รู้จักตัวตนของ ‘กัน PROXIE’ ผ่านซิงเกิลโซโล่ “คนในใจ” กับ 14 ปีในวงการที่พิสูจน์แพชชันในเส้นทางศิลปิน
สำหรับแฟนๆ PROXIE กัน-รัชชานนท์ เรือนเพ็ชร์ คือพี่ใหญ่ใจดีของวงมาเกือบสองปีเต็มนับตั้งแต่เดบิวต์ในปี 2565
แต่สำหรับแฟนๆ ที่ติดตามกัน มาตั้งแต่เขาเริ่มต้นการเดินทางในเส้นทางสายนี้ สองปีที่ผ่านมาเป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของความพยายามหลายต่อหลายปีของเขากว่าจะมาเป็นกัน PROXIE เป็นหลายปีที่เขาเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาเป็นตัวตนที่ทุกคนเห็นในทุกวันนี้ วันที่เขาเพิ่งออกซิลเกิลเดียวล่าสุด “คนในใจ (My Only One)”
“ถ้าคนไม่เคยฟังเพลง PROXIE มาก่อน แล้วมาฟังโซโล่ของผมเป็นเพลงแรก เขาอาจจะไม่คิดว่าผมอยู่ PROXIE ก็ได้” กันพูดถึงติดตลกถึงโปรเจกต์โซโล่ของเขา
เพราะเป็นงานเดี่ยว กันจึงตั้งใจใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปในเพลงนี้อย่างเต็มที่แต่ยังซ่อนกลิ่นอายความอบอุ่นแบบ PROXIE เอาไว้ด้วยเช่นกัน การพูดคุยกับเขาเกี่ยวกับเพลงนี้จึงทำให้รู้จักเขามากขึ้น ทั้งในฐานะพี่ใหญ่ของวง และในฐานะศิลปินที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์มาหลากหลายตั้งแต่ยังเป็นมักเน่ในวงการ T-Pop วงการที่กันบอกว่า การแข่งขันเป็นเรื่องดีและทำให้วงการนี้สนุกยิ่งขึ้น
เตรียมงานนานแค่ไหนก่อนจะออกมาเป็น ‘คนในใจ’
: รู้ล่วงหน้าประมาณ 5-6 เดือนว่าจะมีโปรเจกต์โซโล่เกิดขึ้น แต่ผมเคยแอบคิดไว้เล่นๆ อยู่แล้วว่า ถ้าสมมติเรามีโซโล่ เราอยากจะทำแบบไหนดี ลิสต์ไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าอยากจะร้องเพลง อยากได้แนวเพลงประมาณนี้ พอถึงเวลาที่ทางผู้ใหญ่อนุมัติว่าจะมีโปรเจกต์โซโล่เกิดขึ้นและต้องไปคุยกับโปรดิวเซอร์ คุยกับผู้ใหญ่ว่าอยากให้มีรายละเอียดแบบไหนบ้าง ก็เลยผ่านไปได้ด้วยดี เพราะผมพร้อมพรีเซนต์เต็มที่
สิ่งที่กันบอกว่าเตรียมไว้แต่แรกมีอะไรบ้าง
: อันดับแรกที่คิดไว้คือตั้งใจจะร้องเพลงช้า เพราะเราตีโจทย์ว่าที่ผ่านมาเพลงของ PROXIE ทุกเพลงจะมีท่าเต้นเสมอ พอเป็นเพลงช้า เราก็อยากให้มันมีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เพราะแต่ละคนพอแยกมาทำโซโล่แล้วจะได้เห็นถึงคาแรกเตอร์และสไตล์ที่ชัดเจนขึ้น แต่ก็ไม่ได้ถึงกับเป็นเพลงช้าที่เนิบเกินไป ให้ยังพอมีกรูฟ แล้วก็ตั้งใจให้เป็นเพลงรัก พูดเกี่ยวกับความรัก
อีกอย่างที่คิดไว้แต่แรกก็คือ อยากได้เพลงที่คนฟังแล้วรู้สึกว่าเพลงนี้เอาไปประกอบละครหรือซีรีส์ได้เลย แล้วก็รีเควสต์ด้วยว่าอยากได้เปียโนเป็นลีดของเพลง อยากได้เสียงเครื่องสายเยอะๆ เพราะที่ผ่านมา เพลงของ PROXIE ส่วนใหญ่จะเป็นแนวซินธ์ป๊อป ผมก็เลยอยากให้มีเสียงไวโอลิน วิโอลา เชลโลอยู่ในเพลงนี้ เพราะเวลามีเสียงแบบนี้อยู่ในเพลงจะทำให้เพลงนั้นดรามาติกขึ้นและมีมู้ดแบบบัลลาดหน่อยๆ ด้วย
อะไรทำให้นึกถึงเสียงของเครื่องสายที่กลายมาเป็นจุดเด่นอีกอย่างของเพลงนี้
: ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะตอนเด็กๆ ผมเคยเจอพี่ๆ ศิลปินวง Vietrio เคยไปเต้นงานที่มีพี่ๆ เป็นคนบรรเลงเพลง พอเราได้ยินเสียงเครื่องสายเหล่านี้ ผมว่ามันมีเสน่ห์มากๆ เลย ต่อให้เราฟังแบบไม่มีเนื้อเพลงก็สามารถเข้าใจอารมณ์เพลงนั้นได้ด้วยเสียงของเครื่องดนตรี เราเลยอยากนำเสียงเหล่านี้มาใช้ในเพลงเรา พอเป็นโซโล่ เราก็อยากจะนำเสนอสิ่งที่เราชอบและตัวตนของเราให้ได้มากที่สุดผ่านเพลง
แต่ละคนพอแยกมาทำโซโล่แล้วจะได้เห็นถึงคาแรกเตอร์และสไตล์ที่ชัดเจนขึ้น
อยากให้ช่วยขยายความคำว่า ‘ตัวตนของกัน’ ที่อยากนำเสนอผ่านเพลง
: ถ้าคนได้ฟังเพลงนี้ ทั้งแนวเพลงและตัวละครที่เราสื่อสารผ่านมิวสิกวิดีโอก็จะเห็นว่า คนคนนี้เป็นคนที่รักใคร รักจริง แล้วก็เป็นคนทุ่มเทเพื่อสิ่งที่รักมากๆ ถ้าเราตั้งใจจะทำสิ่งใดแล้ว ก็จะต้องทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ ซึ่งผมว่าใช้กับผมได้ทุกเรื่อง ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน เพราะกว่าผมจะมาเป็น กัน PROXIE ตรงนี้ได้ก็ใช้เวลานานเหมือนกัน ผมอยู่ในวงการมาค่อนข้างนานเมื่อเทียบกับน้องๆ ในวง ผมก็เลยรู้สึกว่า ถ้าเราตั้งใจ ทุ่มเท มีแพชชัน มีความรักให้ ถ้าเรายังมีความรักในสิ่งเหล่านี้อยู่ สักวันหนึ่งมันก็จะมาหาเราแน่นอน เปรียบเหมือนคนในใจที่สุดแล้วเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้เราได้กลับมาเจอคนที่รักและมีความสุขในเวอร์ชันของเรา
ถ้านับก้าวแรกในวงการของกันจริงๆ เรียกว่าเริ่มตั้งแต่ตอนไหน
: ผมเริ่มเข้าวงการตั้งแต่อายุ 13 ปี นับถึงตอนนี้ก็ 14 ปีแล้ว แต่ถ้าย้อนไปตั้งแต่สมัยเด็กเลยก็คือเริ่มร้องเพลงและประกวดตั้งแต่ 6-7 ขวบเลย ตอนนั้นเราอยากเป็นศิลปินแบบพี่เบิร์ด เพราะพี่เบิร์ดดังมาก เอนเตอร์เทนคนดูเก่งมากด้วย พอโตขึ้นมาเรื่อยๆ ถึงได้รู้จักศิลปินดูโอ ศิลปินแบบกลุ่มมากขึ้น แล้วก็เริ่มชอบความเป็นทีมเวิร์ก ความเป็นวง
พอขึ้นมัธยมก็ได้ดูรายการที่พี่คุณ (นิชคุณ หรเวชกุล) ไปออกตั้งแต่ยังไม่มีวง 2PM กับ 2AM ที่เขาเอาศิลปินหลายคนมาฝึกด้วยกัน ฝึกหนักมาก เราดูแล้วก็รู้สึกว่าการเป็นบอยกรุ๊ปมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ ต้องทุ่มเท ต้องมีใจรักจริงๆ แล้วเวลาไปทำงานแบบเป็นวง มันดูไม่เหงาเพราะมีเพื่อนๆ มีบล็อกกิ้งท่าเต้นต่างๆ จุดนั้นเลยกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เราเริ่มอยากเป็นบอยกรุ๊ป
พอเริ่มสนใจ ผมเลยไปออดิชั่นเป็นบอยกรุ๊ป แล้วก็ได้เดบิวต์เป็นวง Evo Nine ตอนนั้นเป็นเด็กน้อยสุดในวงเลย แต่ระหว่างทางจนมาถึงตอนนี้ก็มีช่วงที่เรียกว่าช่วงผลัดเปลี่ยนละกัน มีช่วงที่ได้ลองทำงานในสายนักแสดง แต่สุดท้ายก็คิดว่า เรายังอยากร้องเพลง ยังชอบการเพอร์ฟอร์มอยู่ ซึ่งก็ต้องก็ต้องขอบคุณทางรายการ The BROTHERs มากๆ ที่ทำให้ผมมีแพชชัน มีไฟที่อยากจะกลับมาเป็นศิลปินอีกครั้ง ขอบคุณที่ผู้ใหญ่น่าจะมองเห็นอะไรบางอย่างในตัวผมและตัวน้องๆ ทำให้เราได้มาอยู่ด้วยกัน ซ้อมด้วยกัน ปลุกปั้น และสู้กันมาจนเป็น PROXIE ในวันนี้
เราดูแล้วก็รู้สึกว่าการเป็นบอยกรุ๊ปมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ ต้องทุ่มเท ต้องมีใจรักจริงๆ แล้วเวลาไปทำงานแบบเป็นวง มันดูไม่เหงาเพราะมีเพื่อนๆ มีบล็อกกิ้งท่าเต้นต่างๆ จุดนั้นเลยกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เราเริ่มอยากเป็นบอยกรุ๊ป
กันบอกว่ารายการทำให้กลับมามีแพชชันอีกครั้ง แสดงว่าระหว่างทางมีช่วงที่แพชชันหายไปด้วยหรือเปล่า
: ตอนแรกผมเกือบตัดสินใจเลิกแล้วครับ เป็นช่วงที่เรียนจบพอดี ผมจบด้านธุรกิจสายการบินก็คิดว่า ถ้าไปรายการนี้แล้วไม่ผ่านก็คงไม่ได้ทำด้านนี้แล้วและวางแผนว่าจะไปสอบเป็นนักบิน แต่คงเป็นโชคชะตาด้วยเพราะว่าตอนเรียนจบ โควิด-19 ก็มาพอดี อุตสาหกรรมการบินซบเซามาก พอเราบังเอิญเห็นรายการเปิดรับออดิชั่น เราก็คิดในใจว่า นี่อาจจะเป็นตั๋วใบสุดท้ายในการเดินทางสายนี้ของเราก็ได้ ก็เลยคิดว่าลองดูอีกสักครั้งก็แล้วกัน
ตอนที่อยู่ในรายการแล้วได้ฝึกซ้อม ได้เรียนคลาสต่างๆ ได้พัฒนาตัวเองมากขึ้น ผมก็ไม่รู้หรอกว่าสุดท้ายพอจบรายการแล้วเราจะได้เดบิวต์ไหม หรือจะได้ไปเล่นละครหรือเปล่า แต่ก็ตั้งเป้าหมายแล้วว่าจะทำพาร์ทของเราให้ดีที่สุด
ความแตกต่างในการทำโซโล่เมื่อเทียบกับทำเพลงของ PROXIE ตามปกติอยู่ตรงไหนบ้าง
: พอออกเดี่ยว ข้อดีคือเราได้ใส่ตัวตนของเราเพิ่มขึ้น เพราะตอนที่เป็นวง แต่ละคนจะมีความชอบ มีคาแรกเตอร์ที่ต่างกัน แต่เราจะต้องเอาความชอบทั้งหกแบบมาเจอกันตรงกลางเพื่อให้มันเบลนด์กัน แต่พอเป็นงานโซโล่ เราสามารถแสดงเฉดสีของเราได้อย่างเต็มที่ อีกอย่างผมแค่รู้สึกว่า เราได้ร้องมากขึ้น ไม่ได้ต้องแบ่งท่อนร้องกันเหมือนเวลาเป็นวง 6 คน แล้วพอเพลงผมเป็นเพลงช้า ผมก็ไม่ต้องเต้นครับ (หัวเราะ) ที่ผ่านมาเพลงเรามีร้อง มีเต้นด้วย เลยอาจจะเหนื่อยบ้าง แต่พอเพลงช้าเราเปลี่ยนโฟกัสจากการใช้กล้ามเนื้อมาเป็นกระบังลมแทน เพราะเพลงผมก็ใช้โน้ตค่อนข้างสูงเหมือนกัน แล้วเพลงนี้เราก็ตั้งใจที่จะสื่อสารผ่านภาษามือด้วย
เราก็คิดในใจว่า นี่อาจจะเป็นตั๋วใบสุดท้ายในการเดินทางสายนี้ของเราก็ได้
อะไรทำให้นึกถึงการนำภาษามือมาใช้
: มันเริ่มจากผมคิดว่าพอเป็นเพลงช้าแล้วเราควรจะทำอะไรดี เพราะเพลงนี้เป็นเพลงช้าที่ความหมายชัดเจนและลึกซึ้ง ผมไปนึกถึงสมัยเด็กๆ เวลาเราดูข่าวหรือการ์ตูนแล้วจะมีช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ เป็นภาษามือสำหรับคนที่ไม่ได้ยิน ผมเลยคิดว่าถ้าเราทำแบบนี้ ทุกคนก็สามารถเข้าถึงเพลงผมได้ โดยคนนั้นอาจจะไม่ได้ยินเสียงเพลงก็จริง แต่ถ้าเขาเห็นท่าเต้นขึ้นมา เขาก็อาจจะรู้ว่าเพลงนี้ต้องการสื่ออะไร ผมอยากให้ทุกคนที่เข้ามาฟังเพลงหรือดูมิวสิกวิดีโอของผม เห็นเวลาผมทำชาเลนจ์ หรือแสดงบนเวทีต่างๆ สามารถเข้าถึงและรับรู้อารมณ์เพลงนี้ได้
ก่อนจะปล่อยเพลง ผมให้คนที่เขาชำนาญด้านนี้โดยตรงมาสอน ใช้เวลาไปประมาณ 1 ชั่วโมงในการซ้อมทั้งหมด เพราะมันค่อนข้างละเอียดมาก ตอนแรกผมนึกว่าอาจจะไม่ได้ยากมากเท่าไหร่ แต่พอเอาเข้าจริง มันมีความเร็วด้วย แล้วสเตจแรกที่ผมโชว์เพลงนี้ ผมตื่นเต้นมาก ไม่เคยร้องโซโล่ต่อหน้าคนเยอะๆ มาก่อน เลยลืมเรื่องภาษามือไป แต่พอจบสเตจแรกไปก็เริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นแล้วก็รู้สึกว่า สเตจต่อๆ ไปทุกครั้งที่เราขึ้นแสดง อย่างน้อยก็มีสักฮุคหนึ่งที่เราได้เอาไมค์วางที่ขาไมค์แล้วทำภาษามือ เผื่อใครที่เดินผ่านไปผ่านมา ถ้าเขาไม่ได้ยินเสียงเรา แต่เขาเห็นภาษามือ ก็ยังเข้าใจความหมายของเพลงได้
อีกคำที่น่าสนใจในเพลงนี้คือคำว่า ‘มหาสมุทร’ ทำไมถึงเลือกเปรียบความรักกับมหาสมุทร
: ตอนแรกเรากำหนดไว้ว่าจะเล่าเรื่องความรัก แล้วผมกับพี่ติ๊ก (เจษฎาภรณ์ ผลดี) ก็ช่วยกันหาคอนเซปต์ตรงกลาง หาคีย์เวิร์ดว่าเราอยากจะเปรียบความรักกับสิ่งไหน สุดท้ายก็เป็นคำว่า มหาสมุทร เพราะเรารู้สึกว่ามหาสมุทรเป็นสิ่งที่สุดท้ายเราก็ยังไม่รู้หรอกว่าความลึกมันมากน้อยแค่ไหน เปรียบเหมือนกับความรักที่เรารักใครสักคนแล้วมันล้ำลึกมาก เหมือนมหาสมุทร เพราะเรารักเขาลึกสุดหัวใจเลย
พอได้คำนี้ เราก็ให้โจทย์ไปทางพี่เจน (เจนพัฒน์ มนตรีเลิศรัศมี) ที่เป็นโปรดิวเซอร์ พี่เจนก็ไปคุยกับพี่ปู๋ (ปิยวัฒน์ มีเครือ) ที่เป็นคนเขียนเพลง พอเขาส่งมาให้ครั้งแรกแล้วถูกใจเลย ผมว่าความหมายมันไม่ได้ซับซ้อน ถ้าได้ฟังจะเข้าใจได้ว่าเรารักเขาขนาดไหน
ผมไปนึกถึงสมัยเด็กๆ เวลาเราดูข่าวหรือการ์ตูนแล้วจะมีช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ เป็นภาษามือสำหรับคนที่ไม่ได้ยิน ผมเลยคิดว่าถ้าเราทำแบบนี้ ทุกคนก็สามารถเข้าถึงเพลงผมได้ โดยคนนั้นอาจจะไม่ได้ยินเสียงเพลงก็จริง แต่ถ้าเขาเห็นท่าเต้นขึ้นมา เขาก็อาจจะรู้ว่าเพลงนี้ต้องการสื่ออะไร
เพราะอะไรถึงอยากให้เพลงนี้เหมือนเพลงประกอบละคร
: อาจจะเป็นเพราะผมก็ชอบดูละคร ชอบดูซีรีส์ ทั้งของไทยและของต่างประเทศ แล้วก็ชอบฟังเพลงที่ใช้ประกอบ ผมรู้สึกว่ามันมีมิติและกลิ่นอายอะไรบางอย่างที่ทำให้ฟังได้เรื่อยๆ มันคงดีถ้าเพลงสามารถทำให้นึกถึงฉากสักฉากหนึ่งได้ ซึ่งอาจจะไม่ได้เหมือนในมิวสิกวิดีโอที่ผมเล่าก็ได้นะ มันอาจจะเป็นฉากที่ทุกคนสร้างขึ้นมาและจินตนาการต่อเองได้
อยากให้ช่วยเล่าถึงมิวสิกวิดีโอด้วย เพราะเป็นงานที่กันได้ใช้ทักษะการแสดงอย่างชัดเจน
: ก่อนที่จะมาเป็นมิวสิกวิดีโอเดี่ยวของแต่ละคน เรามีการถ่ายวิดีโอคอนเซปต์เป็นอินเทอร์ลูดรวมทุกคนก่อน เพื่อเป็นการเกริ่นว่าจะเกิดอะไรขึ้นสำหรับ 6 คน ที่จะแยกมาทำโซโล่ของแต่ละคน ซึ่งเราก็ยังอิงคอนเซปต์ความเป็น PROXIE ก็คือเกี่ยวกับเทคโนโลยี เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นเรื่องของเด็ก 6 คนที่ชอบเล่นเกมมากแล้วถูกดูดเข้าไปในแต่ละเกม
ตอนแรกผมเสนอไปหลายเกมมาก แต่สุดท้ายพอคุณเอิง (นฤกร นทกุล) ผู้กำกับเขาดูเนื้อเพลง ดูมู้ดแอนด์โทนแล้ว ก็มาลงที่เกมเกี่ยวกับ apocalypse ที่หลังจากทุกอย่างสิ้นสุดลงแล้ว ตัวละครนี้ก็มาโผล่ในโลกอนาคตที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เราฟังไอเดียจากผู้กำกับแล้วก็เห็นภาพเดียวกัน มันทำให้ผมนึกถึงเกมที่ตัวละครตื่นมาในที่ที่หนึ่ง แล้วต้องทำเควสต์ตลอดเวลา ต้องตามหาอะไรบางอย่าง เพื่อจะได้หลุดพ้นจากที่นี่ได้ ซึ่งมันดูมีมิติดี
ผู้กำกับคนนี้ผมเคยทำงานกับเขามาก่อนตั้งแต่เพลงตบปาก เขาบอกว่าสังเกตมาตั้งแต่เพลงนั้นแล้วว่าผมมีความสามารถในการแสดง ก็เลยคุยกันว่าจะติดอะไรไหมถ้าเพลงนี้ไม่อยากได้พาร์ทซิงก์เลย เพราะอยากให้ผมได้ลองพาร์ทแอ็กติ้งอย่างเต็มที่ ซึ่งผมก็แฮปปี้นะครับเพราะได้ทำอะไรที่แตกต่างและเป็นพาร์ทที่คนอาจจะไม่ค่อยได้เห็นจากผมเท่าไหร่ แล้วความที่เราอยากให้เพลงเหมือนเพลงประกอบละครหรือซีรีส์อยู่แล้ว พอไม่มีพาร์ทซิงก์ คนดูจะได้รู้สึกเหมือนกับดูมินิซีรีส์เรื่องหนึ่ง
ฟีดแบ็กของ “คนในใจ” ตั้งแต่ปล่อยเพลงออกมาแล้วเป็นอย่างไรบ้าง
: ตอนปล่อยเพลงนี้ ผมคิดแค่เรื่องเดียวก็คือ ขอแค่มีใครสักคนฟังแล้วทักว่า อุ๊ย ฟังแล้วเหมือนเพลงประกอบละครจัง แค่นี้ผมก็ดีใจแล้วครับ ปรากฏว่าพอไปอ่านคอมเมนต์ ประมาณ 90% บอกว่า เหมือนเพลงประกอบละครเลย เอาไปเป็นเพลงประกอบได้เลย ผมรู้สึกว่าสำเร็จแล้ว เพราะมันเป็นเป้าหมายในการปล่อยเพลงนี้ ผมไม่รู้ว่าคนจะชมว่าเพลงเพราะไหม มิวสิกวิดีโอดีหรือเปล่า ไม่ได้คาดหวังเรื่องนั้นเลย แค่อยากให้เขาฟังครั้งแรกปุ๊บแล้วนึกแบบนี้ แค่นี้ผมแฮปปี้แล้วเพราะแสดงว่าคนเข้าใจสิ่งที่ผมตั้งใจจะถ่ายทอดหรือสื่อสารออกไป สิ่งที่เราทำตั้งใจทำมันไม่ได้สูญเปล่า
ถ้าอย่างนั้นยังมีเพลงแบบอื่นๆ ที่อยากทำหรือมีเป้าหมายอะไรอีกไหม
: มีครับ ถ้ารอบหน้าได้ทำอีกก็จะไม่ใช่มู้ดนี้แล้ว เพราะผมเป็นคนชอบลองทำอะไรใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ไม่ให้มันเหมือนเดิม ถ้าเพลงต่อไปเรายังเป็นแบบนี้อยู่ คนฟังก็จะรู้สึกว่าคล้ายเพลงแรกเลย ผมก็เลยคิดว่าเพลงต่อไป ผมคงทำแนวอื่น อาจจะเน้นเต้นก็ได้ หรือแร็ปอย่างเดียวก็ได้ ผมแค่รู้สึกว่าในเมื่อเราสามารถทำหรือลองทำอะไรได้หลายๆ อย่าง ก็อยากจะทำอะไรที่มันหลากหลายดู
เหมือนกับที่เวลาร้องเพลงนี้สดด้วยหรือเปล่าที่กันจะพยายามลองอะไรใหม่ๆ ในทุกโชว์
: ใช่ครับ ผมพยายามดีไซน์หมดเลย จะเป็นอิมโพรไวซ์ แอดลิป หรือหางเสียงนิดๆ หน่อยๆ ก็ตาม เพราะคิดว่าถ้าคนมาดูเราแล้วเราเหมือนออริจินัลหรือร้องเหมือนกันทุกรอบ คนอาจจะรู้สึกว่าถ้าอย่างนั้นก็ฟังในสตรีมมิงก็ได้ อย่างสมมติพรุ่งนี้จะมีงาน กลางคืนคืนนี้ผมจะเปิดแบ็กกิ้งแทร็กของตัวเองแล้วก็ดูว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ลองดีไซน์ว่าช่วงไหนจะร้องแบบไหน เสร็จแล้วก็อัดเสียงไว้จะได้ไม่ลืม
ประมาณ 90% บอกว่า เหมือนเพลงประกอบละครเลย เอาไปเป็นเพลงประกอบได้เลย ผมรู้สึกว่าสำเร็จแล้ว เพราะมันเป็นเป้าหมายในการปล่อยเพลงนี้
ถือว่าเสี่ยงไหมกับการลองทำอะไรใหม่ๆ ทุกครั้งบนเวที
: ถามว่าเสี่ยงไหม ก็อาจจะเสี่ยงนะครับ แต่ผมว่ามันก็มีความหลากหลายขึ้น แล้วก็ท้าทายตัวเองดีด้วยในแต่ละงาน เพราะพอเราร้องไม่เหมือนเดิม ทุกคนที่รู้ก็จะตื่นเต้นว่า วันนี้เราจะมาไม้ไหนนะ ผมรู้สึกว่าคนก็จะคาดหวังแล้วก็ตั้งตารอฟังมากขึ้น ก็เลยอยากทำออกมาให้เต็มที่ ให้ทุกคนแฮปปี้ที่สุด
ในยุคนี้มีมีบอยกรุ๊ปหลายวงจนทำให้การแข่งขันในวงการ T-Pop สูงขึ้น ในฐานะ PROXIE แล้วมองว่าเราต้องแข่งกับวงอื่นไหม
: ผมว่าการที่มีคนมาแข่งขันแปลว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะการที่มีวงต่างๆ ออกมาเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบอยกรุ๊ปหรือเกิร์ลกรุ๊ป แปลว่าตลาดเพลงบ้านเรากว้างขึ้น ตอนที่ผมเดบิวต์ครั้งแรก มีวงน้อยมาก ทุกอย่างเงียบมาก ออกงานทีก็คือเหงาเพราะแทบไม่เจอใครเลย ผมก็เลยคิดว่ายิ่งวงเยอะขึ้นก็ยิ่งทำให้อุตสาหกรรมครึกครื้นมากขึ้น มันสนุกนะ แล้วผมก็เชื่อว่าทุกคนก็ต้องมีการแข่งขันกันอยู่แล้ว
แต่อย่างพวกเรา PROXIE เอง เราไม่ได้ทำผลงานเพื่อไปแข่งกับคนอื่น เราแค่อยากจะแข่งขันกับตัวเองมากกว่าว่าจะสามารถพัฒนาตัวเองไปได้ไกลมากน้อยแค่ไหน สุดท้ายแล้วมันอาจจะเป็นกำไรสำหรับคนฟังด้วยซ้ำ เพราะแต่ละคน แต่ละวงที่ออกมาก็ไม่ได้ทำออกมาให้แนวเพลงชนกัน ผมว่าแต่ละวงก็พยายามจะขายเสน่ห์หรือความเป็นเอกลักษณ์ของวงตัวเองอยู่แล้ว สุดท้ายอยู่คนฟังเลยว่าเขาชอบแบบไหน ผมว่ามันมีความหลากหลายให้คนได้เลือกฟังแบบที่ชอบมากกว่า
เราแค่อยากจะแข่งขันกับตัวเองมากกว่าว่าจะสามารถพัฒนาตัวเองไปได้ไกลมากน้อยแค่ไหน
แล้วกันยังมีเป้าหมาในเรื่องงานที่อยากทำให้ได้ในอนาคตอีกไหม
: มีครับ ผมอยากให้ PROXIE ไปถึงระดับต่างประเทศมากขึ้น เพราะเราเพิ่งไปงาน T-Pop ที่โตเกียวมา ซึ่งเป็นงานแรกที่พวกเราได้ออกไปโชว์ต่างประเทศจริงจัง ซึ่งเราตื่นเต้นกันมาก ไม่คิดว่าจะมีแฟนๆ ชาวญี่ปุ่นมาดูพวกเรา รีแอ็กชันเขาก็น่ารักมากๆ ด้วย แล้วก็มีแฟนๆ จากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีด้วย แฟนๆ คนไทยที่เป็นแฟนคลับเราและศิลปินท่านอื่นก็บินไปดูเหมือนกัน ก็เลยรู้สึกว่า จริงๆ แล้ว T-Pop มีเสน่ห์และสามารถส่งอออกได้ เลยอยากจะพยายามให้ทุกวงเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ทั้งในไทยและต่างประเทศ
ถ้าเป็นเป้าหมายส่วนตัว ผมอยากจะลองเล่นภาพยนตร์ดู เพราะมันน่าจะเป็นอะไรที่ท้าทายดี อีกอย่างที่อยากทำได้คือตีลังกาครับ ตอนนี้กำลังหาช่วงเวลาฝึกอยู่ อยากทำได้ตั้งแต่เด็กแล้ว แล้วยิ่งพอมาเห็นน้องไนซ์ (ไนซ์ ATLAS) เขาทำ เขาเก่งมาก เท่มาก ผมเห็นแล้วคิดว่าถ้าเราตีลังกาได้ เวลาโชว์ก็จะได้มีวาไรตี้ขึ้น มีมิติ มีลูกเล่นที่ทำให้คนดูว้าวมากขึ้น
ส่วนเรื่องทำเพลงเอง ผมคิดว่าถ้าในอนาคต ถ้าผมมีสกิลในการทำเพลงมากขึ้นหรือว่าแต่งเพลงได้เอง มันก็น่าจะเจ๋งดีครับ เวลาที่งานออกมาแล้วมันมีชื่อเรามีส่วนร่วมอยู่ในนั้นด้วยก็ดูน่าภูมิใจ ผมก็พยายามฝึกอยู่ อยากจะทำเพลงที่เราสร้างขึ้นมาเองด้วย ร้องเองด้วย มันคงเป็นเพลงที่มีความชอบของเราผ่านทั้งเสียงร้องและเสียงเครื่องดนตรี
T-Pop มีเสน่ห์และสามารถส่งอออกได้ เลยอยากจะพยายามให้ทุกวงเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ทั้งในไทยและต่างประเทศ
ทุกวันนี้กันมองว่า PROXIE ถือเป็นวงที่ประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง
: ผมว่าเรายังพูดไม่ได้เต็มปากว่าประสบความสำเร็จ เพราะที่ผ่านมาก็ยังมีคนอีกมากที่ยังไม่รู้จัก PROXIE ถ้าจะประสบความสำเร็จจริงๆ ผมคิดว่าทุกคนน่าจะต้องรู้จักวงการ T-Pop และรู้จัก PROXIE หมดเลย ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนหรือไปประเทศไหน ตอนนี้บางคนอาจจะยังรู้จักแค่เพลงแต่ไม่รู้ว่าเพลงนี้เป็นของ PROXIE นะ หรือบางคนอาจจะรู้ว่ามี PROXIE แต่ไม่รู้ว่าเพลงที่ร้องคือเพลงไหน เรายังต้องสร้างฐานคนฟัง T-Pop ให้กว้างขึ้นครับ
แล้วถ้าในมุมมองของตัวเองที่เข้าวงการมา 14 ปี ทั้งยังผ่านช่วงที่เกือบจะหันหลังให้วงการนี้ กันมองว่าตัวเองประสบความสำเร็จหรือยัง
: เรียกว่าประสบความสำเร็จขั้นหนึ่งก็แล้วกันครับ การเป็นศิลปินมันเป็นไปตามเป้าหมายที่เราวางไว้ แต่ก็รู้สึกว่ายังไปได้อีก เป้าหมายเรายังมีระยะทางให้ต้องเดินต่อ แต่ก้าวนี้ก็เป็นก้าวที่มีความหมายและมีค่าสำหรับผมมากครับ
Style: Supavit lerkneelawat
Assistant stylist: Natthamet Kudthalaeng
Makeup: Benchaya Chavatanavorakul
Hair: Sittikorn Ru-arn
Photographer: Tanisorn Vongsontorn
Assistant photographer: Nontawat Sutthikorn