Katherine Johnson… หญิงสาวผู้ส่งคนถึงดวงจันทร์ในวันที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์

  • แคทเธอรีน จอห์นสันเป็นนักคณิตศาสตร์หญิงผิวสีที่ทำงานให้กับองค์การนาซา ผลงานชิ้นโบว์แดงของเธอคือ คำนวณวิถีโคจรที่ส่งมนุษย์ออกไปโคจรในอวกาศ และได้รับความไว้วางใจจากจอห์น เกล็นน์ นักบินอวกาศคนสำคัญของสหรัฐฯ ให้ตรวจสอบวิถีโคจรที่ประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์
  • แคทเธอรีนจบการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และภาษาฝรั่งเศสเมื่ออายุ 18 ปี เคยทำงานเป็นครูในโรงเรียน เป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่มหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนียรับเข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา แต่ต้องลาออกก่อนเนื่องจากมีลูก
  • แคทเธอรีนร่วมทำงานกับศูนย์วิจัยแลงลีย์ในปี 1953และเกษียณในปี 1986 โดยทำงานให้กับองค์การการบินและอวกาศสหรัฐเป็นเวลา 33 ปี เธอได้รับเหรียญ Medal of Freedom เมื่ออายุ 97 ปี และมีการนำรูปลักษณ์และประวัติของเธอไปทำตุ๊กตาบาร์บี้เป็นแรงบันดาลใจด้วย

เคยจินตนาการกันบ้างไหมว่า ในวันที่เรายังไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ที่มีหน่วยความจำและความเร็วสูงอย่างทุกวันนี้ คนเราเมื่อหลายสิบปีก่อนใช้อะไรคำนวณระยะทาง ความเร็ว และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งคนไปสู่ห้วงอวกาศและดวงดาวในจักรวาลอันไกลโพ้น คำตอบก็คือ ก็คนนี่แหละ และหนึ่งในกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังในการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ในยุคแรกเริ่มของการสำรวจอวกาศก็เป็นผู้หญิงผิวสีอีกด้วย พวกเธอบางคนไม่เป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ กระทั่งภาพยนตร์เรื่อง Hidden Figures ออกฉาย ชื่อของผู้หญิงผิวสีที่ซ่อนเร้นอยู่หลังเล่มบันทึกประวัติศาสตร์จึงค่อยเป็นที่รู้จักมากขึ้น หนึ่งในนั้นมีชีวิตอยู่จนอายุครบ 100 ปี ในปี 2018 นี้ และบริษัทแมทเทลได้เลือกเธอให้เป็นหนึ่งในตุ๊กตาบาร์บี้ชุด Inspiring Woman หรือผู้หญิงซึ่งเป็นแรงบันดาลใจอีกด้วย เธอคนนั้นก็คือ แคทเธอรีน จอห์นสัน นี่เอง

แคทเธอรีน จอห์นสันเป็นอัจฉริยะทั้งด้านวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ก็ว่าได้ เธอฉายแววว่ามีความสนใจด้านตัวเลขตั้งแต่ยังเด็ก เริ่มจากการนับจำนวนของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว เธอเป็นคนเรียนรู้เร็วถึงขนาดที่สามารถเข้าศึกษาระดับมัธยมปลายเมื่ออายุ 10 ขวบ และจบมหาวิทยาลัยด้วยเกียรตินิยมทั้งในสาขาคณิตศาสตร์และภาษาฝรั่งเศสเมื่ออายุ 18 ปี

แคทเธอรีนเป็นผู้หญิงผิวสีคนแรกที่ได้เข้าศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาร่วมกับนักศึกษาผิวขาวในยุคที่มีการกีดกันทางสีผิวและเชื้อชาติอย่างเข้มข้น ในขณะที่มหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนียตัดสินใจดำเนินการลดการกีดกันแบบเงียบ ๆ เธอเป็นหนึ่งนักศึกษาผิวสีสามคนที่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนีย แต่เรียนได้ไม่นานก็ต้องลาออก เพราะในเวลานั้น เธอแต่งงานกับเจมส์ โกเบิล (James Goble) และตั้งครรภ์ จึงเลือกให้ความสำคัญกับลูกและครอบครัวก่อน และทำงานเป็นครูสอนหนังสือในโรงเรียน

ในปี 1952 ญาติของแคทเธอรีนแจ้งข่าวให้ทราบว่าจะมีการเปิดรับนักคณิตศาสตร์เข้าทำงานในฐานะ ‘คอมพิวเตอร์มนุษย์’ ที่ศูนย์วิจัยแลงลีย์ของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการอวกาศแห่งชาติ หรือ NACA (National Advisory Committee of Aeronautics) หรือองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือองค์การนาซา (National Aeronautics and Space Administration หรือ NASA) ในปัจจุบัน แต่ในปีนั้นยังไม่มีตำแหน่งเปิด แคทเธอรีนและเจมส์ สามีของเธอตัดสินใจพาลูกสาวอีกสามคนย้ายไปทำงานที่นิวพอร์ตนิวส์เพื่อแคทเธอรีนจะได้มีโอกาสทำงานในหน่วยงานที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์และเธอจะได้ใช้ความสามารถในงานของเธออย่างเต็มที่ และในช่วงฤดูร้อนปี 1953 แคทเธอรีน จอห์นสันก็ได้ทำงานในศูนย์วิจัยแลงก์ลีย์ ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรหญิงผิวสีอีกสองคน คือ โดโรธี วอห์นและแมรี่ แจ็คสัน

ทำงานได้เพียงสองสัปดาห์ แคทเธอรีนก็ได้รับมอบหมายให้ไปทำงานในแผนกวิจัยการบินและทำงานในแผนกนี้นานถึงสี่ปี ก่อนได้รับมอบหมายงานคำนวณวิถีวงโคจรของแคปซูลอวกาศที่จะส่งออกไปนอกโลก ซึ่งในเวลานั้น สหรัฐตามหลังสหภาพโซเวียตอยู่ก้าวหนึ่งในการส่งมนุษย์ไปยังอวกาศ หลังโซเวียตส่งยูริ กาการิน นักบินอวกาศคนแรกไปกับยานสปุตนิก

ถึงจะเป็นผู้หญิงและเป็นคนผิวสี แต่ในปี 1962 แคทเธอรีนก็ได้รับความไว้วางใจจากนักบินอวกาศของสหรัฐ คือ จอห์น เกล็นน์ (John Glenn) ให้คำนวณวิถีโคจรของยานอวกาศที่จะส่งเขาออกไปเดินทางรอบวงโคจรของโลกอีกครั้ง หลังจากมีการใช้คอมพิวเตอร์ในการประมวลผล แม้จะสามารถคำนวณได้อย่างรวดเร็วแต่ก็อาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เกล็นน์จึงบอกกับทางศูนย์วิจัยว่า “ให้เธอคนนั้น (แคทเธอรีน) มาคำนวณสิ ถ้าเธอบอกว่าดีแล้ว ผมก็พร้อมจะออกเดินทาง” การเดินทางสู่อวกาศครั้งนั้นก็เป็นไปด้วยดีและส่งให้ชื่อของแคทเธอรีนเป็นที่รู้จัก อีกทั้งเป็นเหตุการณ์ที่เธอยังประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้

แคทเธอรีนทำงานด้านการวิจัยเกี่ยวกับการเดินทางในอวกาศมาตลอดจนกระทั่งเกษียณในปี 1986 ตลอดระยะเวลา 33 ปีที่ทำงานที่แลงลีย์ เธอกล่าวว่า เธอดีใจที่ได้มาทำงานทุกวัน และผลงานของเธอก็ทำให้เธอได้รับรางวัล Medal of Freedomในปี 2015 ซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุดที่มอบให้แก่พลเรือน และแคทเธอรีนยังคงมีชีวิตอยู่จนอายุครบ 100 ปีในปี 2018

อย่างที่เธอพูดเอาไว้ “ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ แนวคิดเกี่ยวกับการเดินทางสู่อวกาศเป็นเรื่องใหม่และท้าทาย ไม่มีตำราเล่มไหนเขียนเอาไว้ ฉะนั้น เราจึงต้องเขียนมันขึ้นมา” … ไม่ใช่เพียงแต่การเดินทางสู่อวกาศที่เธอเป็นหนึ่งในคนที่ใช้สมองและสองมือคำนวณออกมา เธอยังเป็นผู้เขียนหน้าสำคัญในบันทึกประวัติศาสตร์เทคโนโลยีด้านอวกาศที่มีเธออยู่ในนั้นอีกด้วย

Sources:

– Katherine Johnson Biography

แคเทอรีน จอนสัน: หญิงสาวผู้อยู่เบื้องหลังการแข่งขันทางอวกาศ

9 Fascinating Facts About Katherine Johnson

Katherine Johnson, Trailblazing NASA Mathematician, Celebrates 100 Trips Around the Sun

Barbie® Inspiring Women™ Series Katherine Johnson Doll

Katherine Johnson, who hand-crunched the numbers for America’s first manned space flight, is 100 today

Written by Piyarak

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply