Alumni … เปิดทำเนียบศิษย์เก่าสุดแซบ: ปู-ไปรยา
“Don’t Worry, Be Happy”
“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมี Meaningful Relationship กับคุณพ่อคุณแม่ ครอบครัว เพื่อน และการทำอะไรที่มีความหมายต่อสังคม การวิ่งไล่หาชื่อเสียงเงินทอง สุดท้ายแล้วเราเอาไปด้วยไม่ได้เมื่อเราตาย แต่สิ่งที่เราทิ้งไว้ได้คือสิ่งที่เราอนุรักษ์ สิ่งที่เราสร้าง ความรู้สึกดีๆ ที่เรามีให้กับผู้อื่น และสิ่งที่เราได้ช่วยเหลือสังคม พวกนี้คือสิ่งที่จะคงอยู่ไปตลอด”
ชื่อ: ปู-ไปรยา สวนดอกไม้ ลุนด์เบิร์ก
จบการศึกษา: ปริญญาใบแรกในเดือนสิงหาคม 2013 กับดีกรีปกยีนส์สุดเซ็กซี่ และใบที่ 2 ในเดือนธันวาคม 2015 กับการฉีกลุคสปอร์ตสุดเท่
ผลสอบ: ถึงแม้ปูจะเคยขึ้นปกถึง 2 ครั้งพร้อมลุคที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่เมื่อเราได้พูดคุยกับเธอก็พบว่านักแสดงสาวลูกครึ่งไทย-สวีเดนคนนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยทัศนคติในการมองโลกที่เป็นผู้ใหญ่ และมีความเป็นตัวของตัวเองเสมอ นอกเหนือจากงานแสดงแล้ว ตอนนี้ปูยังโฟกัสที่การทำงานการกุศลให้กับองค์กรต่างๆ การอ่านหนังสือที่เธอโปรดปรานในช่วงเวลาว่าง และการออกกำลังกาย
(ปู-ไปรยา ใน The Denim Issue เดือนสิงหาคม 2013 และ The Artistic Issue เดือนธันวาคม 2015)
“อ่านหนังสือมา 4 เล่มแล้วนะ ซ้อมวิ่งก็เริ่มแล้ว ทำการกุศลมากขึ้นก็ทำ ส่วนภาษาจีนกลางเรียนไปได้ 2 ชั่วโมง ยังไม่ได้มากมาย แต่จะพยายามในปีนี้” ปูอัพเดตอย่างอารมณ์ดีเมื่อเราถามถึง New Year Resolutions ที่เธอเล่าให้เราฟังเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลายคนน่าจะเห็นภาพที่นักแสดงสาวผู้นี้ไปเยี่ยมเยียนค่ายผู้อพยพที่จังหวัดตากในฐานะสมาชิกกิตติมศักดิ์ของ UNHCR หรือข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ถือเป็นการตอกย้ำความคิดการคืนสู่สังคมหลังจากเธอได้เป็นวิทยากรในงาน TMA Days และ TedxYouth เมื่อไม่กี่เดือนมานี้
“การตอบรับดีมาก คนแปลกใจ แต่เข้าใจ เพราะดาราคนไม่ค่อยถามเรื่องอื่นนอกจากความรักกับการแต่งตัว” ปูหัวเราะอย่างอารมณ์ดี “เป็นครั้งแรกที่ได้พูดเกี่ยวกับตัวเอง ความคิดของตัวเอง และพูดในภาษาที่ตัวเองถนัด ปูเชื่อในการคืนสังคม เพราะเป็นสิ่งสำคัญของการใช้ชีวิต”
หลังจากอ่านข่าวเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ปูตัดสินใจส่งอีเมลหา UNHCR ด้วยตัวเอง (และยังเป็นนักแสดงคนแรกที่ทำอีกด้วย) โดยทำหน้าที่พูดคุยเกี่ยวกับปัญหาที่ผู้ลี้ภัยประสบ รวมถึงเป็นกระบอกเสียงมาเผยแพร่เรื่องนี้ “จริงๆ พอเราโตขึ้น ก็รู้สึกว่าเราใส่ใจปัญหาในสังคมมากขึ้น เพราะว่ามีความรับผิดชอบในฐานะเพื่อนมนุษย์ มีความรับผิดชอบต่อการดูแลคนที่ด้อยโอกาสกว่าเรา”
ถึงแม้ช่วงนี้จะโฟกัสกับงานด้านสังคมมากขึ้น แต่ปูก็ยังไม่คิดจะทำงานมูลนิธิเป็นของตัวเอง เพราะยังขาดประสบการณ์ และอยากทำให้ทุกๆ คนไปก่อนเสียมากกว่า “สำหรับคนที่สนใจ … ง่ายเลย ชอบน้องหมาก็กูเกิลมูลนิธิที่เกี่ยวกับน้องหมา ถ้าอยากอนุรักษ์ป่า ก็กูเรื่องนี้ จริงๆ มีองค์กรที่ช่วยทุกปัญหาในสังคม เพียงแต่ว่าเขาทำหน้าที่ก่อตั้งมูลนิธิแล้ว หน้าที่เราคือต้องเข้าหาเขา เขาพร้อมรับความช่วยเหลือตลอด” ปูเสนอแนะ
“แต่ง่ายๆ เลย จุดเริ่มต้นของการช่วยเหลือคือการเปิดรับความรู้ การที่เราเปิดรับปัญหาของสังคม การรีเสิร์ช การสนใจ และเมื่อเราเข้าใจ เราก็จะรู้ว่าเราควรช่วยยังไง”
เรื่อง: โสภิดา รอดสม
ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ในนิตยสาร NYLON THAILAND ฉบับเดือนมีนาคม 2016
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!