ชวนคุยกับ พลอย-รัตนรัตน์ ผู้อยู่เบื้องหลังแฟชั่นกว่าพันชุดในออริจินัลซีรีส์ อิน จัน บน Disney+ Hotstar

เดินทางมาถึง EP.5 กันแล้วและมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ กับออริจินัลซีรีส์เรื่องแรกของไทยบน Disney+ Hotstar อิน จัน (Extraordinary Siamese Story: Eng and Chang) ที่นอกจากเราจะได้เห็นเรื่องราวชีวิตของแฝดสยามผ่านซีรีส์กับโปรดักชันการถ่ายทำสุดยิ่งใหญ่ อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันเลยก็คือแฟชั่นในเรื่อง เพราะเสื้อผ้าตัวละครแต่ละชุด แต่ละคนนั้นก็มีความโดดเด่น น่าสนใจไม่แพ้กันเลยทีเดียว

ซึ่งทาง NYLON ก็ได้มีโอกาสคุยกับ พลอย-รัตนรัตน์ เอื้อทวีกุล หัวเรือใหญ่ฝ่ายคอสตูมของซีรีส์เรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวละครหลักอย่าง อิน, จัน, ซาร่า, อาดิเลด ไปจนกระทั่งตัวละครเล็กๆ อย่างทหารและชาวบ้านทั่วไปที่เราได้เห็นในซีรีส์นั้น เสื้อผ้าทุกชุดผ่านการดูแลของคุณพลอยมาหมดแล้วทั้งนั้น วันนี้ก็เลยจะชวนเธอมาพูดคุยกันถึงการทำงานในฐานะผู้ดูแลและอยู่เบื้องหลังการทำคอสตูมของกองซีรีส์เรื่องนี้กัน

การหาข้อมูลแฟชั่นในปี 1839 ที่นำมาใช้ในเรื่องนี้ต้องศึกษาข้อมูลถึงเรื่องไหนบ้าง

เรื่องการหาข้อมูลของปี 1839 เริ่มแรกเลยทีมพลอยไปที่หอสมุดแห่งชาติ แล้วเหมือนบ้านเราไม่มีหนังสือฝรั่งให้เรารีเสิร์จเลย หนังสือที่ได้มาก็คือกลายเป็นเสื้อผ้าไทยยุคนั้นมาให้ค่ะ เราเปิดดูแล้วรู้สึกว่าไม่เวิร์ก เอายังไงดี แล้วเขาก็ไม่ให้เราเข้าไปเลือกหนังสือเองด้วย เพราะว่าเป็นหนังสือเก่า เก่ามาก บรรณารักษ์เขาก็ไปหยิบมาให้แต่แบบคงเข้าใจผิด ก็เลยเอาทั้งหนังสือไทยมาให้ แต่หนังสือต่างประเทศเทศเอามาแค่เล่มเดียวซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวอะ ไม่ได้มีอะไรเลย เราก็ช็อกกันไป เอายังไงดี 

พลอยก็เลยเอารีเสิร์จจากหนังดีกว่า หนังฝรั่งที่ผ่านตาบ้างว่าเป็นยุคนั้น มันก็จะมีตั้งแต่แบบปี 1820 แล้วก็ไต่ระดับขึ้นไปถึงปี 1950 ประมาณนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ควรจะอยู่ประมาณระหว่าง 1820 จนถึง 1900 เพราะอิน จันเขาเสียตอนปี 1865 ก็เลยเอาหนังฝรั่งนี่แหละ เราต้องพยายามดูหนังที่มันยุคนั้น ก็อย่างเช่น ถ้าเป็นเรื่องทาสนี่ก็เรื่อง 12 Years a Slave ก็ถ้าแบบชาวบ้าน ทหาร คนรวยเนี่ยก็เป็นเรื่อง Cold Mountain อีกเรื่องหนึ่งก็คือ The Beguiled ที่ Nicole Kidman เล่น ถ้าเป็น gangster หน่อย แบบพวกร้านเหล้า มีบาร์เทนเดอร์ แบบชาวบ้านๆในหมู่บ้านก็จะมีเรื่อง Gangs of New York ก็พยายามดูจากตรงนั้นค่ะ

แล้วก็มีพยายามหาจากเว็บไซต์ด้วยนะ มันก็จะมีไล่ลำดับ การแต่งตัวของชาวอเมริกัน ตั้งแต่ยุคปี 1820 ขึ้นไป เขาก็จะไล่เป็นปี เป็นทีละสิบปีอย่างนี้ค่ะ แล้วก็จะมีคนที่ทำวิดีโอแต่งตัวเป็นปี 1820, 1830, 1940 ด้วย แต่ว่ามันก็ได้น้อยเพราะว่ามันไม่ได้ครบทุกอาชีพค่ะ เพราะพลอย ต้องทำทุกอาชีพที่เกิดขึ้นในหนัง (หัวเราะ) ประมาณนี้ค่ะ เราก็พยายามทำให้คล้ายคลึงที่สุดในแบบที่เราไปได้ ในงบที่เรามีด้วย 

เห็นว่าชุดทั้งหมดในเรื่องนั้นเป็นชุดที่ทำใหม่ทั้งหมด อย่างนี้ต้องเริ่มต้นในการทำอย่างไรบ้าง

อันดับแรกก็คือเราต้องวางคาแรกเตอร์ให้หมดก่อนว่าแต่ละคนคาแรกเตอร์เป็นยังไง ว่าควรจะหนักไปทาง เรียบร้อย เซ็กซี่หน่อย สีที่ใช้ อะไรอย่างนี้ อย่างผู้ชายนี่ก็ต้องดูที่คาแรกเตอร์ของเขา แบบชาวบ้าน หัวโจก หรือเป็นผู้จัดการของอิน จันก็ต้องดูดี ดูเป็นทางการหน่อย หรือว่าเป็นพวกคนทำโชว์เขาก็ต้องแต่งตัวหรูหราขึ้นมาหน่อย และเมืองที่เขาอยู่ด้วย อย่างบาร์นัม (Phineas Taylor Barnum) เขาก็อยู่ที่ New York หรือเปล่านะ (หัวเราะ)  ประมาณนี้ค่ะ ทำหลายเรื่องจนงงไปหมดเลยเนี่ย หลักๆ ก็ดูตามคาแรกเตอร์ ความรวย ความจนก็มี 

พอดูจากคาแรกเตอร์เสร็จ วางสีเสร็จพลอยก็จะเลือก reference มาให้ บอกเขาว่าขอสไตล์นี้ๆ แล้วก็จะมีผู้ช่วยก็วาดดีไซน์มาให้ว่า คนนี้ต้องมีปกเชิ้ต คนนี้ต้องมีปกแบบนี้ คนนี้ต้องใส่คอลล่านี้ เสื้อแบบนี้มีลูกไม้ตรงไหน เขาก็ออกแบบมา ส่วนพลอยกับทีมพลอยก็ไปเดินหาซื้อผ้าที่สำเพ็ง พาหุรัด เลือกผ้าเอาเลย สีนี้ลายดอก คนนี้แบบนี้ ตอนแรกเราจะเริ่มทำแค่ประมาณสักคนละ 2 ชุด เพื่อเอาขึ้นมาฟิตติ้งก่อนว่า สไตล์ได้ไหม ตรงตามคาแรกเตอร์ไหม สีได้ไหม ให้ผู้กำกับเค้าดูอีกที แล้วถ้าโอเคทั้งหมดเราก็ลุยเลย 

ทั้งหมดที่ทำมีกี่ชุด

น่าจะพันชุด (หัวเราะ)

แล้วอย่างนี้ต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะเสร็จทั้งหมด

มีเวลาเตรียมงานอยู่ประมาณ 3 ถึง 4 เดือนอะ ไม่แน่ใจ น่าจะไม่เกินครึ่งปีแน่ๆ แต่เราผลิตเรื่อยๆ ไงคะ ตารางถ่ายก็จะถ่ายแบบกระโดดไปกระโดดมา เราก็ต้องค่อยๆ ดูแต่ละสัปดาห์ด้วยซ้ำ ตอนแรกยังไม่ถี่ไง สองสัปดาห์ถ่ายที เราก็เริ่มไปหาผ้ามาตัดสัปดาห์นึง รีบวิ่งแก้ก็ทัน แต่พอหลังๆ ลงคิวดาราได้เต็มที่แล้ว เริ่มถ่ายทุกสัปดาห์ เราก็คือหืดขึ้นคอเบาๆ (หัวเราะ) ก็คือแทบจะไปถีบจักรเองแล้วเพราะช่างเย็บไม่ทัน ต้องกระจายหลายช่าง ช่างผู้ชายหนึ่งเซ็ต สำหรับพวกทำสูท เชิ้ต กางเกง ส่วนช่างผู้หญิงก็ยากตรงที่เขาไม่เคยตัดผ้ากระโปรง 20 เมตร ไหนจะต้องมีสุ่มข้างในสำหรับงานราตรีอีก แต่ก็ยังโชคดีที่ไม่ต้องใส่สุ่มทุกๆ ซีน เพราะว่าเรื่องมันเกิดในบ้านอิน จัน ซึ่งเขาอยู่ในไร่ เรื่องมันเกิดที่ North Carolina เมืองทำไร่ ทำสวน เพราะฉะนั้นผู้หญิงเขาคงไม่ใส่สุ่มอยู่บ้านกัน ก็โชคดีตรงนี้ที่ไม่ต้องใส่สุ่มทุกทุกชุด แค่เฉพาะออกงานราตรีที่เค้าจะต้องดูดีกันหน่อยเลยใส่สุ่มค่ะ 

สิ่งที่สนุกที่สุดในการทำคอสตูมของเรื่องนี้คืออะไร

สนุกที่สุดคือการได้ทำงานร่วมกับทีม ทะเลาะกันสุดขีด (หัวเราะ) ก็สนุกนะเพราะว่ามัน มัน มันสนุกในการออกกองอะพลอยว่า สำหรับพลองเองนะ พลอยชอบออกกอง พลอยสนุกกับการออกกอง เพราะว่ามันมีแต่คนคุ้นชินแล้วเล่นกันตลอดเวล ทั้งเล่น ทั้งงาน อะไรอย่างนี้มันสนุกอะ 

ส่วนถ้าเกิดเป็นเรื่องของการออกแบบเนี่ย ก็สนุกในตอนเริ่มต้น ที่เราได้ดีไซน์คาแรกเตอร์ ได้ไปเลือกผ้า เราเลือกทุกชิ้นเองก็สนุก เพราะพลอยเป็นคนชอบเลือกผ้าอยู่แล้ว จริงๆ มันก็สนุกเกือบหมดนะคะ ทุกๆ ตอน ทุกๆ การทำโปรดักชั่นค่ะ  

แล้วอะไรคืองานที่เครียดและยากที่สุดของการทำงานนี้

เครียดและยากที่สุดสำหรับพลอย ที่รู้สึกโหดกับตัวเองคือชุดทหาร พลอยคิดว่าแบบ โหย ทำยังไงให้เหมือน ทำยังไงให้มันแบบโสมม ทำยังไงให้มันดูแบบเหนื่อยท้อ ให้ชุดมันส่งผลต่อการแสดงด้วย แล้วก็พวกเครื่องหนังอีก คือเราแทบเราไม่ถนัดไง เครื่องหนัง ไหนจะทำชุดสงครามอะ ทีมเราก็ผู้หญิงล้วนอะ 3 คนตัวบางๆ ต้องแต่งตัวให้ extra ประมาณ 30-40 คนอะ บางซีน 10 คน บางซีน 50 คน แล้วฝรั่งแต่ละคนอะ บางทีมาแบบผู้ชาย อ้วนมาก อ้วนน้อย ผอมมาก ตัวเตี้ย ตัวสูง อันนี้คือโหดมาก บวกกับทำงานกับทีมอาร์ตด้วยเขาก็จะมาช่วยเราบางส่วน เช่นพวกอุปกรณ์มีด อุปกรณ์ปืนอะไรอย่างงี้ ช่วยเราหาแบบของจุกๆ จิกๆ ที่ต้องใส่กับปืน ใส่กับมีดให้ด้วย เราก็จะทำพวกเข็มขัด หมวกประมาณนั้น 

แล้วตัวละครทหารนี่ก็จะมีทั้งทหารในยูนิฟอร์ม ทหารชาวบ้านที่โดนแบบเกณฑ์มารบก็ต้องแตกต่างอีก แล้วซีนทหารมันโหดอะ ไหนจะต้องเสื้อขาด เลอะเลือด โดนระเบิดมาบ้าง โดนอะไรมาบ้าง เราก็ต้องทำเสื้อให้ดูเก่าอีก เอาคัตเตอร์มากรีด น่าจะมีร้อยชิ้นได้ เดือดอะ (หัวเราะ) ยาก  สำหรับพลอย พลอยยังรู้สึกว่าแบบไม่ค่อยพอใจตัวเองตรงนั้นมากกว่า เวลามันน้อย สองสัปดาห์เองทำชุดทหารทั้งหมดมันก็ไม่ไหวอะ (หัวเราะ) ก็จะตายเอาเหมือนกัน

อีกเรื่องหนึ่งที่ยากคือ extra จอร์เจีย ยากมาก ทั้งไร่ทั้งหมู่บ้าน พลอยต้องเป็นคนแต่งตัวเรียงคน ทุกคน ทีละคน extra ก็มีเยอะอีก อย่างในหมู่บ้าน คนขายเนื้อต้องใส่ผ้ากันเปื้อนแบบนี้ในยุคนั้น ช่างไม้ ช่างสี ตามท้องถนน ไม่ว่าจะถ่ายเห็นหรือไม่เห็นแต่เรารับบรีฟมาว่ามี extra ที่ต้องเป็นอาชีพอะไรบ้าง พลอยก็ปวดหัวแล้ว (หัวเราะ) ดีเทลเยอะ เห็นคนเดินผ่านๆ ในหมู่บ้านนั่นคือทุกคนที่พลอยแต่งตัวเลยนะ เพราะหนึ่งคือเราต้องดูเรื่องของสี สองคือพลอยแบกชุดไปเกือบหมดโกดัง 30 กระเป๋าใหญ่ๆ คาร์โก้ไปเลย เราต้องมาแจกแจงที่ละชุดทีละชิ้นเพื่อใส่รหัสก่อนส่งคาร์โก้ พลอยต้องยิงรหัสบาร์โค้ดทุกตัวเหมือนขายของอะ แม้กระทั่งผ้าพันคอหรือเครื่องประดับก็ต้องทำ เพราะทางการจอร์เจียเขาเช็กทุกชิ้น ด้วยความที่เครื่องประดับเราเป็นของแท้ บางทีเป็นทองหรือของเก่าด้วย พอถึงตม.เขาก็จะขอตรวจกระเป๋าเลย ถ้าเราแจ้งไปว่าเป็นเงินแท้ ทองแท้ เขาจะกักไว้เพราะนึกว่าเราจะเอาไปขายในประเทศ 

เรื่องยากก็คือเรื่องไปจอร์เจียด้วยนี่แหละ เพราะเรามีงบไปแค่ 2 คนเท่านั้น จริงๆ เขาก็มีผู้ช่วยโปรดักชันซัพพอร์ตที่นั่นนะ แต่เขาจะไม่เข้าใจการทำงานของไทย ของเราในหนึ่งวันถ่ายที 10 กว่าซีน แต่ของเขาถ่ายกันแค่วันละ 2-3 ซีนเท่านั้น แล้วบางทีกระโปรงหนึ่งตัวเขาใช้เวลารีดทั้งวัน ที่เหลือพลอยกับผู้ช่วยก็ต้องวิ่งจัดการเปลี่ยนกัน ไหนจะฝนตก ต้องเอาไดร์มาเป่าชุดให้แห้งทันอีก เดือดมาก ผอมไปเลย (หัวเราะ) 

ถ้าอย่างนั้น ชุดผู้หญิงหรือชุดผู้ชายแบบไหนที่ทำยากกว่ากัน

สำหรับพลอยคิดว่าชุดผู้ชายยากกว่า เพราะว่าชุดผู้ชายอะมันแบบรายละเอียดมันเยอะกว่า คือเหมือนจะง่ายนะ เหมือนผู้หญิงจะต้องมีรายละเอียดตรงนู้นตรงนี้ แต่มันจบในชุดเดียวอะ เลือกผ้านี้เสร็จ เลือกอะไหล่มาเสร็จสั่งตัดปุ๊บจบ แต่ของผู้ชาย ไหนจะเสื้อเชิ้ตข้างใน เสื้อ vest (เสื้อกั๊ก) ทับอีก มีโซ่ นาฬิกา มีสูทอีก หมวกอีก รองเท้าหนังอีก คือมันหลายชิ้นไง ผ้าพันคอ คือมันนับชิ้นได้ว่ามันแบบ มันจะเหนื่อยตรงที่ไหนจะแมทช์อีก แมทช์ยังไงให้มีสไตล์ แล้ว แมทช์อินกับจันให้กัน สีใกล้เคียงกันอีก แต่ละอย่างอะ ไหนจะเรื่องของ continue อีก มัน continue เป็นชิ้นอะ แต่ผู้หญิงเนี่ย โอเคทรงผม แต่งหน้า แล้วชุดก็คือชุดเดิม เสื้อกระโปรง หรือไม่ก็เดรสอะไรอย่างนี้ค่ะ

 

ตอนดูในเรื่องคิดว่ารายละเอียดการทำชุดผู้หญิงจะเยอะกว่า

ใครจะรู้ (หัวเราะ) ใครจะรู้ความ continue และความหลายชิ้นเนี่ยมันกว่าจะแมทช์เสร็จอะ แล้วไหนจะต้องจำย้อนไปอีก ว่าเฮ้ยซีนที่แล้วที่จะต้องตัดต่อเนื่องมาเนี่ย เราใช้ผ้าพันคออันนี้ไปแล้ว เรามาแมทช์ซ้ำไม่ได้อีก เราก็ต้องแบบไล่ดู continue ทุกซีนอะ อย่างผู้หญิงมันจำง่าย อย่างผู้ชายมัน ผ้าพันคอนี้ชั้นใส่ซ้ำวันไม่ได้นะ สมมติ Day 10 แล้ว Day 11 มาใส่ซ้ำมันก็ไม่ได้อะ 

รายละเอียดที่ต้องใส่ใจที่สุดในพาร์ทของการทำเสื้อผ้าคือเรื่องอะไร

คาแรกเตอร์สำคัญที่สุด เสื้อผ้ากับคาแรกเตอร์ พลอยว่ามันต้องคล้องจองกัน เสื้อผ้ากับการแสดงของเขาด้วย และซีนนั้นที่เขาต้องทำอะไร อันนี้ก็สำคัญ เช่น ไปวิ่งในไร่ เราก็คงไม่ใส่เสื้อสูท ก็คงจะเหลือแค่กางเกงกับเสื้อเชิ้ตละก็สายเอี๊ยม หรือถ้าเป็นผู้หญิงอะ อยู่บ้านทำกับข้าว ก็คงไม่ต้องแต่งวิลิศมาหราอะไร อย่าง EP.1 รู้ว่าผู้ชายมาหาแน่ๆ ก็ต้องมีความสวยหน่อย ใส่ต่างหู ใส่ชุดไปแบบเซ็กซี่นิดหนึ่ง

เลือกชุดให้เข้ากับคาแรกเตอร์ของตัวละครนั้นอย่างไร 

ผู้กำกับเขาก็ต้องวางไว้อยู่แล้วว่าอย่างเช่น อาดิเลด จะมีความซุกซน มีความ alert กว่า พลอยก็อาจจะวางสีให้สดใส เป็นสีๆ ได้ ส่วนตัวพี่สาวซาร่าก็จะเรียบร้อย ไม่ค่อยกล้าแสดงออก จะมีความมินิมอลสีก็จะออกโทนเอิร์ธๆ หน่อย ไม่สดใสมากแต่ก็ยังอยู่ในมวลของซัมเมอร์  เราก็จะดูมวลรวมว่าทีมงานอยากได้สีออกมาโทนไหน สีพาสเทลซัมเมอร์ช่วงต้นเรื่อง ช่วงกลางก็จะเป็นสีที่เริ่มมีปัญหาครอบครัว ก็จะเปลี่ยนเป็นสีเอิร์ธโทนมาหน่อย ส่วนช่วงท้ายก็จะเป็นสีดาร์กเลย

แล้วชุดของอิน จันที่ตัวติดกันนั้นต้องทำออกมาอย่างไรบ้าง

ยากมาก ถ้าตอนที่ใส่ชิ้นเนื้อเลื่อนลงมาก็ติดกระดุมไม่ได้แล้วอะ (หัวเราะ) คือพลอยไม่อยากทำเหมือนของออริจินัลซะทีเดียว ภาพส่วนใหญ่ที่เห็นในภาพเก่าๆ ของอิน จันที่เป็นภาพวาดจะใส่เป็น เสื้อกั๊กใช่ไหมคะ เราก็จะติดกระดุมตั้งแต่ช่วงอกลงไปข้างล่าง แต่เราก้จะเว้นกระดุมไว้ 1 หรือ 2 เม็ด เพื่อให้ชิ้นเนื้อที่เชื่อมกันมันออกมาแล้วค่อยติดข้างล่าง ก็อึดอัดดีแหละ โดนนักแสดงบ่นเบาๆ แต่ก็ต้องติดให้ ซึ่งในภาพวาดจริงๆ เขาเริ่มติดกระดุมลงมาจากชิ้นเนื้อ แล้วพลอยคิดว่ามันดูเหมือนชุดโชว์มากกว่าชุดปกติ ก็เลยให้ใส่แบบธรรมดาก็ได้ ทำให้แตกต่างจากเดิมนิดหนึ่ง ไม่เชิงว่าทำเป็นแพทเทิร์นโดยเฉพาะ แค่เว้นกระดุมเท่านั้นเองค่ะ จริงๆ ก็คือเสื้อกั๊กธรรมดาแยกชิ้นกัน เพราะไม่อย่างนั้นตรงปกเสื้อจะโล่งจนถึงใต้ชิ้นเนื้อเลย พลอยว่าจะไม่สวย 

ถ้าสังเกตดีๆ ชุดของอิน จันจะไม่เหมือนกัน

ไม่เหมือนๆ พลอยพยายามทำให้ไม่เหมือน ต้องคุมสีให้ได้แต่ต้องมีอะไรแตกต่าง เช่น อินจะใช้สีที่เข้มกว่าหน่อย เพราะเขาจะเป็นคนที่สุขุม มินิมอลกว่า ส่วนจันจะเป็นคนมุทะลุกว่า มีความสีสันมากกว่านิดหนึ่ง พลอยถึงไม่อยากให้แต่งตัวเหมือนกันเกินไปเพราะไม่อย่างนั้นคนดูจะแยกไม่ออก อย่างน้อยตอนต้นเปิดซีนมา รู้เลยว่าอินใส่แต่สายเอี๊ยมกับเสื้อเชิ้ต ส่วนจันจะใส่เป็นเชิ้ตกับเสื้อกั๊กแค่นี้ พยายามให้มันมีอะไรที่แตกต่างกัน

การที่มีฝาแฝดจริงๆ ช่วยในการทำงานกับกอง อิน จัน ไหม

การมีฝาแฝดช่วยให้เข้าใจแค่อารมณ์ของตัวละครเฉยๆ เรามาเล่าถึงช่วงชีวิตตรงกลางแล้วไงไม่ใช่ตอนเด็ก เป็นช่วงที่อยากจะแยกตัว พลอยว่ามันตามซีนมากกว่า อย่างเรื่องของอารมณ์จะเข้าใจอิน จันมากว่าไม่อยากเหมือนกันแล้ว ไม่อยากเป็นแฝด แค่นั้นเอง อาจจะมีแต่งตัวเหมือนกันก็ตอนโชว์ ไม่เหมือนกันก็เป็นตอนใช้ชีวิตปกติ 

อย่างพลอยก็ไม่อยากแต่งตัวเหมือนเพชรแล้วอะ ไม่อยากแต่งตัวเหมือนเพชรตั้งแต่ป.4 เรื่องของเรื่องคือพลอยจะใส่ชุดหนึ่ง แล้วเพชรจะใส่อีกชุดหนึ่ง แม่จะต้องเป็นคนเลือกตลอดก่อนออกจากบ้าน เราก็จะรู้สึกว่าทำไมไม่เลือกของเรา ไม่อยากแต่งตัวเหมือนกัน ตรงนี้คือสิ่งที่พลอยเอามาใช้ร่วมกันเรื่องนี้ แต่ในยุคนั้นชุดของผู้ชายก็จะไม่มีอะไรมาก จะมีประมาณนี้เท่าที่เห็นแหละค่ะ นอกจากเป็นอาชีพอื่นไปเลย

ส่วนตัวแล้วชุดที่ชอบที่สุดที่อยากให้คนอื่นได้เห็นและชอบเหมือนกันคือชุดไหน

ถ้าเป็นของของอิน จันพลอยอยากให้ดูชุดโชว์ แต่ถ้าเป็นของซาร่าและอาดิเลดจะเป็นชุดที่เขาใช้ชีวิตอะ เพราะชุดของสองคนนี้จะเห็นชัดเลยตั้งแต่รวย จนแต่งงานกับอิน จัน แล้วก็เข้าช่วงสงครามแล้วทุกคนเริ่มจน ไม่มีเงิน ยุคมันเปลี่ยน ต้องขายของที่บ้านออก วึ่งในเรื่องไม่ได้บอกหรอกนะคะ แต่มันจะเห็นว่าโทรมไปเรื่อยๆ เสื้อผ้าก็จะบ้านขึ้นไปเรื่อยๆ มีลูกแล้ว ลูกก็ต้องเอาเสื้อผ้าแม่มาใส่ อยากให้ดูการ mix & match ว่าพี่น้องอยู่บ้านเดียวกันก็ต้องใช้ของด้วยกัน เพราะไม่มีเงินแล้วอะ ก็ใช้ของซ้ำไปซ้ำมา 

ฝากให้ผู้ชมติดตามความเข้มข้นของตอนต่อไป

สำหรับใครที่ชื่นชอบอยากรู้เรื่องราวของครอบครัวอิน จัน ทั้งประวัติเขาจนถึงวินาทีสุดท้าย พลอยว่าควรตามดูไปเรื่อยๆ เพราะในเรื่องจะไต่ระดับความดราม่าขึ้นไป แล้วเราจะได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างในยุคของคนไทยที่ไปใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกและมีภรรยาที่เป็นชาวต่างชาติคนแรกของไทย ก็มีความน่าติดตามตรงนี้ด้วย และจะได้ดูความมุ่งมั่นของอิน จันในเรื่องของการแยกตัวกันในยุคนั้นด้วยค่ะ