ชวนดู 6 ภาพยนตร์สารคดีพลังหญิงใน Netflix

ผู้หญิงทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้านในทุกช่วงเวลาของการดำเนินชีวิต แต่ปัญหาที่ผู้หญิงต้องเจอกลับถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นทั่วไปจนชินชา และไม่ได้รับการพูดถึงมากพอเพื่อหาทางแก้ไข โดยหนึ่งในวิธีสร้างความตระหนักรู้ให้เห็นถึงเรื่องราวของผู้หญิงในพื้นที่ต่างๆ ที่เข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว คือการศึกษาจากภาพยนตร์สารคดี

ดังนั้นแล้ว NYLON จะมาแนะนำภาพยนตร์สารคดีที่ควรค่าแก่การรับชม ซึ่งภาพยนตร์เหล่านี้ไม่เพียงแต่มอบประสบการณ์ในการสัมผัสวิถีชีวิตและการต่อสู้ของผู้หญิงที่เราอาจไม่เคยได้รับรู้มาก่อน แต่ยังช่วยเปิดกว้างด้านความคิดและขยายขอบเขตความสนใจ เพื่อการต่อยอดมุมมองใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงต่อไป

Mercury 13 (2018)

ความยาว 1 ชั่วโมง 19 นาที

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะพาเราไปทำความรู้จักกับนักบินหญิง ผู้ที่ช่วยปูเส้นทางไปสู่การเป็นนักบินอวกาศหญิงของคนรุ่นหลัง เมื่อการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาปะทุขึ้นในปี 1957 ทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มต้นโครงการ Mercury เพื่อจัดส่งมนุษย์ขึ้นสู่วงโคจร โดยทำการทดสอบและคัดเลือกนักบินเพื่อเป็นนักบินอวกาศ จนได้นักบินอวกาศ 7 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ชาย ก่อนที่ในปี 1960 จะเริ่มมีการรับนักบินหญิงเข้ามาทดสอบด้วยแบบทดสอบเดียวกันกับผู้ชาย จำนวน 25 คน เป็นเวลา 5 วัน ซึ่งนักบินที่มีอายุน้อยที่สุดมีอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น โดยมีผู้ที่ผ่านการทดสอบในรอบแรกจำนวน 13 คน จนกลายเป็นที่มาของชื่อโครงการ Mercury 13

แม้ว่าผลการทดสอบของผู้หญิงที่ออกมาจะทำได้ดีกว่าผู้ชาย ซึ่งลบล้างภาพจำที่ว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ จึงไม่สมควรได้เป็นนักบินอวกาศลง แต่โครงการ Mercury 13 กลับถูกยกเลิกกลางคันจากรัฐบาลและองค์การ NASA ทำให้ในเดือนกรกฎาคม 1962 พวกเธอได้ทำการยื่นเรื่องสู่รัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้โครงการกลับมาดำเนินการอีกครั้ง ในฐานะของนักบินหญิงที่ต้องการสร้างพื้นที่ในการสำรวจอวกาศโดยปราศจากการกีดกันทางเพศ แต่ไม่เป็นผล พวกเธอจึงแยกย้ายกันไปตามเส้นทางโดยที่ยังไม่ละทิ้งความฝันด้านการบิน ทว่าในปี 1963 สหภาพโซเวียตได้ส่งนักบินหญิงคนแรกของโลกขึ้นสู่วงโคจร ทั้งๆ ที่สหรัฐอเมริกามีโอกาสประสบความสำเร็จในโครงการนักบินอวกาศหญิงแล้ว แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการสร้างพื้นที่ให้กับผู้หญิงในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของ Mercury 13 ได้สร้างโอกาสให้ผู้หญิงอีกมากมายได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสำรวจอวกาศและสายงานในด้าน STEM ตั้งแต่นั้นมา

Feminists: What Were They Thinking? (2018)

ความยาว 1 ชั่วโมง 26 นาที

ภาพยนตร์สารคดีเริ่มต้นขึ้นในงานจัดแสดงภาพถ่าย Feminist Portraits, 1974-1977 ของ Cynthia McAdams ช่างภาพที่มีโอกาสได้เก็บภาพผู้หญิงมากมายในยุค 70 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงที่มีความเป็นตัวของตัวเองและความหลากหลายของผู้หญิง ทั้งสีผิว เชื้อชาติ และสายอาชีพ พวกเธอได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ในชีวิตท่ามกลางสังคมที่มีชายเป็นใหญ่ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ผู้หญิงก็ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้านจากปัจจัยด้านเพศสภาพ รวมถึงแบ่งเป็นมุมมองที่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้หญิงให้กับคนรุ่นหลัง อาทิเช่น สิทธิเหนือร่างกายของผู้หญิง ความยากลำบากในอาชีพจากการเป็นผู้หญิง แนวทางในการดำเนินชีวิต และการรักษาพื้นที่ทางสังคม

เพราะพลังของผู้หญิงเป็นพลังที่ส่งต่อถึงกันได้ เช่นเดียวกับที่ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้พยายามชวนให้เราตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้ว ในฐานะผู้หญิงเราควรจะเลือกเป็นในสิ่งที่สังคมต้องการ หรือเลือกที่จะเชื่อในตัวเองและเป็นให้ได้มากกว่าที่สังคมตีกรอบเอาไว้

Ladies First (2018)

ความยาว 39 นาที

ในประเทศอินเดีย คนส่วนใหญ่มักไม่เห็นด้วยกับการที่เด็กผู้หญิงจะเล่นกีฬา จากสถิติแล้วมีเด็กผู้หญิงอินเดียไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ที่มีโอกาสได้เล่นกีฬา เพราะเด็กผู้หญิงควรอยู่แต่ในบ้านเท่านั้น เพื่อดูแลพ่อแม่ เมื่อเติบโตไปก็ต้องดูแลลูกและสามี แต่ Deepika Kumari นักกีฬายิงธนูทีมชาติอินเดียจะมาทำลายความเชื่อผิดๆนี้ลง เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับเด็กผู้หญิงในการต่อสู้เพื่อความฝันของตัวเอง ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะพาไปทำความรู้จักเธอบนเส้นทางการต่อสู้ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบจากการประกอบสร้างทางสังคมของอินเดียที่กดทับผู้หญิงตั้งแต่เด็ก

เธอรู้จักกีฬาชนิดนี้ตอนอายุ 12 ปีและตั้งใจเข้ารับการฝึกในโรงเรียนสอนยิงธนูที่เข้าเรียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีที่พักและอาหารรองรับ เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นภาระให้กับครอบครัว ก่อนที่จะเริ่มรักการยิงธนูอย่างจริงจัง จนเข้าร่วมการทดสอบกับโรงเรียนสอนยิงธนูชั้นนำของประเทศในวัย 13 ปี ตั้งแต่นั้นมาฝีมือของเธอก็เป็นที่รู้จักขึ้นเรื่อยๆ จากการแข่งขันระดับนานาชาติหลายรายการ จนกระทั่งเธอกลายเป็นนักกีฬายิงธนูหญิงอันดับ 1 ของโลก

Standing Tall (2016)

ความยาว 49 นาที

ภาพยนตร์สารคดีสั้นถ่ายทอดเรื่องราวของผู้หญิง 5 คน จาก 5 ประเทศที่ทำหน้าที่ของตนเองเพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่ขึ้นสำหรับผู้หญิง ได้แก่ การต่อสู้เพื่อการศึกษาของเด็กผู้หญิง โดย Hawaou Admou จากแคเมอรูน ซึ่งเดินทางไปพูดคุยกับครอบครัวและครูสอนศาสนา เพื่อให้เด็กผู้หญิงได้เรียนหนังสือและออกจากวงจรของความยากจน เรื่องของ  Min เด็กสาวกัมพูชาที่ได้รับการช่วยเหลือจากองค์กร Friends International เพื่อสร้างอนาคตที่ดีของตัวเองอีกครั้งจากการได้รับการศึกษาและฝึกทักษะด้านอาชีพ รวมถึงชีวิตหลังเรือนจำของ Josephine เพราะที่เซเนกัลการทำแท้งในทุกกรณีมีความผิดทางกฎหมาย ทำให้เธอต้องโทษจำคุก 2 ปีในข้อหาฆาตรกรรมเด็กแรกเกิด แต่โครงการกีฬาฟันดาบในเรือนจำระหว่างนักโทษเยาวชนชายและหญิง ทำให้เธอพบกับการเปลี่ยนแปลงของตัวเองในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะกีฬาช่วยสร้างความมั่นใจ บริหารจัดการความโกรธ ยอมรับความพ่ายแพ้และฝึกฝนต่อไป เช่นเดียวกับชีวิตของเธอ

นอกจากนี้ยังมี การสร้างบ้านของ Anthonia ในนิการากัว เนื่องจากความยากจน ทำให้เธอไม่สามารถมีที่อยู่อาศัยที่ดีได้ตามปัจจัย 4 เธอจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการและเรียนรู้วิธีการสร้างบ้านร่วมกับผู้หญิงคนอื่นๆ ตั้งแต่การทำอิฐบล็อค เพื่อรวมพลังกันพัฒนาชุมชนแออัดให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเรื่องราวจาก Mumu Muleta สูตินารีแพทย์คนแรกๆ ของเอธิโอเปีย กับหน้าที่ช่วยชีวิตของแม่และเด็กในการคลอดลูก ซึ่งผู้หญิงแอฟริกามีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตระหว่างคลอดลูกมากกว่าผู้หญิงในแถบยุโรปถึง 25 เท่า เนื่องจากขาดผู้เชี่ยวชาญ อุปกรณ์ และสิ่งปลูกสร้างพื้นฐานที่ดี รวมถึงการบังคับให้เด็กผู้หญิงแต่งงานตั้งแต่เด็ก ซึ่งสรีระยังไม่เหมาะสมกับการตั้งครรภ์ รวมถึงปัญหาเรื่องการขลิบอวัยวะเพศหญิง

The Testimony (2015)

ความยาว 28 นาที

สารคดีเรื่องนี้บันทึกส่วนหนึ่งของการตัดสินคดีล่วงละเมิดทางเพศครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของผู้หญิงในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สลับกับประสบการณ์ของผู้หญิง จากเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2012 เมื่อกองกำลังทหารของรัฐบุกเข้าทำร้ายและล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง รวมถึงเด็กในเมือง Minova เป็นระยะเวลาติดต่อกันถึง 10 วัน หลังจากพ่ายแพ้ในการต่อสู้กับกลุ่มกบฏในเมืองใกล้เคียง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมากว่า 20 ปี โดยมีทหารจำนวน39 นายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวเข้ารับฟังการตัดสินคดีความในครั้งนี้

ท้ายที่สุดแล้ว ศาลได้ตัดสินให้ทหารเพียง 2 คนเท่านั้นที่มีความผิดและต้องได้รับโทษตามกฎหมาย แต่การขึ้นให้การในศาลครั้งประวัติศาสตร์นี้ถือเป็นก้าวสำคัญของผู้หญิงชาวคองโกที่กล้ายืนหยัดและเรียกร้องสิทธิในความเป็นมนุษย์ของตนเอง แม้ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับความอยุติธรรม รวมถึงการกีดกันทางเพศที่เกิดขึ้นภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ก็ตาม

นอกจากนี้ สารคดียังได้กล่าวถึงการต่อสู้ของบรรดาหญิงสาวในเมือง Minova หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นการรวมพลังของผู้หญิงชาวไร่ที่คอยปกป้องซึ่งกันและกันทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งยังคงยึดมั่นในอาชีพเกษตรกรรมต่อไป จนกว่าผู้หญิงจะได้เป็นเจ้าของที่ดินอย่างแท้จริง รวมถึงการแสดงออกผ่านงานศิลปะ และการผลักดันด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงในคองโกให้ดีขึ้น

Miss Representation (2011)

ความยาว 1 ชั่วโมง 30 นาที

เนื่องจากคนเรามีการเสพสื่อมากมายในแต่ละวัน ทำให้สิ่งที่แสดงออกมาผ่านสื่อต่างมีผลต่อการใช้ชีวิตและแนวคิดของผู้รับสื่อเหล่านั้นทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะกับเด็กๆ ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะพาไปเจาะลึกถึงภาพตัวแทนของผู้หญิงในสื่อประเภทต่างๆ รอบตัว ซึ่งผู้หญิงมักถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ลงด้วยการนำเสนอในฐานะวัตถุทางเพศที่ต้องมีการชิงดีชิงเด่นและแข่งขันกันเอง หรือต้องมีการเกี่ยวพันกับผู้ชายอยู่ตลอด

ภาพลักษณ์ของผู้หญิงในสื่อก่อให้เกิดปัญหาด้านร่างกายและจิตใจในระดับปัจเจก ทั้งยังนำไปสู่ผลกระทบด้านสังคมและการเมืองอีกด้วย ทำให้ต้องมีการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเปลี่ยนแปลงให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์สื่อมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น โดยให้คุณค่าของความเป็นผู้หญิงมากกว่าแค่ความงามภายนอก

Written by Dusida Worrachaddejchai

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply