมหนึ่งของสาวๆ ที่นอกจากจะใช้เสน่ห์และความงามของตัวเองเป็นเครื่องล่อหลอก แสร้งว่าไร้กำลังและความคิดเพื่อแทรกซึมแล้ว ยังผลักให้ต้องรีดเร้นความสามารถและสติปัญญาออกมากันจนเต็มพิกัด ทั้งเพื่อเอาตัวรอด และทำภารกิจให้สำเร็จลุล่วงอีก

ทั้งที่เป็นนิยายเน้นการชิงไหวชิงพริบทางการเมือง และมีตัวละครเอกฝ่ายชายที่อยู่ในฐานะที่มีอำนาจเหนือกว่า แต่บทบาทของตัวละครหญิงอย่างอิสเมและซีเบลล่ากลับโดดเด่น และสามารถขับเคลื่อนตัวเองไปได้โดยไม่ต้องพึ่งพาแรงส่งและการยอมรับจากตัวละครชายเลยสักนิด พวกเธอเป็นอิสระ เคลื่อนไหวด้วยเจตจำนง และสติปัญญา พวกเธอจึงมีพลังอำนาจในฐานะตัวละครเอกโดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับเพศอย่างสมบูรณ์

นอกจาก femme fatale แล้ว สื่อบันเทิงตะวันตกก็ยังมีคำเรียกตัวละครสาวๆ แนวนี้อีกหลายคำเลยล่ะ เช่น ดราก้อนเลดี้ (dragon Lady) ที่ใช้เรียกสาวๆ เอเชียตะวันออก โดยเฉพาะโซนจีนและญี่ปุ่น ที่มีความแข็งแกร่ง ลึกลับ เปี่ยมอำนาจดั่งนางพญามังกร  หรือ กันมอลล์ (gun moll) ที่ใช้เรียกอาชญากรหญิง ที่จับคู่กับพาร์ทเนอร์ชายก่อคดีร่วมกัน อย่างคู่รักนักปล้น บอนนี่ พาร์กเกอร์ (Bonnie Parker) กับไคลด์ บาร์โรว์ (Clyde Barrow)

References

  1. Beyond the bestsellers: Robin LaFevers’s “His Fair Assassin” trilogy
  2. Readery
  3. Readery

Written by Yanynn

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply