ASIA7 วงที่หยิบเอาดนตรีไทยและสากลเป็นวัตถุดิบ แล้วปรุงท่วงทำนองให้เหมือนอาหารฟิวชั่น

หากพูดถึงเครื่องดนตรีไทยเราอาจจะคุ้นชินกับเพลงบรรเลงที่ทั้งเก่าทั้งขลัง หรือบางครั้งอาจจะฟังดูเชยไปบ้าง แต่ถ้าหากได้ลองฟังเพลงของ ASIA7 สักเพลงรับรองได้เลยว่าจะต้องเปลี่ยนใจแน่ 

ASIA7 คือวงที่นำดนตรีไทยและดนตรีสากลมาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว เกิดจากการรวมตัวกันของเหล่ารุ่นพี่รุ่นน้องดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือ ออย-อมรภัทร เสริมทรัพย์ (ร้องนำ), โยเย-นริศรา ศักดิ์ปัญจโชติ (ซอ), ต้น-ต้นตระกูล แก้วหย่อง (เครื่องดนตรีอีสาน), โอม-กฤตเมธ กิตติบุญญาทิวากร (แซ็กโซโฟน), สุนทร-สุนทร ด้วงแดง (กีตาร์), บูม-ปรีดา เกศดี (คีย์บอร์ด), ดิว-ภูวิช ทวาสินชนเดช (เบส) และ โน้ต-ฐิติรัฐ ดิลกหัตถการ (กลอง) 

ทั้ง 8 เริ่มต้นจากลองปรับเปลี่ยนทดลองหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้ดนตรีไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยมีเบสเป็นดนตรีไทยและดนตรีสากล  จนได้มาเป็นวง ASIA7 วงเพลงไทยที่มีกลิ่นความเป็นสากล และรวมความหลากหลายทางดนตรีเอาไว้ในวงเดียว เหมือนกับที่สมาชิกของวงเปรียบเทียบแนวดนตรีของพวกเขาเอาไว้ว่าเป็นเหมือนกับอาหารที่นำเอาวัตถุดิบต่างๆ มาปรุงเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นอาการจานใหม่

อย่างเพลงล่าสุดที่ได้ฟังกัน ‘จำขึ้นใจ’ ก็มีการนำเอาดนตรีอีสานใต้มาผสมเข้ากับเพลงร็อกจนกลายเป็นแนวดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ทำให้ฟังครั้งเดียวก็จำความพิเศษในแบบของ ASIA7 กันได้ วันนี้เราก็เลยอยากจะมาชวนทุกคนคุยกับวง ASIA7 กันถึงเรื่องดนตรีไทยและดนตรีสากลที่ดูไม่น่าจะเข้ากันแต่ก็จับมารวมกันได้อย่างลงตัว ก่อนจะตามไปลองชิมดนตรีฟิวชั่นที่อาจจะทำให้ติดใจเมนูนี้ไปเลยก็ได้

ทำไมถึงตั้งชื่อวงว่า ASIA7 

ออย : จริงๆ แล้ววงนี้เป็นวงที่ทำเพื่อบรรเลงมาก่อนค่ะ ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 7 คน ก็คือไม่มีนักร้องค่ะ 

ต้น : เป็น Instrumental ครับ จริงๆ ก็คือต้องเท้าความก่อนว่า ASIA7 เริ่มมาจากพี่ๆ น้องๆ ที่เรียนดนตรีในดุริยางคศิลป์ มหิดล ก็เราสนใจเอาดนตรีมาผสมมิกซ์กัน แรกๆ เราเลยชวนแจ๊สมาผสมผสานกับดนตรีไทยออกมาเป็นแนวดนตรีบรรเลงในตอนแรก 

โยเย : ที่ว่าทำไมต้องเป็น ASIA7 ทำไมต้องเป็นวงดนตรีไทย ทำไมต้องเป็นวงดนตรีพื้นบ้าน ก็เพราะว่าเป็นสิ่งที่เราเล่นอยู่แล้ว เราก็เลยนำเสนอด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านและเครื่องดนตรีตะวันตก แล้วสิ่งที่เรานำมาเล่นเราไม่ได้เจาะจงแค่ว่าต้องเป็นดนตรีของประเทศไทยอย่างเดียว แต่สิ่งที่เราเล่นเรารู้สึกว่ามันมีความเป็นเอเชียทั้งหมดเลย เพลงที่เรานำมาเล่น สำเนียงเราก็อิงเพื่อนบ้านเขา อิงความเป็นแขกบ้าง อิงความเป็นจีนบ้าง เลยเรียกดนตรีของเราแบบกว้างๆ ว่า เอเชีย และ เซเว่น ก็มาจากสมาชิกเริ่มต้นทั้ง 7 คนค่ะ

ต้น :  แต่ทีนี้เรารู้สึกว่าเราอยากเปิดตัววงให้เป็นในลักษณะของดนตรีที่มีร้องด้วย อยากมีซิงเกิ้ลเป็นของตัวเองด้วย ก็เลยปรับจากที่มีบรรเลงเฉยๆ มาเป็นวงดนตรีที่มีเสียงร้องด้วย ซึ่งสมาชิกตอนแรกมันมีแค่ 7 คน พอปรับรูปแบบตอนนี้ก็คือพวกเรา 8 คนนี้ครับ 

พอด้วยจำนวนสมาชิกที่มีเยอะถึง 8 คน เวลาทำงานด้วยกันยากไหม ถ้าสมมติเวลาทำงานด้วยกันแล้วมีความเห็นไม่ตรงจะแก้ไขอย่างไร 

ดิว : จริงๆ เรียกว่ามีข้อดีข้อเสียดีกว่าครับ เวลาพวกเราทำงานเนี่ยก็มีการแชร์ไอเดีย แชร์ Reference  หรืออะไรต่างๆ ที่เราไปเอามา ทีนี้พอเราต้อง discuss กันเนี่ย มันก็อาจจะมีความเห็นมันไม่ตรงกัน มันไม่คล่องตัว กว่าที่จะทำให้เพื่อนๆ เห็นภาพไปในทางเดียวกัน มันอาจจะใช้เวลามากกว่าวงที่มีสมาชิกจำนวนน้อย แต่ว่าข้อดีก็คือเราก็ได้ไอเดียที่หลากหลายจากแต่ละคนที่มีคาแรคเตอร์แตกต่างกัน ประสบการณ์ที่รับมาแตกต่างกันมา ซึ่งเสน่ห์อาจจะอยู่ตรงนี้ เพราะว่าเราไม่ได้บังคับให้ใครต้องเปลี่ยนอะไร 

ASIA7 เป็นวงที่ผสมผสานตนตรีหลายแนวไว้ด้วยกัน มีจุดบาลานซ์ยังไง ที่สามารถทำให้ทุกแนวเพลงมารวมกันจนลงตัวได้ขนาดนี้ โดยที่ไม่รู้สึกแปลกด้วย 

สุนทร : จริงมันก็กึ่งๆ การทดลอง เราก็ไม่รู้หรอกว่าแบบไหนมันจะดีกว่าแบบไหน เอาแนวนี้มาผสมกันมันจะออกมาดีไหม แต่แค่เราลองผิดลองถูกกันมาเยอะแยะเลย แล้วสุดท้ายสิ่งที่พวกเราทำออกมา เสร็จปุ๊บเราแล้วก็มาเคาะอีกทีว่า แบบนี้มันพร้อมเสิร์ฟทุกท่านรึยัง บางเพลงที่พวกเราทำออกมาในช่วงแรกๆ เราก็ยังเล่นอยู่ แต่เปลี่ยนเวอร์ชั่นไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัยที่เรามีไอเดียเพิ่มขึ้นมา

โยเย : ก็คือถ้าพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ มันเกิดจากรสนิยม ความชอบ ประสบการณ์ของเราที่เป็นคนดนตรีไทยอยู่แล้วว่าถ้าดนตรีแบบนี้ ใส่ดนตรีไทยเข้าไปแค่ไหนมันจะดี มันจะพอดี มันเหมือนเราชิมอาหาร ปรุงอาหาร เราปรุงไปเรื่อยๆ แล้วเรารู้ว่าความเค็มใส่เท่านี้พอดี แต่ถ้าใส่มากกว่านี้เริ่มเค็มแล้วนะ ดนตรีของเราก็เหมือนกัน เราใช้ประสบการณ์ที่เราเรียน เราฟังดนตรีที่ผ่านมาเรารู้ว่าใส่ประมาณนี้พอเหมาะแล้ว

เสน่ห์ของการผสมผสานระหว่างเครื่องดนตรีไทยพื้นบ้านและเครื่องดนตรีฝั่งตะวันตกคืออะไร 

ออย : จริงๆ ไม่ว่าจะฝั่งไหน ทุกเครื่องดนตรีมันก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่แล้ว บางทีเราเอาเครื่องดนตรีไทยมาแต่เราไม่ได้เล่นดนตรีสำเนียงไทยด้วยซ้ำ เราเอามาเล่นให้เป็นเหมือนเครื่องดนตรีสากลเลย เราให้ค่ากับเครื่องดนตรีทุกๆ เครื่องเท่าๆ กัน

โยเย : เรามองเครื่องดนตรีเป็นแค่เครื่องที่ให้กำเนิดเสียงเสียงนั้นออกมา ให้กำเนิดคาแรคเตอร์นั้นออกมา เอาแต่ละเสียงมาจัดวางในแต่ละเพลงประมาณนั้นค่ะ ไม่ได้มีการแบ่งแยกว่าใครต้องเล่นเท่านั้น สากลต้องเล่นเท่านั้น 

ดิว : เวลาผมตอบคำถาม ผมว่าภาพที่ชัดที่สุดก็คือเหมือนอาหาร เหมือนกับวัตถุดิบ การที่เรามีเครื่องดนตรีไทยไปผสมกับเครื่องดนตรีสากลก็เหมือนกับเรากำลังทำอาหารฟิวชั่น หรือเหมือนกับเราอยู่ประเทศนึงแล้วเราจะทำอาหาร แต่เราต้องหาผักประเภทนึงมาแทนผักที่ที่นั่นไม่มี มันก็เหมือนกับการที่เรามีซอ มีพิณอยู่ตรงนี้ แล้วเราก็มีเบส ถ้าให้เห็นภาพง่ายขึ้น ก็เช่นพิซซ่าที่ ที่ [เพลงของ ASIA7] จะกลายเป็นพิซซ่ารสลาบ พิซซ่าหน้าต้มยำกุ้ง 

ความยากของการรวมกันของดนตรีอีสานใต้และเพลงร็อก

ต้น : ต้องเท้าความก่อนว่าดนตรีอีสานใต้คืออะไร ดนตรีอีสานใต้คือกลุ่มวัฒนธรรมที่อยู่ตรงภาคอีสานตอนล่างที่ติดกับแถบกัมพูชาในปัจจุบัน อย่าง สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ จะมีสำเนียงพูดที่คนละแบบกับภาษาตระกูลไทลาว ถ้าพูดถึงภาคอีสานเราก็จะนึกถึงหมอลำ ไม่ค่อยมีใครนึกถึง ‘เจรียง’ ‘กันตรึม’ พวกนี้จะเป็นศิลปะวัฒนธรรมอีสานใต้ที่ควบกับความเป็นเขมร เราเลยหยิบ element ตรงนี้มาทำ เพราะเรารู้สึกว่าคนยังหยิบมาทำน้อย เราก็เลยหยิบมา โดยที่จะทำยังไงให้มันมีความ traditional คู่กับความโมเดิร์น เรา [มองว่า] ดนตรีร็อกที่สื่อความหมายแบบตรงๆ กับดนตรีพื้นบ้านมันน่าจะเข้ากัน เราก็หยิบมารวมกัน ส่วนภาษาผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของรสนิยมของแต่ละคนในการทำเพลง 

อยากจะนำเสนอเครื่องดนตรีไทยพื้นบ้านชิ้นไหนเป็นพิเศษอีกไหม นอกจากที่ใช้กันอยู่ 

โยเย : ออยเขาอยากตีโปงลางอยู่ค่ะ (หัวเราะ)

ออย : ตอนเด็กๆ ออยเป็นเด็กดนตรีไทยมาก่อนค่ะ แต่จะตีเป็นพวกระนาด ขิม อะไรแบบนี้ คือแถวบ้านออยมันไม่มีเรียนโปงลาง พอโตขึ้นแล้วได้มาอยู่ตรงนี้เราก็จะเห็นเยอะขึ้น ฝากพี่ต้นพี่โยเย ได้เห็นพี่ต้นตีโปงลางแล้วรู้สึกว่ามันเท่ดี แล้วก็รู้สึกว่าเบื่อแล้วร้องเพลงอยากลองตีโปงลางดู 

ต้น : ในส่วนตัวผมมองว่า ถ้ามันจะเข้มข้นและทำให้คนเห็นถึงความ element ของเอเชีย เราควรหาสิ่งใหม่ๆ ที่คนไม่ค่อยได้ฟังในปัจจุบันมาใส่ในเพลงเรา อาจจะเป็นกลองพื้นบ้านหรือเครื่องดนตรีที่คนไม่เคยได้ยินมาจัดวางในรูปแบบใหม่ ให้คนรุ่นใหม่ที่ฟังโมเดิร์นได้ฟัง ให้เขารู้สึกว่านี่เป็นเสียงอะไร มาจากร็องเง็งภาคใต้หรอ มันมาจากเครื่องดนตรีเหนือหรอ 

คิดว่าวงของเราทำให้คนเหล่านั้นกลับมาสนใจเครื่องดนตรีไทยมากขึ้นไหม 

ต้น : เท่าที่เราเห็นที่แท็กสตอรี่ [อินสตาแกรม] มา ASIA7  ก็เป็นวงที่น้องๆ เอาไปโคฟเวอร์ และเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆ กลับมาเล่นดนตรีไทยกันด้วยนะ

สุนทร : แล้วที่แท็กสตอรี่มาก็คือ วงเกิดใหม่ที่เป็นรูปลักษณะคล้ายๆ เราเพิ่มขึ้นมาด้วย 

ดิว : ผมพูดให้เห็นบรรยากาศแบบนี้ดีกว่า ถ้าเราย้อนกลับไปวัยมัธยม เราจะมีมีห้องวงโย ห้องสตริง แล้วก็ห้องดนตรีไทย สิ่งที่มันเกิดขึ้นใหม่คือ 2 ห้องนี้เดินเข้าหากัน แล้วทำวงขึ้นมาประกวดด้วยกัน เท่ากับเวทีมันจะกว้างขึ้น จากที่วงดนตรีไทยมันเล่นอยู่แค่ตรงนี้ ก็อยู่ในการประกวดได้ 

ออย : จริงๆ ตอนนี้เรามองว่ามันเหมือนจะกลายเป็นเทรนด์เล็กๆ เป็นแฟชั่นด้วย แม้แต่คนที่ไม่ได้เล่นดนตรีไทยมาก่อนก็มองว่ามันเท่ มันน่าสนใจ น่าจะลองฝึกเล่นดู 

โยเย : ต้องบอกก่อนเลยว่าเราเชิดชู traditional เพราะเราเกิดจากตรงนั้น เราเรียนเราเริ่มต้นศึกษามาจากตรงนั้น ทำให้เติบโตขึ้นมา มันไม่ใช่สิ่งที่เรามโนขึ้นมา ว่าอยากจะเล่นแบบนี้ก็เล่นได้เลย สิ่งที่เราเล่นมันมีที่มาที่ไปเสมอ

ออย : ถ้าไม่มีเพลงเก่าๆ เราก็จะได้ไอเดียมาน้อยเหมือนกัน เราก็เอาไอเดียจากเพลงพื้นบ้านเป็น reference เพราะกลิ่นอายของเพลงพื้นบ้านไทยมันมีเสน่ห์ในตัวของมันเองอยู่แล้ว 

ในอนาคตอยากจะลองฟิวชั่นเพลงแบบไหนอีกบ้าง

ต้น : อีกเยอะเลยครับ ผมว่าคำว่าเอเชียมันเป็นแค่สารตั้งต้นเฉยๆ คำว่าเอเชียมันยังมีอีกเยอะเลยครับ 

มันเป็นระดับโลกไปแล้ว มันคือความไร้พรมแดนของดนตรีไปแล้ว วันนี้เราฟังดนตรีจากเกาหลี อีกวันนึงเราก็อยากจะทำดนตรีป๊อบแบบอินเดีย อยากให้ทุกคนที่เป็นนักฟังเพลงลองดูว่าเรื่องราวนี้ บวกกับดนตรี Mood and Tone แบบนี้ ออกมาจะเป็นแบบไหน มันเป็นไปได้ไหม ดนตรีไทยกับดนตรีนอร์เวย์มันอยู่คนละที่กัน  ดนตรีอีสานกับแอฟริกันมันไปด้วยกันได้ไหม หรือดนตรีไทยภาคกลางกับดนตรีญี่ปุ่นมิกซ์กันแล้วมันจะเป็นยังไง ผมมองว่ามันยังทำอะไรได้อีกเยอะกับความเป็น ASIA7 

สุดท้ายอยากให้ฝากอะไรสักหน่อยถึงคนฟัง

ออย : หลายคนอาจจะมองว่าพวกเราเข้าถึงยากมากๆ ด้วยดนตรีและภาษา บางคนอาจจะไม่ชอบความยุ่งยาก แต่อยากให้ลองเปิดใจฟัง ดูซัก 8 รอบ (หัวเราะ) อยากให้ลองเปิดใจฟังดูค่ะ หรือลองฟังเพลงของพวกเราแล้วบางคนอาจจะอยากลองย้อนกลับไปฟังเพลงเก่าๆ ของเราจริงๆ ตั้งแต่ก่อนที่เราจะมาเข้าค่ายด้วยค่ะ การฟังเพลงของวงเรามันไม่จำเป็นต้องเป็นนักดนตรีเท่านั้นถึงจะฟังได้ลึกกินใจ จริงๆแล้วฟังได้ทุกเพศทุกวัยเลยค่ะ สิ่งประทับใจอันนึงก็คือในซิงเกิลที่แล้วลูกสาวของพี่โอมเค้าชอบ เราก็เลยคิดว่าขนาดเด็กตัวน้อยยังชอบเลย ยังอินกับเพลงเรา เราเลยคิดว่าเพลงวงใครๆ ก็ฟังได้ค่ะ 

เราทดลองทำเพลงกันตลอดเวลา ซึ่งเราทดลองมา 6 ปีแล้ว ซึ่งเราก็เชื่อว่าอีก 6 7 8 9 ปี เราก็จะยังทดลองกันอยู่ จะไม่หยุดแค่แนวตรงนี้ เราอาจจะไป featuring กับ culture นั้นนี้ มันไม่ได้หยุดแค่นี้แน่นอน ASIA7  มีอะไรให้เซอร์ไพรส์ตลอด เพราะฉะนั้นถ้าอยากลองลิ้มรสอะไรใหม่ๆ ในชีวิตก็ลองกันฟังดูค่ะ