Oh My MUSE (2 / 2): ใครคือมิวส์?

ในบทความตอนก่อนหน้า เราก็ได้พูดถึงว่ามิวส์เป็นใครกันไปแล้ว (summary: มิวส์นี้ไม่ใช่วงร็อกจากอังกฤษ แต่เป็นเทพีในตำนานกรีก ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินแต่ละแขนง) แต่นอกจากความหมายของเทพีแล้ว เรายังมีมิวส์ที่เป็นคนจริงๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินด้วยเหมือนกัน

 

ถ้าลองสังเกตงานศิลปะในยุคก่อนๆ (หรืองานโมเดิร์นอาร์ท) ดู จะเห็นว่ามีศิลปินบางคนที่ใช้นางแบบคนเดิมๆ ไม่ค่อยเปลี่ยนเป็นเวลานานๆ ไม่ใช่ว่าเขาขี้เกียจหานางแบบใหม่หรอกนะ แต่เพราะว่าพวกเธอเหล่านั้นคือคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้เขายังไงล่ะ!

ก่อนอื่น ต้องขอออกตัวก่อนว่า บทความนี้ออกจะหนักข้างไปทางศิลปินชายและมิวส์หญิงของเขาสักนิด เนื่องจากผลงานที่ถูกบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ศิลป์ส่วนใหญ่เป็นของศิลปินชาย (โดยนักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาย) และโลกของศิลปะยุคก่อนจะถึงโพสท์โมเดิร์นถูกขับเคลื่อนด้วยความชายเป็นใหญ่ บทบาทของผู้หญิงในแง่ศิลปินเลยได้รับการกล่าวถึงน้อยนิดนึงนะ

(นอกเรื่อง: ใครสนใจเรื่องศิลปินหญิง แนะนำหนังสือวิชาการ อ่านสนุก ชื่อ ศิลปินหญิงในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก โดย อ.ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล จ้ะ)

บทบาทของผู้หญิงในโลกศิลปะก่อนหน้านี้ หากไม่เป็นศิลปิน (ที่มีโอกาสได้ปรากฏตัวอย่างน้อยนิด) ก็จะเป็นนางแบบ เป็นแรงบันดาลใจ หรือ มิวส์ ให้เหล่าศิลปินชายทั้งหลาย — มิวส์ในเซนส์ของแรงบันดาลใจศิลปินนี้ไม่ใช่เพียงให้แรงบันดาลใจเหมือนเวลาเราอาบน้ำแล้วปิ๊งไอเดียเด็ดๆ แต่เป็นอะไรที่ลงลึกไปมากกว่านั้น เป็นแรงใจ เป็นแพสชั่น เป็นแรงขับดันให้เขาสร้างผลงานที่ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก บ่อยครั้ง มิวส์จึงไม่ใช่แค่นางแบบ แต่เป็นดราฟต์แรกของความสมบูรณ์แบบที่จับต้องได้และอยู่ใกล้ตัวศิลปิน

ใครเป็นมิวส์ได้บ้าง? — มิวส์ของศิลปินที่ถูกบันทึกไว้มีทั้งนางแบบที่ให้แรงบันดาลใจ (ส่วนจะมีความสัมพันธ์เบื้องหลังอะไรอย่างไรนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง) เพื่อน คู่รัก ณ ขณะนั้น ภรรยา ไปจนถึงชู้รักที่ออกหน้าออกตากันเลยล่ะ เรียกได้ว่าต้องมีสายสัมพันธ์ทางใจที่เชื่อมกันแบบหนึ่งถึงจะเห็นเป็นมิวส์ได้

 

(The Kiss – Gustav Klimt)

 

อย่างเช่น กุสตาฟ คลิมท์ (Gustav Klimt) ศิลปินชาวออสเตรียสายซิมโบลิสม์ เจ้าของผลงานศิลปะที่คนมักจะจดจำได้จากสีทองวิบวับ เช่นภาพ The Kiss ที่อยู่ด้านบนนี้ ก็มีมิวส์ที่ได้รับการบันทึกชื่อไว้เช่นกัน เธอคนนั้น คือ เอมีเลีย ฟลูเก (Emilie Flöge)

เอมีเลียเป็นช่างตัดเย็บ และแฟชั่นดีไซเนอร์ชาวออสเตรีย ผลงานของเธอค่อนข้างจะล้ำยุค จนเรียกได้ว่ามาก่อนกาลไปไม่น้อย เธอสนิทสนมกันดีกับคลิมท์ เป็นเพื่อนที่ใกล้ชิดกัน — ไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาเป็นอะไรต่อกันมากกว่านั้นหรือเปล่า แต่สาวๆ ในผลงานหลายชิ้นของคลิมท์ก็ปรากฏลักษณะที่ดูคล้ายเอมีเลีย เมื่อเอาไปเทียบกับรูปพอตเทรตของเธอที่เขาวาดในปี 1902 อยู่

 

(Emilie Flöge – Gustav Klimt)

 

(Ophelia – John Everett Millais)

 

ถัดจากออสเตรียก็ขอข้ามมาทางเกาะอังกฤษบ้าง รูปด้านบนนี้หลายคนอาจคุ้นๆ หรืออย่างน้อยก็อาจผ่านสายตาจากผลงานคอลลาจของคุณนักรบ มูลมนัสมาบ้าง ภาพนี้คือ โอฟีเลีย โดย จอห์น เอเวอร์เร็ตต์ มิลเลส์ ศิลปินในกลุ่มพรีราฟาเอลไลต์ (Pre-Raphaelite Brotherhood) นั่นเอง นางแบบในภาพนี้คือเอลิซาเบธ ซิดดัล (Elizabeth Siddal) หรือที่รู้จักกันในชื่อลิซซี่ คือภรรยาของดังเต้ เกเบรียล รอสเซ็ตติ (Dante Gabriel Rossetti) ศิลปินและกวีมีชื่อในสมัยวิคตอเรียน แต่เหนืออื่นใด เธอเป็นแรงบันดาลใจ เป็นนางแบบ เป็นมิวส์ให้กับศิลปินอีกหลายคนในช่วงเวลานั้น ถึงขนาดที่ว่าเมื่อเธอเสียชีวิต วาดภาพ Beata Beatrix ที่อ้างอิงจากวรรณกรรมเรื่อง Divine Comedy (ที่เรามักจะรู้จักแค่พาร์ท Dante’s Inferno) ซึ่งเป็นคนรักของดังเต้ที่อยู่ในนรก อุทิศให้เลยล่ะ

 

(The Beloved (‘The Bride’) – Dante Gabriel Rossetti)

 

(Beata Beatrix – Dante Gabriel Rossetti)

 

(Saskia van Uylenburgh as Flora – Rembrandt)

หรือแม้แต่ศิลปินในศิลปะสมัยเก่า อย่างเรมบรันท์ (Rembrandt) ผู้เป็นศิลปินเอกในยุคทองของดัทช์ (เทียบเวลากันแล้ว ก็จะใกล้ๆ กับบาโร้กของอิตาลี) และเป็นที่รู้จักจากภาพ The Night Watch ก็มีมิวส์ที่คนใกล้ตัวอย่างภรรยาของตนเองเหมือนกัน นั่นก็คือซัสคียา ฟาน ยูอีเลนเบิร์ก (Saskia van Uylenburgh) เธอปรากฏเค้าโครงอยู่ในหลายภาพของเรมบรันท์ รวมถึง ถ้าพิจารณารูปพอตเทรตหลายรูปของเธอดีๆ จะพบว่าเรมบรันท์ใส่ใจกับการลงรายละเอียด และกิริยาอันนุ่มนวลของภาพ และความละมุนละไมของการลงสีมากทีเดียว

 

จะพอเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตัวศิลปินกับมิวส์ มีทั้งด้านที่เปิดเผย ชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็มีส่วนที่อธิบายได้ยาก ซ่อมเร้น ปกปิด บางครั้ง มันก็คงจะยากจะอธิบายเหมือนกัน ว่าทำไมเมื่อเราคิดถึงคนคนนี้ หรือเพียงเห็นหน้าคนคนนั้น ความปรารถนาที่จะสร้างงานศิลปะถึงพวยพุ่งขึ้นมาอย่างห้ามไม่อยู่ และไม่สามารถชะลอหรือปิดกั้นแรงขับนั้น จนกว่าจะได้ระบายมันออกมาเป็นงานเหมือนกัน — แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เหล่ามิวส์ที่ถูกยกมาเหล่านี้ ก็เกิดจากการสืบเสาะแสวงหาของเหล่านักประวัติศาสตร์ศิลป์ทั้งสิ้น เพราะศิลปินหลายคนไม่ค่อยจะยอมรับตรงๆ สักเท่าไหร่ว่าแรงบันดาลนี้ใครเป็นผู้มอบให้มา ซึ่งก็น่าเสียดายไม่เบา เพราะนอกจากจะทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์มีแง่มุมใหม่ๆ เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการให้เครดิตพวกเธอ ผู้อยู่หลังความสำเร็จของเขาเหล่านั้นกันอีกด้วย

 

Ref:

https://www.tate.org.uk/art/artworks/millais-ophelia-n01506

https://theculturetrip.com/europe/france/articles/10-astonishing-muses-who-deserve-a-place-in-art-history/

https://www.theartstory.org/blog/examining-the-muse/

https://www.theguardian.com/artanddesign/artblog/2008/jun/02/theroleoftheartistsmuse 

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply