เครื่องประกอบที่น่าสนใจที่ปรากฎอยู่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ เราอาจจะได้ยินชื่อของเครื่องประกอบต่างๆ ที่จะถูกนำมาร่วมในพระราชพิธีนี้ด้วย แต่ด้วยความที่ว่าอาจจะไม่ได้เห็นกันบ่อยนัก เพราะพิธียิ่งใหญ่แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย เลยอาจทำให้เราเกิดความสงสัยว่าหน้าตาและความสำคัญของสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างไร NYLON เลยจะพาทุกคนมารู้จักเครื่องประกอบพระราชพิธีที่สำคัญๆ กัน

 

เครื่องราชกกุธภัณฑ์

เครื่องราชกกุธภัณฑ์คือเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่สืบเนื่องมาจากลัทธิพราหมณ์ โดยมีพระมหาราชครูพราหมณ์เป็นผู้ถวาย ประกอบไปด้วย พระมหาเศวตฉัตร พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี และ ฉลองพระบาทเชิงงอน

พระมหาเศวตฉัตร หรือ พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร

เป็นฉัตร 9 ชั้น หุ้มด้วยผ้าขาว มีระบาย 3 ชั้นขลิบทอง ชั้นล่างสุดห้อยด้วยอุบายจำปาทองสำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกแล้ว ใช้แขวนหรือปักเหนือพระราชอาสน์ ราชบัลลังก์ในท้องพระโรงพระมหาปราสาทราชมณเฑียร ถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญกว่าชิ้นอื่นๆ

พระมหาพิชัยมงกุฎ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างพระมหาพิชัยมงกุฎที่ทำด้วยทองลงยาประดับเพชร สมัยก่อนถือว่ามงกุฎมีค่าเท่ากับราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ และพระมหาเศวตฉัตรเป็นสิ่งที่สำคัญสูงที่สุด แต่หลังจากที่ประเทศไทยได้ติดต่อกับประเทศในทวีปยุโรปมากขึ้น จึงนิยมตามยุโรปที่ถือว่าการเป็นกษัตริย์ขึ้นอยู่กับการสวมมงกุฎ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงถือว่าพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นสิ่งสำคัญ และพระมหากษัตริย์จะทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระมหาพิชัยมงกุฎนั้นมีความสูง 66 เซนติเมตร และมีน้ำหนักถึง 7,300 กรัม โดยสร้างขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในรัชกาลที่1 ในสมัยนั้นบนยอดมงกุฎยังเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ประดับเพชรเม็ดเล็กๆ และใช้มาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็นเพชรขนาดใหญ่จากประเทศอินเดียมาประดับยอดมงกุฎแทน ซึ่งเพชรเม็ดนี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.6 เซนติเมตร สูงประมาณ 1.4 เซนติเมตร

พระแสงขรรค์ชัยศรี

พระแสงศัสตราวุธประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ ใบพระขรรค์เป็นของเก่าคู่บ้านคู่เมืองเขมร ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง และ นครเสียมราฐ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำด้ามฝักขึ้นด้วยทองลงยาประดับอัญมณี ใช้เป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ. 2328

เฉพาะองค์พระแสงยาว 65.5 เซนติเมตร ด้ามพระขรรค์ยาว 25.4 เซนติเมตร สวมฝักแล้วยาว 101 เซนติเมตร น้ำหนักรวม 1,900 กรัม

ธารพระกร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างขึ้น ธารพระกรทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ปิดทอง หัวและส้นเป็นเหล็กคร่ำลายทอง ปลายสุดส้นเป็นส้อมสามง่าม เรียกว่า ธารพระกรชัยพฤกษ์ เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ก็ทรงสร้างธารพระกรขึ้นใหม่ด้วยทองคำ ภายในมีพระแสงเสน่า (ศาสตราวุธคล้ายมีด ใช้ขว้าง) ยอดมีรูปเทวดา จึงเรียกว่า ธารพระกรเทวรูป มีลักษณะเป็นพระแสงดาบมากกว่าธารพระกร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธารพระกรชัยพฤกษ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสืบมาจนถึงรัชกาลที่ 9

วาลวิชนี (พัดและแส้)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างขึ้น โดยลักษณะเป็นพัดใบตาล ที่ใบตาลปิดทองทั้ง 2 ด้าน ตรงส่วนด้ามทำด้วยทองลงยา เรียกว่า พัชนีฝักมะขาม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริว่า ตามพระบาลี วาลวิชนี นั้นควรจะเป็นเครื่องโบกปัดที่ทำด้วยขนจามรี เพราะ วาล หมายถึงขนโคชนิดหนึ่งที่ไทยเรียกว่าจามรี จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างแส้ขนจามรีเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ในภายหลังใช้ขนหางช้างเผือกแทน เรียกว่า พระแส้ขนหางช้างเผือก แต่ก็ไม่สามารถเลิกใช้พัดใบตาลของเดิมได้จึงใช้ควบคู่กัน โดยเรียกว่า วาลวิชนี

ฉลองพระบาทเชิงงอน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามแบบอินเดียโบราณ ฉลองพระบาททำด้วยทองคำลงยาราชาวดีฝังเพชร มีน้ำหนัก  650 กรัม สร้างเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหาราชครูวามหามุนีเป็นผู้สวมถวาย

 

เครื่องราชูปโภค

เครื่องใช้สอยประกอบพระบรมราชอิสริยยศ ตั้งเอาไว้ในที่พระมหากษัตริย์เสด็จประทับ โดยทอดไว้บนโต๊ะเคียงข้างพระอาสน์ ประกอบไปด้วย

พระมณฑปรัจนกรัณฑ์ ภาชนะใส่น้ำเสวย ทำด้วยทองคำลงยาประดับอัญมณี

พานพระขันหมาก พานหมาก ทำด้วยทองคำลงยาประดับอัญมณี

พระสุพรรณศรีบัวแฉก กระโถนเล็ก ทำด้วยทองคำลงยาประดับอัญมณี

พระสุพรรณราช กระโถนใหญ่ ทำด้วยทองคำลงยาจำหลักลาย

 

เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์

เป็นเครื่องประดับแสดงพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์  หมายถึงเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศแห่งพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระครูพราหมณ์เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย ประกอบไปด้วย

บนซ้าย พระสังวาลพระนพ

ล่างซ้าย พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์

บนขวา พระธำมรงค์วิเชียรจินดา

ล่างขวา พระธำมรงค์รัตนวราวุธ

พระสังวาลพราหมณ์ธุรำ

พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ เป็นสังวาลแฝด ทำด้วยทองคำล้วน มีดอกประจำยาม 36 ดอกที่ทำด้วยทองคำฝังนพรัตน์ ดอกละชนิด สลับกันไปตลอดทั้งสาย

พระสังวาลพระนพ ทำด้วยทองคำล้วน มี 3 เส้น มีดอกประจำยามประดับนพรัตน์ 1 ดอก

พระธำมรงค์วิเชียรจินดา และพระธำมรงค์รัตนวราวุธ

 

source :

https://phralan.in.th/coronation/primaryceremoniesdetail.php?id=21

https://event.thaipbs.or.th/coronation/

https://www.silpa-mag.com/old-photos-tell-the-historical-story/article_30932

 

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply