คุยทีมกำกับรุ่นใหม่จากผู้ร่วมโครงการทำหนังของมหาวิทยาลัย สู่ผลงาน DEEP โปรเจกต์ลับ หลับเป็นตาย บน Netflix
ถ้าพูดถึงวงการภาพยนตร์ไทยคงจะมีคนรุ่นใหม่หลายคนที่อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ออกมาเพื่อเป็นทางเลือกของการดูภาพยนตร์ที่หลากหลายให้กับกลุ่มคนดูมากขึ้นกว่าเดิม และคงจะดีไม่น้อยถ้าหากว่ามีโครงการที่ช่วยสนับสนุนและผลักดันความฝันของคนกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้อย่างโปรเจกต์ที่ทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมมือกับบริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด ในการให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์ผลงาน และเรียนรู้งานจากเมนเทอร์ผู้ผ่านงานในวงการภาพยนตร์มามากมายอย่าง อังเคิล-อดิเรก วัฏลีลา และ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ที่ได้มาช่วยดูแลทีมกำกับรุ่นใหม่อย่างใกล้ชิดอีกด้วย ซึ่งในโครงการนี้ก็คัดเลือกกันจนได้ทีมกำกับรุ่นใหม่ทั้ง 5 คนอย่าง ไหม – สิตา ลิขิตวนิชกุล (กำกับและเขียนบท), กัปตัน – กิตติธัช นกงาม (เขียนบทและโปรดิวเซอร์), จูเนียร์ – เจตริน รัตนเสรีเกียรติ (กำกับและเขียนบท), บอล – อภิรักษ์ สมุดกิจไพศาล (กำกับและเขียนบท) และ โอ๊ต – ธนบดี เอื้อวิทยา (กำกับและเขียนบท) มาสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์แนว Mystery Thriller เรื่อง DEEP โปรเจกต์ลับ หลับเป็นตาย ที่จะชวนคนดูลุ้นไปกับกลุ่มนักศึกษาแพทย์ที่ถูกล่อลวงให้เข้าร่วมโปรเจกต์ทดลองลับทางวิทยาศาสตร์ในชื่อ DEEP ที่พวกเขาต้องเดิมพันทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อแลกกับอนาคตและชีวิต ผ่านทางสตรีมมิ่ง Netflix ทั้ง190 ประเทศทั่วโลก
ซึ่งหลังจากที่ Netflix ได้ปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์ออกมาแล้ว หลายคนก็ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ที่รู้ว่าเป็นผลงานการกำกับของทีมนักศึกษาที่ใช้เวลานานกว่า 3 ปีกว่าจะได้ฉายให้เราได้ดูกัน ทาง NYLON ก็เลยขอชวนทีมกำกับทั้ง 5 คนได้มาพูดคุยกันถึงการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทยและการผลิตผลงานภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาให้ผู้ชมทั่วโลกได้ดู สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดู อ่านสัมภาษณ์ชิ้นนี้จบลงแล้วก็ตามไปดูกันต่อได้เลยที่ DEEP โปรเจกต์ลับ หลับเป็นตาย
จุดเริ่มต้นของการมารวมตัวกันในการทำหนังเรื่องนี้
กัปตัน: จุดเริ่มต้นจริงๆ ขอเล่าย้อนก่อนว่าเป็นโครงการหนึ่งของทาง ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม M Picture และ CJ Major ตอนนั้นเขาอยากปั้นเด็กรุ่นใหม่มาทำงานภาพยนตร์ก็เลยมาร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพจัดตั้งโครงการชื่อว่าหนุกหนังขึ้นมา ก็คือโครงการนี้ครับ แล้วพวกผมก็เป็นคนที่เข้าไปสมัครกัน แล้วก็มีการอบรม เรียนรู้ว่าอุตสาหกรรมจริงๆ เป็นยังไง แล้วก็มีการ pitching กัน
จริงๆ ตอนแรกพวกผมก็เป็นหนึ่งนักศึกษาที่อยู่ในโครงการนี้แหละ แต่ว่าอยู่คนละกลุ่มกัน พอผ่านการ pitching ต่างนานาไปจนถึงรอบสุดท้ายที่ได้เรื่อง DEEP มาทำ เขาเลยมองเห็นว่าพวกผมมีมุมมองของแต่ละคนที่ดี ที่คนอื่นๆ อาจจะไม่มี ก็เลยจับมารวมกลุ่มและพัฒนา DEEP ให้กลายมาเป็นภาพยนตร์ที่ฉายในตอนนี้ครับ
เบื้องหลังในการทำหนังเป็นอย่างไรบ้าง ขั้นตอนในการทำงาน ใช้เวลาในการปรึกษาหารือกันนานแค่ไหน
กัปตัน: เบื้องหลังในการทำหนังเรื่องนี้ตั้งต้นมาจากพี่ไหม ผู้กำกับ แต่ว่าพอมีการ Pitching กันมา เขามีไอเดียที่ดีอยู่แล้วว่าด้วยเรื่องของถ้าหลับเท่ากับตาย ถ้าถามว่าปรึกษากันนานไหมว่าจะทำ DEEP มันก็ไม่ได้นานขนาดนั้นครับ พอเราเลือกได้แล้วว่าจะทำเรื่องนี้ให้ออกไปสู่สายตาคนดูแล้วเนี่ย เราก็มุ่งไปเลยว่าจะทำมาในคอนเซปต์นี้ แนวนี้ ซึ่งจุดเริ่มต้นการทำงานไม่นานครับ มานานตรงการพัฒนามากกว่าว่าจะทำยังไงให้มันดีที่สุดครับ
แล้วทำไมถึงใช้ชื่อเรื่องว่า DEEP
ไหม: คำว่า DEEP แรกเริ่มมันมาจากเหมือนเราอยากจะเล่าถึง 4 ตัวละครที่เป็นตัวแทนวัยรุ่น เราอยากจะเล่า DEEP ลงไป ลึกเข้าไปถึงจิตใต้สำนึกของวัยรุ่นว่าจริงๆ แล้วการอดหลับอดนอนทำให้เขาพาไปเจอจุดที่ลึกที่สุดในจิตใต้สำนึกของเขา ในขณะเดียวกัน คำว่า DEEP ที่เข้ามาอยู่ในเรื่อง มันจะพ้องกับกระบวนการ DEEP ที่เป็นการฝังชิพเข้าไปหลังคอ ฝังเข้าไปลึกที่สุดเพื่อดึงสารคิวราโทนินเข้มข้นที่หลั่งออกมาตอนที่เราง่วง สุดท้ายเราก็เลยได้คำว่า โปรเจกต์ลับ หลับเป็นตาย ออกมาค่ะ
ในเรื่องมีข้อมูลเกี่ยวกับนักศึกษาแพทย์และการแพทย์ด้วย มีวิธีการศึกษาข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในหนังของเราอย่างไรบ้าง
จูเนียร์: คือตัวหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่เกี่ยวกับนักศึกษาแพทย์โดยตรง ตอนเราพัฒนาบทหรือแม้แต่กระทั่งช่วงเริ่มต้น เราก็มีการเอาทุกคนในทีมไปโรงพยาบาลที่มีกลุ่มนักศึกษาแพทย์เรียนอยู่จริงๆ เพื่อไปศึกษาข้อมูลชีวิตประจำวัน รูปแบบการเรียน วิชาในการเรียน กิจกรรมที่เขาต้องทำในวิชาเรียน ส่วนเรื่องของการค้นคว้าข้อมูลว่าการอดหลับอดนอนเป็นยังไงบ้าง ตรงนี้เราก็มีการรีเสิร์จข้อมูลกัน แล้วก็ไปหาข้อมูลจากบทความต่างประเทศว่ามันจะมีอาการหรือผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง แล้วเราก็ลิสต์ออกมา เช่น อดนอนช่วงกี่วันจะมีอาการเป็นแบบไหน และนำมาตั้งเป็นสมมติฐานเพื่อเลือกกันว่า อันไหนที่เอามาสร้างเป็นสถานการณ์ในหนังแล้ว มันจะเกิดความน่าสนใจกับคนดู เราก็หยิบตรงนั้นมาใช้ครับ
แล้วเลือกอย่างไรว่าจะเอาข้อมูลไหนที่เราศึกษามาใช้ในหนัง
จูเนียร์: เรารู้กันอยู่แล้วว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นหนัง Triller ที่มีเรื่องของจิตใจมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทีนี้เราก็ต้องไปดูว่าอาการเหล่านั้น ถ้าเราจะเอามาโยงกับตัวเรื่องราวของเรา จะเอามาโยงกับคาแรกเตอร์ตัวละครของเรา มีอะไรบ้างที่สามารถเอามาใช้ได้ เช่น การอดนอนก็จะมีตั้งแต่เบลอไปจนถึงเห็นภาพหลอน หูแว่ว เราก็ต้องไปดูว่าอาการเหล่านี้จะเอาไปผูกกับสตอรี่ของตัวละครเราได้อย่างไรบ้าง พอมีเรื่องนี้เข้ามามันก็ทำให้เนื้อเรื่องหลักของเรามันแข็งขึ้น มันสร้างเป็นสถานการณ์ที่น่าจะทำให้คนดูสนใจขึ้นได้ ก็เลยเอาทั้งภาพหลอน หูแว่ว อะไรพวกนี้มาใช้ด้วยครับ
ความยากของการทำหนังเรื่องนี้คืออะไร
บอล: ความยากของการทำหนังเรื่องนี้ครับ คือการที่ได้ทำงานร่วมกับสตูดิโอ รู้สึกว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุดแล้ว บางทีสิ่งที่เราคิดว่ามันดีแล้ว เราก็ต้องมานั่งชั่งน้ำหนักระหว่างความเห็นของเรากับความเห็นของสตูดิโอ ถ้าให้ยกตัวอย่างอาจจะเป็นเรื่องของการเลือกเทคในการแสดงที่เราคิดว่า ที่เราต้องการจะสื่อให้เห็นตัวละครมีความสุข เราคิดว่าควรจะให้นักแสดงยิ้มกว้างๆ ไปเลย แต่ทางสตูดิโออาจจะบอกว่าการมีความสุขก็ไม่ต้องยิ้มกว้างมากก็ได้ ยิ้มน้อยๆ ก็พอแล้ว เราเลยต้องมาดูว่าตรงกลางระหว่างสองความคิดนี้คืออะไร ผมว่าตรงนี้แหล เป้นการท้าทายของการทำงานกับสตูดิโอครับ
แล้วสิ่งที่สนุกที่สุดล่ะ
บอล: ที่สนุกเหรอครับ ผมว่าการที่ได้ไปออกกองเจอปัญหานี่แหละครับ มันมีความสุขแล้ว เราได้เจอคน ได้เจอปัญหา ต้องแก้ปัญหารู้สึกว่าตรงนี้ก็ท้าทายดี สนุกดีครับ
จุดเริ่มต้นของหนังมาจากการอดนอน แล้วเอฟเฟกต์การอดนอนของแต่ละคนเป้นอย่างไร
กัปตัน: ของผมก่อนเลย ที่ชัดเจอคือตาเบลอ พูดไม่รู้เรื่องแล้ว เพื่อพูดอะไรมาเราใช้เวลานานมากกว่าจะตอบกลับไป แล้วก็หัวหนักไปหมดเลยรู้สึกว่าโลกเอียงๆ นิดหน่อย ยังไม่ถึงขั้นเห็นภาพหลอนนะ แต่หูแว่วมีนิดๆ รู้สึกว่ามีคนเรียกตัวเอง
ไหม: มันจะประมาณว่า ช้าๆ กว่าปกติ ทำให้เราคิดอะไมันประมวลนานมาก คิดวนไปวนมาแล้วสุดท้ายการพูดออกมาก็ไม่รู้เรื่อง เลยกลายเป็นว่าประสิทธิภาพการทำงานอาจจะลดลง แต่บางไอเดียมันก็แฝงกับช่วงที่เรามีเอฟเฟกต์แบบนี้เหมือนกัน ทำให้เราอยู่กับความคิดนั้นนานขึ้นค่ะ
จูเนียร์: อย่างของผมก็รู้สึกว่าอาการก็จะคล้ายๆ กับทั้งสองคนที่ว่าไป คือมีเรื่องของการตัดสินใจที่เราช้าลง เราพูดไม่รู้เรื่อง แต่ของผมจะมีเรื่องของการมองที่เบลอ ถ้าเจอที่ที่มีแสงเบาๆ เข้ามาจะแสบตา ปวดตามาก เหมือนตาเราสู้แสงไม่ได้ เราก็เลยพยายามจะหลบแสงตลอดเวลา หรือหลังจากเราอดนอนนานๆ แล้วเราไปนอน มันกลายเป็นว่าร่างกายผมมันยังหลอนอยู่กับอาการอดนอน ขนาดนอนผมยังฝันว่าอดนอนอยู่ ยิ่งเหนื่อยเข้าไปอีก ไม่ค่อยได้พักเลย
บอล: หนักสุดผมฝันว่าออกกองครับ (หัวเราะ) เอฟเฟกต์จากการออกกอง อดนอนบ่อยๆ มันก็จะมีอาการวูบหลับบ่อยๆ แล้วผมก็ฝันเล็กๆ น้อยๆ แล้วความฝันนี้มันจะจริงมากขึ้นจนบางทีจะแยกความจริงกับความฝันไม่ค่อยออก มันก็เลยเป็นเรื่องตลกที่ต้องถามจูเนียร์บ่อยๆ ว่า ไหมพูดแบบนี้หรือเปล่า? มีคนทำแบบนี้ไหม? มันก็เลยทำให้เกิดไอเดียกับการทำหนังเรื่องนี้ด้วยเหมือนกัน กับการเห็นภาพหลอน
โอ๊ต: ของผมจะสติน้อยลงครับ คิดได้น้อยลง แล้วก็ช้าลง หลักๆ จะเป็นสามอย่างนี้
ถ้าต้องอดนอนแล้วได้เงินเหมือนในหนัง จะทำไหม
จูเนียร์: ถ้าของผมอะ ผมรู้สึกว่าคงทำได้แค่ขั้นต้นๆ คือถ้าไม่เกิน 1-2 วันยังพอไหว แต่ถ้าเกินกว่านั้นผมน่าจะเป็นคนแรกๆ ที่ไปจากเกมนี้เลย (หัวเราะ) รู้สึกว่าไม่ไหวจริงๆ ผมไม่ใช่คนที่กินกาแฟแล้วสามารถอยู่ได้ยาวๆ กินอะไรผมก็อยากนอนอะ ไม่ไหวแล้ว
ไหม: ของไหมก็ว่าทำค่ะ ยังไงก็ทำ คือด้วยไอเดียแรกมันมาจากที่เราอยากให้มีอะไรแบบนี้อยู่แล้ว แล้วรู้สึกว่า 24 หรือ 48 ชั่วโมงที่เราอดนอนมันเอาเวลาตรงนี้ไปทำอะไรได้อีกเยอะมาก แล้วไม่พอได้เงินอีก มีแต่กำไรกับเรา คุ้ม
กัปตัน: ผมว่าก็คงทำกันหมดนะ
โอ๊ต: ผมทำนะ แต่แค่เลเวลเดียวพอ สูงกว่านี้ไม่สู้แล้ว ไปดีกว่า
กัปตัน: แต่เสริมจากข้อมูลที่รีเสิร์จว่าทำไมเราทำถึงขนาด 7 วัน เราเคยไปหาข้อมูลมาว่ามีคนอดนอนมากสุด 11 วันครับ ตอนแรกก็จะเอามาใส่แต่ไม่เอาดีกว่า (หัวเราะ) อาการที่เป็นก็คือหลอนเลย แยกตัวเองไม่ออกแล้วว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง พูดไม่รู้เรื่องอะไรแบบนี้ครับ เรื่องนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ
Passion ของการเรียนฟิล์มของแต่ละคน ก่อนเรียนกับตอนนี้ยังเหมือนเดิมอยู่ไหม
จูเนียร์: ผมเริ่มต้นมาจากการชอบถ่ายรูป ผมรู้สึกว่ามันมีเรื่องราวในรูปเพราะว่าชอบถ่ายคนอื่น ชอบถ่ายไลฟ์สไตล์ เราดูรูปแล้วรู้สึกว่ามันสามารถสื่อสารกับเราได้บ้าง แต่ถ้าเป็นภาพยนตร์ก็อาจจะสื่อสารข้อมูลที่เราอยากจะถ่ายทอดออกมาได้ทั้งหมด ก็เลยอยากลองทำหนังดู การเข้ามาเรียนฟิล์มก็คือเราอยากเล่าเรื่องที่เราสนใจออกไป แต่ว่าพอผ่านการเรียนมาเรื่อยๆ ผ่านการทำงาน ผมรู้สึกว่าเราก็จะเข้าใจมากขึ้นว่าอุตสาหกรรมเป็นยังไง เข้าใจว่าการทำหนังเป็นยังไง วิธีการทำงาน การทำให้คนดูสนใจ
ผมเลยมองว่าจุดที่มันเปลี่ยนไปในมุมมองผมมันก็อาจจะไม่ได้อยากทำหนังที่เราอยากสื่อสารกับตัวของเราเองคนเดียวหรือไม่ต้องสื่อสารกับใครก็ได้ ความรู้สึกตรงนี้ก็จะลดลง แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือเราอยากทำหนังที่สามารถสื่อสารกับคนได้เอะๆ ให้คนได้รู้สึกกับเรา ให้คนได้คิดเห็นแบบเดียวกับเรา หรือเกิดการตั้งคำถามกับสิ่งที่เราสื่อสารออกไปได้มากขึ้น ตรงนี้มันเป็นสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในตอนที่เราได้ทำงานตรงนี้ครับ
ไหม: ส่วนของไหมคือ passion จริงๆ ส่งต่อมาตั้งแต่รุ่นคุณตาแล้วค่ะ เขาชอบดูหนังมากๆ คุณตาจะพาคุณแม่ไปดูหนังตั้งแต่เล็กๆ พอคุณแม่มีไหมก็พาไหมไปดูหนังตั้งแต่เล็กๆ เหมือนกัน เลยกลายเป็นว่าเราเติบโตมากับโรงภาพยนตร์ บ้านอยู่ตรงพาต้าด้วยค่ะ มันเดินไปโรงหนังได้เลย พอเริ่มโตก็รู้สึกว่าเราชอบวันศุกร์จังเลยอะที่จะได้เข้าโรงหนังกับครอบครัว พอดูจบขึ้นรถก็นั่งคุยกันเรื่องหนังที่เราดู เหมือนเราอดทนรอทุกวันเพื่อที่จะได้คุยกับที่บ้านเรื่องหนัง จนวันหนึ่งเลยกลายเป็น passion ที่มากกว่าการดูหนังล่ะ ลองเปลี่ยนไปเป็นคนทำบ้าง ทุกคนที่บ้านก็ซัพพอร์ตและตื่นเต้นดีใจมากที่เรามีโอกาสได้ไปทำงานในวงการภาพยนตร์จริงๆ ค่ะ
พอถามว่าเข้ามาสู่อุตสาหกรรมจริงๆ แล้วมันก็มีบ้างที่เราเหนื่อย ท้อ ความฝันเราไม่ได้ง่ายขนาดนั้นนะ มันต้องต่อสู้กับอุปสรรคอะไรพวกนี้ วิธีการเติมไฟง่ายๆ ของไหมคือการกลับบ้านค่ะ กลับไปที่สุดเริ่มต้นของความฝันเราว่าจริงๆ แล้วเรารักอะไรของมัน เรายังมีคนในครอบครัวที่ฟังพล็อตหนังของเรา เล่าให้เขาฟังเหมือนเป็นคนดูของเรา เรามีคนวิจารณ์ส่วนตัว เขาพูดตรงๆ ได้ เขาด่าหนังเราได้ เขาชมหนังเราได้ เรารู้สึกว่ามันเป็นจุดเติมไฟที่ดีในชีวิตมากเลย กับเรื่องนี้เขาก็ตื่นเต้นกันมากเลยค่ะ (หัวเราะ) ทุกคนตื่นเต้นมาก
บอล: ส่วนตัวตอนเด็กๆ ผมโตมากับหนัง coming-of-age จุด turning point หลักๆ ของผมคือการได้ดูหนัง Boyhood หนัง 3 ชั่วโมงที่เล่าถึงตัวละครหนึ่ง ช่วงนั้นเราอยู่ม.6 แล้วอินมาก เพราะเราต้องเลือกทางชีวิต การได้ดู Boyhood คือการได้ย้อนกลับไปเห็นตัวเองตอนเด็ก ได้เห็นเรื่องราวการเรียนรู้ว่ากว่าที่เราจะได้เป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่จริงๆ มันคืออะไร ซึ่งเราก็มาตั้งคำถามว่า หนังมันเล่าแบบนี้ได้ด้วยเหรอ ผมเลยรู้สึกว่าบางทีเราก็มีเรื่องที่อยากจะเล่าเยอะมาก สิ่งที่เราเคยผ่านมาก็อยากจะสื่อสารออกไปให้คนอื่นรู้บ้าง เลยอยากทำหนังสักเรื่องหนึ่งที่เป็น coming-of-age เล่าชีวิตของตัวเองบ้าง
จนกระทั่งได้มาทำหนังเรื่อง DEEP เนี่ย เป้าหมายของผมปลดล็อกไปหนึ่งระดับแล้ว แต่มันก็ยังมีสิ่งที่ผมยังค้างคาอยู่ในใจ เรื่องที่ผ่านมา เกี่ยวกับโรงเรียน ความ weird ที่ผมอยากจะเล่าออกมาอีกอะไรแบบนี้ครับ ก็ยังอยากจะทำหนังอีกสักเรื่องหนึ่งครับ
โอ๊ต: passion ของผมตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้มันยังเหมือนกันอยู่ ก็คือผมยังอยากเล่าเรื่องอะไรบางอย่างอยู่ ตอนเด็กๆ ผมโตมากับการ์ตูน พวกนารูโตะ มาสไรเดอร์ แล้วหลายๆ ครั้งที่ผมรู้สึกว่าอยากให้ตัวนี้สู้กับตัวนี้แต่ในเรื่องมันไม่เกิดขึ้นอะ ผมก็จะคิดในหัวว่าถ้าสองตัวนี้มันสู้กันจะเป็นยังไง สกิลแบบนี้จะออกมาเป็นแบบไหน มันเลยน่าจะเป็นนิสัยของผมตั้งแต่ตอนนั้นที่ผมอยากเล่าเรื่องมากๆ แต่ถ้าถามว่า passion ตอนเด็กกับปัจจุบันมีความต่างกันยังไงก็คือตอนเด็กผมอยากเล่าเรื่องที่ผมอยากดู แต่พอโตขึ้นได้เห็นอะไรต่างๆ มากขึ้น เราอยากจะเล่าเรื่องที่เราสงสัยมากกว่า เรามีคำถามอะไรในหัวเราเต็มไปหมดเลย ซึ่งหลายๆ อย่างเราก็หาคำตอบไม่ได้ เราก็อยากจะหาคำตอบกับมันผ่านการทำหนังครับ
กัปตัน: passion ของผมมันเริ่มตอนมัธยม ผมเคยไปเล่นโฆษณาตอนนั้นเป็นนักแสดง แต่ว่าผมกลับไม่ได้สนใจกับการแสดงอะ ผมเห็นพี่เบื้องหลังประชุมกันแล้วรู้สึกว่า ทำไมเท่จัง ตอนนั้นคิดแค่นั้นเลย ดูทำงานเป็นทีมดี หลังจากนั้นก็ไปศึกษาว่าคนเบื้องหลังเข้าทำงานกันยังไง แล้วก็ตั้งเป้าให้ตัวเองว่าสักครั้งในชีวิตต้องทำหนังยาวให้ได้ พอโอกาสตรงนี้มาผมก็เลยคว้าไว้และไม่ปล่อยมันไป
ถามว่าเปลี่ยนไปไหมกับเมื่อก่อนที่อยากทำหนังกับตอนนี้ ผมว่าไม่เปลี่ยน ผมยังอยากทำหนังอยู่เหมือนเดิม ยังอยากเล่าเรื่องอะไรบางอย่าง อยากทดลองว่าสิ่งนี้ work หรือไม่ work ยังไงในฐานะคนทำงาน อยากให้คนดูเสพย์งานของเราแล้วเราก็อยากรู้ฟีดแบคด้วย เพราะปกติเราเป็นแต่คนดูหนังอะ เราไม่รู้ว่า ณ โมเมนต์ ในจุดที่เราเป็นคนทำ แล้วคนดูมามองแล้วคอมเมนต์มันเป็นยังไง รู้สึกยังไง อยากอยู่จุดนั้นเหมือนกันครับ อยากรู้สึกแบบนี้อีกเยอะๆ ก็เลยอยากทำหนังอีกเยอะๆ ครับ
วงการภาพยนตร์ไทยในความคิดของเราในฐานะของผู้เสพย์และผู้ผลิตเหมือนหรือแตกต่างจากเดิมไหม
ไหม: จริงๆ วงการภาพยนตร์ไทยเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยอยู่แล้ว เราเติบโตมากับภาพยนตร์ไทยตั้งแต่เด็กเลยเนอะ อย่างที่บอกว่าเราเข้าไปดูในโรงหนังตลอด เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลง ยุคหนึ่งก็จะฮิตแบบหนึ่ง อีกยุคก็จะฮิตอีกแบบหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วทุกอย่างมันหล่อหลอมให้เราเป็นเราในวันนี้ ให้เราเป็นคนที่วันหนึ่งได้เข้ามาทำหนัง เราอยากจะทำหนังในแบบที่อยากจะเล่าบ้าง สุดท้ายมันหล่อหลอมมาจากสิ่งพวกนั้น ซึ่งจริงๆ พอได้เข้ามาทำแล้วเรารู้สึกว่า วงการภาพยนตร์ไทยก็ยังมีผู้ใหญ่ใจดีให้โอกาสในการให้ทุนมาทำ ถึงขนาดที่ช่วยให้หนังเราได้ออกฉาย 190 ประเทศทั่วโลกบน Netflix เราก็เลยรู้สึกว่าโอกาสตรงนี้ที่เราได้รับเป็นสิ่งที่พิเศษมาก เลยอยากจะให้น้องๆ หรือว่าคนรุ่นใหม่ในอนาคตได้มีโอกาสตรงนี้บ้าง อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยก็จะสามารถขับเคลื่อนไปได้ไกลและแปลกใหม่มากขึ้น
จูเนียร์: ส่วนตัวรู้สึกว่าวงการหนังไทยเป็นวงการที่มีความหลากหลาย อย่างที่ไหมพูด มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากที่เคยมีหนังไม่มีแนวก็มีหลากหลายมากขึ้นแล้วก็ปรับตัวไปเรื่อยๆ ซึ่งผมรู้สึกว่าตอนนี้เป็นยุคที่สตรีมมิ่งเข้ามา ก็เลยเป็นยุคที่ไม่ได้ผูกกับโรงภาพยนตร์อย่างเดียวแล้ว เราก็จะได้มีโอกาสทำหนังที่ก่อนหน้านี้คนอาจจะยังไม่กล้าหรือยังไม่ได้ลงมือทำกัน เราสามารถที่จะคิดหรือครีเอทออกมาได้ อาจจะสร้างความสนุกออกมาให้กับคนดู เพื่อที่เขาจะได้รู้สึกว่ามันมีอะไรที่น่าสนใจมากขึ้น อย่างผมเพิ่งดูเรื่อง The Mitchells vs. the Machines ผมก็จะรู้สึกว่าการทำหนังครอบครัวแล้วเอามาผูกกับแอนิเมชั่นที่เป็น sci-fi แล้วทำให้มันน่ารักก็สามารถทำได้ ทำให้ซึ้ง ตลก สนุกไปในเวลาเดียวกันได้ เราก็ยังอยากทำอะไรแบบนี้อยู่ด้วย
โอ๊ต: ผมว่าวงการหนังไทยเป็นอะไรที่เพลย์เซฟมากเลยอะ ด้วยความเป็นอุตสาหกรรมนั่นแหละมันเลยทำให้ไม่มีอะไรที่มีสีสันหรืออะไรที่ใหม่ๆ เกิดขึ้นมา น่าจะขาดการซัพพอร์ตจากรัฐด้วย เลยต้องเล่นแบบเพลย์เซฟมากๆ เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องเจ็บตัว ถ้าถามผม ผมอยากให้เกิดโปรเจกต์เกี่ยวกับหนังแบบนี้มากๆ มันจะได้มีอะไรใหม่ๆ เข้ามาซัพพอร์ตวงการหนังไทยมากขึ้น โดยไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากรัฐครับ
กัปตัน: ขอเสริมครับ โดยรวมๆ วงการหนังไทยที่เราเห็นกันตั้งแต่ผมเกิดมา มันจะมีช่วงหนึ่งที่บูมมาก อย่างของพี่อุ๋ย พี่วิศิษฏ์ แต่อยู่ดีๆ ก็หายเงียบไปเลย จริงๆ คนไทยเก่งเยอะมากๆ เยอะแบบมากๆ แต่ว่าขาดการสนับสนุนนั่นเอง ทั้งจากภาครัฐและเอกชนหรือคนดูเองก็ตาม พอมันมีสตรีมมิ่งเข้ามา ผมว่ามันเปิดทางเลือก เปิดโอกาสให้คนกล้าทำ กล้าลงทุนให้มันมีความหลากหลายมากขึ้น พอเข้ามาเยอะหนังไทยก็จะเริ่มกลับมาบูม กลับมามีทิศทางความหลากหลายมากขึ้นเหมือนสมัยที่พวกพี่ๆ เขาทำกัน เหมือนเรื่อง ฟ้าทะลายโจร มันอาจจะต้องการหนังอะไรอย่างนี้อีกในประเทศของเราเพื่อความหลากหลายและจะได้พัฒนาคอนเทนต์ พัฒนาไปถึงขั้นส่งออกตรงนี้ไปต่างประเทศได้
คิดว่าปัญหาเรื่องขาดการสนับสนุนต่อเนื่องถึงการพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาคนไทยไม่ดูหนังไทยในช่วงหนึ่งด้วยไหม
กัปตัน: ผมว่าเกี่ยว ผมว่ามันก็ท้าทายด้วยแหละครับ ต้องเข้าใจพื้นฐานคนไทยก่อนว่าเป็นคนที่ไม่อยากดูอะไรเครียดๆ อยู่แล้ว ตั้งแต่โบราณนานมาตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ เขาก็อยากดูหนังง่ายๆ ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ พอทำอย่างนั้นมานานมันก็จะเกร่อ บอกตามตรงว่าก็เบื่อบ้างพอมันไม่มีความหลากหลายขึ้นมา ไม่ใช่ว่าหนังไม่ดีนะครับ เพราะเขาก็ทำส่งตลาดที่มีคนดูอยู่แล้ว แต่แค่ขาดความหลากหลายเท่านั้นเอง คนรุ่นใหม่ๆ อย่างพวกผมพอมีโอกาสก็อยากสร้างความหลากหลายให้คนดูอีกกลุ่มหนึ่งได้เห็นว่ายังมีหนังแบบนี้อยู่นะ คนไทยก็ทำได้เหมือนกัน แค่ขาดการซัพพอร์ตบางอย่างเท่านั้นเอง
การ Workshop กับคนในวงการจริงๆ ช่วยให้เรียนรู้และเข้าใจการทำหนังมากขึ้นไหม
จูเนียร์: ในตอนที่เราทำหนังเรื่องนี้ ในแต่ละทีมงานทั้งกล้อง อาร์ต ตัดต่อ กำกับ และทุกๆ แผนกก็จะมีเมนเทอร์คอยให้คำปรึกษาเราอยู่แล้วตลอดเวลา ซึ่งการที่เราได้เรียนรู้กับเมนเทอร์ที่มีประสบการณ์จริงๆ เนี่ย ทำให้เราเข้าใจกระบวนการคิด เข้าใจวิธีการทำงานของเขาว่าเขามองการทำงานยังไง มองภาพรวมเป็นแบบไหน แล้ววิธีที่เลือกหยิบมาทำคืออะไร มองว่าอันไหนที่สำคัญ มันทำให้เราได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดของเขา เพราะพวกพี่ๆ เขาก็ไม่ได้สั่งอย่างเดียว เพราะเขาจะคอยบอกเฉยๆ ให้เราตัดสินใจและลงมือทำด้วยตัวเอง ตอนแรกๆ อาจจะต้องคอยชี้นำบ่อยแต่พอช่วงหลังมันก็จะลดลงจนไม่ต้องพูดแล้ว ซึ่งพี่เขาก็จะกล้าไว้ใจให้เราทำงานกันได้ ผมรู้สึกว่าการทำงานกับผู้ใหญ่ตรงนี้มันเป็นข้อดีที่ทำให้เราได้เรียนรู้และพัฒนา
กัปตัน: จริงๆ อย่างที่พี่จูเนียร์พูดไปครับ พอเราได้ทำงานของจริงก็ทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่ามันทำยังไง ผมว่ามันช่วยเราตรงนี้ได้เยอะเลยว่าเราต้องเรียนรู้อย่างนี้นะ มันมีวิธีคิดอย่างนี้อยู่ เราสามารถเอาไปปรับใช้ยังไงได้บ้างหรือทำให้มันสดใหม่มากขึ้นในหนังเรา พูดง่ายๆ เหมือนเราได้เรียนรู้ระบบของทั้งองค์รวมอุตสาหกรรมว่าตั้งแต่ต้นน้ำ ตั้งแต่ตั้งบทจนถึงตอนฉายมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ต้องมีวิธีการกระบวนการอะไรบ้าง เลยทำให้เราต้องคิดให้รอบคอบทะลุปุโปร่งมากขึ้นว่า เราทำสิ่งนี้ เพื่อสิ่งนี้ มันส่งผลต่ออะไรยังไงบ้างในระบบ ช่วยในเรื่องของความคิดเยอะ
ไหม: มันคือการที่เราเข้าไปตัวเปล่ากับไอเดียที่มันพรั่งพรู จนเรามาเจอโค้ชต่างๆ การ workshop มันเหมือนสอนวิธีการที่ทำให้เราเป็นคนที่มีไอเดียและมีวิธีการที่ดีขึ้นค่ะ
โครงการที่พวกเราเข้าร่วมนี้ช่วยเปิดโอกาสให้ตัวเองและช่วยเหลือวงการภาพยนตร์ไทยและคนรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง
โอ๊ต: สิ่งที่ผมได้จากโครงการนี้เลยคือได้เรียนรู้อุตสาหกรรมหนังจริงๆ ตั้งแต่การเอาไอเดียไปพรีเซนต์กับบอร์ดจนถึงวิธีการโปรโมตหนัง ที่สำคัญคือโครงการนี้ได้ให้โอกาสเราในการกำกับหนังใหญ่ ทั้งๆ ที่เราอายุแค่ 23-24 ตั้งแต่ช่วงที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ ผมว่าสิ่งที่โครงการนี้ผลักดันอุตสาหกรรมหนังไทยก็คือมันทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ มากขึ้นในวงการนี้ครับ ที่ไม่วนลูปเดิม เริ่มจากที่เขาให้โอกาสคนรุ่นเรา ซึ่งอายุแต่ละช่วงก็จะมีวิธีการเล่าคนละแบบกัน และผมรู้สึกว่าเด็กรุ่นใหม่จะมีความเฟรชบางอย่างอยู่ครับ
อีกอย่างที่ต้องขอบคุณก็คือ Netflix ที่ได้ฉายเรื่องนี้ไปหลายร้อยประเทศให้เขาได้เห็นว่ามันกำลังจะมีอะไรใหม่ๆ เข้ามา ที่ภูมิใจมากเลยคือผมไปอ่านคอมเมนต์ใน Netflix Phillipines ที่เขาเอาตัวอย่างเรื่อง DEEP ไปลง ตัวอย่างหนังของเรามันทำให้คนบ้านเขาตั้งคำถามประมาณว่า ประเทศไทยกำลังจะมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาในขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์ หนังบ้านเขาไม่ต่างจากบ้านเรามาก คือจะวนลูปแนวหนังอยู่ 2-3 ประเภท มันทำให้เกิดการตั้งคำถามที่อุตสาหกรรมบ้านเขาด้วย ซึ่งอันนี้เป็นอะไรที่ผมภูมิใจมากครับ
กัปตัน: อย่างที่พี่โอ๊ตพูดไปคือมันเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมาทำงานครับ เลยรู้สึกว่าถ้ามีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นอีกบ่อยๆ เลย ยังไงอุตสาหกรรมนี้ก็ต้องเติบโตแน่นอน คนทำงานก็เพิ่มด้วย มันยิ่งผลักดันให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์โตขึ้นมากๆ เพราะผมว่าภาพยนตร์สามารถเป็นสินค้าของประเทศได้เลย มันสร้างมูลค่าได้มหาศาลมากเลย ยกตัวอย่างอย่างเกาหลีที่เขาปั้นมาตั้งแต่ซีรีส์จนทำให้เป็นที่รู้จักไปได้ทั่วโลก จริงๆ ผมว่าฝีมือคนไทยทำได้แน่นอน อย่างที่พูดๆ กันไปว่ามันขาดการสนับสนุน พอมันมีโครงการอะไรแบบนี้เกิดขึ้นก็คือการก้าวเข้ามาสนับสนุนให้สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราอยากให้มันเปิดได้เกิดขึ้นจริง ก็ต้องขอบคุณหลายๆ ฝ่ายทั้งทางทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม ทั้งทาง Netflix เองที่มาร่วมทำให้โปรเจกต์หนังเรื่องนี้ไปสู่สายตาคนทั้งโลกได้
ฝาก DEEP และฝากถึงคนรุ่นใหม่ที่มี passion ในการทำหนังเหมือนพวกเราหน่อย
บอล: ก็ขอฝากหนังเรื่อง DEEP ด้วย หนังที่พวกเราตั้งใจสร้างและเติบโตพร้อมกับมัน ทำให้พวกเราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง จนหนังเสร็จสมบูรณ์ แล้วก็ผมเชื่อว่าทุกคนมีความคิดที่แตกต่างและหลากหลายมาก ซึ่งมันก็คงจะมีไอเดียดีๆ หนังดีๆ อีกเยอะแยะมากมาย ก็อยากให้ทุกคนทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อให้มันสำเร็จให้ได้ อีกอย่างคือควรจะมีโครงการหนุกหนัง โครงการแบบที่เราผ่านมา เพื่อเป็นการสนับสนุนในการทำให้วงการหนังไทยเติบโตขึ้นได้อีกครับ
ไหม: จริงๆ แล้วเราก็เป็นคนหนึ่งที่ยังไม่ได้ก้าวเข้ามาในอุตสาหกรรมแบบยังไม่ได้เป็นผู้ใหญ่ขนาดนั้น อยากจะบอกว่าจริงๆ ความฝันมันยากเสมอ และการที่เราจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องผ่านอุปสรรค ผ่านปัญหา แต่สิ่งที่สำคัญคืออย่าหยุด ร้องไห้ไปเลย ผิดหวังกับตัวเองไปเลย แต่สุดท้ายแล้วเราต้องเดินต่อไปให้ได้ แล้วเราก็ต้องเก็บสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาให้ตัวเองเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม
จูเนียร์: ส่วนผมจะรู้สึกว่าพอมีโครงการแบบนี้ขึ้นมาเป็นจุดเริ่มต้นให้คนเห็นแล้วว่าทำได้จริง กลายเป็นว่ว่าสามารถทำให้คนรุ่นใหม่หรือนักศึกษาที่เป็นรุ่นน้องพวกผมลงไปที่ยังเรียนอยู่หรือเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันเขาจะรู้สึกว่ามันมีโอกาส ที่ผ่านมาเราอาจจะเคยได้ยินว่าการทำหนังใหญ่เป็นเรื่องยากมากที่จะได้ทำ แต่ตอนนี้เริ่มมีโอกาสตรงนี้เข้ามาแล้ว เริ่มเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มาทำตรงนี้ อย่าหมดหวังกัน ผมเชื่อว่าพอมันมีโครงการนี้ออกไปแล้ว คนทั้งโลกคงจะรู้สึกว่ามันสามารถสร้างโครงการแบบนี้ได้อีก ถ้ามีโอกาสตรงนี้ก็คงจะดีที่ให้คนอื่นๆ ได้มาอยู่จุดเดียวกับเรา ช่วยกันพัฒนาวงการด้วยกัน
กัปตัน: เสริมจากพี่จูเนียร์ พี่ไหมครับ อยากให้ทุกคนที่มี passion กับหนังมากๆ อย่าหยุดทำแค่นั้นเอง ต่อให้โอกาสมันยังมาไม่ถึงก็ทำไปเลย ทำกันเอง ทำง่ายๆ การทำหนังถ้าจะทำให้เข้าอุตสาหกรรมได้จริงๆ คือการฝึกฝนทั้งสกิล ทั้งความคิดด้วย แล้วก็ประสบการณ์ ยิ่งทำเยอะยิ่งได้เห็นภาพเยอะ ผมเชื่อว่าถ้ามี passion มากจริงๆ ทำไปเรื่อยๆ พอมีโอกาสมาเราจะได้พร้อมกับโอกาสนั้น แล้วก็ไม่ปล่อยให้มันหลุดมือไป ก็คืออย่ายอมแพ้นั่นแหละครับ
ท้ายที่สุดเลย DEEP อย่าลืมดูนะครับ เข้า Netflix แล้ว (หัวเราะ)