‘ตั๊ก ฉันทนา’ ผู้กำกับที่เล่าการเติบโตของวัยรุ่นอีสานผ่าน ‘หน่าฮ่าน คัลเจอร์’

‘หน่าฮ่าน’ สำหรับชาวอีสาน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ห่างไกลจากวัฒนธรรมป๊อปและสิ่งอำนวยความสะดวกแล้วนั้น คือทุกสิ่งทุกอย่าง พื้นที่หน้าเวทีคือที่เปิดโอกาสให้ถูกจ้องมอง ได้แสดงออกถึงการเป็นตัวเอง และที่สำคัญคือได้รับการยอมรับ 

ไม่เหมือนกับหมอลำที่คนทั่วประเทศคุ้นกันจากสื่อกระแสหลัก วัฒนธรรมหน่าฮ่านไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาเล่ากันบ่อยครั้งนัก – และนั่นทำให้พอเราเห็นซีรีส์ที่เล่าชีวิตของวัยรุ่นอีสานผ่านวัฒนธรรม ‘หน่าฮ่าน’ การเต้น และเพลงหมอลำ และบทสนทนาเสียงภาษาอีสานทั้งเรื่อง (แบบที่ต้องขึ้นซับไตเติ้ลให้อ่านตาม) – แค่นั้นก็พอแล้วที่จะดึงดูดให้เราติดตามชีวิตของเหล่าวัยรุ่นอีสานในซีรีส์ที่ชื่อว่า “หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์”

ซีรีส์ผลิตโดย TV Thunder และกำกับโดย ‘ตั๊ก-ฉันทนา ทิพย์ประชาติ’ ที่หยิบเอาเรื่องราวจากผลงานของตัวเอง ‘หน่าฮ่าน (2019)’ ในเวอร์ชันหนังมาถ่ายทอดในรูปแบบของซีรีส์แนว coming-of-age แบบอีสาน ที่เป็นเหมือนกับรายละเอียดเพิ่มเติมที่จะทำให้เราได้เห็นวิถีชีวิตของเด็กอีสานผ่านการเล่าเรื่องราวแบบอีสานแท้ๆ จนทำให้เกิดเป็นกระแสในโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ภาษาถิ่นเป็นหลัก หรือเป็นการใส่ประเด็นสังคมในเรื่อง ทำให้เราสนใจในการดำเนินเรื่องของซีรีส์เรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนถึงจบเรื่อง ที่หากใครติดตามชมไม่ทันก็ยังสามารถตามกลับไปดูได้ที่ AIS Play

หลังจากที่ได้คุยกับนางเอกของเรื่องอย่างกุ๊งกิ๊ง ปฏิมาไปแล้ว เราขอก็มานั่งคุยกับ ตั๊ก ฉันทนา ผู้กำกับที่ให้แสงกับเหล่าเด็กพอกะเทินจนกลายมาเรื่องราวผ่านมุมมองของวัยรุ่นอีสานบ้านโนนหินแห่ที่เราอาจจะไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนกัน

 

การทำงานที่แตกต่างกันของตอนที่ทำหนังและทำซีรีส์เรื่องนี้ มันแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน อย่างไรบ้าง

มันก็ต่างในหลายๆ ด้าน พอเป็นซีรีส์มันก็จะมีจังหวะที่กระชับกว่าหนัง เพราะว่ามันจะต้องดึงคนให้อยู่กับหน้าจอ ด้วยขนาดจอที่มันเล็กลง เช่น จังหวะการตัดจะเร็วกว่าหนังประมาณหนึ่ง จังหวะเพลงประกอบจะเลี้ยงไปประมาณนี้ เพื่อที่จะไม่ทำให้บรรยากาศเงียบและอึดอัดนานเกินไป

ส่วนเรื่องตัวละคร ตอนเป็นหนังมันต้องมีตัวหลักคือ พระเอก นางเอก แล้วก็แก๊ง แต่พอเป็นซีรีส์ เราก็จะให้ความสำคัญกับแทบจะทุกตัวละคร คือเรารู้สึกว่าทุกๆ คนก็จะมีเรื่องเล่าเป็นของตัวเอง แล้วก็เป็นตัวเอกของตัวเองอยู่แล้ว เราก็เลยรู้สึกเราเคารพชีวิตของผู้คน เราก็เลยอยาากจะเล่าออกมาประมาณนี้

อันไหนยากกว่ากัน ทำหนังหรือทำซีรีส์

จริงๆ ก็ยากพอๆ กัน ตอนที่ทำหนัง (หน่าฮ่าน 2019) มันก็เป็นหนังเรื่องแรกที่เข้าฉายในโรง มันก็ยาก เพราะเราก็ไม่เคยทำหนังฉายในโรง พอเป็นซีรีส์มันก็เป็นซีรีส์เรื่องแรกอีก ทำอะไรครั้งแรกมันก็จะมีความยากสุดๆ เหมือนกัน

ในภาษาอีสาน เขาเรียกเด็กครึ่งๆ กลางๆ ตรงนี้ว่า “เด็กพอกะเทิน” จะเก่งก็ไม่เก่ง จะโง่ก็ไม่โง่ ก็เป็นเด็กที่ไม่สุดสักทาง เด็กพอกะเทินนี่แหละเป็นเด็กที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ แล้วประชากรที่เป็นส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ถูกจดจำ ไม่ถูกให้ความสำคัญ

หลายคนอาจจะมองว่าสื่อบันเทิงที่มาจากภาคอีสาน และพูดอีสาน ทำขึ้นเพื่อให้คนภาคอีสานดู และคนภาคอื่นมาดูอาจจะไม่เข้าใจ แต่เรื่องนี้เหมือนคนทั่วไปดูก็เข้าใจเหมือนกัน มีการปรับอย่างไรให้ดูกลางๆ ที่ทุกคนสามารถดูได้เหมือนกันทั้งหมด

เราเคยตามบทสัมภาษณ์ของสตีเฟน ยอน (Steven Yeun) นักแสดงจาก Minari หนังเกาหลีสัญชาติอเมริกาของค่าย A24 แล้วเขาพูดว่าเขาเป็นคนเกาหลี แต่เขาไม่เคยคิดว่าเป็นคนเกาหลี เขาคือประชากรโลก แล้วเราสนใจคำนี้มาก เรารู้สึกว่าสิ่งที่เขาพูดมันมีความเป็นสากล เขาสามารถเล่นหนังที่ระบุสัญชาติไม่ได้ว่านี่คือหนังเกาหลีหรืออเมริกา แล้วเราก็ทำงานบนสิ่งนั้น หมายถึงว่าทำทุกอย่างให้มันเป็นสากลทีมีความเฉพาะตัว คือมันจะเป็นสากลไปเลยก็ได้แต่ว่าต้องไม่เหมือนใครด้วย ไม่งั้นคนก็จะจำเราไม่ได้ ก็เลยสนใจวิธีทำงานทางนี้ 

อีกตัวอย่างที่ดีมากคือ พี่เจ้ย-อภิชาติพงศ์ ที่เขาทำ Memoria คือทีมงานหลักเป็นคนไทย แต่ว่านักแสดง Tilda Swinton เป็นคนไอร์แลนด์ ถ่ายที่โคลัมเบีย ทุนสร้างจาก 10 ประเทศ มันก็ไม่สามารถที่จะระบุได้ว่าอันนี้คือหนังไทย หนังโคลัมเบีย หนังไอร์แลนด์ หรือหนังประเทศอะไร แต่ตัวเนื้อหนังมีพูดกับคนทั้งโลก มันก็คือมันมีความเป็นสากลอยู่ในนั้น แต่ว่ามันก็จะสัมผัสได้ว่า เออ อันนี้แหละ คืองานพี่เจ้ย เราก็เลยรู้สึกว่าวิธีคิดแบบนี้น่าสนใจ 

เรารู้สึกว่าไม่ว่าวัยรุ่นอีสาน วัยรุ่นกรุงเทพฯ วัยรุ่นภาคเหนือ ภาคใต้ หรือว่าที่เกาหลี ก็มีจุดร่วมเดียวกัน ก็เลยดึงประสบการณ์ [ร่วม] ตรงนั้นมาใช้

จุดร่วมเดียวกันที่ว่านี้คืออะไร 

ยกตัวอย่างให้เห็นเลยก็คืออย่างในห้องเรียน ก็จะมีพื้นที่หน้าห้อง หลังห้อง แล้วก็ตรงกลางห้อง มันเหมือนกันทุกที่เลยบนโลกที่เป็นโรงเรียนวัยรุ่น เด็กหลังห้องก็จะถูกนิยามว่าเป็นเด็กเลว ส่วนเด็กหน้าห้องก็จะถูกนิยามว่าเป็นเด็กเรียนเก่ง เด็กยกมือทุกๆ คำถาม แต่เด็กกลางห้องมันมีใครจำเขาได้ไหม 

ในท้องถิ่นเรา ในภาษาอีสาน เขาเรียกเด็กครึ่งๆ กลางๆ ตรงนี้ว่า “เด็กพอกะเทิน” จะเก่งก็ไม่เก่ง จะโง่ก็ไม่โง่ ก็เป็นเด็กที่ไม่สุดสักทาง เด็กพอกะเทินนี่แหละเป็นเด็กที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ แล้วประชากรที่เป็นส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ถูกจดจำ ไม่ถูกให้ความสำคัญ หรือว่าไม่ให้พื้นที่ นั่นแหละคือจุดร่วมเดียวกัน คือไม่ว่าที่ไหนมันก็จะมีภาพตัวแทนพื้นที่คล้ายๆ กัน

เราก็มีปูมหลังมาจากตัวละครแหละว่าเขาเป็นใคร วิธีคิดคืออะไร พ่อเป็นใคร ใช้ชีวิตอย่างไร มันก็เลยไม่ค่อยเห็นเขาพูดภาษาอีสาน แล้วเขาก็จะพูดภาษากลางเป็นส่วนใหญ่ แปลว่าเขาคือคนหนึ่งที่เขาอาจจะถูกล่าอาณานิคมไปแล้ว (หัวเราะ) เป็นส่วนหนึ่งของส่วนกลาง

อยากให้อธิบายถึงคำว่า “วัยรุ่นอีสาน” หน่อย 

วัยรุ่นอีสานก็คือวัยรุ่นที่พูดภาษาอีสาน แล้วก็เกิดและโตที่ภาคอีสาน มีพ่อแม่เป็นคนอีสานนั่นแหละ แต่ว่าเราก็ไม่สามารถที่จะพูดแทนได้เหมือนกัน คือเราก็เป็นแค่คนทำงานคนหนึ่งก็เลยรู้สึกว่าเราเองก็ไม่กล้าไปนิยามว่าวัยรุ่นอีสานคืออะไรเหมือนกัน เพราะว่าไม่ใช่ราชบัณฑิตยสถานก็เลยไม่รู้จะนิยามอย่างไรเหมือนกัน 

สิ่งที่เราพยายามจะทำคือเสนอมุมมองหรือว่าแง่มุมที่อาจจะยังไม่ค่อยเห็นในสื่อกระแสหลัก คือพยายามหยิบยื่นในสิ่งที่มันอาจจะไม่ได้ชินตา คือมันก็มีบ้างแหละ แต่ว่าก็ยังไม่ได้เยอะ ก็เลยพยายามแชร์มุมมองที่เป็นชีวิตชีวาแบบนี้ออกไป – แบบนี้ก็คือแบบที่เติบโตแล้วก็สามารถที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาตรงนั้นได้อย่างมีชีวิตชีวา คือเขาไม่ได้จมทุกข์กับปัญหาจนเกินไป 

เราก็รู้สึกว่ามันมีคนที่ไม่ได้ทำตัวเป็นเหยื่อ คือเขาเป็นเหยื่อนั่นแหละ แต่เขาไม่ได้เล่นบทบาทเป็นเหยื่อ คือมันเศร้านะแต่ไม่ได้ไปจมจ่อม

รู้สึกว่าการนำเอาวัฒนธรรมอีสานอย่างภาษาถิ่นมานำเสนอผ่านฟรีทีวีเป็นความท้าทายไหม 

จริงๆ ก็มีการคุยกันกับพี่นุ้ย TV Thunder (จารุพร กำธรนพคุณ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการผลิตของทีวีธันเดอร์) กันประมาณหนึ่งเหมือนกันในเรื่องนี้ ว่าในเรื่องจะมีตัวละครพูดภาษาอีสานประมาณไหน แค่ไหน 

พี่นุ้ยเขาเชื่อว่าการวิ่งหนีออกจากศูนย์กลาง [หมายถึง วัฒนธรรมภาคกลาง – ผู้เขียน] มันเป็นเรื่องที่ดี คือมันสามารถอุปมาอุปไมยไปถึงการกระจายอำนาจ อาจจะพูดภาษาอีสาน มีซับไตเติ้ล แต่เรารู้สึกว่าคนส่วนกลางเองก็ต้องพยายามเข้าใจคนที่อยู่รอบนอก คนชายขอบด้วยเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นการพูดภาษาอีสานในสื่อกระแสหลักเราว่ามันเป็นเรื่องที่ควรทำ เราก็เลยไม่รู้สึกว่าเรากังวลหรือกลัวคนไม่เข้าใจ เพราะว่าจริงๆ มันเป็นภาษาที่พูดออกไปก็เข้าใจกันได้ด้วยอวัจนภาษา ด้วยซับไตเติ้ลด้วย แล้วเรารู้สึกว่าความพยายามทำความเข้าใจภาษาที่มันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร

พอเราเล่าเรื่องในโรงเรียน เล่าเรื่องชุมชนประมาณนี้ ตัวละครมีจากลูกชาวนา ลูก ผอ. มันก็เห็นความห่างของชนชั้น แล้วก็ความเหลื่อมล้ำที่เป็นภาพปกติอยู่แล้ว แต่ว่าทั้งๆ ที่จริงๆ ก็ไม่ควรเป็นเรื่องปกติ

ในฐานะที่เป็นผู้กำกับที่มาจากภาคอีสาน รู้สึกว่าสื่อความบันเทิงที่เป็นภาษาอีสานถูกละเลยจากกระแสหลักไหม

เอาจริงๆ แล้วเราว่ามันไม่ค่อยถูกละเลยหรอก หมายถึงมันก็มีคนทำออกมาเรื่อยๆ แต่ว่ามันเป็นน้ำเสียงแบบไหนมากกว่า มันถูกพูดด้วยความเข้าถึงคนตรงนั้นจริงๆ แค่ไหน 

ในขณะที่ทุกคนในเรื่องใช้ภาษาอีสาน แต่ตัวละครโยเยเป็นคนเดียวที่ใช้เป็นภาษากลาง

จริงๆ มันมีฉากที่เขาพูดภาษาอีสานด้วยนะ แต่ว่ามันน้อยมาก คือจริงๆ ก็ต้องบอกว่าเขาเป็นอภิสิทธิ์ชน เราก็มีปูมหลังมาจากตัวละครแหละว่าเขาเป็นใคร วิธีคิดคืออะไร พ่อเป็นใคร ใช้ชีวิตอย่างไร มันก็เลยไม่ค่อยเห็นเขาพูดภาษาอีสาน แล้วเขาก็จะพูดภาษากลางเป็นส่วนใหญ่ แปลว่าเขาคือคนหนึ่งที่เขาอาจจะถูกล่าอาณานิคมไปแล้ว (หัวเราะ) เป็นส่วนหนึ่งของส่วนกลาง 

ทุกวันนี้เด็กที่อยู่ในโรงเรียนบางคนที่คิดว่าตัวเองอยากเข้าร่วมกับส่วนกลาง เขาก็พูดสื่อสารภาษากลางกันในโรงเรียน เราก็เลยรู้สึกว่ามันต้องมีตัวละครหลายๆ แบบอยู่ในซีรีส์ด้วยเหมือนกัน จริงๆ ส่วนมากลูกครูเขาก็ไม่ค่อยพูดภาษาอีสานนะ เพราะว่าครูเขาก็อยากให้ลูกตัวเองพูดภาษากลาง สื่อสาร พอเวลาทำงานหรือมาเข้าเมือง ก็จะได้ “ไม่ตกลาว” คำว่า “ไม่ตกลาว” หมายถึงว่าไม่ได้ติดสำเนียงภาคอีสาน

การที่พ่อแม่มีตำแหน่งช่วยให้ลูกมีโอกาสได้มากกว่า สิ่งนี้มันสะท้อนอะไรให้เห็นในปัจจุบัน

จริงๆ ในสังคมมันก็ชัดอยู่แล้ว เราแค่รู้สึกว่าเราแทบจะไม่ได้ทำหรือว่าพยายามตั้งใจให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เลยด้วยซ้ำ แต่พอตัวละครมาแบบนี้มันก็เป็นไปแบบนี้โดยปริยาย คือมันก็อยู่ในสังคมนี้ หมายถึงว่าประเทศนี้มันก็เป็นสังคมอุปถัมภ์มาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว สังคมแห่งเส้นสายและคอนเน็กชั่น มันก็ให้ภาพนั้นโดยปริยาย 

จริงๆ คนทำงานอย่างเรา หรือพี่คนเขียนบท หรือพี่นุ้ยเองก็เห็นพ้องต้องกันว่า สิ่งที่เรากำลังจะทำอยู่ มันไม่ได้ถูกมโนหรือยัดเยียดลงไปจนเกินไป พอเราเล่าเรื่องในโรงเรียน เล่าเรื่องชุมชนประมาณนี้ ตัวละครมีจากลูกชาวนา ลูก ผอ. มันก็เห็นความห่างของชนชั้น แล้วก็ความเหลื่อมล้ำที่เป็นภาพปกติอยู่แล้ว แต่ว่าทั้งๆ ที่จริงๆ ก็ไม่ควรเป็นเรื่องปกติ 

ชื่อหมู่บ้าน “โนนหินแห่” มันจะต้องถูกพูดในสื่อนี่แหละ ถูกต้องแล้ว เพราะว่าที่อีสานน่าจะมี “โนนหินแห่” หรือว่าถนนลูกรังประมาณพันกว่าหมู่บ้าน หมื่นกว่าที่ที่เป็นถนนลูกรัง ก็พูดจนกว่ามันจะถูกได้ยิน

สถานที่ในเรื่อง ทำไมถึงเป็น “โนนหินแห่”

จริงๆ แล้วมันมีหลายชื่อมาก แต่ว่า “โนนหินแห่” เป็นชื่อที่เราได้ยินบ่อยมากและเยอะมาก แล้วเราเองรู้สึกสนใจ ชอบคำว่า “หมู่บ้านโนนหินแห่” ด้วย เพราะว่ามันมีความหมาย โนนก็คือเนิน หินก็คือก้อนหินก้อนดิน แห่ก็คือฝุ่นที่มันตลบตามรถ มันก็เป็นชื่อหมู่บ้านที่เห็นภาพ พอพูดชื่อนี้ภาพมันก็มา 

แล้วมันก็เกิดจากความที่เราข้องใจด้วยแหละ มียุคหนึ่งที่ความเจริญมันจะเข้าถึง ที่มันเกือบจะมีรถไฟฟ้า แต่ว่าประโยคที่พูดว่ารถไฟฟ้าอย่าเพิ่งมีเลย เพราะว่าถนนลูกรังยังไม่หมด มันก็เลยเป็นเรื่องข้องใจว่าทำไมเราจะมีรถไฟฟ้า ในขณะที่ลูกรังก็ยังมียังมีถนนลูกรังไม่ได้ ทำไมต้องไปรอให้มันกำจัดถนนลูกรังให้หมดก่อน มันเป็นเรื่องไม่มีเหตุผล 

ชื่อหมู่บ้าน “โนนหินแห่” มันจะต้องถูกพูดในสื่อนี่แหละ ถูกต้องแล้ว เพราะว่าที่อีสานน่าจะมี “โนนหินแห่” หรือว่าถนนลูกรังประมาณพันกว่าหมู่บ้าน หมื่นกว่าที่ที่เป็นถนนลูกรัง ก็พูดจนกว่ามันจะถูกได้ยิน

ซีรีส์ Coming-of-age  ในแบบอีสานกับ  Coming-of-age ในกรุงเทพฯ แตกต่างกันไหม

ถามว่ามันต่างกันไหม มันก็ไม่ค่อยต่างกันหรอกค่ะ มันก็คล้ายๆ กัน จริงๆ ซีรีส์วัยรุ่นก็คล้ายๆ กันหมด แต่เราว่าสิ่งที่ต่างกันมันเป็นรายละเอียดมากกว่า เช่น สมมติว่าเด็กกรุงเทพฯ จะโดดเรียน มันก็คงเกิดสถานการณ์อีกแบบหนึ่ง แต่ว่าเด็กต่างจังหวัดจะโดดเรียน มันก็จะเกิดสถานการณ์อีกแบบหนึ่ง สิ่งที่มันต่างกันน่าจะเป็นรายละเอียด แต่ว่าวิธีคิด ความคิดของเด็กๆ มันคล้ายๆ กัน 

เราโดดเรียนเพราะเบื่อโรงเรียน เด็กต่างจังหวัดก็เหมือนกัน โดดเรียนไปเพราะเบื่อโรงเรียน รู้สึกว่าข้างนอกสนุกกว่าอยู่โรงเรียนก็ไป เราว่าวิธีคิดมันก็คล้ายๆ กันแต่ว่าวิธีการหลบหลีกสถานการณ์มันจะต่างกัน

หน่าฮ่านก็เหมือนกัน อยากมีพื้นที่ปลดปล่อย อยากโชว์สเต็ป เด็กกรุงเทพฯ ก็คงไปเที่ยวผับเที่ยวเธค แต่ว่าเด็กต่างจังหวัดมันไม่มีผับไง มีแต่ร้านหมูกระทะกับหน่าฮ่าน มันจะไปไหน มันก็ไปหน่าฮ่าน ไปร้านหมูกระทะ มันก็เลยแล้วแต่พื้นที่และบริบท 

คือมันก็มีคนพูดว่าถ้าซีรีส์มันพูดภาษากลางแล้วอยู่ในกรุงเทพฯ มันก็เฉยๆ ไหม เออ มันก็คล้ายๆ กัน เราก็ยอมรับ

อยากมีพื้นที่ปลดปล่อย อยากโชว์สเต็ป เด็กกรุงเทพฯ ก็คงไปเที่ยวผับเที่ยวเธค แต่ว่าเด็กต่างจังหวัดมันไม่มีผับไง มีแต่ร้านหมูกระทะกับหน่าฮ่าน มันจะไปไหน มันก็ไปหน่าฮ่าน ไปร้านหมูกระทะ

พื้นที่หน่าฮ่านมีความสำคัญอย่างไรสำหรับคนอีสาน

มันเป็นสิ่งที่อยู่มาตั้งนานแล้วแล้วมันไม่เคยหายไปไหน ยกเว้นถ้ามันมีโรคระบาดมันก็เพลาๆ ไป แต่ว่ามันจะกลับมา มันเป็นสิ่งที่อยู่คู่มาตลอด มีความสำคัญอย่างไร? เราว่ามันเป็นงานรื่นเริง กุศโลบายที่บรรพบุรุษของคนอีสานที่คิดมา 

เวลามีงานบุญอะไรต่างๆ มันเกิดมาจากการผ่านพ้นฤดูเก็บเกี่ยว การผ่านพ้นฤดูการใช้แรงงาน เพื่อผ่อนคลาย เพราะฉะนั้นการหาพื้นที่ตรงนี้มันก็สำคัญกับคนที่ใช้แรงงาน คนที่อมทุกข์ คนที่ดิ้นรนกับการทำงาน การทำมาหาเลี้ยง การเรียนหนังสือ จริงๆ มันก็คงคล้ายๆ กับเมื่อก่อนที่เรามีสนามหลวงให้คนกรุงเทพฯ ไปเล่นว่าว  เป็นพื้นที่สาธารณะ พูดคุย พบปะ คนอีสานคนบ้านนอกก็มีหน่าฮ่าน

เนื่องจากคนดูเยอะมาก คิดว่าการเลือกสถานที่ในเรื่อง คิดว่ามันมีความเป็นไปได้ไหมที่เรื่องนี้กลายเป็น Soft Power อย่างหนึ่งที่ทำให้แหล่งท่องเที่ยวแต่ละที่ในเรื่องจะมีคนไปตามรอยกัน

โอ้โห อันนั้นคือเป้าหมายสูงสุดในการทำซีรีส์เรื่องนี้เลยแหละ เพราะว่ามันเริ่มต้นมาจากตอนแรกเราจะเลือกอีกที่หนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ริมโขงเหมือนกันแต่ว่าการคมนาคมไม่ได้เอื้ออำนวยขนาดนั้น ก็เลยมองหาที่อื่นที่มันมีความยูนีค พี่นุ้ย เขาก็เลยเปิดรูปหนึ่งให้เราดู มันเป็นที่ท่องเที่ยวที่โขงเจียม ชื่อแม่น้ำสองสี เราเองเป็นคนอีสานเราไม่เคยไปเลย ก็งงมากว่าทำไมแม่น้ำมีสองสี พอเปิดดูรูปแล้วมันก็ เออ อเมซิ่งไทยแลนด์นะ อายุ 30 แล้วแต่ไม่เคยรู้เลยว่ามีแม่น้ำสองสี แต่รู้ว่าโขงเจียมสวย ก็เลยใช้ Google Street View ดูสถานที่ แต่ดูผ่านโปรแกรมแล้วเรารู้สึกไม่สะใจ เราก็เลยบินไปดูเอง แล้วก็ขับรถวนดูทั่วโขงเจียมเลย เลาะริมไป โขงเจียม โพธิ์ไทร 

หรืออย่างผาโสก เกิดจากชาวบ้านเขาขึ้นไปทำนาบนผาแต้ม แล้วเขาก็เป็นเหมือนนักสำรวจกลายๆ เขาไปเจอพื้นที่นี้ มันก็เลยกลายเป็นที่เที่ยวของชาวบ้าน แต่พอวัยรุ่นขึ้นไปก็ถ่ายรูปกันแล้วโพสต์ลงเฟสบุ๊ก มันก็มีคนไปเที่ยวตามวัยรุ่น แล้วมันก็เกิดคนจากในเมืองคนภาคกลางที่ชอบการผจญภัยก็มาเที่ยว แต่ว่ามันก็ยังไมไ่ด้เป็นที่รู้จักมากพอ ถ้าชอบความผจญภัย จริงๆ มันสวยมากนะ สวยจนตะลึง เราไม่คิดว่ามันจะมีน้ำตกแล้วก็แอ่งน้ำขนาดใหญ่อยู่ตรงนี้ ไหลลงไปที่ร่องหน้าผาอย่างนี้ มันก็เลยเออ เราว่าตรงนี้มันมีเอกลักษณ์มากๆ เลย มันก็หินๆ น้ำๆ ภูเขาฝั่งลาว มันแบบ ดี

เคยทำงานกับพี่นุชชี่-อนุชา เขาพูดว่า “เวลาเลือกสถานที่ ก็อยากเลือกที่ที่มันมีเอกลักษณ์ ที่มันเห็นแล้วมันจดจำได้” สมมติว่าเราถ่ายบ้าน แล้วพี่นุ้ยก็จะเดินมาบอกว่ามุมนี้เหมือนถ่ายที่สระบุรี เราก็ย้ายเลย (หัวเราะ) ภาพที่ออกมาก็จะติดภาพกว้างทีนึงให้เห็นบริบท ก็คือทำให้มันมีเอกลักษณ์ ทำให้คนเห็นแล้วจะได้นึกออกว่าคือที่นี่นะ อยากมีรูปแบบนี้บ้าง

อยากให้ ททท. เข้ามาก แต่พอไปคุยแล้วก็เงียบ ก็เลยไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกัน อย่างที่บางที่มันก็ดูคนไม่รู้จักเลย อย่างลานหินที่ยุพินกับสิงโตไปนั่งแต่งเพลงกันในตอน 5 มันก็เป็นที่ที่คนเขาไปหาปลาแต่มันไม่ค่อยมีคนเที่ยว เพราะว่ามันร้อนในตอนกลางวัน มันคือบ้านห้วยหมากใต้ ก็ไปถามวัยรุ่นแถวนั้นว่าไปเที่ยวที่ไหนกัน เราก็ตามไปแต่ว่านักท่องเที่ยวไม่ค่อยรู้ไง เพราะว่าเขาก็จะไปกันตามที่ส่วนกลางแนะนำ ไม่ใช่ว่าตรงนั้นไม่ดีนะ แต่ว่ามันมีที่อื่นๆ ที่ถ้าเห็นมันสวยเหมือนกันนะ เรารู้สึกว่ามันสวยแบบที่มันเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนด้วย

เคยทำงานกับพี่นุชชี่-อนุชา เขาพูดว่า “เวลาเลือกสถานที่ ก็อยากเลือกที่ที่มันมีเอกลักษณ์ ที่มันเห็นแล้วมันจดจำได้”

ทำงานกับน้องๆ นักแสดงกลุ่มนี้เป็นอย่างไรบ้าง ทำไมต้องเป็นน้องๆ กลุ่มนี้ ตั้งแต่การคัดเลือกจนถึงการถ่ายทำเป็นอย่างไรบ้าง ในฐานะที่เราได้ทำซีรีส์เรื่องแรก

สุด คือเราเป็นคนคัดเลือกคนจากวิธีการพูดคุย ถ้าคุยแล้วเขาไม่สนใจ เราก็จะรู้สึกว่าเขาไม่ได้สนใจ แต่ว่าพอเขาสนใจจริงๆ เขาจะมีความพยายาม บางคนก็เล่นไม่ได้เลยตั้งแต่แรก เล่นแข็งมาก เล่นไม่ได้ แต่ว่าตามีความสนใจและมีความพยายาม เราก็เลยเชื่อมั่นในศักยภาพคน มันพัฒนาได้

อย่างน้องพัตเตอร์ (เดชพิศิษฐ์ จารุกรอภิวัฒิ รับบท สวรรค์) เป็นคนเชียงใหม่แต่ว่าเขาต้องพูดภาษาอีสานทั้งเรื่องเลย เขาก็พยายามมากที่จะเป็นคนอีสาน ที่จะพูด ที่จะเข้าใจภาษาอีสาน เราก็เลยรู้สึกประทับใจมาก หรือย่างพร้อม (ราชภัทร วรสาร รับบทเป็น สิงโต) เขาเป็นเน็ตไอดอลมีแฟนคลับ มีแฟนด้อมเป็นของตัวเอง แต่เราก็ไม่ชัวร์ว่าเขาจะยอมเล่นให้เรารึเปล่า เขาใส่แบรนด์เนมเขาจะมาใส่ช้างดาวให้เราไหมวะ เขาถ่ายแบบนิตยสารแล้วเขาจะมาหว่านแหให้เราไหมวะ แต่ว่าเขาก็ทำทุกอย่างที่เราอยากให้มันเป็น มันก็เลยรู้สึกว่าเขาให้เกียรติกับงานมาก เลยรู้สึกว่าเราประทับใจ หรืออย่างกุ๊งกิ๊งอย่างนี้เป็นคนโคราช ซึ่งจริงๆ แล้วพูดภาษาอีสานแทบจะไม่ได้ เวลาถ่ายๆ ไปบางครั้งก็ไม่ได้ บางอย่างถ้าไม่ได้จริงๆ เราก็จะคัตแล้วเอาใหม่ แต่ว่าบางอย่างที่อารมณ์น้องมันไปสุดแล้ว แต่ว่าน้องมันพูดผิดสำเนียง เราก็จะรู้สึกว่าเราให้เกียรติอารมณ์ตอนน้องเล่นแล้วกัน มันก็ดีมาก

คนอื่นๆ ก็เหมือนกัน เหมือนผ่าน 20 คิวมาได้เพราะว่าหลักคือเพราะว่านักแสดง ถ้าสมมติว่าเขาไม่พยายาม แล้วเขาไม่สนใจที่จะเล่น แล้วไม่ตั้งใจ 20 คิวไม่พอ แหกแน่ๆ เพราะฟุตเทจกล้อง ชั่วโมงถ่ายมันอยู่กับนักแสดงตลอดเวลา เราเลยรู้สึกว่าความตั้งใจที่เขาส่งมาในฟุตเทจมันก็เป็นเรื่องพิสูจน์ว่ามันเป็นก้าวที่ดีของเขาเหมือนกัน