“นิ้ง ชัญญา” กับความ“เคว้ง” ที่ไม่มีใครเข้าใจในซีรีส์ Netflix Original ไทยเรื่องแรก

เห็นแต่ห้ามพูด รู้แต่บอกไม่ได้ คงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้สึก “เคว้ง” เหมือนอย่างที่ “น้ำ” หนึ่งในกลุ่มนักเรียนที่รอดชีวิตจากเหตุการ์สึนามิและติดอยู่บนเกาะปินตู ต้องเผชิญอยู่ ซึ่ง นิ้ง-ชัญญา แม็คคลอรี่ย์ ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของคนที่มีซิกซ์เซ้นส์อย่างน้ำออกมาได้อย่างน่าติดตาม ทำให้คนดูรับรู้ได้ว่า การมีสัมผัสพิเศษคงไม่ใช่เรื่องพิเศษหากต้องอยู่อย่างเดียวดาย และบทบาทที่ท้าทายนี้ก็ไม่เพียงทำให้นิ้งได้ประสบการณ์ครั้งใหม่ในการทำงาน แต่ยังทำให้เข้าใจความเคว้งในรูปแบบอื่นที่เธอไม่เคยสัมผัสมาก่อนด้วย

 

สิ่งที่ยากที่สุดของการรับบทเป็น “น้ำ” คืออะไร

“เป็นการทำความเข้าใจตัวบทค่ะ เรื่องนี้นิ้งต้องทำการบ้านเรื่องบทค่อนข้างหนัก ต้องทำความเข้าใจแบ็กกราวด์ของตัวละครให้ดีว่าเป็นคนยังไง ทำไมถึงมีวิธีคิดแบบนี้ ก่อนถ่ายก็พยายามปรับจูนว่าภาพที่เราเห็นกับภาพที่ผู้กำกับเห็นเหมือนกันไหม อย่างสัมผัสที่หกที่ตัวน้ำมีก็ต้องเทียบว่าในมุมมองของเราเป็นแบบนี้ แล้วของพี่เขาเป็นยังไง เห็นภาพเดียวกันหรือเปล่า แต่เอาเข้าจริงนิ้งว่าเรื่องของตัวบทถ้าเราทำการบ้านไปดี เตรียมตัวดี ก็ไม่น่าห่วง ที่น่ากลัวคือสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างธรรมชาติมากกว่า ฉะนั้นถ้าให้บอกตามตรงนิ้งคิดว่าการต่อสู้กับแสงแดดตอนที่เราแสดงอยู่คือสิ่งที่ยากที่สุดในการถ่ายทำเรื่องนี้เลย ต้องบอกก่อนว่าที่กลัวไม่ใช่ความร้อนนะคะ เพราะเราเตรียมความพร้อมด้วยการทาครีมกันแดดและกินวิตามินไปก่อนอยู่แล้ว แต่ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานมากๆ คือแสง โดยเฉพาะเวลาที่หันหน้าเข้าหาแดดแล้วต้องลืมตาสู้กับแสงที่จ้ามาก เป็นเรื่องยากสุดๆ อินเนอร์ก็ต้องมา สมาธิก็ต้องมี แดดก็แรงจนจะลืมตาไม่ไหว ทุกอย่างดูรุมเร้าไปหมด แล้วบางฉากต้องถ่ายตอนเที่ยง ไม่มีร่ม ต้นมะพร้าวสักต้นก็ไม่มี แต่เราก็ต้องทำให้ได้ นี่แหละค่ะคือสิ่งที่ยากที่สุดในการทำงาน” (หัวเราะ)

ตัวละคร “น้ำ” กับตัวจริงของนิ้งมีจุดที่เหมือนกันบ้างไหม

“มีเรื่องความเชื่อค่ะ เพราะนิ้งเป็นคนเชื่อในสิ่งลี้ลับอยู่แล้ว แถมยังมีจินตนาการสูง สามารถจินตนาการโลกอีกใบหนึ่งขึ้นมาในหัวแล้วเข้าไปอยู่ในนั้นได้แบบเชื่อสนิทใจด้วย ก็คงเหมือนกับน้ำ ด้วยความที่เขามีซิกซ์เซ้นส์เลยเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติเหมือนกัน แต่น้ำเป็นคนนิ่ง ไม่ค่อยพูด เพราะเคยพูดในสิ่งที่เห็นออกไปแล้วผลตอบรับกลับมากลายเป็นเรื่องไม่ดี เลยไม่มีความมั่นใจและเลือกที่จะพูดเฉพาะเมื่อจะมีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้น คือเหมือนจำเป็นต้องพูดถึงจะพูด ต่างจากนิ้งที่คิดอะไรก็พูดเลย ถ้าในเรื่องเป็นตัวนิ้งเองที่มีซิกซ์เซ้นส์ เห็นอะไรไปก็คงจะพูดออกไปทันที เพราะคิดว่ากันไว้ดีกว่าแก้ ส่วนใครจะฟังหรือไม่ฟังก็อีกเรื่องหนึ่ง”

 

นิ้งคิดว่าทุกคนล้วนเคยผ่านสภาวะความเคว้งกันมาแล้วทั้งนั้น อย่างเรียนจบมาแล้วไม่มีงานทำก็เคว้ง เวลาต้องสูญเสียคนที่เรารักไปก็เคว้ง พอที่พึ่งทางใจหายไปเราก็เคว้ง คือไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็สามารถทำให้เรารู้สึกเคว้งได้เหมือนกัน

นิ้งมองว่าความ “เคว้ง” ของ “น้ำ”คืออะไร

“น่าจะเป็นภาวะของจิตใจค่ะ เพราะทุกคนหาว่าน้ำเป็นบ้า เลยไม่มีเพื่อนที่จะคอยอยู่ข้างๆ คือการที่จะทำให้คนอื่นเชื่อว่าเราเห็นผีเป็นเรื่องที่ยากมาก ถึงจะเห็นจริงๆ ก็ไม่มีใครเชื่อ เพราะคนอื่นไม่ได้เห็นด้วย นี่จึงทำให้น้ำไม่มีเพื่อนสนิทที่พอจะคุยหรือรับฟังเรื่องของเธอได้ เลยทำให้ในใจของน้ำรู้สึกเคว้งที่ต้องอยู่คนเดียว ไม่มีใครเป็นเหมือนเธอ และไม่มีใครเข้าใจเธอเลย ซึ่งความรู้สึกแบบนี้น้อยคนที่จะพบเจอ ตัวนิ้งเองก็ไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อน เลยต้องพยายามศึกษาข้อมูลและกรณีตัวอย่างให้มาก เพื่อที่จะได้เข้าใจและถ่ายทอดความเป็นน้ำออกมาได้อย่างที่ควรจะเป็นมากที่สุด”

แล้วสำหรับนิ้งถ้าพูดถึงคำว่า “เคว้ง” จะนึกถึงอะไร

“ความรู้สึกว่างเปล่าค่ะ คือการที่ตื่นขึ้นมาแล้วไร้จุดมุ่งหมาย ซึ่งนิ้งคิดว่าทุกคนล้วนเคยผ่านสภาวะความเคว้งกันมาแล้วทั้งนั้น อย่างเรียนจบมาแล้วไม่มีงานทำก็เคว้ง เวลาต้องสูญเสียคนที่เรารักไปก็เคว้ง พอที่พึ่งทางใจหายไปเราก็เคว้ง คือไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็สามารถทำให้เรารู้สึกเคว้งได้เหมือนกัน ซึ่งอาการเคว้งที่นิ้งบอกไปคือการที่เราตื่นขึ้นมาแล้วสมอง error จับต้นชนปลายไม่ถูกว่าความคิดของเราอยู่ตรงไหน เหมือนมีฟองอากาศเล็กๆ อยู่เต็มหัวไปหมด ถ้ามีความรู้สึกแบบนั้น นิ้งจะค่อยๆ คิดทบทวนว่า ตอนนี้เราไม่โอเคใช่ไหม รู้สึกเคว้งอยู่ใช่ไหม แล้วจะบอกตัวเองว่าต้องทำอะไรสักอย่างแล้วล่ะ ลองดูหนังไหม หรือจะไปเจอเพื่อน หรือลุกขึ้นไปชงกาแฟ เพื่อหาจุดเปลี่ยนให้ตัวเองกลับมามีพลังที่จะทำอะไรอีกครั้ง ซึ่งนิ้งคิดว่าจุดเปลี่ยนของนิ้งน่าจะเป็นการกินกาแฟนะคะ คือลุกขึ้นมาชงกาแฟเมื่อไร รอดทุกที (หัวเราะ) แต่เอาเข้าจริงปกตินิ้งไม่ค่อยรู้สึกเคว้งเท่าไร เพราะถ้ามีอะไรต้องทำ มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ก็จะมีจุดมุ่งหมายในชีวิตตลอด สมองเลยต้องคิดจัดการเรื่องต่างๆ เสมอจนไม่มีเวลาให้เคว้งเลยค่ะ”

 

นิ้งจะไม่นั่งรอให้คนมาช่วยเด็ดขาด เพราะการรอคอยความหวังต้องอาศัยโชคชะตา โชคดีก็อาจจะมีคนมาช่วย โชคร้ายก็ติดเกาะต่อไป แต่การช่วยเหลือตัวเองเป็นสิ่งที่ลงมือทำได้เลย ไม่ต้องรอใคร

ถ้ามีคนมาปรึกษาเรื่องการจัดการความเคว้ง จะให้คำแนะนำอย่างไรบ้าง

“คงจะถามก่อนว่า ภาวะนี้ของเขาเกิดจากอะไร เขารู้หรือเปล่า เพราะนิ้งคิดว่าคนเราจะมีจุดลึกๆ ในจิตใจที่ทำให้รู้ว่าทำไมเราถึงเคว้ง เป็นเพราะว่าวันนี้ไม่มีงาน เพราะเราว่าง เพราะเพื่อนไม่ว่าง หรือเพราะว่าเงินใกล้จะหมด ซึ่งถ้าหาจุดนั้นเจอแล้วนิ้งจะแนะนำต่อว่า ปล่อยให้เคว้งไปให้เต็มที่เลย เดี๋ยวจะต้องมีจุดเปลี่ยนให้กลับมามีพลังอีกครั้งแน่นอน เพราะระหว่างที่เราเคว้งอยู่นั้นมักจะมีเรื่องดีๆ ผ่านเข้ามาจุดประกายความคิดให้สามารถดึงตัวเองกลับมามีพลังได้อีกครั้งเสมอ เช่น อาจจะไปอ่านเจอคำบางคำแล้วรู้สึกว่าโดนใจจังเลย หรืออาจจะไปดูหนังเรื่องหนึ่งแล้วเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมา ฉะนั้นนิ้งจะไม่บอกว่า ต้องลุกขึ้นมาทำอันนั้นสิ ทำอันนี้สิ แต่จะบอกให้คุณเคว้งไปเลย ไม่ต้องพยายามแก้ ไม่เป็นไร เราจะอยู่ข้างๆ คุณ จะคอยเปิดเพลงให้ฟัง เพราะนิ้งเชื่อว่าเพลงมีผลต่ออารมณ์ของคน ถ้าฟังเพลงเพราะๆ ดีๆ ก็จะช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้นได้”

ถ้าต้องติดเกาะแบบน้ำคิดว่าตัวเองจะเป็นอย่างไร

“ก้อนความคิดในสมองของนิ้งคงวิ่งวนไปเรื่อยๆ คิดว่าเราจะทำยังไง เราหิวหรือเปล่า ต้องทำอะไรก่อน ตอนนั้นเรามีอะไรบ้าง แล้วสิ่งที่มีอยู่พอจะทำอะไรได้บ้าง หาต้นไม้หรือหาลูกมะพร้าวมาทำเรือได้ไหม คือคงคิดวิธีเอาตัวรอดไปเรื่อยๆ ถ้าหิวก็หาของกิน อิ่มท้องแล้วก็คิดหาวิธีออกจากเกาะ เป็นการเอาตัวรอดไปทีละจุด แต่นิ้งจะไม่นั่งรอให้คนมาช่วยเด็ดขาด เพราะการรอคอยความหวังต้องอาศัยโชคชะตา โชคดีก็อาจจะมีคนมาช่วย โชคร้ายก็ติดเกาะต่อไป แต่การช่วยเหลือตัวเองเป็นสิ่งที่ลงมือทำได้เลย ไม่ต้องรอใคร ซึ่งข้อดีของนิ้งคือเป็นคนที่ adapt นั่นนี่เก่ง ซ่อมของเก่ง ชอบซ่อมแซมบ้านเอง ถ้าอยากทำอะไรแล้วจะคิดหาวิธีทำสิ่งนั้นให้ได้ ดังนั้นถ้าออกไปจากเกาะไม่ได้ก็คิดว่าคงเรียนรู้ที่จะอยู่บนเกาะให้ได้ด้วยวิธีการเอาตัวรอดในแบบของเราค่ะ” 

ทุกตอนคนดูจะได้เห็นมิตรภาพ ความสัมพันธ์ และสันดานดิบของคนในสภาวะที่บีบคั้นให้ต้องเอาตัวรอด

ได้ร่วมงานกับ Original Netflix ไทยเรื่องแรกรู้สึกอย่างไร

“จริงๆ นิ้งก็เป็นแค่เด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่เวลานั่งดูหนังดูซีรีส์ของ Netflix แล้วมักจะพูดกับตัวเองว่า อยากเข้าไปอยู่ในโปรเจกต์นี้จัง อยากจะเล่นหนังเล่นซีรีส์ Netflix บ้าง พอได้มาเล่นจริงๆ เลยตื่นเต้นมากและรู้สึกท้าทายด้วย ทั้งในเรื่องของตัวบทและระบบการทำงานที่เราไม่คุ้นเคย เพราะซีรีส์ Netflix ใช้เวลาถ่ายทำ 12 ชั่วโมงต่อวัน6 วันต่อสัปดาห์ พักแค่วันเดียว ข้อดีคือเรามีเวลาพักที่แน่นอนในทุกวันและทุกสัปดาห์ ข้อเสียคือพอต้องทำงานติดกันหลายวันก็ทำให้เหนื่อยสะสม แต่ก็นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ค่ะ”

ความน่าสนใจของ “เคว้ง” ที่แฟนๆ Netflixไม่ควรพลาดคืออะไร

“ต้องบอกว่าเคว้งเป็นซีรีส์ที่บทดีมากเรื่องหนึ่ง เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยมีภาพยนตร์หรือละครไทยเรื่องไหนที่มีพล็อตเรื่องแบบนี้มาก่อน ทั้งยังหยิบเอาเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยอย่างสึนามิ มาผสมผสานเข้ากับความเชื่อต่างๆ ของบ้านเรา จึงเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก ทุกตอนคนดูจะได้เห็นมิตรภาพ ความสัมพันธ์ และสันดานดิบของคนในสภาวะที่บีบคั้นให้ต้องเอาตัวรอด ซึ่งนอกจากพล็อตเรื่องที่น่าสนใจแล้ว ทุกคนยังจะได้เห็นความสวยงามของโลเคชั่นต่างๆ จนต้องทึ่งว่าเมืองไทยมีอะไรแบบนี้ด้วยเหรอ ที่สำคัญคือทีมงานทุกคนตั้งใจทำซีรีส์เรื่องนี้อย่างเต็มที่มาก ก็หวังว่าทุกคนจะชอบกันนะคะ”

 

Models: @chanyamcclory

Clothes: Prada, Club 21 (Thailand)

Stylist: @styletoon