เรื่องเล่าหลังความ “เคว้ง” จากปากคำของ แพต ชญานิษฐ์ 

ไม่ว่าจะคาดหวังหรือไม่คาดหวังกับ Original Netflix เรื่องแรกของไทย เชื่อว่าหลายคนคงได้เปิดดู “เคว้ง” หรือ “The Stranded” กันไปบ้างแล้ว และคงจำ “เมย์” สาวแสนดีที่รับบทโดย แพต-ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช ได้ไม่มากก็น้อย เพราะด้วยฝีมือการแสดงที่มีเสน่ห์และน่ามอง ทำให้คนดูสัมผัสได้กับความเคว้งจนอดที่จะเห็นใจเธอไม่ได้ แต่ใครจะคิดว่าเบื้องหน้าที่ดูกดดันอย่างหนักหน่วง จะมีเบื้องหลังที่แตกต่างออกไป ลองมาฟังคำบอกเล่าจากผู้ประสบภัยความเคว้งอย่างแพต แล้วอาจจะทำให้การดูซีรีส์เรื่องนี้ของคุณแตกต่างออกไปจากเดิม 

 

รู้สึกอย่างไรที่ได้รับบท “เมย์” หนึ่งในตัวเอกของ Original Netflix เรื่องแรกของไทย

“ต้องบอกก่อนว่าตอนที่ทาง Netflix ติดต่อมาแพตตื่นเต้นมาก แต่ตอนนั้นยังไม่คิดว่าจะเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ขนาดนี้ เพราะปกติเวลาติดต่อให้ไปแคสเขาจะส่งบทคร่าวๆ สั้นๆ มาให้ไม่กี่บรรทัดว่าเรื่องราวจะเป็นยังไง ซึ่งแค่นั้นก็ทำให้เรารู้สึกอยากเล่นมากๆ แล้ว เลยตัดสินใจไป จนได้รับบทเมย์ เด็กผู้หญิงที่ต้องรับหน้าที่อันยิ่งใหญ่ คือการรักษาคนที่เจ็บป่วย ไม่ว่าใครจะเลือดตกยางออก หัวแตก หรือเป็นไข้ เราก็ต้องดูแล ซึ่งนับว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าเด็กคนหนึ่งควรจะได้รับ และด้วยความที่ต้องทำหน้าที่เหมือนแพทย์ประจำกลุ่ม เราเลยต้องไปค้นคว้าศึกษาหาข้อมูลดูว่า วิธีการจับนั่นจับนี่ การอ่านค่าต่างๆ ต้องทำอย่างไร เพื่อให้สามารถรักษาเพื่อนได้แล้วเพื่อนไม่ตาย ซึ่งหากจะว่ากันตามตรงแล้วคาแรกเตอร์นี้ไม่ได้ยาก ไม่ได้ดีไซน์อะไรมาก แต่ด้วยตัวบทที่ดีมากๆ เลยซัพพอร์ตให้ตัวละครตัวนี้มีความน่าสนใจ โดยที่เราแทบจะไม่ต้องทำงานหนักเลย”

 

คิดว่าความ“เคว้ง” ของตัวละคร “เมย์”คืออะไร

“จริงๆ ทุกตัวละครมีแบ็กกราวด์ความเคว้งของตัวเองอยู่แล้ว และจุดนั้นก็เป็นตัวส่งหรือเสริมให้พวกเขาแสดงออกและมีมุมมองในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไป ส่วนตัวเมย์มีความเคว้งในเรื่องของครอบครัว ซึ่งก็ต้องตามไปดูกันว่าความเคว้งที่ว่าคืออะไร และที่ทำให้เมย์เป็นตัวละครที่น่าสนใจคือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เธอต้องเจอ เอาจริงๆ ต่อให้ตัดเรื่องอายุออกไป แพตก็ยังรู้สึกว่าทุกสิ่งอย่างที่ประเดประดังเข้ามาในชีวิตของเด็กผู้หญิงอายุ 18 คนนี้ หนักหนาเกินกว่าที่คนคนหนึ่งจะรับได้อยู่ดี ถ้าใครได้ดูซีรีส์เรื่องนี้แล้วจะเห็นว่าเมย์ต้องเจอกับเหตุการณ์ต่างๆ เยอะแยะวุ่นวายไปหมด แล้วเข้ามาแบบถาโถมมาก ชนิดที่บางคนเกิดมาทั้งชีวิตยังไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่หนักขนาดที่ตัวละครนี้เจอเลยด้วยซ้ำ แพตจึงเชื่อว่าชีวิตของเมย์เป็นความเคว้งในอีกรูปแบบหนึ่งที่จะทำให้คนดูสนุกไปกับซีรีส์เรื่องนี้ได้”

 เคว้งเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีอะไรให้สามารถยึดจับได้

แล้วในมุมของแพต คำว่า “เคว้ง” มีความหมายอย่างไร

“แพตคิดว่าเคว้งเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีอะไรให้สามารถยึดจับได้ ถ้าให้ยกตัวอย่างประสบการณ์ตรงที่เจอบ่อยมากคือ แพตเป็นคนที่มักจะหารถตัวเองไม่เจอ จำไม่ได้ว่าจอดไว้ตรงไหน เลยต้องเดินไปขอความช่วยเหลือจาก รปภ. ให้ช่วยหาบ่อยๆ ซึ่งตรงนี้เป็นความเคว้งที่แม้แต่พ่อแม่ก็ไม่เข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้นกับสมองของเรา ทำไมเป็นแบบนี้ตลอด (หัวเราะ) แต่ถ้าเป็นความเคว้งที่กระทบต่อจิตใจ ทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว และยากที่จะจัดการเคยเจออยู่สองช่วงในชีวิตค่ะ คือช่วงที่ขึ้นชั้นมัธยมแล้วต้องเข้าโรงเรียนประจำ ซึ่งไม่ได้กลับบ้านเลยเป็นอาทิตย์ เราเองก็ยังเด็ก ไหนจะต้องต้องปรับตัวอีกหลายอย่าง เลยรู้สึกโดดเดี่ยวอยู่บ้าง อีกช่วงหนึ่งคือช่วงเปลี่ยนผ่านจาก ม.6  ขึ้นมหาวิทยาลัย ซึ่งปรับตัวยากกว่าตอนขึ้นมัธยมอีก เพราะจากเด็กโรงเรียนประจำที่ไม่เคยเจออะไรเลย ข้ามถนนยังไม่เป็นด้วยซ้ำ ต้องไปอยู่มหาวิทยาลัยที่เน้นเรื่องศิลปะมากๆ อย่างมหาวิทยาลัยศิลปากร เลยรู้สึกว่าเราต้องปรับตัวค่อนข้างหนัก ประกอบกับเป็นคนไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง ก็เลยเคว้ง เกิดความรู้สึกว่าไม่มีที่ให้ยึดจับ กลัว เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นรอบๆ ตัวเราหรือเปล่า แต่โชคดีที่แพตมีเพื่อนดี เปิดรับเรา เลยผ่านช่วงเวลานั้นไปได้ด้วยดี จนรู้สึกว่าเราโตมาได้เพราะเพื่อน 80% เลยค่ะ” (หัวเราะ) 

การทำงานร่วมกับทีมงานมืออาชีพของ Netflix สนุกหรือกดดันแค่ไหน

“ผู้ใหญ่คอยบอกอยู่เสมอว่า อย่าทำให้ประเทศไทยขายหน้านะ ต้องตั้งใจทำให้ดี นั่นทำให้แพตรู้สึกเหมือนเป็นมิสยูนิเวิร์สที่จะส่งออกไปสู่จักรวาล ซึ่งแน่นอนว่าเป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่และกดดันมาก แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกเป็นเกียรติ เพราะเราเป็นแฟนของ Netflix มานานแล้ว การได้มาอยู่ในโปรเจ็กต์นี้ ได้เป็นส่วนหนึ่งของ Netflix เป็นเกียรติมากๆ เราจึงต้องทำให้เต็มที่และทำให้ดีที่สุดเท่าที่เคยทำมาในชีวิตการทำงาน ส่วนเรื่องความสนุก เป็นการที่ได้เปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับประเทศไทยมากกว่า เพราะเราไปถ่ายทำกันทั้งหมด10 จังหวัด ไปอยู่บนเกาะจริงๆ ซึ่งบางที่ตั้งแต่เกิดมาแพตยังไม่เคยรู้เลยว่ามีที่แบบนี้อยู่ด้วย นี่จึงเหมือนเป็นการโชว์ให้ทั่วโลกได้เห็นว่าประเทศไทยเรามีดีอะไรซ่อนอยู่บ้าง อย่างบางเกาะเราไม่รู้เลยว่าพอดำน้ำลอดถ้ำแล้วจะไปเจอชายหาดเล็กๆ อีกหาดหนึ่งที่สวยสุดๆ จนอยากจะอยู่ตรงนั้นทั้งวันเลย เป็นเรื่องที่อะเมซซิ่ง นับถือคนหาสถานที่มาก ยอมรับว่าเขาเก่งจริงๆ ค่ะ” 

 

การได้มาอยู่ในโปรเจ็กต์นี้ ได้เป็นส่วนหนึ่งของ Netflix เป็นเกียรติมากๆ เราจึงต้องทำให้เต็มที่และทำให้ดีที่สุดเท่าที่เคยทำมาในชีวิตการทำงาน

มีเรื่องเล่าสนุกๆ ระหว่างถ่ายทำบ้างไหม 

“มีเรื่องตลกค่ะ คือเห็นเนื้อเรื่องเครียดๆ แบบนี้ แต่บรรยากาศหลังกองมีความตลกซ่อนอยู่ โดยเฉพาะการที่นักแสดงทุกคนต้องเปลี่ยนสีรองพื้นกันหมด เพราะโดนแดดเผาจนผิวเข้มขึ้น สีรองพื้นเลยต้องเข้มตาม (หัวเราะ) เราก็มานั่งมองว่า เฮ้ย! ทุกคนต้องเปลี่ยนสีรองพื้นหมดเลยเหรอ ไฟก็ต้องจัดให้สว่างขึ้นเรื่อยๆ เลยเป็นอะไรที่ตลกมาก นอกจากนี้ยังมีเรื่องเครนล้มนู่นนี่นั่น เป็นอุปสรรคที่ทำให้เราได้เห็นการแก้ปัญหาของทีมงาน แล้วรู้สึกว่าทุกคนเป็นทีมงานที่ดีมากจริงๆ”

การที่ต้องไปอยู่บนเกาะเปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิตหรือวิธีคิดของเราไหม

“เปลี่ยนนะคะ เพราะเราใช้เวลาถ่ายทำเกือบ 4 เดือน ต้องไปอยู่เกาะเป็นเดือนเลย กลับบ้านน้อยมาก อยู่กันจนสนิทเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันไปแล้ว พออยู่เกาะนานๆ เข้าก็ชินกับความสงบ กลับมากรุงเทพฯ แล้วร้องไห้เลย รู้สึกว่าทำไมกรุงเทพฯ ถึงได้วุ่นวายขนาดนี้ อยากกลับไปอยู่เกาะ อยากกลับไปเจอทะเล หงุดหงิดกับการเจอรถติดจนอยากจะกลับไปเป็นเมย์ แต่ทำไม่ได้ ก็ต้องขอบคุณตัวละครนี้ที่ทำให้เราได้เคยไปอยู่ในจุดนั้นและได้สัมผัสกับชีวิตแบบนั้นจริงๆ ค่ะ”

 

สมมติว่าถ้าไม่ได้รับบทเป็นเมย์ แพตจะเลือกเป็นตัวละครตัวไหน

“อยากเป็นครามค่ะ เพราะรู้สึกว่าเป็นบทที่เจ๋งมาก คาแรกเตอร์ของครามมีความก้ำกึ่งระหว่างความเซอร์เรียลและเรียล คือจะว่าสมจริงก็ดูสมจริงแต่บางครั้งก็ดูเหนือจริง เหมือนเขาเป็น Aqua Boy(หัวเราะ) อีกอย่างที่ชอบคือ ครามเป็นตัวละครที่มีแบ็กกราวนด์เท่มาก และยังมีคาแรกเตอร์ชาวเกาะด้วย เห็นแล้วอยากลองเล่นดูบ้าง”

เคยจินตนาการไหมว่าถ้าต้องติดเกาะจริงๆ จะเป็นอย่างไร 

“อาจจะ 5 วันก็ตายแล้ว (หัวเราะ) คือแพตรู้สึกว่าเจเนอเรชั่นเราใช้ชีวิตอยู่กับมือถือ อยู่กับโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กกันเสียส่วนใหญ่ ถ้าไปติดเกาะจริงๆ คงจะต้องเรียนรู้การอยู่กับตัวเอง อยู่กับสภาพแวดล้อมนั้นๆ โดยที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างโทรศัพท์มือถือ หรืออะไรก็ตามที่คิดว่าจำเป็นและอยู่กับเรามาตลอดตั้งแต่เกิดจนโต คงต้องปรับตัวตรงนี้ให้ได้ค่ะ”

 

Models: @chayanitpat

Clothes: Prada, Club 21 (Thailand)

Stylist: @styletoon