ชวนฟัง Plastic Love เพลง CityPop สัญชาติญี่ปุ่นที่เวลาผ่านไปกว่า 30 ปีถึงมี MV เป็นของตัวเอง!!!

“ท่ามกลางแสงนีออนยามค่ำคืนในเมืองใหญ่ ณ โรงแรมแห่งหนึ่ง ขณะที่พนักงานหนุ่มกำลังทำความสะอาด เขาเผลอสบตากับหญิงสาวนิรนามที่ควงคู่มากับชายอีกคน ขณะที่ทั้งคู่เดินผ่านเขาเพื่อเข้าห้องพัก หญิงสาวก็หันมาทอดสายตามองเขาซ้ำอีกครั้งพร้อมแววตาที่มีความหมายบางอย่างอยู่ในนั้น”

และนี่คือฉากหนึ่งจาก MV เพลง Plastic Love ของ มาริยะ ทาเคอุจิ (Mariya Takeuchi) เพลงซิตี้ ป๊อปที่ใช้เวลานานถึง 35 ปี หลังการปล่อยเพลงครั้งแรก กว่าจะมี MV เป็นของตัวเองในวันนี้

ย้อนกลับไปช่วงปีค.ศ. 1984 มาริยะ ทาเคอุจิ คือนักร้องสาวที่เพิ่งกลับมาจากเรียนต่อที่อเมริกา เพื่อเริ่มทำเพลงของตัวเอง และเธอก็ปล่อยอัลบั้ม Variety ในปีนั้น เพลงของมาริยะรับวัฒนธรรมตะวันตกมาเต็มๆ เพราะเต็มไปด้วยดนตรีแนว ป๊อป ฟังก์ และดิสโก้ ซึ่งต่อมาดนตรีสไตล์นี้ก็มีชื่อเรียกเป็นของตัวเองอย่าง ซิตี้ป๊อป (City Pop) และกลายที่นิยมในประเทศญี่ปุ่น

 

(https://knowyourmeme.com/photos/1334162-plastic-love)

 

สำหรับคนที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น ฟังเพลงผ่านๆ อาจรู้สึกว่า Plastic Love คือเพลงที่มีบรรยากาศน่ารัก คลุกเคล้าไปด้วยจังหวะดนตรีสนุกสนาน แต่ความจริงแล้ว เพลงนี้พูดถึงหญิงสาวที่เจ็บปวดจากความรัก และเยียวยาความรู้สึกตัวเองด้วยการออกไปหาแสงสีในยามค่ำคืน มีความสัมพันธ์แบบ one night stand เพื่อลืมและหนีจากความเจ็บปวดชั่วคราว

แต่เพลงดี มีความหมาย ก็ไม่ได้หมายความว่า มันจะกลายเป็นที่นิยมตามไปด้วย เพราะถึงแม้อัลบั้ม Variety ของเธอนั้นจะประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม (จากเพลง Once Again) แต่ Plastic Love กลับเป็นเพลงที่แทบจะไม่ได้รับความนิยมเหมือนอัลบั้มเลย ซึ่งทำได้เพียงติดชาร์ตที่อันดับ 82 และอยู่บนชาร์ตดังกล่าวได้เพียงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น

แต่แล้วในปี 2018 ยุคที่ social media ทำให้ทุกคนเข้าถึงทุกเรื่องราวจากทั่วทุกมุมโลก หนึ่งในช่องทางนั้นคือ YouTube ที่บรรดานักฟังเพลงมักใช้ค้นหาเพลงต่างๆ อยู่เสมอ แต่ถึงไม่ค้นหา YouTube ก็พร้อมนำเสนอ “สิ่งที่คุณอาจชอบแต่คุณแค่ยังไม่รู้” ผ่านระบบ suggestion และหากบังเอิญว่าคุณเป็นหนึ่งในนักฟังเพลงกลุ่มนี้ แถบขวามือใน channel ของคุณ ต้องมีเพลง Plastic Love ขึ้นมาด้วยอย่างแน่นอน

 

(https://www.youtube.com/watch?v=XMmUXamntPI)

 

คำถามคือ แล้วทำไมอยู่ดีๆ YouTube ถึง suggest เพลงที่มีอายุผ่านมาแล้วกว่า 30 ปีให้คุณล่ะ? เรื่องนี้ YouTube เคยให้คำอธิบายไว้ว่า ระบบ suggestion ใช้วิธีสุ่มจากความนิยมของผู้ใช้ในช่วงนั้นๆ ว่าแต่ละคนเข้าไปดูและกดไลค์ให้กับคลิปไหนมากที่สุด นั่นก็แปลได้ว่า เพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงที่ถูกส่งต่อแบบมือต่อมือ จากผู้ใช้หนึ่งถึงผู้ใช้อีกคน จนท้ายที่สุดก็ทำให้มันกลายเป็นที่นิยมของคนในยุคนี้ได้

ขณะเดียวกันในปี 2019 ก็มีโปรเจกต์ที่ชื่อว่า Turntable ซึ่งเป็นอัลบั้มรวมเพลงของ มาริยะ ทาเคอุจิ เพื่อฉลองครบรอบ 40 ปี ของตั้งแต่เริ่มเดบิวต์ และเพลง Plastic Love ก็ได้รับเลือกให้ทำเป็น MV เพื่อฉลองให้กับความสำเร็จของอัลบั้ม Vareity ในญี่ปุ่นและเพลง Plastic Love เองในโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน

เรื่องราวในเอ็มวีนี้เล่าผ่านบรรยากาศในยุค 80’s ตามช่วงเวลาที่ปล่อยเพลงครั้งแรก และพูดถึงผู้คนที่เลือกหนีความเจ็บปวดจากความรัก ด้วยการใช้ความสัมพันธ์แบบฉาบฉวยเข้ามาทดแทน

 

 

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ Plastic Love กลายเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมในยุคนี้ แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้น social media อีกหนึ่งความเป็นไปได้ก็คือ ดนตรีซิตี้ ป๊อป เองก็กลายเป็นเทรนด์ของคนยุคนี้เช่นกัน และความเป็นไปได้สุดท้ายคือ เนื้อเพลงที่คลาสสิคและตรงใจ (หรืออาจเรียกว่าแทงใจ) ผู้คนที่บอบช้ำจากความรัก เพราะไม่ว่าจะยุคไหนก็มีคนอกหักอยู่ทั้งนั้นแหละ ก็หรือไม่จริง?!

 

Writer: กฤตนัย จงไกรจักร

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply