Insight The Machiner กับ ชาย-สุชาย ชูเชิด ผู้อยู่เบื้องหลังเสียงกีต้าร์สุดกังวาลและจักรวาลวิทยาของวง Brandnew Sunset

สำหรับคอดนตรีร๊อกบ้านเรา เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าน้อยคนนักว่าไม่เคยได้ยินของ Brandnew Sunset วงร๊อกที่ผสมผสานซาวน์ของหลากหลายแนวดนตรีที่ผ่านร้อนผ่านหนาวและยืนหยัดอยู่ในวงการดนตรีไทยมากว่า 17 ปี ฝากผลงานเอาไว้มากมาย การันตีคุณภาพด้วยการคว้ารางวัลจาก สีสัน อะวอร์ดส์ ถึง 2 ครั้ง 3 รางวัล ทั้งในสาขา ศิลปินกลุ่มร๊อกยอดเยี่ยมประจำปี 2010 จากอัลบั้ม Welcome Home และ  สาขา ศิลปินกลุ่มร๊อกยอดเยี่ยม และ สาขาเพลงร๊อกยอดเยี่ยม ประจำปี 2017 จากอัลบั้ม Of Space & Time และ เพลง Fire (In Our Hearts) ตามลำดับ  รวมไปถึงการผ่านเวทีทั้งน้อย ใหญ่ทั่วทวีปเอเชีย 

ในปี 2020 พวกเขากลับมาอีกครั้งกับสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 6 ที่มีชื่อว่า The Machiner ซึ่งกำลังจะเปิดตัวและแสดงสดแบบจัดเต็มเป็นครั้งแรกในงาน BRANDNEW SUNSET : THE MACHINER LIVE ในวันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2020 ที่ LIDO CONNECT HALL 3 วันนี้เราจึงพาทุกคนมาพูดคุยกับ ชาย-สุชาย ชูเชิด มือกีต้าร์ผู้เปรียบเสมือน MASTERMIND ของวงดนตรีร๊อกระดับตำนานวงนี้ ถึงที่มาที่ไปและมุมมองที่ต่อโลกและจักรวาลที่ถูกร้อยเรียงจนเกิดเป็นอัลบั้ม The Machiner ผลงานที่เรียกได้ว่า เข้มข้น ที่สุดของวงชิ้นนี้  

ถ้าให้พูดถึงนิยามของ The Machiner

ชาย : อัลบั้มนี้มันเปรียบเป็นคอนเซปต์คล้ายๆกับภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง The Machiner อาจจะเป็นพระเจ้า อาจจะเป็นโลก อาจะจเป็นสิ่งแวดล้อมอะไรต่างๆที่ครอบเราอยู่และมีอิทธิพลต่อเราอีกที มีสิ่งๆ หนึ่งควมคุมพวกเราอีกที 

แล้วทำไมถึงใช้คำว่า The Machiner

ชาย : โดยเนื้อหาของอัลบั้มนี้เราตีความว่า มนุษย์ทุกคนรวมถึงสรรพสิ่งต่างๆ ในจักรวาล สสารทุกอย่าง มีสถานะเหมือนเป็นจักรกล (Machine) ที่เราทุกคนใช้ชีวิตกันอยู่ทุกวันเนี่ย เราไม่รู้ตัวหรอกว่าเราอาจจะถูกควบคุมโดยเหตุปัจจัยเรานี้ เราเลยบัญญัติคำว่า Machiner ถ้าเราทุกคนเป็นเครื่องจักร สิ่งนี้ก็เปรียบเสมือนผู้ควบคุมเครื่องจักร มีสื่อบางที่ที่เราไปสัมผัสเคยถามว่า หมายถึงพระเจ้าหรือเปล่า แต่คำกัดความคำว่า พระเจ้า เกิดขึ้นมาจากอะไรล่ะ พระเจ้าเกิดขึ้นมาจากการอุปโลกน์หรือสมมุติขึ้นมาโดยคนกลุ่มหนึ่งเพื่อกดขี่คนอีกกลุ่มหนึ่งหรือเปล่า คือเราไม่ได้จะพยายามจะบอกว่า พระเจ้า มีจริงหรือไม่มี แต่ว่าคำนิยามนี้มันเกิดขึ้นมาจากมนุษย์ ตกลงพระเจ้าสร้างมนุษย์ หรือมนุษย์สร้างความเชื่อเรื่องพระเจ้าขึ้นมาเพื่อให้ควบคุมมนุษย์ด้วยกัน เห็นปะ ทุกอย่างแม่งมีหลักเหตุและผล อัลบั้มนี้เป็นทรรศนะส่วนตัวของเราเกี่ยวเรื่องนี้ แต่เราไม่รู้จะสื่อสารออกมายังไงเลยเลือกสื่อสารมันออกมาผ่านดนตรี

ผลงานที่ผ่านมาของ Brandnew Sunset เป็นการเล่าเรื่องทั้งหมดเลยไหม

ชาย : จริงๆ อย่างชุดที่ 2 Realistic นี่ใช่นะ มันจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวันสิ้นโลก จุดจบของโลก แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้ทำเป็นคอนเซปต์อัลบั้มอีกจนมาถึงอัลบั้มที่ 5 Of Space and Time แล้วมาชุดนี้ The Machiner คือเป็นคอนเซปต์อัลบั้มที่ชัดเจนที่สุดของ Brandnew Sunset 

การที่คุณเริ่มจับธีมหนักๆ อย่างเช่นเหตุการณ์วันสิ้นโลกมาถ่ายทอดตั้งแต่ผลงานชุดแรกๆ พวกคุณมีวิธีการมองโลกในแบบนี้มาตั้งแต่แรกเลยหรือเปล่า

ชาย : ประมาณนั้น แต่ว่าตอนนั้นมันยังไม่ชัด มันจะกระจัดกระจาย ถ้าเปรียบเทียบกันตั้งแต่ Realistic, Of Space and Time และ The Machiner ในส่วนของ The Machiner เนื้อหาจะกว้างและคลอบคลุมที่สุด สำหรับแนวคิดที่เราพยายามสื่อสานผ่าน The Machiner ความเป็นไปของสสารทุกอย่างที่อยู่บนโลกและจักรวาลนี้ มันต้องเกิดขึ้นมาใครบางคนหรืออะไรบางสิ่งเสมอ แม้แต่การกระทำ แม้แต่ความคิดทุกความคิด มันจะต้องมีเหตุและผล มีที่มาที่ไปเสมอ ส่วน Realistic มันจะเหมือนเราวาดภาพเมืองโดนไฟเผา วาดภาพวันสิ้นโลกออกมามากกว่า จะแคบแคบ มันจะไม่สัจธรรมเท่าอัลบั้มนี้

แล้วทำไมถึงเพิ่งมาทำเรื่องนี้ในตอนนี้ ทำไมถึงไม่มีพวกเรื่องนี้ในอัลบั้มก่อนหน้านี้

ชาย : ก่อนหน้าเรารู้สึกว่าดนตรีมันยังแค่เรื่องเอาสนุกอยู่มั้ง ทำเอามันอย่างเดียว เพิ่งมารู้สึกเอาเมื่อสองชุดหลังเนี่ยว่าความจริงมันดนตรีที่เราทำมันสามารถสื่อสารออกไปได้มากกว่านั้น อย่างช่วงตอนที่ทำอัลบั้ม Realistic มันก็เกือบจะมาทางนี้ละ แต่ด้วยวัยวุฒิของเรา ณ ตอนนั้น มันไม่ได้เท่าตอนนี้ ตอนนั้นพวกเราอายุประมาณ 24-25 กันเอง แค่ได้เล่นดนตรีเหมือนกึ่งๆ เล่นดนตรีอาชีพมันก็สนุกในช่วงวัยนั้น เราเลยไม่ได้มาคิดมากกับเรื่องพวกนี้

อัลบั้ม The Machiner สะท้อนความเชื่อส่วนบุคคลของคุณขนาดไหน

ชาย : คือเรามีมุมมองต่อโลกแบบนี้ แท้จริงขนาดไหนเราไม่รู้ เราคิดอย่างนี้มาตลอดแต่ไม่เคยถ่ายทอดมันออกมาอย่างเป็นรูปธรรม ถ้าเปรียบอัลบั้มนี้เป็นหนังสือ เนื้อในของหนังสือเล่มนี้คือ มนุษย์ไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล และทุกสิ่งในโลกใบนี้ไม่มีอะไรยั่งยืน ซึ่งจะต่างจาก Of Space and Time มันเป็นเรื่องของโลกที่เราอยู่กับโลกคู่ขนานซะมากมาก โลกมนุษย์ที่เราอยู่อาศัย กับโลกที่อยู่ในด้านนึงของจักรวาล แต่ The Machiner มันจะเป็นโลกที่มีความบิดเพี้ยนกว่า และที่แน่ๆคือพวกเราไม่ใช่สิ่งที่ใหญ่ที่สุดในจักรวาลนี้แน่นอน มันต้องมีอะไรกว่าเรา ที่ใหญ๋กว่าจักรวาลขึ้นไป และพวกเราเป็นเหมือนจักรกล เหมือน Machine พวกเราทุกคนถูกป้อนโปรแกรม แต่คือทุกคนอาจจะถูกโปรแกรมมาไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะคิดได้มากกว่า บางคนอาจจะคิดได้น้อยกว่า หรือโปรแกรมมาให้ทำหน้าที่ต่างกัน ไม่เคยสงสัยเหรอว่านิยายวิทยาศาสตร์หรือหนังทุกเรื่องที่มันพูดถึงเรื่องพวกนี้ ทำไมพอเวลาผ่านไปสัก 10 ปี 15 ปี มันเดาถูกทุกเรื่อง ยกตัวอย่าง I Am Legend ยังงี้ คนเขียนเขารู้ได้ไงวะว่าวันหนึ่งคนต้องรอวัคซีนเพื่อว่ารักษาโรคระบาดเหมือนตอนนี้ ลักษณะของไวรัสในเรื่องมีส่วนคล้ายกับ COVID-19 ได้ขนาดนี้  แสดงว่าองค์ความรู้แบบนี้มันมีอยู่ในทุกคนอยู่แล้ว เหมือนที่เรามีองค์ความรู้ที่ก่อให้เกิดอัลบั้มนี้แหละ

ถ้าเกิดเรารู้กันจริงๆ แล้วว่าเราถูกควบคุมอยู่ เรามีทางออกหรือทางเป็นอิสระจากการควบคุมของ The Machiner บ้างไหม

ชาย : มีคนถามเหมือนกันว่าแล้วทำไมเราไม่สู้แมชชีนเนอร์ล่ะ จะสู้ยังไง เป็นสัจธรรมของโลก มันสู้ไม่ได้

สิ่งมันอยู่ในทุกอย่าง ทุกอณูของสิ่งที่เราเป็น อย่างเช่น คุณไม่เคยสงสัยว่าเวลาขับรถแล้วเจอไฟแดงทำไมมึงต้องหยุด

พอจะมีตัวอย่างของ The Machiner ที่เป็นรูปธรรมกว่านี้อีกไหม

ชาย : ระบบทุนนิยมไง (Capitalism) ระบบแบงค์ด้วย ชัดที่สัดเลย เราคิดว่าระบบธนาคารเป็นระบบที่เลวร้ายมาก ระบบธนาคารเป็นระบบทำนาบนหลังคน มันเอาฝันมาขายคุณ แล้วก็บอกเนี่ย อยากมีบ้านเป็นของตัวเองไหม ถ้าอยากมีคุณต้องผ่อนนะ ผ่อนจนตาย สมมุติธนาคารให้เรากู้เงินก้อนหนึ่งมาทำอะไรสักอย่าง คำถามคือ ธนาคารต้องการอะไรจากเรา มันก็จะใช้เราให้ทำงานเพื่อดับเบิลเงินก้อนนี้ให้มันอีก สมมุติคุณซื้อบ้านตอนอายุ 30 คุณต้องผ่อนไปจนอายุ 60 คุณซื้อบ้านมูลค่าล้านนึง แต่ถ้าต้องผ่อน สุดท้ายมันจะกลายเป็นประมาณ สองล้านห้า ธนาคาร คือ The Machiner ของระบบทุนนิยม ระบบธนาคารคือเลวร้ายที่สุด เห็นปะ ทุนนิยมมันโหดร้าย แต่มันแล้วแต่ใครจะปรับตัวกับมันได้ขนาดไหน ปรับตัวได้ก็รอด อย่างพวกบริษัทยักษ์ใหญ่ที่พยายามจะผู้ขาดการค้าในวงการต่างๆ ถามว่าพวกนี้แย่ไหม ถ้าเอาจริงๆ คือแย่ แต่ถ้ามองในมุมทุนนิยม คำตอบคือ ไม่นะ ในมุมของทุนนิยมคือ เจ๋ง คือถ้าเราเป็นเขาเราก็ต้องทำยังงี้อยู่ดี แล้วถึงเราจะเป็นลูกจ้างมันเราก็จะแบ๊กมันด้วย เขาไม่ได้เลว มันเก่ง แต่คนที่ไม่เก่งเท่ามันอะคิดว่ามันเลว นี่คือมุมมองของทุนนิยมนะ แต่ถ้ามองกรอบความเสมอภาค ตลาดเสรี คือ ไอ้นี่แม่งแย่ ถ้าคุณเป็นคนต่อต้านทุนนิยมมึงจะมองว่ามันเป็นการกระทำที่แย่ แต่ถ้ามองในเชิงธุรกิจ คุณจะมองว่ามันเก่ง มากด้วย บริษัทพวกนี้คือกลุ่มคนที่เข้าใจในระบบอย่างแท้จริง นี่คือ แมชชีนชั้นสูงเลย ต้องยอมรับว่าคนพวกนี้เก่ง ในโลกทัศน์แบบทุนนิยม มันเป็นคนที่สามารคคอนโทรลเกมส์ได้ ทุกอย่างที่เขาทำคือเกมส์ คือธุรกิจ นั่งคือการบั๊บ คือการตามน้ำ หรือนั่นคือการขวางน้ำ เห็นไหม ธุรกิจมันคือแบบนี้ ถ้าจะอยู่ในโลกของธุรกิจ คุณก็ต้องไปแบบโลกธุรกิจ   

ถ้าอย่างงั้น ในอัลบั้ม The Machiner คุณมีทางออกหรือคำตอบไหมว่าเราควรใช้ชีวิตในอันบิดเบี้ยวนี้อยู่บนโลกที่ถูกควบคุมนี้ต่อไปได้อย่ากลมกลืนหรือมีความสุขได้อย่างไรไหม

ชาย : ในผลงานชุดนี้ เพลง The Machiner จะเป็นเพลงเดียวเลยที่ตัว The Machiner จะออกมาสื่อสารเอง เพลงที่เหลือจะเป็นมุมมองของแมชชีนที่อยู่ในระบบ แต่จะแทร๊คสุดท้ายของอัลบั้มที่ชื่อว่า Post-apocalyptic Lullaby เป็นเสียงจากโทรศัพท์ที่ เป็นเรื่องของ พ่อที่โทรศัพท์มาบอกลูกเกี่ยวกับเรื่องบางอย่างที่ลูกในอนาคตโทรมาบอกพ่อ ว่าอีกหน่อยโลกนี้มันจะไม่น่าอยู่เหมือนเดิมแล้ว นี่คือเพลงนี้เลย ซึ่งไม่ได้บอกว่าจะต้องทำยังไงต่อ แค่โทรมาบอกว่า โลกในอนาคตไม่ได้มีคนที่เป็นเหมือนเดิมอยู่แล้ว แค่นั้น แต่เราอาจจะมองมันคลี่คลายจากดนตรีที่เล่นอยู่ก็ได้ อัลบั้มนี้การเล่าเรื่องจะอยู่ที่ภาคดนตรีมันมากกว่าเนื้อเพลง มันเลยจะออกมาค่อนข้างเป็นนามธรรมสูง

แล้วถ้าจากตัวของคุณเอง ในฐานะผู้สร้างอัลบั้ม The Machiner ขึ้นมา มีคำแนะนำอะไรไหม

ชาย : ใช้ชีวิตไปให้มีความสุข ไม่ต้องคิดมาก ยังไงระบบมันจะยังครอบทุกคนอยู่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอีกกี่รุ่นต่อกี่รุ่น มันจะจบก็ต่อเมื่อไม่มีโลกนี้อีกแล้วน่ะ พยายามใช้ชีวิตอย่าให้เกิดปัญหาต่อตนเอง และผู้อื่นน่าจะดีที่สุด ทุกวันเราตื่นขึ้นมาก็ต้องเจอปัญหาอยู่แล้ว อยู่ที่เราจัดการมันได้ดีขนาดไหน ใครแก้ไม่ได้ก็แพ้ไปเนี่ย มันคือ The Machiner เลย เราในฐานะแมชชีนเราก็ต้องปรับตัวตามไป แต่เราอย่าไปเบียดเบียนกับคนอื่นเท่านั้นก็พอ แต่มันสำคัญนะที่คนเราแม่งอยากมีอัตลักษณ์ หรือเป็น somebody ของใคร มนุษย์ถูกโปรแกรมมาอย่างนี้ ระบบถึงได้สร้าง การเมือง ศาสนา ดนตรี และอื่นๆ ขึ้นมาไง ซึ่งพวกเราเลือกดนตรี  เพราะดนตรีคือ outlet เดียวที่เราอยู่นอกระบบ อย่างอื่นเราต้อง adaptตัวเข้าไป แต่ดนตรีเป็นสิ่งที่เราไม่ต้อง adapt คนอื่นต้องมา adapt กับเรา ไม่ชอบก็เรื่องเขา ไม่ชอบก็คือไม่ชอบ และเราไม่สามารถไปบังคับให้เขาชอบด้วย ชอบก็ชอบ ไม่ชอบก็ไม่เป็นไร ดนตรี กวี ศิลปะ สร้างมาเพื่อเรื่องนี้ ทำให้คนสามารถเชื่อมต่อกันได้แบบสวยงาม อย่ายึดติดอะไรมาก ใช้ชีวิตให้มีความสุข

เรื่อง : Krit Promjairux

ถ่ายภาพ : Panot Kunsongkeit