Robert Liston สุดยอดศัลยแพทย์ เจ้าของตำนานตัดทีเดียวตายสาม

  • การผ่าตัดในสมัยก่อนที่จะมีการใช้ยาสลบ ความเร็วในการผ่าตัดเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้คนไข้เสียเลือดน้อย ไม่ต้องทรมานกับความเจ็บปวดยาวนาน และมีอัตราการรอดสูง แต่อัตราการตายระหว่างการผ่าตัดและผลข้างเคียงก็ยังมีอยู่ดี
  • โรเบิร์ต ลิสตัน ศัลยแพทย์ชาวสก็อตแลนด์ ขึ้นชื่อว่าเป็นศัลยแพทย์ที่มีความไวในการตัดขาหรืออวัยวะของคนไข้มากที่สุดในเวสต์เอนด์ ลอนดอน โดยใช้เวลาเพียงสองนาทีครึ่งเท่านั้น
  • แม้จะเป็นศัลยแพทย์ที่เก่ง แต่ลิสตันก็เคยทำผิดพลาดจนทำให้มีคนตายเพราะการผ่าตัดครั้งนั้นถึงสามคนเลยทีเดียว

ในยุคที่การแพทย์ยังไม่ก้าวหน้าและพัฒนาเหมือนในปัจจุบันนี้ การรักษาด้วยการผ่าตัดในยุคก่อนที่จะมีการใช้ยาสลบเรียกได้ว่า เป็นการรักษาที่ชี้เป็นชี้ตายและทำให้คนไข้ทนทุกข์ทรมานระหว่างการรักษามากพอตัว เพราะการผ่าตัดหรือการตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต เป็นการผ่าตัดแบบดิบ ๆ โดยไม่ใช้ยาชาหรือยาสลบ ความรวดเร็วในการผ่าตัด โดยเฉพาะการตัดอวัยวะนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาชีวิตคนไข้ ไม่ให้เจ็บปวดมากเกินไป โดยเชื่อว่าจะทำให้เสียเลือดน้อยกว่าค่อย ๆ ทำ และมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม โอกาสที่คนไข้จะตายภายหลังจากการผ่าตัดหรือการตัดอวัยวะออกก็ยังคงมีอยู่จากการติดเชื้อหลังการผ่าตัด เพราะอุปกรณ์การผ่าตัดและห้องที่ใช้ผ่าตัดนั้นไม่สะอาดเพียงพอ หรือด้วยสาเหตุอื่น เช่น ตกใจหรือเจ็บปวดจนช็อก เป็นต้น

หากไม่นับเรื่องโอกาสตายหลังผ่าตัดซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ณ เวลานั้น ศัลยแพทย์ที่สามารถลงมือผ่าตัดตั้งแต่ต้นจบจบกระบวนการได้รวดเร็วที่สุดถือว่าเป็นสุดยอดศัลยแพทย์ และถ้าพูดถึงศัลยแพทย์ชื่อดังในยุคก่อนมีวิสัญญีแพทย์ ก็ต้องมีชื่อของ นายแพทย์โรเบิร์ต ลิสตัน (Robert Liston, 1794-1847) อยู่ด้วยเสมอ

โรเบิร์ต ลิสตันเกิดที่สก็อตแลนด์ ได้รับการศึกษาด้านแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ (University of Edinburgh) และได้รับการศึกษาเพื่อเป็นศัลยแพทย์ในลอนดอน ก่อนจะกลับไปทำงานที่สก็อตแลนด์อีกครั้งโดยได้รับมอบหมายให้สอนวิชากายวิภาคศาสตร์แก่นักศึกษาแพทย์ด้วย นายแพทย์ลิสตันทำงานเป็นศัลยแพทย์และอาจารย์สอนกายวิภาคอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนย้ายมาทำงานในลอนดอน ประเทศอังกฤษในปี 1934 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์และเป็นสมาชิกของราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ และชื่อเสียงของลิสตันก็เป็นที่รู้จักกันในนาม “มือมีดที่ว่องไวที่สุดในเวสต์เอนด์ สามารถตัดขาคนไข้ได้ภายในเวลาเพียงสองนาทีครึ่ง”

แม้ว่าความรวดเร็วจะเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำหน้าที่ศัลยแพทย์ในยุคนั้น แต่บางครั้งสิ่งที่ตามมาพร้อมกับความรวดเร็วก็คือความผิดพลาด สุดยอดศัลยแพทย์อย่างโรเบิร์ต ลิสตันเองก็มีประวัติความผิดพลาดที่เป็นตำนานกล่าวขานมาจนถึงวันนี้เช่นกัน

ถึงจะมีสถิติเสียคนไข้ไปเพราะการผ่าตัดน้อยกว่าคนอื่น คือ หนึ่งในสิบ ในขณะที่แพทย์คนอื่น ๆ เสียคนไข้เพราะการผ่าตัดโดยเฉลี่ยแล้วหนึ่งในสี่ แต่มีครั้งหนึ่งที่ลิสตันทำลายสถิติของตัวเองและคนอื่นในด้านอัตราการรอดชีวิตของคนไข้ เพราะการผ่าตัดในครั้งนั้นมีอัตราการตายสูงถึง 300 เปอร์เซ็นต์ หรือพูดง่าย ๆ ว่า ผ่าตัดครั้งเดียวมีคนตายเพราะการผ่าตัดครั้งนั้นไปถึงสามคนเลยทีเดียว

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการตัดขาคนไข้รายหนึ่ง ซึ่งการผ่าตัดโดยไม่ใช้ยาสลบนั้นจำเป็นจะต้องมีผู้ช่วยแพทย์คอยจับตัวและอวัยวะที่จะตัดไม่ให้ขยับเขยื้อนระหว่างการผ่าตัด และในหลายกรณีก็จะเปิดให้บุคคลอื่น ๆ เช่น แพทย์รายอื่นที่สนใจและนักศึกษาแพทย์เข้ามาดูการผ่าตัดด้วย กรณีนี้ก็เช่นกัน

การผ่าตัดครั้งนั้นประสบผลสำเร็จ ลิสตันใช้เวลาในการตัดขาคนไข้ไปเพียงสองนาทีครึ่ง แต่เพราะความรีบร้อนทำให้ลิสตันไม่ทันดูให้ดี มีดผ่าตัดจึงเฉือนใส่นิ้วมือของแพทย์ผู้ช่วยคนหนึ่งเข้า และมีดยังไปทิ่มใส่เสื้อแจ็คเก็ตของนายแพทย์คนหนึ่งที่สังเกตการณ์การผ่าตัดอยู่ใกล้ ๆ นั้นด้วย ผลที่ตามมาก็คือ นายแพทย์ที่ถูกมีดแทงใส่เสื้อนั้นตกใจมากและเสียชีวิตในเวลาต่อมาด้วยอาการหัวใจวาย ส่วนคนไข้และผู้ช่วยแพทย์ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาเพราะติดเชื้อบาดทะยัก เป็นอันว่าการผ่าตัดครั้งนั้นกลายเป็นที่จดจำในฐานะการผ่าตัดที่มีคนตายมากที่สุดในคราวเดียวถึงสามคน

แม้ว่าจะเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดและเป็นผลลัพธ์ที่ไม่คาดฝัน แต่ลิสตันก็เป็นที่จดจำในฐานะศัลยแพทย์ผู้คิดค้นอุปกรณ์การผ่าตัดหลายอย่างที่ยังคงมีใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น bulldog forceps สำหรับหนีบหลอดเลือดเพื่อหยุดยั้งการเสียเลือดมากเกินไป รวมถึงเป็นผู้บุกเบิกเทคนิคการผ่าตัดรูปแบบใหม่ ๆ และเขียนตำราด้านศัลยกรรมกับบทความทางวิชาการอีกหลายเรื่อง นอกจากนี้ โรเบิร์ต ลิสตันยังเป็นแพทย์คนแรกที่ทำการผ่าตัดโดยใช้ยาสลบจากอีเธอร์ในภูมิภาคยุโรปในปี 1846 อีกด้วย

References:

  1. Liston, Robert
  2. Robert Liston
  3. Robert Liston 1794-1847
  4. How One Reckless Surgeon Killed His Patient — Plus Two Bystanders
  5. The Legend Of The Surgery With The 300% Mortality Rate
  6. Gordon, Richard (2001). Great Medical Disasters. London: House of Stratus.

Written by Piyarak

 

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply