behind the lens


หากจะเปรียบแวดวงแฟชั่นเป็นร่างกาย ก็คงไม่เกินเลยไปนักถ้าจะบอกว่า ณัฐ ประกอบสันติสุข คือหนึ่งในผู้ที่ลึกซึ้งถึงทุกอวัยวะและจิตวิญญาณของกายวิภาคแห่งงานพาณิชย์ศิลป์อย่างถ่องแท้ จนได้ชื่อว่าเป็น ‘ตัวจริง’ คนหนึ่งของวงการ

 

REAL SIMPLE

เป็นระยะเวลาเกือบสองทศวรรษที่ชื่อของณัฐประกอบสันติสุข เป็นที่รู้จักดีในฐานะช่างภาพแฟชั่นระดับแถวหน้าของเมืองไทย ค่าที่เขาคือผู้ที่มีส่วนในการพลิกโฉมการถ่ายภาพแฟชั่นแบบเดิมๆ ของไทย ให้เกิดมุมมองใหม่ที่แฝงความหมายไปพร้อมๆ กับสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ ทัดเทียมนิตยสารต่างประเทศ ถือเป็นคุณสมบัติแห่งความแปลกใหม่ที่ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งเจ้าตัวนิยามไว้ว่าเป็น ‘ความกลมกล่อมในชิ้นงาน’

 

“ผมเน้นความกลมกล่อมในชิ้นงาน กลมกล่อมแปลว่า ต้องผ่านการคิดและกลั่นกรอง ทั้งนี้ เทคนิคและเทคโนโลยีทุกอย่างมีประโยชน์ทั้งสิ้น โฟโต้ช็อปคอมพิวเตอร์ ดิจิตอล ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีความสำคัญกับงานของผม เพียงแต่ต้องใช้ไอ้นั่นนิดไอ้นี่หน่อย ใช้เทคนิคดิจิตอลนิด แสงจริงหน่อย แสงปลอมด้วยเพื่อให้ภาพออกมากลมกล่อม ผมพยายามอยู่นะ ซึ่งยังไม่รู้หรอกว่าได้ผลหรือเปล่า พยายามให้คนมองภาพที่เราถ่ายแล้วรู้สึกว่า รูปนี้ซ๊วยสวย สวยยังไงก็บอกไม่ถูก รู้แต่มันสวยดีว่ะ ผมอยากให้คนที่ดูภาพของเราเกิดความไม่แน่ใจว่าภาพนี้สวยเพราะอารมณ์ สวยเพราะคน สวยเพราะแสง หรือสวยเพราะอะไรกันแน่รู้แค่ว่าภาพนี้ดูสวยดี”

 

ความกลมกล่อมดังกล่าวเกิดจากการตกตะกอนทางประสบการณ์ชีวิต ซึ่งผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ทั้งจากการศึกษาทางด้านวรรณคดีอังกฤษและศิลปะการละคร จากคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรี ที่ทำให้ณัฐมีความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ ไปพร้อมๆ กับการมีความรู้ทางด้านศิลปะ วรรณคดีและประวัติศาสตร์ ทั้งยังกระตือรือร้นในการไขว่คว้า ประสบการณ์ทำงานไปด้วยระหว่างเรียน ด้วยการฝึกงาน ในแผนกเสื้อผ้าของกองถ่ายละคร ก่อนจะเริ่มต้นทำงานในฐานะสไตลิสต์ประจำนิตยสารแพรวนานถึง 8 ปี และเมื่อรู้สึกว่าตนเองเริ่ม ‘ตัน’ ณัฐก็ไม่ลังเลที่จะกรุยเส้นทางสายใหม่ให้ตัวเองด้วยการศึกษาต่อด้านการถ่ายภาพที่ London College of Printing ก่อนจะรู้ตัวอย่างชัดเจนว่าชอบเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกล้อง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างภาพถ่ายสวยๆ ก่อนลงมือกดชัตเตอร์ และผูกขาดการเป็นช่างภาพแฟชั่นตั้งแต่ พ.ศ.2536 เรื่อยมา

 

THE BASIC OF DESIGN & STYLE

ไม่ใช่สักแต่จะสวย เก๋ เท่ แปลก แหวกขนบ ให้สมค่าที่เรียกว่า ‘แฟชั่น’ เพียงอย่างเดียว กระบวนการของการเกิดภาพถ่ายแฟชั่นสักเซ็ตมีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่านั้น ณัฐ ประกอบสันติสุข ยืนยันว่าในแต่ละท่วงท่าสีหน้า และอารมณ์ของนางแบบ ทุกลายผ้า ทุกฝีมือการตัดเย็บ ทุกสถานที่ๆ ปรากฏเป็นฉากหลัง ล้วนมีที่มาที่ไปและแฝงไว้ซึ่งความหมาย

 

“ถ้าเราจะถ่ายรูปแฟชั่น มีอยู่ 2 เรื่องที่สำคัญที่สุดนอกเหนือไปจากเทคนิคการถ่ายภาพ นั่นคือ ดีไซน์ และสไตล์ ซึ่งต่างกันนะ ดีไซน์ของเสื้อผ้าสำคัญอย่างไรคุณต้องรู้จัก History of Fashion อย่าคิดว่าของโบราณผ่านไปแล้ว คุณจะทำของใหม่ได้อย่างไรถ้าคุณไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นมาแล้วบ้าง คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่คุณทำคือสิ่งใหม่ สมัยก่อนแฟชั่นจะมีช่วงเปลี่ยนแปลงทุกสิบปี ทำให้ศึกษาง่ายกว่าแฟชั่นสมัยนี้อีก ทุกทศวรรษแฟชั่นจะเปลี่ยน ไม่ว่าจะเปลี่ยนด้วยตัวมันเอง เปลี่ยนเพราะสังคมเปลี่ยน ความคิดเปลี่ยน หรืออะไรก็แล้วแต่คุณต้องศึกษา เพราะแฟชั่นแสดงออกถึงวัฒนธรรมความคิด ความเชื่อ และความเคลื่อนไหวของสภาพสังคมในยุคนั้นๆ

 

“จากดีไซน์ก็นำไปสู่สไตล์ เพราะก่อนที่ปิกัสโซ่จะวาดภาพแนวคิวบิสม์ (Cubism) จนเกิดเป็นสไตล์ของตัวเองเขาก็ต้องหัดสเก็ตช์ภาพ และเรียนรู้เรื่องกายวิภาคมาก่อนเช่นกัน ดังนั้น ถ้าจะทำงานข้องเกี่ยวกับแฟชั่น คุณก็ต้องรู้จักเนื้อผ้า รู้จักการทอเส้นใยแบบต่างๆ ก่อน ผ้ายีนส์คืออะไร หนังมีคุณสมบัติอะไร รู้จักทุกรายละเอียดของดีไซน์ก่อนที่จะหลอมรวมกันเกิดเป็นสไตล์ เช่นคุณอยากทำแฟชั่นให้เสื้อผ้าออกมาดูเป็นยุคกรีก มีใบมะกอก มีเสื้อผ้าสวยงามตามยุค แต่ดันใส่รองเท้าส้นสูงก็จบกัน เพราะสมัยกรีกไม่มีรองเท้าส้นสูง เพราะฉะนั้นการจะมองเห็นรายละเอียดเหล่านี้ต้องเกิดจากการทำมากเรียนรู้มาก ดูให้มาก และอ่านมากๆ

 

“ใครอยากเป็นช่างภาพแฟชั่น อย่าปฏิเสธของเก่าอย่าเมินของใหม่ ทุกวันนี้ผมเองทำงานหนักไม่แพ้ช่างภาพรุ่นใหม่ที่พยายามเรียนรู้ของเก่า ผมเองก็พยายามเรียนรู้ของใหม่เช่นกัน เด็กมันจุงเบย เราก็ต้องจุงเบยไปกับมันด้วย เพื่อที่เราจะได้เข้าถึงศัพท์แสลงและสภาพของสังคม ณ ช่วงเวลานั้น”

 

THE IDENTITY

ขนบของความเป็นนักแหกคอกดูจะเป็นที่พูดถึงอย่างหนาหูและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงสิบปีมานี้ ผู้คนร่วมสมัยมีความพยายามแสวงหาหนทางในการเป็นบุคคลที่แตกต่างกว่าคนอื่น เพื่อหาที่ยืนเฉพาะตน โดยเฉพาะบรรดาศิลปินหรือผู้ที่ทำงานในแวดวงศิลปะและความบันเทิง ซึ่งณัฐมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ผิด เพียงแต่อาจไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายในการอยากจะแปลกแยกมากถึงเพียงนั้นก็ได้

 

“ผมมักเลือกทำงานในแบบที่เราชอบ ที่คิดว่าสวยทำให้หลายครั้งผมเลือกทำงานในรูปแบบเดิมๆ ที่อาจเรียกว่าเป็นตัวตนของเราก็ได้ เพราะเราทำตามสิ่งที่ตัวเองชอบ ฉะนั้น ไม่ต้องไปคิดว่า ตายละ ถ้าฉันทำตามที่พี่ณัฐบอก ด้วยการไม่ปฏิเสธอะไรเลย แล้วฉันจะมีตัวตนไหม ฉันจะแตกต่างไหม ขอบอกจากประสบการณ์และสิ่งที่ตัวเองคิดมาโดยตลอดตั้งแต่เด็กแล้ว ว่าเราทุกคนแตกต่างจากคนอื่นแน่นอนเราอาจชอบเหมือนที่คนอีกหมื่นคนชอบ ในขณะที่อีกคนชอบในสิ่งที่คนร้อยคนชอบ ไม่ได้แปลว่าเขาแตกต่าง ส่วนเราไม่แตกต่าง เราแค่ชอบเหมือนคนอีกหมื่นคนในเรื่องนี้ อีกคนอาจชอบเหมือนคนอีกหมื่นคนในเรื่องอื่นก็ได้แต่ทำไมเราถึงแตกต่าง เพราะเราเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน มีเพื่อนคนละกลุ่ม ดำเนินชีวิตคนละแบบ มีมุมมองต่อเรื่องต่างๆ ไปคนละอย่าง เราจึงมีตัวตนในแบบของเรา

 

“อีกเรื่องที่อยากบอกคือ คนเราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่าง สมัยก่อนที่จะมาเป็นช่างภาพ ผมอาจจะรู้กระบวนการทำแฟชั่น เพราะเป็นสไตลิสต์มาก่อนก็จริงแต่ผมไม่เคยรู้ขั้นตอนการอัดรูปขาวดำเลย ผมเองก็ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กับการถ่ายรูปเหมือนกัน ปัจจุบันผมอาจจะรู้ขั้นตอนการถ่ายภาพแฟชั่น แต่ก็ยังต้องเรียนรู้เรื่องการจัดแสง เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง ขอแค่ให้รู้ตัวว่าเราขาดอะไร และต้องการอะไรเราต้องฝึกฝนตัวเองเพิ่มเติมทางด้านไหน เมื่อรู้ตัวแล้วก็แค่ลงมือทำ”

 
SHOOT RESPONSIBLY

มากไปกว่าการผลิตชิ้นงานที่สวย สร้างสรรค์และเปี่ยมความหมาย ความรับผิดชอบถือเป็นหัวใจหลักของการถ่ายภาพแฟชั่น ไม่แพ้หน้าที่รับผิดชอบของบุคคลในหลากหลายสาขาอาชีพที่มีต่อสังคม

 

“สิ่งที่อยากจะฝากให้ทั้งน้องๆ ช่างภาพหรือสไตลิสต์ในวงการแฟชั่นตระหนักคือ เรื่องของความรับผิดชอบ ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วย subject ของการสร้างสรรค์ภาพแฟชั่นขึ้นมาสักชิ้นงาน มันคือ material คือการขายของล้วนๆ ฉะนั้นด้วยตัวเนื้องานเองก็เสี่ยงมากพออยู่แล้วในแง่จริยธรรม เพราะผมเองไม่ได้คร่ำครึขนาดว่าห้ามโป๊ อยากทำอะไรก็ทำไป เพียงแต่ให้คิดไว้เสมอว่าเราทำอะไรลงไปแล้ว เรารับผิดชอบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้หรือเปล่า ถ้าเราทำแล้วรับได้ หรือแม้แต่คิดว่าเรารับได้ก็ทำ แต่ถ้าเราไปเจอปัญหาที่เรารับผิดชอบผลของมันไม่ได้ แล้วยังทำ นั่นหมายความว่าเราไม่มีความรับผิดชอบ

 

“ขอยกตัวอย่างงานของ David LaChapelle ที่ถ่ายแฟชั่นในพื้นที่เสียหายจากการถูกพายุเฮอริเคนแคทรีนาถล่มจนพังราบ ทำให้เกิดคำถามว่านี่คือหายนะที่เกิดจากภัยธรรมชาติซึ่งห้ามไม่ได้ ทำไมคุณถึงให้นางแบบไปยืนโพสท่าอยู่บนความหายนะของคนอื่น ในขณะที่Steven Meisel เคยถ่ายแฟชั่นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วในทะเลจนเกิดปัญหามลภาวะครั้งใหญ่เขาไม่ได้ไปถ่ายในพื้นที่ประสบภัย แต่ใช้วิธีทำให้เนื้อตัวของนางแบบเปรอะไปด้วยน้ำมัน เกิดเป็นภาพที่ดูแล้วแสนจะหดหู่ โดยเจตนาเพื่อเสียดสีปัญหาที่เกิดขึ้น ให้ผู้ที่ดูภาพแฟชั่นเซ็ตนี้เกิดความรู้สึกไม่พอใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว

 

“อย่างน้อยที่สุด เราต้องหัดมีความรับผิดชอบคิดให้มากกับงานของตน ยิ่งถ้าเราเป็นคนที่มีคนนับหน้าถือตามากขึ้นเท่าไร เรายิ่งต้องคิดเรื่องนี้มากขึ้นเท่านั้น ถ้ามีคน 100 คนชื่นชอบงานเรา ก็ย่อมมีคน 100 คนทำตามสิ่งที่เราทำอยู่ แล้วมันยุติธรรมกับเขาไหมหากเรามักง่ายแค่เพียงครั้งเดียว มันทำให้คนอื่นเชื่อไปอย่างนั้นได้” ณัฐ ประกอบสันติสุข ยืนยันว่านับตั้งแต่วันที่เขาเริ่มเป็นที่รู้จัก และรู้ตัวว่ามีคนจำนวนไม่น้อยนิยม ชม และชอบผลงานของเขา เจ้าตัวไม่เคยหลงระเริงไปกับชื่อเสียงและความสำเร็จ ตรงกันข้ามเขากลับยิ่งต้องใส่ใจในทุกแง่มุมความคิดและการลงมือทำของตน ทั้งรับผิดและรับชอบ ไปพร้อมๆ กัน”

 
เรื่อง: ณวดี ปัตเมฆ

ภาพ: ไชยวัฒน์ ไชยโชติ

 

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply