ตาม “ณัฏฐ์ กิจจริต” ไปเปิดเรื่องเน่าใต้เวทีมวยไทยใน “Hurts Like Hell”

เวลาพูดถึงวงการมวยไทยจะนึกถึงอะไร? มุมแดง มุมน้ำเงิน เวทีมวย และเสียงเชียร์ดังกระหึ่ม น่าจะเป็นภาพที่เราเคยชินกับการแข่งขันที่เห็นในโทรทัศน์ 

แต่คนที่อยู่ในสายมวยแบบจริงจัง จะรู้ว่าเบื้องลึกเบื้องหลังของวงการนี้ที่มีมากกว่าแค่การเป็นกีฬา และลิมิเต็ดซีรีส์เรื่องใหม่ของ Netflix จะขอตีแผ่วงการมวยไทย ที่เต็มไปด้วยบาดแผล ทั้งการพนันผิดกฎหมาย การติดสินบน หรือแม้แต่การล้มมวย ผ่านซีรีส์ที่ใช้การแสดงถ่ายทอดสลับกับการสัมภาษณ์คนในวงการมวยไทยในรูปแบบสารคดีในชื่อ “Hurts Like Hell เจ็บเจียนตาย” ที่นำโดยนักแสดงชื่อดังมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นัท – ณัฏฐ์ กิจจริต หนึ่งในนักแสดงฮอตสุดตอนนี้

เราได้เห็น นัท มาในหลายบทบาทจากภาพยนตร์และซีรีส์เรื่องดัง ไม่ว่าจะเป็น Appwar (2018), แปลรักฉันด้วยใจเธอ (2020), Me always You รักวุ่นวาย ยัยตัวป่วน (2021), 4Kings (2021), Fast and Feel Love เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ (2022) โดยในเรื่องล่าสุดอย่าง Hurts Like Hell นั้นเราจะได้เห็นนัทกับบทบาทใหม่อย่าง พัด เซียนมวยที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ความเก่งกาจของนักมวยแต่ละคน ผู้มีความฝันที่อยากจะเปิดค่ายมวยเป็นของตัวเอง 

ก่อนที่เราจะได้ไปดูนัทกับคาแรกเตอร์ใหม่ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ เราขอชวนทุกคนมาคุยกับนัทเรื่องการแสดงและลิมิเต็ดซีรีส์เรื่องใหม่อย่าง Hurts Like Hell กัน

รู้สึกอย่างไรที่ผลงานของเราจะอยู่บน Netflix กว่า 190 ประเทศทั่วโลก

ไม่เคยคิดว่าโปรเจ็กต์ของเราจะอยู่ใน Netflix เลย หมายถึงว่าเราก็ทำงานปกติเรา พอเขาย้ายเข้าไปอยู่ในเน็ตฟลิกซ์แล้วมันก็เลยหลากหลายมาก บางอันมันจะเป็นภาพยนตร์ บางอันเป็นซีรีส์ มันก็กลายเป็นว่าตอนนี้ พอเวลาผ่านไปทุกอย่างมันก็เข้าไปอยู่ในเน็ตฟลิกซ์หมด มันก็ดีที่เราได้กลับไปดู ได้กลับไปด่าตัวเอง เช่น ตอนนั้นเล่นไรไปวะ สนุกดีครับ

ซึ่งก่อนหน้านี้ [ผลงาน] ของผมที่ลงใน Netflix มันจะอยู่ในแค่ region ของเรา แต่เรื่องนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่ไปกว่า 190 ประเทศทั่วโลก ก็เลยคิดว่าผมรู้สึกว่าพอคนดูกว้างขึ้น แน่นอนว่ามาตรฐานมันมากขึ้น เพราะเรากำลังจะเอาตัวเองไปแข่งกับตลาดที่ใหญ่มากๆ ดังนั้นก็น่าสนใจว่ากระแสตอบรับจะเป็นอย่างไร แต่ที่มันเจ๋งผมว่าเรามีของที่มันเป็นเอกลักษณ์เราอยู่ เป็นอัตลักษณ์เราก็คือมวยไทยใช่ไหม รอบนี้เราเลือกที่จะนำเสนอมวยไทยอีกเหลี่ยมหนึ่งเฉยๆ 

เตรียมตัวในการแสดงเกี่ยวกับเรื่องวงการมวยอย่างไรบ้าง

ถ้าย้อนกลับไปตอนนั้น มันแบ่งเป็น 2 เรื่องหลักๆ ก็คือเรื่องการแสดง คาแรคเตอร์ของ “พัด” ที่พี่แชมป์ (กิตติชัย วรรณ์ประเสริฐ – ผู้กำกับ) เขาอยากได้ มันต้องมีความเฉพาะตัวประมาณหนึ่ง เช่น วิธีการพูด เพราะว่าเขาต้องเหมือนมีความเข้าใจเรื่องการคาดเดาเรื่องมวย แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือพวกภาษาที่ใช้ ภาษามือในการเรียกราคา ต่อนี่ต่อนั่นครับ

เรารู้สึกว่าพอมันมีตัวเลือกเยอะขึ้น มันจะเหลือเฉพาะคนที่แสดงแล้ว แล้วผมว่ามันจะเคี่ยวขึ้น แล้วสนุกขึ้น อนาคตเลยมองว่าแค่อยากแสดงครับ

ปกติดูมวยไหม

ดูครับ ชอบดูแต่ว่าผมรู้สึกว่าการดูมวยเฉยๆ กับความเข้าใจตอนที่เข้าไปสัมผัส แล้วต้องรับบทเป็นคนที่ต้องอยู่ในแวดวงนั้นแบบใกล้ชิด คือคนละเรื่องกันเลย ตอนเราดูเราก็ดูแบบกีฬา แต่พอตอนเราเข้าไปสัมผัสจริงๆ มันมีหลายมิติ มีทั้งมิติธุรกิจ มิติความสัมพันธ์มนุษย์ อะไรแบบนั้น เยอะไปหมด สนุกดี

ความท้าทายจากการแสดงในเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ แตกต่างกันอย่างไร

ผมว่าเรื่องนี้มันให้โอกาสผมหลายอย่าง อย่างแรกเลยคือเรื่องของนักแสดง คือกางรายชื่อนักแสดงมาเนี่ย มันมีแต่คนที่แบบ โห แบบ ไม่รู้ว่าชาตินี้จะได้ร่วมงานกับคนที่แบบนี้อีกรึเปล่า พี่ปีเตอร์-นพชัย, พี่เอก-ธเนศ, พี่ปู-วิทยา, พี่เม้ง-ภูมิพัฒน์, แมน-เสฏฐวุฒิ อะไรแบบนี้ คือเรารู้สึกว่านักแสดงทุกคนของเรา เขามีประสบการณ์กับหมด คือคนละแบบกัน แต่ว่าพอมารวมกันผมก็รู้สึกว่า เหมือนเป็นแฟนบอยแล้วไปดูไอดอลตัวเองทำงาน คือเหมือนผมดูหนังตลอดเวลา ตอนอยู่ในกองก็สนุกดี 

ผมรู้สึกว่าความเป็นนักแสดงของผมมันยังน่าจะได้อีก ก็เลยยังไม่กล้าว่อกแว่กไปทางอื่นเท่าไหร่

เลือกรับงานอย่างไรบ้าง บทส่วนใหญ่ที่เราจะได้เห็นมันจะค่อนข้างแตกต่างกันแทบจะทุกเรื่องเลย

จริงๆ เรามองเป็นภาพรวมมากกว่า คือเรารู้ว่าสุดท้ายเราแค่อยากแสดงไปนานๆ ทีนี้เราก็ไม่ได้แบบตะบี้ตะบันแสดงไปแล้วเราจะได้แสดงไปนานๆ คือเราก็มีข้อกังวลว่าสมมติเราเล่นรอมคอมแล้ว ต่อไปเราควรจะเล่นอะไร อย่าง “Hurts Like Hell” มันก็เป็นทริลเลอร์ เป็นแอ็กชั่น เป็นดราม่าใช่ไหมครับ ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของการจัดการโปรเจ็กต์มากกว่าครับ คือเราอยากเป็นนักแสดงที่กลม ให้เขาหยิบจับเราไปใช้อย่างไรก็ได้ ก็เลยต้อง… มันก็ไม่เชิงวางแผน มันเป็นจังหวะมากกว่า ว่าโอเค มีอันนี้ เราเลือกอันนี้ ไม่ได้มีตัวเลือกเยอะขนาดนั้น

อะไรที่ทำให้การแสดงเรื่องนี้มีความพิเศษ 

ผมว่าเป็นวิธีการ สำหรับผมความน่าสนใจคือวิธีการ คือเรื่องนี้ทางพี่แชมป์กับ[วันนี้วันดี]สตูดิโอเขาเลือกเล่าเป็นวิธีการใหม่ ผมไม่แน่ว่ามันเป็น Mocumentary หรือเปล่า ไม่ค่อยเห็นเนื้อหาไทยทำออกมาแบบนี้ ก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ควรจะติดตามในแง่ของการผลิตของไทยด้วย แต่ว่ามันคือสิ่งที่คนดูจะได้เจอคือมันเป็นภาพยนตร์ ในโลกภาพยนตร์แล้วก็ตัดสลับกับฟุตเทจ แล้วก็มันจะมีเหตุการเทียบเคียงเยอะ มีการเชื่อมระหว่างหลายโลก ก็น่าสนใจ

จริงๆ เราควรทำตัวเองให้เป็นค่ากลางอยู่เสมอ

บทบาทที่คิดว่าจะท้าทายตัวเองที่สุดและอยากลองเล่นที่สุดคืออะไร ใช่อย่างที่เคยให้สัมภาษณ์กับรายการ 2.02 ของ NYLON ว่าอยากลองเล่นบทคนพิการไหม

คือผมไม่ได้กำลังจะบอกว่ามันต้องเปลี่ยนแปลงร่างกายมากๆ ถึงจะเป็นนักแสดงที่ดีนะ แต่หมายถึงว่าเรามองย้อนกลับไปในงานที่เราเคยได้รับโอกาส เรายังไม่เคยโดนเรียกร้องสิ่งเหล่านี้มั้ง เราเลยเป็นความอยาก อย่างเราเห็นตัวอย่างนักแสดงที่เราชอบ อย่างพี่ไอซ์ซึ (ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์) หลายๆ งานที่พี่เขาได้เขาก็ถูกเรียกร้องให้เปลี่ยนร่างตัวเอง หรือเป็นการทำการบ้านของพี่เขา คือเรายังไม่เคยได้มีเวลาขนาดนั้นหรือว่าได้รับงานที่เราต้องทำสิ่งนี้ ก็เลยเป็นความอยากครับ แต่ว่าจริงๆ แล้วผมว่าทุกบทมันยากหมด เป็นมนุษย์ดีๆ ในซีนก็ยากมากๆ แล้ว อันนี้มันส่วนตัวผมนะๆ ส่วนตัวผมหมายถึงว่ายังไม่เคยได้รับโจทย์แบบนี้เลย

เส้นทางการแสดงของ ณัฏฐ์ กิจจริต ในอนาคต มองไว้ว่าเป็นแบบไหน

จริงๆ คุยเรื่องนี้บ่อยเหมือนกันว่า คือผมแค่อยากแสดงไปนานๆ แต่ว่า… มันกำลังจะย้อนกลับไปเรื่องเดิม คือก่อนหน้านี้มันก็เป็นการจัดการว่าทำอย่างไรให้เราได้แสดงได้หลากหลาย แต่ว่าจริงๆ แล้วผมแอบรู้สึกว่าพฤติรรมคนดูก็เปลี่ยนนิดนึง เรามีตัวอย่างเปรียบเทียบเยอะ อย่างเน็ตฟลิกซ์เองก็มีซีรีส์ดีๆ เยอะ คนดูมันเห็นแล้วว่าคุณภาพจริงๆ อ่ะ มันเป็นอย่างไร มาตรฐานเค้าไต่กันไปถึงไหนแล้ว ผมรู้สึกว่ามันจะเคี่ยวขึ้น แต่ว่าในขณะเดียวกัน ผมรู้สึกว่ามันจะคัดกรองคนที่ไม่ได้อยากแสดงออกไปได้เหมือนกัน เพราะตอนนี้เราเห็นอาชีพที่มันหาเงินได้ ที่มันไม่ต้องพุ่งมาหาความเป็นนักแสดง คือจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ หาเงินจากโซเชียลมีเดียตัวเอง เป็น Youtuber การสร้างสรรค์ตอนนี้มันกระจาย TikTok เป็น TikToker อะไรแบบนั้น เรารู้สึกว่าพอมันมีตัวเลือกเยอะขึ้น มันจะเหลือเฉพาะคนที่แสดงแล้ว แล้วผมว่ามันจะเคี่ยวขึ้น แล้วสนุกขึ้น อนาคตเลยมองว่าแค่อยากแสดงครับ แต่จะอยู่อย่างไร ไม่แน่ใจเลย (หัวเราะ) ยังคิดไม่ออก

เคยรู้สึกไหมว่าหลายคนอาจจะสนใจที่หน้าตาของเรามากกว่าการแสดง

เอ่อ อืม ไม่ ถ้าตอบว่าคิด มันจะหล่อไปไหม (หัวเราะ) ส่วนตัวผมผมไม่ได้คิดในมุมที่ว่าคนจะมองว่าหล่อหรือไม่หล่ออะไรแบบนั้น สิ่งที่ผมพยายามทำ คือผมพยายามดันอื่นๆ ของตัวเองให้มันต่ำกว่างานที่ทำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไอจีหรืออะไรแบบนั้น ผมรู้สึกว่าความเป็นนักแสดงของผมมันยังน่าจะได้อีก ก็เลยยังไม่กล้าว่อกแว่กไปทางอื่นเท่าไหร่ เช่น เราเห็นเพื่อนนักแสดงหลายๆ คนที่เขามีความสามารถในการทำหลายๆ อย่าง เดี๋ยวทำนี่ทำนั่น คือผมอ่ะ รู้สึกรู้ตัวว่าผมทำได้ทีละอย่าง ผมเลยเอาอันนี้ชูขึ้นมาก่อน โดยที่ผมคิดแบบง่ายๆ ว่า โอเค ผมลงรูปน้อยหน่อยไม่เป็นไร ผมไม่ต้องให้เรื่องส่วนตัวมันมาแซงงาน คือจะคิดประมาณนี้ก่อนครับ 

ส่วนอีกอย่างหนึ่งที่ผมพยายามทำ คืออันนี้มันเป็นคอมเมนต์ที่คุยจากหลายๆ คน ว่าจริงๆ เราควรทำตัวเองให้เป็นค่ากลางอยู่เสมอ อันนี้ในความคิดผมนะ ไม่รู้ถูกหรือผิด หมายถึงว่าคนไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเราเป็นคนอย่างไรขนาดนั้นก็ได้ เพราะสุดท้ายเราอยากสื่อสารกับเขาผ่านงานมากกว่า ประมาณนั้นครับ ตอบคำถามไหมนะ แต่หล่อนะ บางทีผมก็คิดว่าผมหล่อ ใช่ๆ (หัวเราะ)

 

Model: Nat Kitcharit
Clothes: LOEWE
Stylist: Pitipong Pongdam, Saranya Ariyakul
Assistant  stylist: Supitcha Sangkhachinda
Photographer: Sereechai Puttes
Assistant photographer: Ratchaphak Sangmeesinsakul
Interviewer: Nichkamon Boonprasert
Special Thanks: Netflix Thailand