Paisley การเดินทางอันยาวไกลของลูกน้ำตัวน้อย

เจ้าลายกลมๆ รีๆ มีหางเล็กน้อยที่แสนคุ้นตานี้ คนไทยเรียกว่าลายลูกน้ำ ส่วนชาวอินเดียหลายภูมิภาคบอกว่ามันคือลายมะม่วง ครั้งหนึ่งชาวฝรั่งเศสเรียกมันว่าลายลูกอ๊อด (ตัวอ่อนของกบ) ส่วนนักเย็บผ้าควิลท์ในอเมริกาเรียกมันว่าแตงกวาดองเปอร์เซีย (Persian pickle)

ซึ่งใช่ค่ะ มันมาจากแถบเปอร์เซียจริงๆ เสียด้วย โดยถือกำเนิดในนาม buta หรือ boteh ซึ่งแปลว่าดอกไม้หรือช่อดอกไม้ใบไม้ เป็นลายประดับตามข้าวของเครื่องใช้และสิ่งก่อสร้างต่างๆ มาแต่โบราณ กล่าวกันว่ามีที่มาจากช่อดอกไม้ผสมกับต้นสนไซเปรสที่โน้มกิ่งตามลม นับว่าเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและความเป็นนิรันดร์ตามความเชื่อของนิกายโซโรแอสเตอร์ ซึ่งเป็นศาสนาโบราณศาสนาหนึ่งของแถบนั้น ผ้าคลุมไหล่ที่ทอเป็นลวดลาย boteh นี้ ถูกนำมาใช้เป็นผ้าในพิธีการ ที่ราชาจะพระราชทานให้ข้าราชบริพารเมื่อมาถวายสัตย์สาบานว่าจะจงรักภักดี

เมื่อยุคล่าอาณานิคมมาถึง เจ้าหน้าที่บริษัทอีสต์อินเดียคัมพานี ทัพหน้าด้านเจรจาการค้าของอังกฤษที่เข้าไปในแถบแคชเมียร์ก็ได้รับพระราชทานผ้านี้มาด้วย (ทั้งที่ไม่ได้จะจงรักภักดีอะไร) นี่คือจุดเริ่มต้นการเดินทางของลูกน้ำตัวน้อยๆ นี้

เมื่อผ้าคลุมไหล่ลายลูกน้ำเดินทางไปถึงมือสาวๆ อังกฤษ ก็เกิดกระแสคลั่งไคล้กันขึ้นมาขนานใหญ่ ใหญ่จนบริษัทอีสต์อินเดียหาของให้ไม่ได้ เพราะผ้าที่ได้ชื่อว่าผ้าแคชเมียร์ (บางคนอาจรู้จักในนามพาชมินา) นี้นั้น ประการแรก ทำด้วยวัสดุชั้นดีที่หายากระดับเสี่ยงตาย คือขนชั้นในบริเวณพุงของแพะภูเขา ซึ่งจะสลัดทิ้งเมื่อเข้าฤดูร้อน ด้วยการเกาๆ ถูๆ เข้ากับหินบนภูเขา แน่นอนว่าคนก็ต้องปีนเขาไปเก็บมา ประการที่สอง กรรมวิธีการทอผ้านี้ซับซ้อนมาก ว่ากันว่าบางผืนใช้เวลาทอหลายปีทีเดียว แม้จะใช้วิธีทอลายเป็นผืนเล็กๆ แล้วเอามาต่อกัน ก็ยังทำไม่ทันอยู่ดี

เมื่ออุปสงค์กับอุปทานขัดแย้งกัน ก็ทอมันซะเองเลยแล้วกัน! เริ่มมีการทอผ้าเลียนแบบผ้าคลุมไหล่แคชเมียร์นี้ด้วยขนแกะแกมไหมในอังกฤษและฝรั่งเศส (ที่ได้ผ้ามาจากกองทหารนโปเลียนที่ไปด้อมๆ มองๆ แถวแคชเมียร์หลังยึดอียิปต์ได้) แต่ผ้าแคชเมียร์ปลอม เอ๊ย เลียนแบบพวกนี้ยังทอได้แค่สองสี จนกระทั่งชาวเมืองเพสลีย์ในสก็อตแลนด์เริ่มทอบ้าง และนำเทคโนโลยีล่าสุดในสมัยนั้นอย่างเครื่องทอแจ็คการ์ด (Jacquard loom) มาใช้ ทำให้ผสมสีเส้นด้ายเพิ่มขึ้นได้จนถึง 15 สี กลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อของเมือง และทำให้เมืองเล็กๆ แห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทอผ้าขึ้นมาเลยทีเดียว

 

และนับแต่นั้น ลายลูกน้ำ boteh ก็ได้ชื่อภาษาอังกฤษตามชื่อเมืองเล็กๆ ในสก็อตแลนด์นั้นว่าลายเพสลีย์ (paisley)

แต่มีขึ้นก็ย่อมมีลง เมื่อเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ ผ้าคลุมไหล่เปลี่ยนจากการทอลายละเอียดลออมาเป็นการพิมพ์ลายลงไป ทำให้ขายได้ถูกลง ใครๆ ก็ซื้อหาได้ ประกอบกับแฟชั่นสาวๆ ยุคนั้นเริ่มเสริมโครงที่บั้นท้าย ผ้าคลุมไหล่เลยเป็นเครื่องประดับที่รกเกินไป ความนิยมของผ้าคลุมไหล่ลายเพสลีย์เริ่มตกลง พร้อมๆ กับเศรษฐกิจและปากท้องของช่างทอชาวเมืองเพสลีย์ ที่บางส่วนก็อพยพไปแคนาดาหรือออสเตรเลีย และบางส่วนก็หันมาผลิตสินค้าผ้าลายเพสลีย์ชิ้นเล็กๆ สำหรับผู้ชาย ทั้งผ้าผูกคอ (บรรพบุรุษของเนทไท) ผ้าเช็ดหน้า ซับในเสื้อนอก และผ้าสี่เหลี่ยมจัตุรัสผืนใหญ่อเนกประสงค์ ที่จะรู้จักกันในเวลาต่อมาว่า bandana นั่นเอง

ผ้าแบนเดนานี้เดินทางไกลไปฮอตฮิตถึงอเมริกา เป็นผ้าคู่ใจคาวบอยเคียงคู่กางเกงยีนส์ ใช้ทั้งผูกคอ โพกหัว เช็ดหน้า ไปจนถึงปิดปากปล้น ความลูกทุ่งนี้เอง ที่เป็นส่วนหนึ่งในการส่งลายลูกน้ำให้กลับมาฮอตฮิตอีกครั้งในช่วงทศวรรษที่ 60 ซึ่งทุกคนเฉลิมฉลองรสนิยมธรรมดาของสามัญชนเคล้าเสียงเพลงโฟล์คเพื่อชีวิต ส่วนอีกทางหนึ่งวงร็อคอย่างเดอะบีทเทิลส์ที่คลั่งไคล้วัฒนธรรมตะวันออก โดยเฉพาะอินเดียอย่างมากมาย ก็เอาลายจากเอเชียกลางนี้มาใช้ด้วย กลายเป็นไอคอนประจำยุคไปอีกอย่างหนึ่งเลยทีเดียว

 

แม้กระแสกรี๊ดกร๊าดครั้งนั้นจะผ่านไปแล้ว แต่ลายเพสลีย์ก็ยังปักหลักมั่นคงอยู่ในโลกแฟชั่น สามารถเดินกลับมาขึ้นรันเวย์เป็นระยะๆ พร้อมกับหน้าตาที่เปลี่ยนไปเล็กๆ น้อยๆ ตามแต่แรงบันดาลใจของดีไซเนอร์แต่ละคน รอวันกลับมายิ่งใหญ่ท่ามกลางเสียงเชียร์ของแฟนๆ อีกครั้ง

 

sources

https://en.wikipedia.org/wiki/Paisley_(design)

https://www.theguardian.com/fashion/gallery/2011/sep/26/paisley-london-fashion-week

https://slate.com/culture/2015/10/a-history-of-paisley-the-origins-of-the-curved-shapes-in-paisley-print.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Paisley,_Renfrewshire#Industrial_Revolution

https://en.wikipedia.org/wiki/Paisley,_Renfrewshire#Industrial_Decline

http://www.bbc.com/culture/story/20151021-paisley-behind-rocks-favourite-fashion

https://www.paisleypower.com/history-of-paisley

Written by Potjy Tsai. 

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply