greenie in a bottle


Terrarium หรือสวนขวดแก้วไม่ใช่ เรื่องใหม่ และได้รับความนิยมมาตั้งแต่ ในยุค 1860’s สมัยวิคตอเรีย ที่ขณะนั้น สวนขวดแก้วเปรียบเหมือนสัญลักษณ์ แสดงถึงความเป็นผู้ดี ต่อมาในยุคดิจิทัล ที่พื้นที่ทุกตารางเมตรถูกยึดครองด้วย คอนกรีตและตึกสูง สวนขวดแก้วที่ตั้งอยู่ข้างคอมพิวเตอร์บนโต๊ะจึงเปลี่ยนสถานะเป็นตัวบ่งบอกว่า ‘เราโหยหาธรรมชาติ มากแค่ไหน’

 

 
ธีรัตน์ พัฒนะพราหมณ์ หรือเอ็ม ชายหนุ่มวัย 24 ปี ที่เรียนจบด้านสถาปัตยกรรม จากมหาวิทยาลัยรังสิต ได้แรงบันดาลใจในการทำสวนขวดแก้วจากการจัดวินโดว์ดิสเพลย์ของร้าน Hermès ในกรุงโตเกียว โดยฝีมือของอาซุม่า มาโกโตะ (Azuma Makoto) ศิลปินและนักออกแบบชาวญี่ปุ่นผู้ชอบสร้างสรรค์งานศิลปะเกี่ยวกับต้นไม้ “ตอนนั้นผมเห็นเขาจัดต้นบอนไซ ดอกไม้และพรรณไม้ต่างๆ ใส่ไว้ในขวดแก้ววางเรียงบนชั้น พอเรากลับมาก็ลองมาทำเล่นดูเรื่อยๆ” ธีรัตน์เล่าถึงจุดเริ่มต้นให้ฟังซึ่งย้อนเวลากลับไปเกือบหนึ่งปี จากการลองประดิษฐ์สวนขวดแก้วเล่นๆ และถ่ายภาพลงเฟซบุ๊ก จนหลายคนเกิดความชื่นชอบในผลงานและนำมาสู่การทำเพื่อจำหน่าย “ช่วงแรกๆ ก็ทดลองเลี้ยงดูก่อน หาต้นไม้โน่นนี่มาใส่แล้วแซมด้วยมอส ปรากฏว่าต้นไม้ตายแต่มอสยังอยู่ เลยคิดว่าใช้มอสมาปลูกอย่างเดียวดีกว่า” นอกจากการรีเสิร์ชหาข้อมูลในการทำสวนขวดแก้วที่มีมายาวนานแล้ว ธีรัตน์ยังศึกษาเรื่องการปลูกเลี้ยงมอส รวมถึงการปรับรูปแบบต่างๆ ให้ทันสมัยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงของขวดแก้วหรือการใส่โมเดลคนและสัตว์ขนาดจิ๋วไว้ข้างใน ซึ่งสร้างชีวิตชีวาให้กับสวนขวดแก้วได้มากทีเดียว

 

 
ชื่อแบรนด์ ‘Theerarium’ เป็นการผสมคำระหว่าง ‘Terrarium’ กับชื่อจริงของเขา ‘ธีรัตน์’ โดยในขณะนี้ยังจำหน่ายผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊กเท่านั้น แต่เจ้าตัวก็เปรยว่ากำลังมองหาทำเลที่จะเปิดร้านของเขาเอง “ในขวดแก้วจะแบ่งออกเป็นสามชั้นใหญ่ๆ คือวัสดุรองพื้น วัสดุปลูก และต้นไม้ ซึ่งทุกอย่างต้องเก็บกักความชื้นได้ดี เพราะมอสต้องอยู่ในระบบนิเวศที่มีความชื้น” สวนขวดแก้วถือว่าเป็นโลกแห่งธรรมชาติที่เหมาะกับคนเมือง เพราะดูแลง่าย ไม่ต้องรดน้ำบ่อย แค่อย่าให้ระดับน้ำลดลงไปจากขีดที่กำหนดไว้บนขวด ธีรัตน์บอกว่าข้อดีของสวนขวดแก้วคือสามารถใช้ไอน้ำที่ระเหยขึ้นมากลับไปใช้ใหม่ได้ “ในการสั่งทำแต่ละครั้ง ลูกค้าต้องระบุว่าอยากได้ไซส์ไหน เล็ก กลาง ใหญ่ สำหรับให้เป็นของขวัญหรือใช้แต่งบ้านเอง อยากได้โมเดลเป็นแบบไหน เป็นเพื่อนๆ คู่รัก ครอบครัว จะให้คนใส่ชุดสีอะไร หรือชอบสัตว์ประเภทไหนก็บอกได้หมด ส่วนมอสเราก็เลือกใช้หลายชนิด หลายสายพันธุ์ ให้เหมาะสมตามลักษณะรูปทรงของขวด เพื่อให้มีเลเยอร์และระดับความสูงที่ต่างกันไป แต่มอสทั้งหมดที่เลือกใช้จะไม่โตสูงขึ้นไปกว่าขวด” ธีรัตน์อธิบาย

 

 
สวนขวดแก้วภายใต้แบรนด์ Theerarium มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 1,500 บาท จนเหยียบหลักหมื่น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของขวดแก้ว ธีรัตน์บอกว่าเขาใช้เวลาทำต่อขวดเพียง 30 นาทีจนถึง 1 ชั่วโมง เพราะทำบ่อยจนชำนาญ “ผมต้องตระเวนหาซื้อมอสทุกอาทิตย์ เพื่อให้ได้ของที่ยังสดใหม่ เพื่อไม่ให้ส่งถึงมือลูกค้าแล้วมอสใกล้ตาย แต่เราก็มีบริการหลังการขาย ในกรณีที่ถ้าส่งไปถึงมือลูกค้าและมอสกลายเป็นสีเหลืองเราก็ยินดีเปลี่ยนให้ แต่ทั้งนี้เราพยายามบอกลูกค้าเสมอว่าต้องดูแลรักษาให้ดีด้วย” หลังจากที่ลูกค้าสั่งซื้อแล้ว ต้องไปรับสินค้าเองที่ร้านขายสัตว์เลี้ยงของพี่ชายในตลาดนัดสวนจตุจักร จะไม่มีการจัดส่งทางไปรษณีย์ เพราะเสี่ยงต่อการเสียหาย

 

 
ธีรัตน์กล่าวทิ้งท้ายว่าเขายังไม่คิดที่จะเปลี่ยนมาใช้พืชพรรณอื่นๆ เพราะอยากให้สวนขวดแก้วของ Theerarium มีมอสเป็นพระเอก ถึงทุกวันนี้จะเริ่มมีออเดอร์เข้ามามากขึ้นทุกวัน แต่ธีรัตน์ก็ยังลงมือทำสวนขวดแก้วทุกขั้นตอนด้วยตัวเองในห้องพักบนคอนโดสูงกลางใจเมืองหรือนี่จะเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เขาได้อิ่มเอมใจไปกับการสร้างสรรค์โลกแห่งจินตนาการสีเขียวในขวดแก้ว… ไม่ต่างจากคนที่ได้รับ

 

facebook.com/theerarium

theerarium@gmail.com

 

เรื่อง: ณัฐวุฒิ แสงชูวงษ์

ภาพ: ปวีณ์ธิดา ธัญญศิริ

 

 

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply