พาแก๊ปกับเจมส์ จาก Meow Ears Up ออกจากห้อง แล้วมาคุยเรื่องแมวๆ และซีรีส์วาย

คงจะนึกภาพกันไม่ออกแน่ๆ ถ้าหากว่าวันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าเจ้าแมวที่เราเลี้ยงเอาไว้กลายร่างมาเป็นคน จะทำอย่างไร? 

จากต้นฉบับในเวอร์ชั่นม่านฮวา (หนังสือการ์ตูนจีน) สู่เวอร์ชันคนแสดงในซีรีส์วายเรื่อง ‘Meow Ears Up น้องเหมียวใน ห้องผม’ บน AIS Play ทุกวันอังคาร 20.30น. ที่ได้นักแสดงอย่าง เจมส์ – ประพัฒน์ธรณ์ จักขุจันทร์’ และพระเอกหน้าใหม่อย่าง ‘แก๊ป – กิตติชัช เตชาหัวสิงห์’ มาถ่ายทอดความแฟนตาซีและความวุ่นวายของชีวิตนักวาดการ์ตูนผู้เก็บน้องแมวข้างถนนมาเลี้ยงเอาไว้แต่ดันเปลี่ยนร่างกลายเป็นคนเสียอย่างนั้น ซึ่งในเรื่องก็ไม่ได้มีแค่เจ้าเหมียวตัวเดียวเท่านั้นนะ แต่ต้องไปติดตามกันว่าในเรื่องนี้จะมีสัตว์เลี้ยงตัวไหนที่กลายร่างเป็นคนกันได้อีกบ้าง

วันนี้เราก็เลยชวน แก็ป และ เจมส์ มานั่งคุยกันถึงเรื่องแมวๆ และซีรีส์น้องเหมียวในห้องผมกันว่ากว่าจะออกมาเป็นซีรีส์เรื่องนี้ต้องผ่านอะไรกันมาบ้าง รวมถึงพูดคุยกันเรื่องประเด็นของซีรีส์วายในฐานะที่ทั้งคู่ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมนี้กัน


สำหรับแก๊ป ‘น้องเหมียวใน ห้องผม’ เป็นการแสดงเรื่องแรกเลย เป็นอย่างไรบ้างกับซีรีส์เรื่องนี้

แก๊ป: ก็แอบกดดันนิดนึง เราก็ไม่เคยต้องแสดงต่อหน้าใครมาก่อนแต่ว่าพอได้เข้าคลาสการแสดงมันก็รู้สึกโอเคขึ้น เราได้เรียนรู้ถึงการเข้าถึงอารมณ์แล้วก็การวางตัว ภาษากาย แล้วก็การสื่อสาร อะไรพวกนี้ครับ 

ในส่วนของเจมส์ เรื่องนี้เป็นซีรีส์เรื่องที่ 2 ประสบการณ์หรือการทำงานมันต่างจากเรื่องอื่นๆ อย่างไรบ้าง

เจมส์: ต่างครับ คือปกติเวลาถ่ายแต่ละเรื่องมันก็จะต่างกันอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้มันก็จะต่างเยอะมาก เพราะมันเป็นเหมือน เรียกอย่างไรดี วิธีการเล่นน่ะครับ คือวิธีกรเล่น พี่ผู้กำกับ พี่ลิท (ผดุง สมาจาร) เขาอยากได้แบบเล่นใหญ่ๆ เพราะว่าต้นฉบับมันมาจากการ์ตูนใช่ไหม แล้วเขาก็อยากให้คนดู เวลาดูแล้วก็รู้สึกตลกแล้วก็ขำ ซึ่งมันก็ทำให้การแสดงต้องเกินจริงๆ เล่นโอเวอร์ มันก็จะต่างกับเรื่องก่อนๆ ที่เราเล่นแบบปกติ

แก๊ป: แล้วของเจมส์มันยากตรงที่แบบว่าต้องเล่นเป็นตัวละครที่เป็นแมว ซึ่งไม่ใช่คน

เจมส์: แมวที่เป็นเด็กด้วย

แก๊ป: ต้องหาข้อมูลที่มันแบบแมวต้องแสดงอย่างไร อะไรแบบนั้นด้วย

เจมส์: ใช่ เป็นแมวที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง แล้วก็ยังต้องเด็กลงไปกว่าอายุตัวเองอีก เป็นแบบสิบกว่าขวบอะไรแบบนั้น

ต้องทำการบ้านอย่างไรบ้าง

เจมส์: ก็มีหลายอย่างเลยครับที่จะต้องทำ คือพี่แซนด์วิช (ภาณุพงษ์ ไชยโย) โค้ชการแสดงเขาก็จะบอกว่า ให้ไปหาข้อมูลเกี่ยวกับแมวทุกอย่างเลย เวลาแมวรู้สึกแบบนี้แบบนั้น ท่าทางแบบนี้แปลว่าอะไร ถ้าแมวรู้สึกแบบนี้ทำอย่างไร เวลาง่วง เวลาหิว แล้วก็มีไปดูพวกแมวบำบัด (Cat Therapy) ด้วย ไปอ่าน ไปหาข้อมูลเกี่ยวกับแมวเยอะมากๆ แล้วที่เหลือก็จะเป็นพวกเรียนการแสดง มีคลาสการแสดงเหมือนกับคนอื่นๆ

แก๊ปที่จริงชอบแมวครับผม ก็เป็นทาสแมวอยู่แล้วครับผม ที่จริงชอบแมวมาตั้งแต่เด็กแล้ว สมัยก่อนอยากเลี้ยงแต่ว่าคุณแม่ไม่ให้ แล้วตอนหลังก็คือแอบแม่ซื้อ คือตอนนั้นแม่ไปวิปัสสนาอยู่ เราก็สั่งจองเลย โอนเงินเกิน 50% แล้ว ยังไงก็ต้องได้มา เพราะว่าตัวนี้ซื้อมาจากรัสเซีย

แก๊ป – กิตติชัช เตชาหัวสิงห์

แล้วการทำงานด้วยกันครั้งแรกของแก๊ปและเจมส์ล่ะ 

แก๊ป: เอาการทำงานจริงๆ เลยนะ ที่เล่นซีนแรกด้วยกันก็กดดันน้อยกว่าตอนแคสติ้ง เวิร์คชอปนะ พอรู้จักกันแล้ว พอทำงานด้วยกันจริงๆ มันก็ไม่ได้ยากเหมือนตอนแรก เพราะตอนแรกก็จะมีความเกร็งๆ กันอยู่ ด้วยความที่คาแรคเตอร์ด้วย ความรู้สึกก็คงเขินๆ กันหน่อย

เจมส์: ของเจมส์จะแบบว่าบู๊ๆ หน่อย ก็จะต้องตั้งรับหน่อย พอทำงานด้วยกันครั้งแรกเจมส์จะกดดัน เพราะว่าปกติเจมส์เป็นคนขี้เล่น พูดมาก ส่วนพี่แก๊ปเขาเป็นคนเงียบๆ ขรึมๆ ซึ่งช่วงแรกที่เจอกัน เรากลัวว่าถ้าเราไปเล่นกับเขามากๆ เขาจะรำคาญหรือเปล่า ซึ่งตอนแรกก็กลัว กลัวเป็นเดือนเลยครับ ทุกวันนี้ก็แอบกลัวอยู่นะ แต่ว่าพอได้สนิทกันแล้วก็ได้รู้ว่า แกไม่มีอะไร ที่เห็นแกนิ่งๆ แกแค่ตามไม่ทัน แกช้า เป็นคนหัวช้าเฉยๆ

แก๊ป: ไม่ คือ เขาเรียกว่ามีความน่าเกรงขามในตัว พูดมากเดี๋ยวเราเสียผู้ใหญ่

ด้วยความที่ออริจินัลของเรื่องเป็นม่านฮวา (หนังสือการ์ตูนจีน) และเคยทำเป็นอนิเมะมาก่อน เราได้ไปอ่านหรือไปดูมาก่อนไหม นอกจากตัวบทที่จะใช้ในการแสดง

แก๊ป: เคยดูอนิเมะ แต่ไม่เคยอ่านหนังสือ เพราะว่าอ่านไม่ออก แล้วก็หาอ่านยากด้วย ยิ่งเป็นภาษาจีนด้วย 

เจมส์: เราเคยเห็นเล่มแล้วๆ แต่ว่าก็คืออ่านไม่ออก ดูแต่รูปเอา แต่ช่วงเดือนสี่ๆ เล่มภาษาไทยจะออกแล้ว ก็น่าจะได้อ่านพร้อมทุกคนตอนที่มันออกแล้ว แต่ว่าตัวอนิเมะก็คือเป็นหนึ่งในการบ้านที่ครูสอนแสดงเขาฝากไปดู ดูศึกษาตัวละครว่าในการ์ตูนมันเป็นอย่างไร ไปศึกษาวิธีการเล่น 

เจมส์ว่าถ้าเรามาทำงานตรงนี้ แล้วก็ได้ผลตอบแทนจากตรงนี้ เราก็ควรที่จะช่วยกันสนับสนุน เพราะว่านี่ก็คือเป็นอาชีพของเรา ถึงคุณจะไม่ได้เป็น [LGBTQ+] แต่ว่าคุณมาทำงานตรงนี้ คุณก็ต้องเคารพในสิ่งที่คุณทำ

เจมส์ – ประพัฒน์ธรณ์ จักขุจันทร์

แต่ละคนเป็นทาสแมว ทาสหมา เลี้ยงสัตว์อะไรบ้างหรือเปล่า

เจมส์: ของเจมส์ก็คือเจมส์เลี้ยงหมา เจมส์ชอบหมามาก ที่บ้านเลี้ยงหมาห้าหกตัวเลย แล้วก็ไม่ชอบแมวครับ

อ้าว แล้วจากการเป็นทาสหมาต้องมาศึกษาเรื่องแมวแบบนี้ต้องทำอย่างไรบ้าง

เจมส์: มันก็เลยยากสำหรับเจมส์ ตอนแรกที่เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับแมวเลย คือปกติเวลาเห็นแมว เราไม่เข้าไปลูบไม่เข้าไปอะไรเลย เพราะว่าคุณป้าเจมส์แกเคยเลี้ยงแมว แล้วแกเดี๋ยวโดนแมวข่วน เดี๋ยวเอ็นร้อยหวายขาด อะไรก็ไม่รู้ จนเข้าโรงพยาบาล ตั้งแต่เด็กเราโตมากับภาพที่ว่าแมวดุ เราก็เลยไม่ชอบไปเลย แล้วเวลาไปบ้านคนอื่นที่เขาเลี้ยงแมว มันก็ไม่เหมือนหมา ยิ่งคนเลี้ยงหมาก็จะยิ่งรู้สึกแตกต่างมากเวลาเจอแมว หมาคือเราแค่ยืนนิ่งๆ หรือบางทีเรียกมันก็มา แต่แมวเนี่ยเข้าไปก็หนี เราเลยรู้สึกว่าเราไม่ชอบ ฉะนั้นเราจะไม่มีข้อมูลอะไรเลยเกี่ยวกับแมวเลย ก็เลยจะยากกับเจมส์มากตอนที่แรกๆ ก็คือเป็นทาสหมา แต่ว่าแมวคือไม่ชอบเลย

ตอนนี้เล่นกับแมวได้หรือยัง

เจมส์: เล่นแล้วๆ ก็คือเรากล้าที่จะเล่นด้วยแล้ว แต่เจมส์จะเรียกแมวทุกตัวว่า “ไอแมว” เขามีชื่อใช่ไหม คนอื่นตั้งให้ แต่เจมส์จะเรียกว่า ไอแมวๆ (หัวเราะ)

แล้วของแก๊ปล่ะ

แก๊ป: ของแก๊ปที่จริงชอบแมวครับผม ก็เป็นทาสแมวอยู่แล้วครับผม ที่จริงชอบแมวมาตั้งแต่เด็กแล้ว สมัยก่อนอยากเลี้ยงแต่ว่าคุณแม่ไม่ให้ แล้วตอนหลังก็คือแอบแม่ซื้อ คือตอนนั้นแม่ไปวิปัสสนาอยู่ เราก็สั่งจองเลย โอนเงินเกิน 50% แล้ว ยังไงก็ต้องได้มา เพราะว่าตัวนี้ซื้อมาจากรัสเซีย ก็เลยเหมือนกับว่าเรามัดจำเขาครึ่งนึงแล้ว แม่กลับมาก็ อ้าว แม่ จองไว้แล้ว มัดจำไปครึ่งนึงแล้ว ยังไงก็ต้องเอามา 

เจมส์: มัดมือชกแม่

แก๊ป: มัดมือชกสุดๆ แต่ก็ยังดีที่ทุกคนที่บ้านช่วยกันพูด ทุกคนชอบกันหมดเลยที่บ้าน ยกเว้นคุณแม่เพราะว่าคุณแม่แพ้ขน ก็มีนิดหน่อยด้วย แต่ตอนหลังแม่ก็แม่ก็เล่นเกือบเยอะที่สุดในบ้าน

เหมือนว่าพ่อแม่เกือบทุกบ้านจะเป็นแบบนี้เลย

แก๊ป: ใช่ๆ ไม่ยอมให้ซื้อแต่ว่าเลี้ยงแล้ว เจอบ่อยๆ ก็คือ แก๊ปเพิ่งจะทำงานกลับบ้านมา แม่ก็จะ ‘แก๊ป ให้อาหารออสการ์ก่อนลูกแล้วค่อยกลับมากิน’ หื้ม แม่ แก๊ปเพิ่งกลับบ้านมานะ (หัวเราะ) ประมาณนี้ครับ


กองถ่ายทำนี้ถ่ายทำในช่วงโควิดระบาด อุปสรรคในการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง

แก๊ป: เราถ่ายไปสักพักก็ต้องหยุดไป 2-3 เดือน แล้วก็มาถ่ายอีกรอบในช่วงเวลาหนึ่งเดือน แล้วก็มาหยุดอีก 2 เดือน ก็จะไม่ค่อยต่อเนื่องเท่าไหร่ ที่จริงเรื่องนี้ต้องถ่ายประมาณ 3-4 เดือนเสร็จ แต่เอาเข้าจริงก็ปาไป 8 เดือนเลยได้มั้งครับ เพราะว่าเรามีช่วงที่ต้องหยุดนานๆ 2 รอบครับ

แล้วอีกปัญหาที่เจออีกอย่างก็คือ ทุกครั้งก่อนที่จะมาถ่ายใหม่ต้องไปเข้าคลาสการแสดงก่อน 1-2 อาทิตย์ เพื่อที่ดึงตัวละครกลับมา

เจมส์: แล้วก็จะเรื่องของจำนวนคนด้วย พี่ๆ ทีมงานก็จะต้องลดปริมาณลง ทำให้ทุกคนก็จะต้องมีหน้าที่เพิ่มขึ้น จากทำ 1 อย่างก็จะกลายเป็น 2 อย่าง แล้วเราก็ต้องเร่งๆ รีบๆ ด้วยเพื่อเป็นการช่วยพี่เขา แล้วก็เรื่องความต่อเนื่องที่ไม่ใช่แค่การแสดงที่เว้นไปแล้วต้องมีเวิร์คชอปต่อเพื่อดึงตัวละครกลับมานะ แต่เรื่องของน้ำหนักตัวอะไรพวกนี้ด้วย (หัวเราะ) แบบซีนนี้หน้าใหญ่ ซีนนี้หน้าเล็ก ตัวใหญ่ ตัวเล็ก เรื่องผม เรื่องอะไรแบบนี้ ก็ยากไปหมดเลย

แก๊ป: นึกว่าจะ [ลดให้] หุ่นดีทีเดียวแล้วจบกัน อันนี้ยาวเกือบปี อันนี้เรียกข้อดีปะ

เจมส์: ไม่ดีไง ทรมาน

ถ้าสมมติว่าเก็บแมวข้างถนนมาแล้วกลายเป็นคนแบบในเรื่องจะทำอย่างไร

เจมส์: ตกใจก่อน คงช็อกก่อนเลย แต่เจมส์น่าจะคิดว่า เอาแล้ว โลกเราน่าสนใจว่ะ (หัวเราะ) เฮ้ย มันต้องมีอะไร แสดงว่าเรื่องทฤษฎีต่างๆ ที่เขาคิดกันไว้ เจมส์จะเชื่อทันที 100% ว่าผีมีจริง ถ้าแมวกลายร่างเป็นคนได้ ล้านเปอร์เซ็นต์เลยถ้าแมวมันกลายร่างเป็นคนได้ แต่เจมส์จะไม่แจ้งตำรวจ ไม่แจ้งอะไรเลยนะ เจมส์จะเอาเป็นเพื่อนเลย ใครจะเชื่อถ้าอยู่ดีๆ เราก็ไปบอกว่าเนี่ยๆ คนนี้เป็นแมวครับ แล้วทำไมไม่กลับร่างล่ะ เราก็กลายเป็นคนบ้าสิ สู้เราเอามันมาเป็นเพื่อนดีกว่า พี่แก๊ปทำไง

แก๊ป: เอาจริงถ้าคิดตามหลักความเป็นจริงอาจจะน่ากลัวอยู่นะ อยู่ดีๆ มันกลายเป็นแมวได้แปลงร่างเป็นคนได้ มันจะกินเรารึเปล่า ก็คงไม่น่าจะเก็บไว้นะ

เจมส์: แล้วจะทำยังไง

แก๊ป: ก็คิดว่าบอกใครสักคน ขอความช่วยเหลือ ไม่น่าจะเก็บไว้คนเดียวได้ โดนกินหายไปเลยวันเดียวจะทำยังไง อยู่ดีๆ เขาฆ่าเราแล้วสวมบทเป็นเราขึ้นมาล่ะ เอ้อ

เจมส์: เอ้อ เกิน เกินแล้ว

แก๊ป: ไม่ๆ อันนี้เกินไปแล้ว มันจะไกลไปแล้ว


สังคมมักจะพูดถึงเรื่องซีรีส์วายและการขับเคลื่อนประเด็นสังคม การทำให้คนเข้าใจ LGBTQ+ สำหรับทั้งคู่ในฐานะนักแสดงซีรีส์วายคิดอย่างไรกับประเด็นเหล่านี้บ้าง

เจมส์: ก็คือมันมีหลายประเด็น อันแรกก่อนซีรีส์วายและการขับเคลื่อนประเด็นสังคม ตัวเจมส์อ่ะดีใจ หมายถึงว่าแต่ก่อนซีรีส์พวกนี้มันจะน้อยมาก ซึ่งทุกวันนี้ ณ เวลานี้คือมันเยอะมากๆ แล้ว มันแทบจะเป็นเหมือนซีรีส์ชาย-หญิงทั่วไปเลย คือมันมีเยอะมากๆ มันทำให้เราเห็นว่าสังคมตอนนี้เขาเปิดกว้างในระดับหนึ่งแล้ว อาจจะไม่ได้ 100% แต่ว่ามันก็ดีกว่าเมื่อก่อน ซึ่งทำให้กลุ่มคนเหล่านี้น่าจะมีพื้นที่ในสังคมมากขึ้น แล้วก็… ซีรีส์มันก็เป็นสิ่งที่เอาไว้ให้ดูเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ เพื่อความบันเทิง ไม่ได้ไปจำกัดแค่ว่าคนกลุ่มนี้ต้องดู ที่จริงเจมส์ว่ามันมีซีรีส์หลายๆ เรื่องที่มันมีอะไรมากกว่านั้น มากกว่าดูผู้ชาย 2 คนมารักกัน มันมีข้อคิด แง่คิด แล้วก็มุมมองต่างๆ 

แก๊ป เอาจริงๆ แก๊ปว่าหลังๆ ซีรีส์วายพอมีมากขึ้น บทเขาดีขึ้นเยอะเลย ทั้งเนื้อเรื่อง การเสนอมุมมอง หลังๆ ด้วยความที่ซีรีส์วายมันเยอะขึ้น ก็คิดว่าเขาก็โชว์แง่มุมมันดีขึ้น มีด้านดีมากขึ้น แล้วที่ต่างจากเมื่อก่อนคิดว่า การที่มันมีแบบนี้มากขึ้นก็คิดว่าทำให้เป็นที่ยอมรับ แต่ว่าตอนนี้แก๊ปก็คิดว่าคนก็ยอมรับส่วนนึงมากแล้ว จากตรงนี้ครับ

เจมส์:  แล้วอย่างเรื่อง พรบ. เท่าเทียม เจมส์ก็คิดว่าที่จริงเจมส์คิดว่ามันปกติเลย มันไม่ได้มีใครมาได้มาเสีย มันก็คือคน 2 คนเขารักกัน แค่ว่าเขาเป็นเพศเดียวกัน แต่สุดท้ายมันก็เหมือนผู้ชายกับผู้หญิง สำหรับเจมส์คือมันไม่ใช่ประเด็นอะไรที่ต้องหยิบมาคิดด้วยซ้ำ ก็แค่คนรักกัน เขาจะแต่งงานกัน ก็เป็นเรื่องของเขา 2 คน

คิดว่าคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ควรออกมาพูดถึงเรื่องนี้ไหม

เจมส์: เจมส์ว่าถ้าเรามาทำงานตรงนี้ แล้วก็ได้ผลตอบแทนจากตรงนี้ เราก็ควรที่จะช่วยกันสนับสนุน เพราะว่านี่ก็คือเป็นอาชีพของเรา ถึงคุณจะไม่ได้เป็น [LGBTQ+] แต่ว่าคุณมาทำงานตรงนี้ คุณก็ต้องเคารพในสิ่งที่คุณทำ ไม่ใช่แบบว่า เออ ฉันทนทำตรงนี้ แล้วเดี๋ยวก็จบๆ ไป ถ้าเราช่วยได้ คือที่จริงไม่ใช่แค่พวกเจมส์นะ ใครก็ตามแต่ถ้าคุณไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่แบบว่าต้องต่อต้าน ก็ออกมาช่วยกันก็ได้ เพราะว่าคนอีกหลายคนที่เขารอตรงนี้อยู่ เขาก็รอจริงๆ พี่เจมส์ก็มีที่เขารอให้ตัวพรบ.เท่าเทียมมันสำเร็จได้

แก๊ป: เห็นด้วย เพราะว่ามาทำซีรีส์วายพวกนี้เราต้องเห็นมุมมองด้านต่างๆ ของด้านนี้ ก็ถ้าเรายังมุ่งหมายในเรื่องที่เราเล่น เราก็ควรถ่ายทอดออกมาว่าสิ่งที่เราเห็นเป็นอย่างไรบ้าง ถ่ายทอดออกมาว่าที่เราเจอ ที่เราเห็น ที่เราค้นหามาเป็นอย่างไร รณรงค์ในสิ่งที่เรารู้ สิ่งที่เราพบเจอ ในเรื่องนั้นๆ ในแง่มุมที่เราหรือว่าตัวละครเขามีปัญหาเรื่องนั้น เราอาจจะถ่ายทอดจากเรื่องที่เราเล่นออกมา บางทีเราอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำในเรื่องของคนอื่น แต่ว่าในเรื่องที่เราเล่นเรารู้สึก เราพบเจออะไรอย่างไร

Model: Gap Kittichat, James Prapatthorn
Clothes: Fendi, Givenchy 
Interview: Nichkamon Boonprasert
Photography: Tanisorn Vongsontorn
Style: Pitipong Pongdam