The Sanitary Pad Man… ชายผู้ปฏิวัติการผลิตผ้าอนามัย

  • อรุณาจาลัมได้ปฏิวัติการรักษาสุขอนามัยของผู้หญิงอินเดียโดยการคิดค้นเครื่องมือและวัสดุที่จะนำมาใช้ในการทำผ้าอนามัยที่สะอาดและราคาถูก เมื่อได้ทราบว่าภรรยาของตนเองและผู้หญิงจำนวนมากในอินเดียไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้
  • อรุณาจาลัมทดลองซื้อผ้าอนามัยมาแยกแยะส่วนประกอบ ทดลองทำผ้าอนามัยขึ้น และให้ผู้หญิงรอบ ๆ ตัว รวมถึงนักศึกษาแพทย์ทดลองใช้ และทดลองกับตัวเองด้วย แต่ในระยะแรกไม่เพียงแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพื่อนบ้านไม่เข้าใจว่าเขาทำอะไรอยู่และหลีกเลี่ยงที่จะคบหา เพราะคิดว่าเขาบ้าไปแล้วหรือติดโรคทางเพศสัมพันธ์
  • หลังการทดลองหลายปี อรุณาจาลัมก็ทำผ้าอนามัยและเครื่องจักรสำหรับทำผ้าอนามัยราคาถูกได้สำเร็จ ผลงานของเขาได้รับรางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมของอินเดีย และทำให้ผู้หญิงในพื้นที่ยากจนของอินเดียสามารถผลิตผ้าอนามัยราคาถูกไว้ใช้เองได้

สาว ๆ จะรู้สึกอย่างไรบ้างนะ ถ้าอยู่ดี ๆ ก็มีผู้ชายแปลกหน้าคนหนึ่งเข้ามาถามเรื่องที่ดูส่วนตั๊ว ส่วนตัวอย่างเรื่องการใช้ผ้าอนามัย… บ้าไปแล้ว สติดีอยู่หรือเปล่า จะถามไปทำไม หลายคนอาจจะคิดแบบนี้ และเพราะทำแบบนั้นนั่นละ อรุณาจาลัม มุรุกะนันธัม หนุ่มอินเดียเมียหนึ่งก็เลยถูกมองว่าเพี้ยนไปแล้ว และเพื่อนบ้านทั้งหลายก็ตั้งข้อสงสัยและตีตัวออกห่าง แถมทำให้ครอบครัวของเขาเกือบแตกแยก แต่จุดเริ่มต้นของความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับผ้าอนามัยจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านสุขอนามัยของผู้หญิงอินเดียครั้งใหญ่เกิดจากหวังดีของเขาที่มีต่อภรรยานี่เอง

จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติผ้าอนามัยเกิดขึ้นในวันหนึ่งที่อรุณาจาลัมเห็นภรรยาถือเศษผ้าขี้ริ้วจะไปทำอะไรสักอย่าง เขาก็เลยเข้าไปถาม ตอนแรกภรรยาก็ไม่ยอมตอบ แต่ท้ายที่สุดแล้วเขาก็รู้ว่าภรรยาเอาเศษผ้านั้นไปทำอะไร เขาก็เกิดสงสัยขึ้นมาอีกว่า ก็ทำไมไม่ใช้ผ้าอนามัยดี ๆ ล่ะ คำตอบที่ได้ก็คือ ผ้าอนามัยที่มีขายอยู่แพงมาก ถ้าจะซื้อมาใช้ละก็ ต้องตัดงบค่าอาหารเลยเชียวนะ อรุณาจาลัมรู้แบบนั้นแล้วก็คิดว่าไม่ได้การละ จะต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว สิ่งหนึ่งที่เขาทำก็คือ ไปซื้อผ้าอนามัย

ประสบการณ์การซื้อผ้าอนามัยหนแรกในชีวิตของอรุณาจาลัมในวัย 29 ก็ไม่ธรรมดา เพราะเมื่อเขาไปซื้อผ้าอนามัยในร้านท้องถิ่น คนขายก็หันซ้ายหันขวาเหมือนกลัวคนเห็น แล้วไปหยิบของมาให้ทำอย่างกับผ้าอนามัยเป็นของต้องห้าม พอได้ของมาแล้วอรุณาจาลัมก็จัดการแกะผ้าอนามัยออกมาดูด้วยว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง แล้วลองทำผ้าอนามัยขึ้นเอง

พอได้ผ้าอนามัยออกมา ก็ต้องหาคนทดสอบ ภรรยา พี่สาว น้องสาว คนใกล้ตัวลองแล้วลองอีก จนบอกอรุณาจาลัมว่า พอเถอะ ไม่ช่วยทดสอบแล้ว แต่เจ้าตัวก็ไม่ยอมแพ้ ไปลองถามหาอาสาสมัครอื่น ๆ ตั้งแต่คนข้างบ้านยันนักศึกษาแพทย์ กระทั่งไม่มีใครยอมช่วย อรุณาจาลัมเลยตัดสินใจว่า เอาวะ ทดสอบด้วยตัวเองก็ได้ ว่าแล้ว เจ้าตัวทำมดลูกเทียมจากไส้ในลูกฟุตบอล ใส่เลือดสัตว์และสารป้องกันการแข็งตัวที่ได้รับการอนุเคราะห์จากเพื่อนที่ทำงานธนาคารเลือด ปล่อยให้เลือดหยดลงบนผ้าอนามัยที่ทำเองลองใส่เอง เดินไปเดินมา วิ่ง ขี่จักรยานสารพัดกิจกรรม อรุณาจาลัมยอมรับว่า เป็นช่วงเวลาที่เลอะเทอะและน่ารำคาญจนอดไม่ได้ที่จะนับถือผู้หญิงที่ทนช่วงเวลานั้นของเดือนกันได้อย่างเหลือเชื่อ

ยิ่งค้นคว้าข้อมูลต่อไป อรุณาจาลัมก็ได้พบกับความจริงสุดอึ้งเกี่ยวกับการจัดการกับปัญหาประจำเดือนของผู้หญิง เพราะมีผู้หญิงอินเดียแค่ 12% เท่านั้นที่เข้าถึงผ้าอนามัย และวัสดุที่เอามาใช้สำหรับซับเลือดก็ไม่ถูกสุขลักษณะอย่างยิ่ง เช่น ทราย ขี้เลื่อย ใบไม้ แม้กระทั่งขี้เถ้า โดยเหตุที่ใช้วัสดุเหล่านี้แทนผ้าอนามัยหรือผ้าสะอาดก็เนื่องจากความอาย และทำให้ผ้าที่ใช้ไม่ได้รับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม ทำให้เขายิ่งมุ่งมั่นจะผลิตผ้าอนามัยราคาถูกสำหรับผู้หญิงให้ได้

ปัญหาใหญ่ที่สุดของการทดลองทำผ้าอนามัยราคาถูกแบบบ้าน ๆ ก็คืองบประมาณ กลุ่มทดลอง และวัสดุที่จะนำมาใช้ เพราะเมื่อทดสอบดูแล้ว ใยฝ้ายซึ่งเป็นวัสดุสำหรับทำผ้าอนามัยหลักของบางบริษัทก็ยังไม่ดีพอ ลองวัสดุมาหลายชนิด รวมถึงเส้นผมของมนุษย์ (ที่ทำให้มีคนสงสัยว่าเขาเล่นคุณไสยอยู่แน่ ๆ) ก็ยังไม่ได้เรื่อง

ถึงจะทดลองจนภรรยาทนไม่ไหวหนีกลับไปอยู่บ้านแม่ และเพื่อนบ้านเห็นว่าเขาเริ่มเพี้ยนไปแล้วหรือเป็นโรคติดต่อทางเพศอะไรสักอย่าง อรุณาจาลัมก็ไม่ได้ละความพยายาม เขาขอให้อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งช่วยติดต่อโรงงานผลิตเส้นใยให้โดยช่วยทำงานบ้านเป็นค่าตอบแทน จนกระทั่งวันหนึ่งมีพัสดุปริศนาส่งมาถึงบ้าน และเป็นตอนนั้นเองที่อรุณาจาลัมสามารถหาวัสดุที่มีประสิทธิภาพและราคาถูกสำหรับทำส่วนซึมซับของผ้าอนามัยได้ในที่สุดนั่นก็คือ เยื่อจากเปลือกไม้ แต่เครื่องจักรสำหรับย่อยไม้ในท้องตลาดแพงเกินไป อรุณาจาลัมจึงได้พัฒนาเครื่องจักรสำหรับย่อยเส้นใยพืชโดยมีกลไกทำงานเดียวกับเครื่องบดเนื้อสัตว์ และเครื่องอัดเยื่อไม้ให้เป็นก้อนสำหรับเป็นแผ่นซึมซับด้านในของผ้าอนามัย

หลังจากความพยายามหลายปี ทุกอย่างก็เริ่มเป็นใจ หลังจากนำเอาอุปกรณ์ผลิตผ้าอนามัยแบบบ้าน ๆ นี้ไปแสดงให้นักวิชาการที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย (Indian Institute of Technology หรือ IIT) ดู ทาง IIT ก็ได้นำเอาผลงานของเขาส่งประกวดในระดับชาติและได้อันดับหนึ่งจากผลงานนวัตกรรม 943 ชิ้น และได้รับรางวัลจากนายกรัฐมนตรี โดยผลงานนวัตกรรมระดับชาติเพื่อสุขอนามัยของผู้หญิงชิ้นนี้มาจากความอุตสาหะของผู้ชายยากจนที่ต้องออกจากโรงเรียนตอนอายุเพียง 14 ปี และรับจ้างทำงานในโรงงาน และอดทนต่อการดูถูกและความสงสัยของคนรอบตัวมาตลอดระยะเวลาเกือบสิบปี เมื่อผลงานเป็นที่ประจักษ์คนที่เคยไม่เข้าใจกันก็กลับมาคบหากับอรุณาจาลัม รวมถึงภรรยาก็กลับบ้านมาอยู่ด้วยกันเหมือนเดิม

อรุณาจาลัมผลิตเครื่องทำผ้าอนามัยและส่งออกไปยังพื้นที่ที่ยากจนที่สุดของอินเดีย โดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศ ลูกค้าหลักของเขาเป็นกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนและกลุ่มที่ทำงานเพื่อให้ผู้หญิงช่วยเหลือตนเองได้ กลุ่มที่ได้รับเครื่องจักรทำผ้าอนามัยในแต่ละที่สามารถผลิตผ้าอนามัยยี่ห้อของตนเองได้ ทำให้เกิดการมีงานทำและการจ้างงานในบรรดาผู้หญิง และที่สำคัญที่สุด ผู้หญิงอินเดียมีผ้าอนามัยที่สะอาด ถูกสุขลักษณะสำหรับใช้ในแต่ละเดือนตามที่เขาตั้งใจเอาไว้

การปฏิวัติผ้าอนามัยของอรุณาจาลัมประสบความสำเร็จ แต่เขายังไม่หยุดแค่นั้น เขาสอนให้เด็กหญิงในโรงเรียนผลิตผ้าอนามัยสำหรับใช้กันเองด้วย โดยกล่าวว่า “ทำไมต้องรอให้เด็กหญิงโตเป็นผู้หญิงก่อนล่ะ ทำให้เธอมีพลังตั้งแต่ตอนนี้เลยสิ”

References

  1. Arunachalam Muruganantham: How I started a sanitary napkin Revolution!
  2. The Indian sanitary pad revolutionary
  3. Awareness on sanitary napkins still low in rural areas: India’s real Pad Man
  4. Meet Arunachalam Muruganantham, the man who wore a sanitary pad to break a taboo
  5. Arunachalam Muruganantham: India’s Menstrual Man

Written by Piyarak

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply