Nellie Bly นักข่าวสาวกับ 10 วันในโรงพยาบาลจิตเวช

  • เนลลี่ บลายเป็นนามปากกาของนักข่าวหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายไอริชที่เริ่มต้นจากการเป็นคอลัมนิสต์ด้านข่าวสังคม
  • เธอเป็นนักข่าวหญิงที่เลือกจะทำในสิ่งที่แตกต่างด้วยการทำข่าวเจาะลึกจากประสบการณ์จริงของตัวเอง ด้วยการพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานที่และสถานการณ์ที่ต้องการข้อมูล
  • เนลลี่แกล้งทำเป็นคนวิกลจริตเพื่อให้ตัวเองถูกส่งไปยังโรงพยาบาลจิตเวชที่มีคำร่ำลือเรื่องความโหดร้าย เธอทำสำเร็จและนำความจริงมาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ และสิ่งที่เธอทำก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโรงพยาบาลนั้นด้วย

‘เนลลี่ บลาย’ (Nellie Bly) เป็นนามปากกาของเอลิซาเบธ ค็อคเครน ซีแมน (Elizabeth Cochrane Seaman, 1864-1922) เป็นนักข่าวหญิงชาวอเมริกันที่สร้างตำนานด้านสื่อสารมวลชนโดยเฉพาะข่าวแนวสืบสวนสอบสวนที่ถึงลูกถึงคนชนิดที่เอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงเพื่อให้ได้ความจริงมาตีแผ่ วีรกรรมสำคัญของเนลลีคือการรับคำท้าจากบรรณาธิการและแฝงตัวเข้าไปในโรงพยาบาลรักษาคนวิกลจริตและนำความจริงเรื่องคนไข้ถูกทารุณกรรมออกมาเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้

เนลลี่เป็นลูกสาวของชายชาวอเมริกันเชื้อสายไอริชที่อพยพมาอยู่ในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา พ่อของเธอเสียชีวิตเมื่อเธออายุได้หกปี แม่พาเธอและลูก ๆ ที่มีอยู่หลายคนย้ายไปพิตส์เบิร์ก เธอได้เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยม แต่ไม่นานก็ต้องลาออกเนื่องจากปัญหาทางการเงินของครอบครัว และกลับมาช่วยแม่บริหารจัดการบอร์ดดิ้งเฮาส์หรือบ้านให้เช่าที่เจ้าของบ้านพักอาศัยอยู่ด้วยและดูแลเรื่องอาหารการกินและความสะอาดให้ แม้จะไม่ได้เรียนต่อ แต่เนลลี่ก็ไม่เคยละทิ้งเรื่องการเขียนหนังสือและการแสดงความคิดเห็น

วันหนึ่ง เธอได้เขียนจดหมายไปถึงบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์พิตส์เบิร์กดิสแพตช์เพื่อแสดงความไม่พอใจที่หนังสือพิมพ์เสนอข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงในด้านลบ จดหมายของเธอทำให้บรรณาธิการประทับใจในสำนวนและประเด็นที่เฉียบคมของเธอจนไม่เพียงแต่นำข้อความในจดหมายของเธอไปตีพิมพ์เท่านั้น เขายังชักชวนเธอให้มาทำงานเป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์ด้วย เธอตอบรับและใช้นามปากกว่า ‘เนลลี่ บลาย’

ในสมัยนั้น นักข่าวหญิงมักจะได้รับมอบหมายให้เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับบ้าน งานสังคม การทำสวน เมื่อทำงานไปได้พักใหญ่ เธอก็เริ่มเบื่อ จึงตัดสินใจทำสิ่งที่คนอื่นไม่เคยทำมาก่อน ด้วยอายุเพียง 21 ปี เนลลีเดินทางไปเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่เม็กซิโก เธออยู่ที่นั่นครึ่งปี และเขียนหนังสือหกเดือนในเม็กซิโก รวมถึงตีแผ่เรื่องที่นักข่าวท้องถิ่นของเม็กซิโกถูกจำคุกเพราะทำข่าววิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเผด็จการภายใต้การปกครองของปอร์ฟิริโอ ดิอาซ และก่อนที่ทางการของเม็กซิโกจะทันทำอะไร เนลลีก็หนีกลับมาสหรัฐอเมริกาได้อย่างปลอดภัย

วิญญาณนักข่าวของเนลลีทำให้เธอไม่คิดจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ จากพิตส์เบิร์กและเม็กซิโก เธอมุ่งหน้าสู่นิวยอร์กและสมัครเข้าทำงานกับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กเวิร์ลด์ของโจเซฟ พูลิตเซอร์ (ผู้ก่อตั้งรางวัลพูลิตเซอร์) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ชื่อดังในยุคนั้น และเสนอว่าเธอจะเขียนบทความเกี่ยวกับชีวิตของผู้อพยพที่เดินทางเข้ามาในสหรัฐอเมริกา แต่ทางหนังสือพิมพ์ปฏิเสธ บรรณาธิการยื่นข้อเสนอใหม่ให้เธอว่า ถ้าเธอสามารถทำข่าวสืบสวนหาความจริงเกี่ยวกับโรงพยาบาลจิตเวชที่มีชื่อเสียงโด่งดังด้านลบอย่างโรงพยาบาลจิตเวชแบล็คเวลล์ได้ ทางหนังสือพิมพ์จะยินดีรับเธอเข้าทำงาน แน่นอนที่สุด เธอรับข้อเสนอนั้น

หลังจากตกลงว่าจะทำข่าวสืบสวนให้กับทางนิวยอร์กเวิร์ลและได้รับคำแนะนำจากบรรณาธิการว่าเธอน่าจะลองเข้าไปอยู่ในสถานที่และสถานการณ์จริงดู เนลลี่ก็วางแผนพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลแบล็คเวลล์ เธอลงทุนเช่าห้องพักรวมและเลียนแบบพฤติกรรมของคนสติไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นการเดินแบบไม่มีจุดหมายไปตามถนน ไม่ยอมนอนหลับพักผ่อน กรีดร้องโดยไม่มีสาเหตุ ทำอยู่หลายวันจนเจ้าของบ้านเช่าเชื่อว่าเธอมีอาการทางจิตจริง ๆ และเรียกตำรวจมาพาตัวเธอไป เนลลี่แสดงให้เห็นว่าเธอเป็นคนต่างด้าวจากคิวบาและมีปัญหาความจำเสื่อม ผู้พิพากษาที่พิจารณาคำร้องให้พิจารณาสถานะของเธอว่าเป็นคนวิกลจริตวินิจฉัยให้ส่งตัวเธอไปยังโรงพยาบาลจิตเวชเบลล์วิว ที่นั่นเธอพบว่าคนไข้ต้องกินอาหารที่บูดเสียแล้ว และเมื่อเธอแสดงให้เห็นว่าตัวเองมีอาการหลงลืมอย่างหนัก ทำให้เธอถูกส่งตัวต่อไปยังสถานพยาบาลสำหรับสตรีวิกลจริต (Women’s Lunatic Asylum) บนเกาะแบล็คเวลล์ ซึ่งเป็นเป้าหมายการทำข่าวของเธอในที่สุด

เมื่อเข้าไปอยู่ที่นั่น เนลลี่พบว่าชีวิตในโรงพยาบาลจิตเวชที่แบล็คเวลล์โหดร้ายกว่าคำที่คนทั่วไปร่ำลือกันเสียอีก เพราะเธอพบว่า เจ้าหน้าที่ที่ทำงานที่นั่นมีความรู้ทางการแพทย์น้อยมากและแทบไม่มีความเมตตา คนไข้หญิงที่ไปอยู่ที่นั่นต้องอาบน้ำเย็นทั้งเสื้อผ้าและถูกปล่อยทิ้งไว้ทั้งที่ยังเปียกอยู่ ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ตามมา บางครั้งคนไข้ก็ถูกบังคับให้นั่งเฉย ๆ ห้ามพูดคุยหรือลุกไปในเป็นเวลาถึงสิบสองชั่วโมง อาหารสำหรับผู้ป่วยก็เลวร้าย เพราะมีทั้งเนื้อเน่า อาหารขึ้นรา และขนมปังเหม็นหืน น้ำสำหรับอุปโภคบริโภคก็ปนเปื้อนไม่สะอาด มีบางคนถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่ใช่สิ่งที่น่าย่ำแย่ที่สุด เพราะความจริงที่ทำให้เนลลี่ต้องตกใจก็คือ ผู้หญิงหลายคนที่ต้องอยู่ที่นั่นไม่ได้เป็นโรคจิต ทว่าต้องมาอยู่ในสถานที่แห่งนี้เนื่องจากความยากจนเท่านั้นเอง นอกจากนี้ สภาวะเลวร้ายและการปฏิบัติต่อคนไข้อย่างทารุณของโรงพยาบาลจิตเวชหญิงที่แบล็คเวลล์ทำให้คนที่ป่วยอยู่แล้วยิ่งป่วยหนักขึ้นไปอีก

ครบสิบวัน บรรณาธิการก็หาทางช่วยนำตัวเนลลี่ออกมาจากสถานพยาบาลดังกล่าว เธอเริ่มเขียนบทความตีแผ่ชีวิตของผู้ป่วยที่แบล็คเวลล์ หนังสือพิมพ์ตีพิมพ์บทความของเธอและประสบการณ์ในโรงพยาบาลโรคจิตเวชของเธอก็กลายเป็นที่สนใจอย่างกว้างขวาง มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทางโรงพยาบาลรู้ตัวก็รีบปรับเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ของคนไข้ แต่ก็ไม่ทัน เพราะทางคณะกรรมการตรวจสอบเห็นพ้องกับข้อค้นพบของเนลลี่ สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ หน่วยงานที่สนับสนุนด้านเงินทุนเพิ่มงบประมาณให้สถานพยาบาลหนึ่งล้านดอลลาร์หรือเทียบเท่ากับยี่สิบสี่ล้านดอลลาร์ในปัจจุบันเพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ การดูแลคนไข้ และอาหารต่าง ๆ ให้ดีขึ้น และไล่เจ้าหน้าที่ที่มีความผิดออก

เรียกได้ว่าการทำข่าวของเนลลี่ไม่เพียงแต่ทำให้เธอกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงและนักข่าวแนวหน้า แต่ยังทำให้ชีวิตของคนจำนวนมากที่ขาดโอกาสได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าไม่น้อยเลยทีเดียว

 

References

Nellie Bly, Girl Reporter https://daily.jstor.org/nellie-bly-girl-reporter/

Nellie Bly https://www.womenshistory.org/education-resources/biographies/nellie-bly

Inside Nellie Bly’s 10 Days in a Madhouse https://www.biography.com/news/inside-nelly-bly-10-days-madhouse

Nellie Bly’s Lessons in Writing What You Want To https://www.newyorker.com/books/page-turner/nellie-blys-lessons-in-writing-what-you-want-to

How Nellie Bly went undercover to expose abuse of the mentally ill https://www.pbs.org/newshour/nation/how-nellie-bly-went-undercover-to-expose-abuse-of-the-mentally-ill

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply