ความสัมพันธ์แบบ Toxic ที่อยู่ไปก็เจ็บแต่ทำไมถึงไม่ยอมออกมา

ช่วงนี้กระแสซีรีส์เกาหลีอย่าง Nevertheless กำลังมาแรงมาก ในฐานะคนดูก็บอกเลยว่านอกจากจะดูสนุกแล้วยังอินตามเนื้อเรื่องกับตัวละครสุดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกขัดใจที่มีต่อนางเอกอย่าง ยูนาบี เอามากๆ และเชื่อว่าจะต้องมีแฟนๆ ซีรีส์หลายคนคิดแบบเดียวกัน ว่าเห็นกันอยู่คาตาว่าในเมื่อ พัคแจออน พระเอกของเรื่องนิสัยไม่ดีขนาดนี้ แต่ทำไมนางเอกถึงยังรักได้อยู่นะ แท้จริงแล้วความสัมพันธ์แบบนี้มันคืออะไร?  

กับความรู้สึกแบบจะทุกข์ก็ร้องไห้ไม่สุด แต่พอจะสุขก็กลับหัวเราะไม่ค่อยออก ที่จริงแล้วมันคือความสัมพันธ์ที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออกอย่าง Toxic relationship นั่นเอง พอพูดแล้วทุกคนก็อาจจะเคยเห็น เคยได้ยินกันมาบ้าง เพราะนอกจากซีรีส์เรื่องนี้แล้ว มันยังมีซีรีส์ หรือหนังอีกหลายๆ เรื่องเลยที่ก็มีความสัมพันธ์ที่ดูแล้วน่าอึดอัดใจแทนไม่ต่างจากพระนางสองคนนี้ อย่างเช่น 

The Penthouse ซีรีส์เกาหลีอีกหนึ่งความ Toxic ในรูปแบบของครอบครัว กับเรื่องราวการเดินทางของแม่ทั้งสามคนที่แข่งขันกันถีบตัวเองขึ้นไปโดยมีความโลภและแรงปรารถนาเป็นแรงผลักดัน 

หรือหนังดังอย่าง ‘A Star is born’ ที่เล่าเรื่องราวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองตัวละครแอลลี่และแจ็คสัน ที่มีความคิดเห็น ความรู้สึกไม่ตรงกัน สร้างความอึดอัดให้กับพวกเขาและคนรอบข้างเอง ซึ่งแค่นี้ก็ถือว่า Toxic แล้ว เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ส่งผลดีกับทั้งสองฝ่าย

จริงๆ แล้วความ Toxic นั้นไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นแต่ในคู่รัก หรือคนเป็นแฟนกันเพียงอย่างเดียวนะ มันสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะ เพื่อน คนสนิท เพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งกับคนในครอบครัวด้วยกันเอง แต่บ่อยครั้งที่เรามักจะเห็น (จากซีรีส์และหนังเป็นส่วนมาก) ความสัมพันธ์ในแบบของคนรัก ที่ดูแล้วก็น่าจะตัดกันได้แล้วมองหาคนใหม่ที่ดีกว่าเดิม แต่ทำไมตัวละครหลายๆ ตัวถึงยังคงต้องทนอยู่กับ Toxic Relationship จนคนดูอย่างเราเกิดความทั้งอึดอัดและทรมานแทน 

พอเห็นแบบนี้แล้วเคยตั้งคำถามหรือเคยสงสัยไหมว่าเพราะอะไร ทำไมหลายๆ คนถึงยังไม่กล้าที่จะเดินออกจากความสัมพันธ์ที่เป็นพิษขนาดนี้สักทีล่ะ?

เรื่องของความสัมพันธ์แบบนี้มีหลายคนที่ให้ความสงสัยและพยายามไขข้อข้องใจกับสาเหตุที่หลายๆ คนยังคงติดอยู่กับวังวนนี้ด้วย อย่างนักเขียนชาวอเมริกัน Teal Swan ก็ได้เขียนลงบนเว็บไซต์ของเธอถึงการทำความเข้าใจกับ Toxic relationship ที่ปรับมาจากงานทดลองของ B.F. Skinner ในการทำการทดลองกับหนูในกรง โดยมีโจทย์ว่า ถ้าหนูเหยียบคาน หนูจะได้เม็ดอาหาร ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือหนูจะหมกมุ่นอยู่กับการเหยียบคาน แต่เมื่อหนูไม่ได้รับอาหาร ไม่ว่าจะกดคานหรือไม่ก็ตาม ผลลัพธ์คือความสนใจของหนูค่อยๆ ลดลงไปต่างจากตอนแรกอย่างสิ้นเชิง เพราะนี่เป็นสิ่งที่มันเรียนรู้ได้ว่าต่อให้กดคานไปก็จะไม่ได้รับอาหารอยู่ดี

ต่อมาทีมได้ทำอีกหนึ่งการทดลองเรียกว่า การเสริมแรงเป็นครั้งคราว (Intermittent Reinforecment) คราวนี้หนูจะเดารูปแบบไม่ได้ว่าอาหารจะหล่นตอนไหน ซึ่งนั่นทำให้หนูหมกมุ่นมากกว่าเดิมจนไม่สนใจอย่างอื่นเลย มันกดคานไปเรื่อยๆ เหมือนคนเสพติด โหยหาอาหารอยู่ตลอดเวลา 

การรอคอยอาหารของเจ้าหนูทดลองก็เหมือนกับเวลาที่เรารอคอยข้อความจากคนที่เรารัก ที่สัญญาว่าจะคุยกันทุกคืน พอบางคืนทัก บางวันหาย เดี๋ยวก็มา เดี๋ยวก็ไป มันเลยทำให้เรารู้สึกสับสน ไม่แน่นอน และเพราะแบบนี้เลยทําให้ตัดสินใจไม่ได้สักทีว่าจะอยู่หรือจะไปดี กลายเป็นว่าเราคอยจนเป็นความเคยชินที่ต้องทำ หรือไม่ก็อาจจะมีเราอีกคนในใจที่ยังเชื่อมั่นว่าเดี๋ยวสักวันก็คงจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเองแหละ แต่พอรู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นว่ากำลังทำร้ายตัวเองด้วยการทนจนนานเกินกว่าที่จะกล้าเดินออกจากความสัมพันธ์นี้ไปแล้ว

รวมไปถึงอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนเราไม่กล้าและไม่อยากเดินออกมาจากตรงนั้น เพราะสำหรับบางคนก็รู้สึกว่าอย่างน้อยได้รู้สึกเจ็บปวดกับความสัมพันธ์ก็ยังดีกว่าไม่รู้สึกอะไร ดังนั้นจึงยินยอมที่จะอดทนกับความ Toxic ดีกว่าการที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ซึ่งเจ็บปวดกว่าสิ่งอื่นหลายเท่านั่นเอง 

เราจะเห็นได้ชัดว่าความสัมพันธ์ที่เป็นพิษที่เกิดขึ้น มันมีสาเหตุได้หลากหลายปัจจัยจริงๆ ทีนี้ก็พอจะเข้าใจแล้วว่าทำไมหลายๆ ครั้ง มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ใครสักคนจะสามารถก้าวข้ามปมในใจ หรือทำลายกำแพงที่เคยสร้างขึ้นไว้ได้ เหมือนกับนางเอก Nevertheless ของเรา เพราะแต่ละคนก็มีพื้นฐาน ประสบการณ์ในอดีตที่แตกต่างกันออกไป

แต่ไม่ว่าอย่างไร ถึงแม้ว่าจะยินยอมในความสัมพันธ์ที่แสน Toxic ขนาดไหน ก็อย่าลืมดูแลใจของตัวเองกันด้วยนะ โดยแต่ละคนอาจรักษาใจแตกต่างวิธีกันไป แต่ท้ายที่สุดแล้วไม่มีอะไรจะรักษาเราได้ดีกว่าการที่เราเริ่มรักตัวเองมากกว่าเอาแต่รอคอยให้ใครสักคนมารักเรา นั่นคือจุดเริ่มต้นในการพาตัวเองไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างอย่างแท้จริง

 

 

Written By : Peeraya Intarasuksanti

 

reference:

Intermittent Reinforcement (Why You Can’t Leave The Relationship)

Why Are Toxic Relationships So Hard To Walk Away From?