luxperience at chiangrai เที่ยวเต็มที่ ที่เชียงราย
NYLON ได้รับเกียรติจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กองการตลาดภาคเหนือ เป็น 1 ในคณะสื่อมวลชน รวมถึงบล๊อกเกอร์จากเพจดังด้านอาหารและท่องเที่ยว ลัดฟ้าไปยังจังหวัดเชียงรายเพื่อสัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษจากดินแดนแห่งศิลปินระดับตำนานไม่ว่าจะเป็น อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ อาหารประจำจังหวัดอันเป็นเอกลักษณ์เช่น น้ำพริกข่า น้ำพริกถั่วเน่า รวมถึงการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายแต่สนุก กับการขี่รถอีต๊อกลุยสวนฝรั่ง ประเดิมจุดหมายในวันแรกและมื้อแรกประจำทริปที่ ไร่รื่นรมย์ ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ กับอาหารจากวัตถุดิบออร์แกนิค สดใหม่ ส่งตรงจากฟาร์มพร้อมเสิร์ฟเป็นอาหารจานอร่อยที่ดีต่อสุขภาพ อิ่มท้องแล้วก็มาต่อด้วยเมนูของหวานที่ดีต่อสุขภาพกันบ้างกับ วาฟเฟิล ทองม้วนข้าว หอมนิล โดนัท ขนมครกที่มีส่วนผสมหลักจากท้องถิ่นอย่าง ข้าวหอมสีนิลที่ให้รสชาติเหมือนช็อคโกแลตรวมถึงรสสัมผัสกรุบๆ ในแต่ละคำ กับของหวานที่ทำจากข้าวหอมสีนิลที่เชื่อว่าเป็นครั้งแรกของใครหลายคน
ได้เวลาไปเดินย่อยชมแปลงสาธิตการเกษตรที่ ศูนย์พัฒนาพืชพันธุ์จักรพันธ์เพ็ญศิริ โครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพัฒนาการเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมอันเป็นวิถีที่ชาวบ้านปฏิบัติตามความเคยชินมาอย่างยาวนานมาสู่รูปแบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืน (การทำการเกษตรโดยใช้หลักการของระบบนิเวศที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม) เพื่อวางรากฐานให้ชาวบ้านมีรายได้ เลี้ยงตัวเองได้สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการทดลองจะพระราชทานแก่ราษฎรในพื้นที่รวมถึงราษฎรทั่วไป
.
.
.
จากนั้นก็มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์กลางคืนที่ ไร่แม่ฟ้าหลวง หรือ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ที่นอกจากจะเป็นที่จัดแสดงงานศิลปะและวัฒนธรรมพื้นบ้าน ครั้งหนึ่งสถานที่แห่งนี้ยังเคยเป็นที่ทรงงานของสมเด็จย่าและยังเป็นสถานที่ฝึกอบรมเยาวชนจากหมู่บ้านต่างๆ ในภาคเหนือ ไฮไลต์ของที่นี่อยู่ที่ ‘หอคำหลวง’ สถานที่แสดงศิลปวัตถุ โบราณวัตถุของภาคเหนือ มีลักษณะเป็นเรือนยกสูง สถาปัตยกรรมแบบล้านนา ซึ่งชาวเชียงรายร่วมกันสร้างเพื่อถวายแด่แม่ฟ้าหลวงในวโรกาสที่สมเด็จย่าทรงมีพระชนมายุ 84 พรรษา ด้วยสำนึกในพระเมตตาที่ท่านมีต่อราษฎร คำว่า ‘แม่ฟ้าหลวง’ มาจากความรักและซาบซึ้งในพระเมตตาที่สมเด็จย่ามีต่อประชาชนในแถบภาคเหนือนี่เอง
.
.
.
.
.
หลังจากนอนหลับจนเต็มอิ่มแล้ว เราจึงเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการเล่นโยคะริมแม่น้ำกก สายลมพัดไหว สายน้ำไหลริน เหมาะกับคำว่า Detoxing Morning อันเป็นชื่อโปรแกรมจริงๆ สำหรับจุดหมายแรกประจำวันที่ 2 คือ การเยี่ยมชมโรงงาน เรียนรู้วิธีการผลิต รวมถึงการสกัดน้ำมันจากเมล็ดชาที่ ‘ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน’ อันเป็นศูนย์วิจัยที่เกิดจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีรับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนาศึกษาและทดลองปลูกชาน้ำมันจากประเทศจีน เพื่อนำน้ำมันชามาพัฒนาเป็นเครื่องสำอางต่อไป
.
.
.
มาถึงเชียงรายแล้วก็พลาดไม่ได้เลยที่จะต้องแวะมาที่วัดหิรัญญาวาส เพื่อสักการะ ‘พระสิงห์สานชนะมาร’ พระพุทธรูปองค์นี้เกิดจากความสามัคคีของคนในชุมชนที่บรรจงถักทอตอกไผ่ทีละเส้น รวมทั้งสิ้น 99 วัน จนกลายเป็นพระประทานองค์ใหญ่ห่มสไบแดงตามแบบฉบับพระสายวัดป่า และยังมีโอกาสได้ใต้ฐานลอดพระเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย ไม่ไกลจาวัดหิรัญญาวาสเท่าไหร่เป็นที่ตั้งของชุมชนท่องเที่ยวปางห้าที่มีโอกาสได้ชิมเมนูอร่อย ‘เตี๋ยว โตก ตอง’ บะหมี่แห้งเส้นเล็กพร้อมเครื่องเคียงอัดแน่นไม่ว่าจะเป็น ลูกชิ้น หมูแดง หมูสับ เสิร์ฟในใบตองที่วางอยู่บนขันโตก เพียงบีบมะนาวคลุกพริกเคล้าพริกแห้งให้เข้ากันรับรองอร่อยเหาะ! อิ่มแล้วก็ได้เวลาออกตัวทัวร์ชุมชนด้วยการนั่งรถอีต๊อกบุกไปยังสวนฝรั่งกิมจูเพื่อกินฝรั่งสดๆ จากไร่ หลังจากนั้นจึงแวะกลับไปที่หมู่บ้านปางห้าอีกครั้งเพื่อเรียนรู้วิธีทำกระดาษสาอันเป็นอีก 1 ผลิตภัณฑ์จากชุมชน (ส่วนกระดาษสาฝีมือตัวเองก็ตั้งใจว่าจะเอาไปเขียนจดหมายหาคนที่คิดถึง) จากนั้นจึงเป็นช่วงเวลาของอีก 1 ไฮไลต์สำคัญอันได้แก่ เวิร์คช้อปทำขนมโดยใช้ ลำไยอบแห้ง และ ชานมปอสา อันเป็นวัตถุดิบจากชุมชนปางห้าอันได้แก่ กลิ่นหอมส่งจากเตาอบและรอยยิ้มเมื่อได้ชิม ‘เค้กลำไยบ้านปางห้า’ คงเป็นเครื่องการันตีได้ว่าอร่อยกันถ้วนหน้าแค่ไหน
.
.
.
เริ่มต้นวันสุดท้ายด้วยการเดินชมนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมาของฝิ่นในสามเหลี่ยมทองคำที่ พิพิธภัณฑ์หอฝิ่น นอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องของฝิ่นอย่างมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง ยังถือเป็นความโชคดีของพวกเราที่ทางเจ้าหน้าที่ยังอนุญาตให้ถ่ายรูปเป็นกรณีพิเศษเพื่อจะได้มีภาพประกอบการเขียนรีวิว
.
.
.
มาเชียงรายทั้งทีจะไม่มาแสดงความเคารพต่อศิลปินแห่งชาติผู้ยิ่งใหญ่อย่าง อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ที่บ้านดำก็เห็นจะเป็นการปิดทริปที่สมบูรณ์แบบเท่าไหร่ บ้านดำคือ กลุ่มบ้านในสไตล์ล้านนากว่า 35 หลัง ในสีดำล้วน นอกจากจะจัดแสดงผลงานของอาจารย์ถวัลย์แล้วแต่ละหลังยังจัดแสดง เขาควาย กระดูกช้าง หนังงู เรียกได้ว่าเป็นขุมพลังในการสร้างสรรค์ผลงานอันยิ่งใหญ่ของอาจารย์จริงๆ ปิดท้ายทริปอย่างสวยงามที่ บ้านถ้ำผาตอง ชุมชนขนาดเล็กแต่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องไม้แกะสลักบอกเล่าเรื่องราวของชาวล้านนา เรือนไม้จำลองรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในภาคเหนือ ที่เพิ่มความน่าสนใจด้วยกลไกควบคุมหุ่นให้เคลื่อนไหวราวกับทำตามคำสั่งของอาจารย์คำจันทร์ ยาโน ศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังงานเกือบทุกชิ้น
.
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!