Jocelyn Bell Burnell… นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์หญิงผู้พลาดโนเบล และสละเงินสามล้านดอลลาร์เป็นทุนการศึกษา
- โจเซลีน เบลล์ เบอร์เนลล์ได้สร้างกล้องวิทยุโทรทัศน์สำหรับสำรวจคลื่นในอวกาศและค้นพบพัลซาร์ ซึ่งเป็นวัตถุในอวกาศชนิดใหม่ที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อนระหว่างเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ งานวิจัยของเธอได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร แต่เมื่อมีการประกาศรางวัลโนเบลสำหรับการค้นพบพัลซาร์ มีเพียงแค่อาจารย์ของเธอเท่านั้นที่ได้รับรางวัล
- แม้จะไม่ได้รับรางวัลโนเบล เบลล์ เบอร์เนลล์ก็ไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องดังกล่าว และทำงานของตัวเองต่อไป ทั้งทางวิชาการและการค้นคว้าวิจัย และได้รับรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย โดยรางวัลล่าสุดที่เธอได้ คือ Breakthrough Prize ที่มีเงินรางวัลสูงสุด
- เมื่อได้รับเงินรางวัลแล้ว โจเซลีน เบลล์ เบอร์เนลล์ได้มอบเงินรางวัลที่ได้มาทั้งหมดเป็นทุนการศึกษาด้านฟิสิกส์แก่นักศึกษาและนักวิจัยที่ขาดแคลนผ่านสถาบันฟิสิกส์ของสหราชอาณาจักรเพื่อให้เป็นประโยชน์และแก้อคติที่มีอยู่ในงานด้านฟิสิกส์
โจเซลีน เบลล์ เบอร์เนล (Jocelyn Bell Burnell) หญิงสาวเชื้อสายไอริชค้นพบดาวพัลซาร์ (Pulsar) ในปี 1967 ขณะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ การค้นพบพัลซาร์ (Pulsar) ที่ส่งคลื่นวิทยุผ่านระบบสุริยะได้เป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ เพราะคลื่นวิทยุที่พัลซาร์ส่งออกมาเป็นประโยชน์ต่อการทดลองทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์อย่างยิ่ง จึงทำหน้าที่เปรียบได้กับเป็นประภาคารของการสำรวจอวกาศ แต่คนที่ได้รับรางวัลโนเบลกลับกลายเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของเธอที่เป็นผู้ชาย โดยเธอเพิ่งได้รางวัลสำหรับการค้นพบที่นำพามนุษยชาติให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่งในเวลาอีก 51 ปีต่อมา และเธอได้ยกเงินรางวัลที่ได้มาเกือบสามล้านดอลลาร์เป็นทุนการศึกษาแก่นักศึกษาหญิงและกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสในสหราชอาณาจักร
เมื่อ 51 ปีก่อน แอนโธนี ฮิววิช (Anthony Hewish) นักดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ต้องการค้นหาควอซาร์ (quasar หรือ Quasi-stellar Radio Source) ซึ่งเป็นวัตถุในเอกภพที่มีมวลขนาดใหญ่และอยู่ห่างจากโลกมาก มีแสงสว่างเจิดจ้า เป็นแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุ และมีการเคลื่อนไหวด้วยความเร็วเกือบเท่ากับแสง การค้นหาควอซาร์ได้ต้องใช้กล้องโทรทัศน์วิทยุ (radio telescope) ตรวจจับสัญญาณคลื่นวิทยุจากแหล่งพลังงานในอวกาศและสะท้อนกลับลงมายังเครื่องรับบนโลกโดยแสดงเป็นความเข้มของสีตามระดับความถี่ที่รับได้ การสำรวจด้วยวิธีการดังกล่าวต้องใช้กล้องโทรทัศน์วิทยุรูปแบบใหม่
ในช่วงเวลานั้นเอง โจเซลีน เบลล์ เบอร์เนลได้เข้าเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เธอเป็นผู้สร้างกล้องโทรทัศน์วิทยุรูปแบบใหม่สำหรับตรวจจับคลื่นพลังงานในอวกาศโดยมีฮิววิชเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เธอใช้มันเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์อยู่นานถึง 6 เดือน พบควอซาร์จำนวนมาก แต่แล้ววันหนึ่ง เธอก็พบข้อมูลบางอย่างที่แปลกไปจากปกติ
“ลิตเติลกรีนแมน -1” หรือ “LGM-1” เป็นชื่อที่อาจารย์ของเธอใช้เรียกภาพสัญญาณแปลกประหลาดนี้ (คำว่า Little Green Man หรือเจ้ามนุษย์จิ๋วตัวเขียวเป็นคำที่ใช้เรียกมนุษย์ต่างดาวแบบเล่น ๆ) ฮิววิชคิดว่าเป็นคลื่นวิทยุที่แทรกเข้ามา ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่โจเซลีนไม่คิดแบบนั้น เพราะความเร็วและลักษณะของคลื่นเป็นแบบเดียวกับสัญญาณวิทยุที่จับได้จากดวงดาว
หลังจากศึกษาอย่างหนักและติดตามสิ่งที่ค้นพบต่ออีกหลายเดือน เธอก็มั่นใจว่า สิ่งที่ตรวจจับได้ไม่ใช่ควอซาร์ แต่เป็นวัตถุในอวกาศชนิดใหม่ เป็นดาวนิวตรอน (Neutron star) หรือดาวที่เกิดจากการยุบตัวของการระเบิดแบบซูเปอร์โนวาบางประเภท โดยสิ่งที่ค้นพบใหม่นี้หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูงมากและแผ่รังสีแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาเป็นจังหวะ ในเวลาต่อมาจึงเรียกดาวที่ค้นพบใหม่นี้ว่า “พัลซาร์” โดยมาจากคำว่า pulsating (เคลื่อนไหวเป็นจังหวะ) และ star (ดวงดาว)
ถึงแม้ว่าจะเป็นการค้นพบครั้งสำคัญและโจเซลินมีชื่ออยู่ในวารสารเผยแพร่ผลงานวิจัยร่วมกับอาจารย์ของเธอ แต่เมื่อมีการประกาศรางวัลโนเบลในปี 1974 คนที่ได้รางวัลสำหรับการค้นพบนี้กลับมีเพียงแค่ชื่อของฮิววิช ไม่มีชื่อของเธออยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม โจเซลินก็ไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องนั้นนัก โดยเธอบอกว่า “ยุคนั้น คณะกรรมการไม่สนใจนักศึกษาหรอก”
แม้ไม่ได้รับสิ่งที่ควรได้ เพราะคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลในยุคนั้นให้ความสำคัญกับหัวหน้าคณะวิจัยมากกว่านักศึกษาที่ร่วมทีม เธอก็ยังไม่หยุดแสวงหาความรู้ในสิ่งที่เธอรักและทำให้เธอเป็นผู้หญิงหนึ่งในไม่กี่คนที่อยู่ในแวดวงฟิสิกส์ดาราศาสตร์ หลังจากจบปริญญาเอกแล้ว เธอก็ทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ไปพร้อมกับทำหน้าที่ภรรยาและแม่ของลูกชายด้วย และยังได้รับรางวัลจากสถาบันอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้น คือ Beatrice M. Tinsley Prize จากสมาคมดาราศาสตร์อเมริกา และ Oppenheimer Prize ที่มอบให้แก่ผู้ที่มีผลงานด้านการศึกษาเชิงทฤษฎี
ไม่เพียงเท่านั้น ดาวนิวตรอนที่เกือบจะโดนปฏิเสธไปแล้วว่าไม่มีอยู่จริง ถ้าเธอไม่ยืนยันว่าสัญญาณกะพริบเป็นจังหวะที่ผิดแปลกออกไปนั้นเป็นการค้นพบครั้งใหม่ก็กลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์รุ่นต่อมาจนถึงปัจจุบันที่ใช้ในการวิจัยทางดาราศาสตร์หลายรูปแบบ เช่น คำนวณหาน้ำหนักและจุดศูนย์กลางของระบบสุริยะอื่น ๆ และคำนวณจุดหมายที่จะนำไปใช้ในระบบนำร่องสำหรับการเดินทางระหว่างดวงดาว (interstellar navigation) เป็นต้น จึงถือได้ว่าการค้นพบพัลซาร์และคุณสมบัติของพัลซาร์นำมาสู่การปฏิวัติวงการดาราศาสตร์ให้ไปไกลขึ้นอีกหลายก้าวเลยทีเดียว
เมื่อเวลาผ่านไปห้าสิบปี โจเซลีน เบลล์ เบอร์เนลล์ก็ได้รับรางวัลที่เธอคู่ควรจะได้รับและชื่อของเธอกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นอย่างที่ควรจะมีคนรู้จัก เพราะในปี 2018 นี้เอง เธอได้รับรางวัลที่ Fundamental Physics Breakthrough Prize ที่มอบให้แก่นักฟิสิกส์ที่มีผลงานโดดเด่น และถือเป็นรางวัลที่ให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ที่ได้รับรางวัลมากที่สุดถึงสามล้านดอลลาร์ และคนที่เคยได้รางวัลนี้มาแล้วและเป็นที่รู้จักกันดี คือ สตีเฟน ฮอว์กิง นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่เพิ่งจากไปไม่นานมานี้
สิ่งที่โจเซลีนทำหลังจากได้รับรางวัล คือ บริจาคเงินที่ได้รับมาแก่สถาบันฟิสิกส์แห่งสหราชอาณาจักรเพื่อเป็นทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาและนักวิจัยรุ่นใหม่ที่ขาดแคลนเงินทุน โดยเธอบอกว่า เธอไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน แต่อยากใช้เงินเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ และเพื่อแก้ไขสิ่งที่เคยเป็นอคติในงานด้านฟิสิกส์
“ถึงคุณจะไม่ได้รางวัลโนเบล แต่คุณทำทุกอย่างให้ก้าวหน้าไปได้ แล้วคุณก็จะเหมือนได้ไปงานปาร์ตี้เกือบทุกปี เพราะคุณได้รางวัลอื่น ๆ มา ซึ่งนั่นสนุกกว่ากันเยอะเลย” โจเซลีน เบลล์ เบอร์เนลล์ผู้ค้นพบพัลซาร์กล่าวไว้
Sources:
- Jocelyn Bell Burnell
- In 1974, They Gave The Nobel To Her Supervisor. Now She’s Won A $3 Million Prize
- Hooray for Jocelyn Bell Burnell – the world needs more scientists like her
- Pulsar Discoverer Jocelyn Bell Burnell Wins $3 Million Breakthrough Prize
- Meet the Woman Who Found the Most Useful Stars in the Universe
Written by Piyarak
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!