Oh My MUSE (1 / 2 ): มิวส์คือใคร

พอพูดถึงมิวส์ หรือ Muse คอเพลงร็อกทั้งหลายน่าจะนึกถึงวงร็อกชายล้วนจากเกาะอังกฤษ หรือสายอาร์ทหน่อย ก็คงจะคิดถึงคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินสร้างงานต่างๆ — ใกล้เคียงแล้วล่ะ! เพราะบทความวันนี้จะมาเล่าถึงที่มาของมิวส์กัน

ตามตำนานกรีก มิวส์คือเทพีผู้มอบแรงบันดาลในให้ศิลปินแขนงต่างๆ มีทั้งหมด 9 นาง (ซึ่งก็มีบางตำนานเหมือนกัน ที่บอกว่ามิวส์มีแค่ 3 นาง แต่ส่วนใหญ่ที่รู้จักกันในปัจจุบันจะเป็น 9 นางมากกว่าน่ะ) ตำนานที่เก่าแก่ที่สุดของเหล่ามิวส์มาจากแคว้นบีโอเชีย (Boeotia) ของกรีกโบราณ แต่บางสายของนักวิชาการก็เชื่อว่ามันไม่ใช่ตำนานกรีก แต่น่าจะมาจากชนเผ่าทราเชียน (Thracian) ซึ่งเป็นพวกอินโดยูโรเปียนที่อยู่ทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรปมากกว่า

เรื่องของมิวส์เวอร์ชั่นที่รู้จักกันที่สุดก็คือของเฮสิโอดและโฮเมอร์ ซึ่งสองคนนี้เป็นกวีกรีก และสันนิษฐานว่าเกิดร่วมยุคเดียวกัน ได้บอกไว้ว่าเหล่าเทพีมิวส์เป็นลูกสาวของซุส (อีกแล้ว!) กับนีโมซิเน (Mnemosyne)

มิวส์มีอำนาจทั้งสนับสนุน ช่วยให้เกิดการสร้างสรรค์ ให้จินตนาการ แล้วก็แรงบันดาลใจกับศิลปิน ดังนั้น กวีสมัยโบราณเละจะเขียนถึงมิวส์ในตอนต้นของงาน เป็นเชิงอ้อนวอน หรือขอพร อย่างโฮเมอร์เอง ก็เปิดเรื่องด้วยการเขียนถึงมิวส์ทั้งนั้นมหากาพย์อีเลียด และโอดิสซี ขอให้ช่วยนำทางเขา ให้เขียนเรื่องนี้ออกมาได้ดีที่สุด อย่างที่มันควรจะเป็นด้วยเถอะ ถ้าเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมตะวันออก ก็น่าจะคล้ายคลึงกับการไหว้ครูก่อนเริ่มงานใหญ่ๆ กันอยู่ (นักเขียนนักวาดคนไหนไรเตอร์บล็อก อาร์ตบล็อกกันบ่อยๆ ลองวิธีนี้กันบ้างดีไหม)

อันที่จริง จะบอกว่าเหล่ามิวส์เป็นบุคลาธิษฐานของความรู้และศิลปะ โดยเฉพาะวรรณคดี นาฏศิลป์ และดนตรี ซึ่งเป็นศิลปะแขนงสำคัญในยุคนั้นก็พอจะได้อยู่นะ

 

(ประติมากรรมรูปเทพีคลีโอ (Clio) หนึ่งในมิวส์ โดย ฮิวโก้ คอฟแมน (Hugo Kaufmann) ประติมากรชาวเยอรมัน)

 

แน่นอนว่ามีกัน 9 นาง แบบนี้ ก็ต้องมีทั้งชื่อเรียกแล้วก็สาขาที่ตัวเองอำนวยพรให้ด้วย และเนื่องจากสมัยยังเป็นรูปตัวดำตัวแดง (Black-figure และ Red-figure) บนภาชนะกรีก หน้าตาพวกนางก็ออกจะดูยากสักหน่อย เพราะงั้นก็เลยต้องมีพร็อพประจำตัวไว้ให้ไอเด็นติฟายกันด้วย ส่วนใครจะถืออะไร ก็ตามนี้เลย

  • คลีโอ (Clio) มิวส์สายประวัติศาสตร์ เชื่อว่าเป็นผู้คิดค้นการเขียนประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่จะได้เห็นนางถือแคลเรียน (Clarion – แตรโบราณ) ในมือขวา และหนังสือ หรือม้วนกระดาษในมือซ้าย

  • ยูเทอร์พี (Euterpe) มิวส์สายดนตรี กวี และการแต่งเพลง เป็นผู้คิดค้นเครื่องดนตรีหลายสิ่งอย่าง มีพร็อพประจำตัวเป็นฟลูต ขลุ่ยโบราณ หรือไม่ก็แพนไปป์

  • ธาเลีย (Thalia) มิวส์สายละครสุขนาฏกรรม (Comedy) เป็นคนคิดค้นละครสุขนาฏกรรม เรขาคณิต สถาปัตยกรรมศาสตร์ แล้วก็เกษตรศาสตร์ แล้วก็เป็นผู้พิทักษ์การสนทนาปรัชญาหรือซิมโพเซียม (Symposium) ด้วย พร็อพประจำตัวของธาเลียคือหน้ากากละครสุขนาฏกรรมกับไม้เท้าคนเลี้ยงแกะ

  • เมลโพมินี (Melpomene) มีสุขนาฏกรรมแล้ว ก็ต้องมีโศกนาฏกรรม (Tragedy) เป็นของคู่กัน เมลพอมินีเป็นมิวส์แห่งละครโศกนาฏกรรม เป็นผู้สร้างละครโศกนาฏกรรมและศาสตร์แห่งการพูดโน้มน้าว มักจะได้เห็นนางถือหน้ากากละครโศกนาฏกรรมคู่กับไม้ตะบองหรือดาบ

  • เทิร์ปสิคอเร (Terpsichore) มิวส์ประจำสายนาฏศิลป์ เป็นผู้ประดิษฐ์การร่ายรำ พิณฮาร์ป แล้วก็ระบบการศึกษา เราจะรู้ว่ามิวส์นางนี้คือเทิร์ปสิคอเรได้จากพิณฮาร์ป มาลัยลอเรล แล้วก็กิริยาร่ายรำของนาง

  • เอราโต (Erato) มิวส์สายบทกวีเกี่ยวกับความรักและความรัก แล้วก็การแต่งงานด้วย พร็อพประจำตัวคือพิณไลร์ (Lyre – พิณโบราณ มักเอาไว้ใช้เวลาขับลำนำ ร่ายกลอน หรือประกอบพิธีทางศาสนา)

  • โพลิฮิมเนีย (Polymnia) มิวส์แห่งเพลงสดุดี เป็นผู้คิดค้นระบบไวยากรณ์และเรขาคณิต พร็อพประจำตัวคือผ้าคลุมศีรษะ (Veil) และมักจะเงยหน้าขึ้นมองฟ้า

  • ยูราเนีย (Ourania) มิวส์แห่งดาราศาสตร์ ดวงดาว เป็นผู้ปกป้องดวงดาวและเทหะวัตถุบนฟ้า มักจะถือลูกโลกไว้ บางครั้งก็เป็นเข็มทิศ

  • แคลลิโอพี (Calliope) หัวหน้าแห่งมิวส์ มิวส์แห่งมหากาพย์ ตำนาน ผู้นำทางราขาหรือเจ้าชายไปสู่ความยุติธรรมแล้วความสงบสุข พร็อพประจำตัวคือมาลัยลอเรลและแผ่นจารึก

 

 

(ภาพแกะสลักนูนสูง รูปมิวส์ บนโลงหิน จากพิพิธภัณฑ์ลูร์ฟ)

 

นอกจากตำนานสายหลักแล้ว ในเมืองเดลฟี ที่ขึ้นชื่อเรื่องเทพยากรณ์ก็ยังมีมิวส์ในแบบของตนเองด้วยล่ะ แต่เวอร์ชั่นนี้จะมีแค่ 3 นางเท่านั้นนะ คือเนเท (Nete) เมเซ (Mese) แล้วก็ไฮปาเต (Hypate) ซึ่งเป็นชื่อของคอร์ดทั้งสามของพิณไลร์ด้วย

 

ในแอนิเมชั่นเรื่องเฮอร์คิวลีส (1997) ของดิสนีย์ก็มีการเอามิวส์มาใช้เหมือนกันนะ แต่ตัดมาแค่ 5 นางล่ะ ก็คือ ธาเลีย คลีโอ แคลลิโอพี เมลโพมินี แล้วก็เทิร์ปสิคอเร

 

พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า อ้าว แล้วทำไมตอนนี้ถึงเรียกกันแต่มิวส์ๆ ไม่เรียกแยกองค์ แถมยังไม่ค่อยดังเหมือนเทพกรีกองค์ย่อยๆ อีก อันนี้ก็เป็นผลมาจากช่วงเรเนซองส์กับนีโอคลาสสิกเขาล่ะ ที่พยายามจัดระเบียบ แล้วก็รวมมิวส์ทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียวไป

 

References:

https://www.britannica.com/topic/Muse-Greek-mythology

https://owlcation.com/humanities/The-Muses-The-Nine-Muses-Goddesses-of-Greek-Mythology

https://www.greekmyths-greekmythology.com/nine-muses-in-greek-mythology/

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply