‘Tilly Birds’ วงดนตรีที่เชื่อในเรื่องความเท่าเทียมของทุกคน และใช้ ‘ไฟแรก’ เป็นพลังในการขับเคลื่อนผลงานล่าสุด ‘White Pills’
ครั้งแรกที่แฟนเพลงของ Tilly Birds ได้ยิน ‘White Pills’ คือบนเวที ‘It’s Gonna Be Tilly Birds’ คอนเสิร์ตใหญ่คอนเสิร์ตแรกของพวกเขาในเดือนกรกฎาคม 2023
หลังจากนั้นอีก 10 เดือนเต็ม เราถึงได้เห็นมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา
‘White Pills’ เป็นเพลงภาษาอังกฤษครั้งแรกในรอบหลายปีของ Tilly Birds ที่ทำให้แฟนดั้งเดิมหายคิดถึงไวบ์ของวงร็อกที่เริ่มต้นด้วยเพลงสากลอย่าง ‘Heart in a Cage’ และ ‘Like a Dead Man’ เมื่อ 7 ปีก่อน ในขณะที่แฟนเพลงรุ่นหลังของวงก็ได้ตื่นเต้นที่เห็นพวกเขาก้าวเดินกลับสู่จุดเริ่มต้นของวงอีกครั้ง
สำหรับ เติร์ด-อนุโรจน์ เกตุเลขา, บิลลี่-ณัฐดนัย ชูชาติ และ ไมโล-ธุวานนท์ ตันติวัฒนวรกุล สามสมาชิกของวง ‘White Pills’ เหมือนการประกาศให้แฟนเพลงรู้ว่า ถึงเวลาที่พวกเขาจะกลับไปเดินต่อตามความฝันและสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า ‘ไฟแรก’ ในการเดินทางบนเส้นทางนี้
จุดเริ่มต้นในการทำเพลงภาษาอังกฤษของ Tilly Birds เกิดขึ้นได้อย่างไรบิลลี่: เราฟังเพลงสากลกันเยอะ ส่วนใหญ่เป็นเพลงภาษาอังกฤษ แล้วจริงๆ ผมกับเติร์ดก็ใช้ภาษาอังกฤษกันเป็นปกติอยู่แล้วเลยอาจจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้งานมันโฟลว์ออกมา
เติร์ด: ผมเขียนเพลงภาษาอังกฤษมาก่อน ที่จริงตอนช่วงที่ปล่อยเพลง ‘Heart in a Cage’ ก็เริ่มเขียนเพลงไทยบ้างแล้ว แต่ที่เขียนเพลงนั้นเป็นภาษาอังกฤษเพราะเซนส์มันบอก รู้สึกว่ายังไงเพลงนี้ก็ต้องเป็นเพลงภาษาอังกฤษ ช่วงที่เริ่มทำเพลงไทยกันจะเป็นช่วงที่วงมี 5 คน
ถ้าเริ่มจากการเขียนเพลงภาษาอังกฤษมาก่อน พอเปลี่ยนมาทำเพลงไทย ตอนนั้นมีเรื่องไหนที่รู้สึกว่ายากบ้างไหม
เติร์ด: วรรณยุกต์ยากมาก เพราะถ้าโน้ตไม่ตรงตามวรรณยุกต์ มันจะฟังแปร่งๆ แต่พอกลับมาทำเพลงภาษาอังกฤษ เราได้อิสระเรื่องนี้กลับคืนมา อิสระในการที่เราไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องวรรณยุกต์มาก
หลังจากเว้นช่วงไป เมื่อได้กลับมาทำเพลงภาษาอังกฤษอีกครั้งในรอบหลายปี ครั้งนี้มีความต่างจากตอนที่เราเริ่มต้นอย่างไรบ้าง
เติร์ด: ผมว่าเรื่องภาษาก็พัฒนาขึ้น แต่ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องซาวนด์ หลังจากที่เราผ่านเพลงไทยมา 2 อัลบั้มกับอีก 1 อีพี ก็รู้สึกว่าเราพัฒนามาถึงจุดที่ซาวนด์มันเป็นแบบนี้ ความคิดความอ่านใดๆ ของเราก็โตขึ้นด้วย ผ่านมา 7 ปี ก็โตขึ้น 7 ปี
บิลลี่: กระบวนการคิดก็น่าจะไม่เหมือนเดิม เพราะเราก็เจออะไรมาเยอะขึ้น แต่ว่าสิ่งที่ยังเหมือนเดิมก็คือแพชชันเดิม ไฟแรกของพวกเรายังคงมีอยู่
สำหรับหลายคน ช่วงเวลา 7 ปีมันนานพอที่จะทำให้ไฟแรกที่พูดถึงมอดหรือเปลี่ยนไปได้ อะไรที่ทำให้ Tilly Birds ยังรักษาสิ่งนี้ได้อยู่ไมโล: เพราะเรายังมีความสุขในสิ่งที่เราทำ ทำแล้วยังมีทั้งความสุข ความสนุก ความสนใจ ความสะใจบางอย่างในทุกเรื่องที่ทำ ไม่ว่าจะทำเพลงหรือเล่นดนตรี เวลาเราทำเพลงแต่ละเพลงหรือขึ้นไปเล่นแต่ละคืน ทุกครั้งเราจะเจอมุมสนุก มุมที่เปิดให้เราคิดอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ มันทำให้เราโตขึ้นและยังมีความสุขอยู่
ความคิดที่จะกลับไปทำเพลงสากลเริ่มตั้งแต่ตอนไหน จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดเพลง ‘White Pills’ คืออะไร
เติร์ด: เริ่มจากบิลลี่ถามขึ้นมาว่า เราคิดถึงเพลงภาษาอังกฤษมากเลย คิดถึงเหมือนกันไหม ถ้าคิดถึงเหมือนกันจะได้กลับมาทำกันดู เพราะพวกเราก็ห่างหายไปนาน
บิลลี่: 4 ธันวาคม 2021 คือวันแรกที่กลับมาแต่งเพลงภาษาอังกฤษกัน
เติร์ด: ตอนนั้นเราเริ่มด้วยการคุยกันว่าดนตรีน่าจะอย่างนี้ แล้วเนื้อเพลงน่าจะประมาณไหน แล้วเราก็ได้คำว่า White Pills มา คือเพลงนี้เราพูดเรื่องคนที่ติดอยู่กับอะไรสักอย่างหนึ่งจนไปต่อไม่ได้ White Pills ก็อาจจะเป็นอะไรบางอย่างที่ช่วยให้คนคนนั้นไปต่อ แต่เราไม่ได้อยากจะสื่อว่าเพลงนี้เกี่ยวกับยานอนหลับนะ เพราะมันเป็นอย่างอื่นได้ เป็นอะไรก็ตามที่คุณเสพหรือใช้เพื่อทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากความรู้สึกนี้ หรือทำให้ตัวเองไปต่อได้
บิลลี่: มันเป็นคอนเซปต์ง่ายๆ โดยมีคำว่า ลืม เป็นคีย์เวิร์ดหนึ่ง ธีมที่เกี่ยวกับการลืมก็คือการที่เราไปติดอย่างอื่นแทน เพื่อที่จะได้ลืมนึกถึงสิ่งที่เราอยากลืม มันเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจตัวเอง ซึ่งจริงๆ ก็คือการที่เราต้องการบางอย่างที่เราไม่มีทางได้มา ร่างกายเราเลยตอบสนองด้วยการไปติดสิ่งอื่นแทน เป็น metaphor ว่าคนเราจะติดอะไรก็ได้ ติดมือถือ ติดหนังโป๊ ติดอาหาร ติดตุ๊กตาก่อนนอน ติดว่าต้องทำอะไร เป็นกลไกว่าเราติดอะไรสักอย่างเพราะที่จริงแล้วเรามีปัญหาหรือปมบางอย่างที่เรายังแก้ไม่ได้ ร่างกายก็เลยแสดงออกมาแบบนี้ ซึ่งเราเอาอาการนี้นี่ละมาแต่งเป็นเพลง White Pills
เติร์ด: ติดกับอะไรก็ได้เลย ติดกับอดีตก็ได้
ไมโล: ติดอะไรก็ตามที่เราทำแล้วร่างกายก็หลั่งโดปามีนออกมา พอเราไม่ได้ทำสิ่งนั้น ไปทำอีกสิ่งหนึ่งแทน ร่างกายก็หลั่งโดปามีนออกมาเหมือนกัน ทำให้เราติดได้เหมือนกัน
ในพาร์ตดนตรีของเพลง White Pills ส่วนไหนที่เรียกว่าโตขึ้นอย่างชัดเจนและส่วนไหนที่ยังคงความเป็น Tilly Birds อยู่
บิลลี่: ผมคิดว่าถ้าฟังแล้วจะรู้ว่าแก่นของ Tilly Birds ยังอยู่ครบ มันแค่มาในรูปแบบใหม่ มาในความเนี้ยบแบบใหม่ นำเสนอความดิบในรูปแบบที่เนี้ยบและมีความใหม่กว่าเดิม มันขยับไปจากที่เราเป็นอีกเลเวลหนึ่ง เป็นความคุ้นเคยที่ยังเฟรชอยู่
เติร์ด: อย่างเรื่องดนตรี ถ้าเราทำเพลงไทย เราไม่สามารถทำทำนองที่ย้ำโน้ตเดิมโน้ตเดียวได้แบบนี้ เพลงไทยจะยากกว่า ก็เลยรู้สึกว่านี่ก็เป็นอีกสิ่งที่ใหม่เหมือนกันในเพลงนี้
เพลงนี้เราพูดเรื่องคนที่ติดอยู่กับอะไรสักอย่างหนึ่งจนไปต่อไม่ได้ White Pills ก็อาจจะเป็นอะไรบางอย่างที่ช่วยให้คนคนนั้นไปต่อ
อีกเรื่องที่อยากถามถึงคือรูปโปรโมทซึ่งดูให้ความรู้สึกต่างจากที่ผ่านมา อะไรคือไอเดียเบื้องหลังรูปที่เห็น
บิลลี่: เราไปเห็นภาพคนกินลูกอมแล้วลิ้นเขาติดสีออกมา เลยได้ไอเดียกันว่าให้ลิ้นเป็นสีขาว ซึ่งก็เป็นคอนเซปต์หนึ่งจากคอนเซปต์ใหญ่ที่ยังบอกไม่ได้ตอนนี้ แต่ใบ้ให้นิดหนึ่งว่าต้องรอดูรูปปกของเพลงหน้าว่ามันจะลิงก์กันแบบไหน แล้วปกเพลงในอัลบั้มนี้เราทำเองกันทั้งหมด ถ่ายเอง ทดลองเอง
เติร์ด: มันต่างจากปกอื่นๆ เพราะตั้งแต่ EP เลยจะเห็นว่ามันมีความ conceptual มาก ในขณะที่เพลงนี้ อัลบั้มจะมีความ conceptual น้อยลง มีความเป็นภาพถ่าย เป็นภาพจริง
บิลลี่: มันอาจจะยัง conceptual อยู่ แต่ดิบขึ้น ที่ผ่านมาเราทำเยอะ แต่คราวนี้เราทำน้อยลง เพียงแต่เบื้องหลังจะมีการคิดมาก่อนมากขึ้น
เบื้องหลังก่อนจะมาเป็นมิวสิกวิดีโอของเพลง White Pills คืออะไร
เติร์ด: ฟังเพลงครั้งแรกในหัวก็คือต้องเป็นตุลย์ (ณัฐดนัย ป้อมบ้านต้า) ต้องเป็นคนนี้กำกับ เหมือนเพลงมันเรียกร้องหาตุลย์มาก เขาฟังเพลงแล้วก็ได้บทมาขายวง ซึ่งพวกเราก็ซื้อเลย เพราะชอบ แต่ไม่อยากพูดถึงเอ็มวีเยอะ เพราะเราอยากให้คนดูตีความกันเองมากกว่า
ไมโล: ตุลย์เป็นคนที่ทำเอ็มวีให้วงมาก่อนแล้ว ทั้งอัลบั้มแรกและอัลบั้มที่สอง ในภาพรวมแล้ว กระบวนการทำงานของพวกเรา Tilly Birds ก็มีความคล้ายเดิมอยู่พอสมควร แต่ผลงานจะออกมาต่างจากเดิม มันมาจากการที่เราคิดกันมาแล้วว่า เราควรจะมีความต่างเพราะอยากให้งานมีความตื่นเต้นตลอดเวลา ซึ่งความต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของความตื่นเต้น พอเรามีจุดหนึ่งที่แตกต่างแล้ว เราก็จะมีบางจุดที่คีพสิ่งเดิมๆ อย่าง core idea
บิลลี่: ผมรู้สึกการทำอัลบั้มนี้ ซึ่งจริงๆ มันใกล้จะเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้ปล่อยทั้งหมด เราใช้ความรู้สึกในคิดงาน ในการตัดสินงานจำนวนหนึ่งเลย เรามองว่างานที่ออกมาแต่ละอันจะไม่ได้บังคับให้คนต้องตีความแบบเดียว มันก็มาจากความรู้สึกเวลาเราฟังเพลงสากลที่บางทีเราก็ไม่ได้ฟังแบบที่ต้องแกะเนื้อเพลง 100% แต่เราสัมผัสได้ว่าความรู้สึกนี้มันโดนใจ เราก็เอาเรื่องความรู้สึกนี้มาใช้กับการทำเพลงของพวกเราด้วย
แสดงว่าปีนี้เราจะได้ยินเพลงสากลจาก Tilly Birds อีกเป็นระยะๆ เลยหรือเปล่า
บิลลี่: ใช่ครับ เพราะว่าเรามีให้คุณเป็นอัลบั้มครับ เราแพลนกันว่าจะปล่อยอัลบั้มภายในปีนี้
ความตื่นเต้นที่พูดถึงเมื่อกี้หมายถึงความตื่นเต้นทั้งสำหรับคนฟังและ Tilly Birds เองด้วยใช่ไหม
บิลลี่: ใช่ครับ สำหรับพวกเรานี่สำคัญมากนะครับ สำคัญไม่แพ้กันเลย เพราะพวกเราต้องชอบงานตัวเองก่อน เราต้องตื่นไปกับมันไม่น้อยไปกว่าทุกคน ไม่อย่างนั้นพวกเราก็คงไฟมอด
ไมโล: ถ้าปล่อยเพลงไปแล้วเราไม่ชอบ มันจะยิ่งแย่กว่าถ้าเพลงนั้นมันดัง เพราะเราคงทรมาน ถ้าเราไม่ชอบแล้วต้องเล่นทุกคืน
เติร์ด: ไม่เคยมีเพลงที่พวกเราทำแล้วไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบก็คือไม่ปล่อย ตัดออกเลย
เหตุผลหนึ่งในการกลับมาทำเพลงภาษาอังกฤษเป็นเพราะอยากตีตลาดเพลงในระดับสากลด้วยใช่ไหม
บิลลี่: เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว เราก็มีเป้านั้น ยอมรับว่าตอนนี้เป้านั้นก็ยังอยู่ แต่เป้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาตอนนี้ที่สำคัญมากก็คือ เราอยากให้คนที่ตามเรามาระหว่างทาง ตั้งแต่อัลบั้ม It’s Gonna Be OK, ผู้เดียว The Album และ EP Tilly Birds ไปด้วยกันกับเราต่อ อย่าเพิ่งทิ้งกันไป เชื่อว่าถ้าได้ลองฟังดูจะรู้ว่าไม่ได้ฟังยากหรอก เพราะมันก็คือเพลง Tilly Birds อยู่ดี
ไมโล: ผมมองว่า White Pills และเพลงอื่นๆ ในอัลบั้มนี้มันเป็นเพลงใหม่ของ Tilly Birds มากกว่าที่จะต้องมารู้สึกว่า เฮ้ย Tilly Birds ทำภาษาอะไร เพราะเราก็ทำงานกันเหมือนเดิม ปล่อยเพลงเหมือนเดิม
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ วงได้ไปเล่นตามต่างประเทศอยู่เสมอ ฟีดแบ็กของแฟนๆ ในต่างประเทศเป็นอย่างไรบ้าง
เติร์ด: ดีนะครับ ผมคิดเรื่องนี้มาจะ 2 ปีแล้วว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้ฟีดแบ็กดี คิดว่าพอเราไป การที่เขาจะได้ดูเราไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถ้าเป็นที่ไทย ถึงตามต่างจังหวัดอาจจะยากหน่อย แต่ว่าเราก็ยังบินไปได้แป๊บเดียวเพราะอยู่ในประเทศ แต่พอเป็นต่างประเทศ มีความยากเข้ามา เขาก็จะตื่นเต้นกว่าเดิม แล้วความน่ารักก็คือเขาตั้งใจดูถึงจะไม่ได้รู้จักทุกเพลง เขาเอนจอยหมด บางคนบอกว่าไปเรียนภาษาไทยมาเพื่อคุยกับวงเลยก็มี
แต่ละประเทศที่ไป เราต้องออกแบบโชว์ให้เข้ากับคนดูในประเทศนั้นไหมบิลลี่: หลักๆ เราจะมีโชว์อยู่ 2 แบบ มีโชว์ที่เป็นแนวเฟสติวัลหน่อย ประมาณ 45 นาที – 1 ชั่วโมง โชว์แบบนี้ก็จะคล้ายๆ เวลาเล่นที่ไทย แต่หลายครั้งที่ไปต่างประเทศ เราจะได้โชว์ที่เต็มกว่านั้น ได้โชว์เกิน 1 ชั่วโมง เราก็จะเทคว่านี่เป็นคอนเสิร์ตใหญ่ของพวกเราในคืนนั้น คือโปรดักชันมันอาจจะไม่ถึงระดับนั้นก็จริง แต่พลังที่ส่งไปมันคือแบบเดียวกัน
แล้ว Tilly Birds เอาพลังส่วนนี้มาจากไหน
เติร์ด: ผมว่าทุกเวทีมันไม่เหมือนกันเพราะคนดูต่างกัน หลายคนก็ถามว่าเล่นกลางคืน ร้องเพลงกลางคืนทุกคืนไม่เบื่อเหรอ ผมบอกเลยว่าไม่เบื่อ แค่เห็นคนปรบมือตอนอินโทรขึ้น พลังมาแล้ว ไม่ได้น้อยไปกว่ากันเลยในแต่ละที่ เพราะว่าเราเจอคนหลากหลายประเภทมาก เจอคนดูที่แตกต่างกันออกไป ไม่ใช่ว่าดีหรือไม่ดีแบบนั้นนะ แต่มันหลายแบบ ได้เห็นว่าประเทศนี้ชอบเพลงนี้ อีกที่ชอบอีกเพลง แต่ส่วนใหญ่เพลง ‘คิด(แต่ไม่)ถึงจะคิล’ ทุกประเทศ เคยไปเล่นที่ไต้หวันแล้วเราแพลนว่าจะเอาเพลงนี้ออก โฮสต์ที่จัดงานก็อีเมลกลับมาว่า มี ‘Same Page?’ เถอะ
บิลลี่: ต้องบอกว่าตอนนั้นมันเป็นโชว์แบบเฟสติวัลที่สั้น เราเลยต้องเลือกเพลงจริงๆ แต่พอเขาเห็นคิด(แต่ไม่)ถึงไม่อยู่ เขาเลยบอกว่าอยู่เถอะ เพลงยูเพลงนี้ดังสุดที่นี่ เพลงนี้ก็เลยกลับมาใหม่ในงานนั้น
นอกจากเรื่องเพลงแล้ว อีกเรื่องที่เห็น Tilly Birds แสดงความคิดเห็นผ่านทางโซเชียลมีเดียของตัวเองกันมาอย่างสม่ำเสมอคือประเด็นเรื่อง LGBTQ+ โดยเฉพาะตอนช่วงที่มีเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ละคนติดตามประเด็นนี้กันมานานแค่ไหนถ้าปล่อยเพลงไปแล้วเราไม่ชอบ มันจะยิ่งแย่กว่าถ้าเพลงนั้นมันดัง เพราะเราคงทรมาน ถ้าเราไม่ชอบแล้วต้องเล่นทุกคืน
เติร์ด: เราติดตามมาตั้งแต่ยังไม่มีการพูดเรื่องนี้ในไทยเลยด้วยซ้ำ เพราะว่าผมมีเพื่อนที่เป็น LGBTQ+ เยอะ แต่ก่อนเพื่อนก็จะบอกว่าถ้าจะแต่งงานต้องไปแต่งเมืองนอก มีรัฐไหนที่แต่งได้บ้าง เพราะบางรัฐก็ยังไม่รับเนื่องนี้ วันที่ไทยผ่านกฎหมายนี้ ตอนนั้นผมโทรหาเพื่อน พอเขารับสายก็บอกว่า เฮ้ย ผ่านแล้วเว้ย เพื่อนก็ถามว่า อะไรผ่านวะ ผมก็บอกว่า สมรสเท่าเทียมไง เขาก็บอกว่า อ๋อ ทำงานอยู่ เดี๋ยวโทรกลับนะ กลายเป็นว่าเราตื่นเต้นกว่าเขาอีก
ตอนนั้นคิดไหมว่ากฎหมายนี้จะผ่าน
เติร์ด: คิดว่าในไทยยาก เพราะเขาอาจจะไม่เก็ตเรื่องนี้ ผมเคยคุยกับเพื่อนหรือคนที่ทำงานในสภาฯ ว่า เขาจะโหวตกันไหม ในสภาฯ มีคนที่เป็น LGBTQ+ กี่คน มีหรือเปล่าที่นอกจากพี่กอล์ฟ (ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์) ถ้ามี เขาจะได้เก็ต หรือว่ามีใครที่มีลูก มีญาติ เป็นแบบนี้หรือเปล่า
บิลลี่: ซึ่งจริงๆ ย้อนแย้งนะ เพราะว่าเมืองนอกเขามองไทยเป็นเมือง LGBTQ+ สุดๆ เลย
ในวงการบันเทิง สถานการณ์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศตอนนี้ต่างจากตอนช่วงที่เราเริ่มทำเพลงใหม่ๆ ไหม
เติร์ด: ต่างนะ อย่างสมัยก่อนคู่ขวัญจะเป็นคู่ชาย-หญิงหมดเลย แต่เดี๋ยวนี้เป็นคู่ชาย-ชายแล้ว นี่คือความต่างที่เห็นได้ชัด แล้วในวงการนี้ โดยเฉพาะเพื่อนพวก LGBTQ+ มักจะโดนมองว่า ต้องตลกนะ ต้องสร้างสีสันนะ แต่จริงๆ แล้วเขามีหลายเฉดมาก อย่าจำกัดคนแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือว่า label เขา ถ้าคุณไม่รู้ว่าเขาเป็นอย่างไร คิดอย่างไร เราตัดสินใครไม่ได้ ไม่ว่าจะเพศไหนก็ตาม
ไมโล: สิ่งที่ดีคือผมว่ามันเปลี่ยนไปอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ได้ต้องมีอะไรมาบีบความคิด เหมือนปกติก็เป็นอย่างนี้ได้ ผมรู้สึกว่าเป็นธรรมชาติที่ดี แต่ไม่รู้ทำไมเมื่อก่อนมันไม่เป็นปกติ
เติร์ด: ใช่ แต่มันยังดีขึ้นได้อีกนะ เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่านกันด้วยละ ทุกอย่างต้องใช้เวลา
ที่ดีขึ้นคิดว่าเป็นเพราะอะไรเติร์ด: กระแสโลกด้วย เยาวชนรุ่นใหม่ด้วย แล้วก็เยาวชนรุ่นเก่าด้วยนะที่เขาเก็ตและสนับสนุน แต่คนที่ยังไม่เก็ตก็มี เพื่อนผมบางก็ยังไม่กล้า come out กับพ่อแม่ คนที่ทะเลาะกับพ่อแม่เรื่องนี้ก็ยังมี เรายังต้องให้การศึกษาเรื่องนี้ ต้องเปลี่ยนหลักสูตร
บิลลี่: ผมว่าในระดับครอบครัวก็ต้องเปลี่ยนด้วย ต้องเริ่มจากตรงนั้น การศึกษาเป็นสเต็ปที่สอง ส่วนสเต็ปแรกผมว่าครอบครัวเองต้องเข้าใจว่า ความเท่าเทียมก็แค่มองทุกคนเป็นคนเหมือนกัน นี่คือความเท่าเทียมแล้ว ไมว่าจะเป็นใคร เพศสภาพไหน
แบ็กกราวนด์ที่ทำให้แต่ละคนเข้าใจเรื่องพวกนี้คืออะไร
เติร์ด: ที่บ้านผมไม่ได้ต่อต้านนะ แต่เขาก็ไม่ได้เข้าใจขนาดนั้น แต่ผมรู้สึกว่า โลก เพื่อนๆ สังคมที่เราอยู่ หนังที่เราดู เพลงที่เราฟัง มันมีส่วนหมด เพราะจริงๆ มันมีมานานแล้วนะ อย่างเพลง ‘Believe’ ของ Cher ก็เป็นเพลงชาติของ LGBTQ+ หรือเพลง ‘I’m Coming Out’ ของ Diana Ross เพียงแต่ไทยเราอาจจะตามเขาอยู่ แต่จริงๆ ของไทยถ้าเป็นเพลงก็มีมานานแล้วนะ อย่างเพลง ‘เพลงสุดท้าย’ ที่ร้องว่า อย่าให้เขารู้ว่ามันเจ็บ เจ็บเพียงไหน มันก็ทำให้เห็นว่าเรื่องความรักระหว่างชายแท้กับกะเทยก็มีมาตั้งนานแล้ว
บิลลี่: ผมว่าที่พวกผมเป็นอย่างนี้อาจเป็นเพราะว่าพวกเราก็แค่เชื่อว่า จริงๆ แล้วการตั้งคำถามไม่ใช่สิ่งที่แย่ เป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำ ทุกคนก้าวหน้าเพราะการตั้งคำถามกัน การตั้งคำถามเป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกห้าม เราควรถามคำถามมากกว่าทำไมถึงห้าม และทำไมทำไม่ได้ เพราะเมื่อตั้งคำถามแล้วเราก็แค่มาหาคำตอบกัน มาปรึกษากัน ทุกๆ อย่างมันสามารถก้าวหน้า เปลี่ยนแปลงได้หมดเลย เพียงแค่เราเริ่มทำ
ไมโล: จริงๆ ตอนสมัยมัธยมผมก็ยังไม่ได้เข้าใจเรื่องนี้ขนาดนี้ เพราะ LGBTQ+ ยังโดนบุลลี่ชัดเจน ยิ่งเป็นโรงเรียนชายล้วนก็จะมีการบุลลี่เรื่องนี้กันเยอะ มารู้สึกว่าช่วงปีเข้ามหาวิทยาลัยตอนปี 2013 ไม่รู้ว่าเพราะมหาวิทยาลัยที่เรียนอย่างธรรมศาสตร์หรือช่วงปีนั้น แต่เป็นช่วงที่รู้สึกว่าสังคมเริ่มเปิดกว้างและมีการพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น แล้วสังคมที่เราติดตามทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนก็มีพื้นที่ในการแสดงออกเรื่องนี้เยอะ ถ้าอย่างที่วารสารฯ กับนิเทศฯ ก็จะมีโชว์ต่างๆ พอเป็นโชว์ของ LGBTQ+ หลายๆ ครั้งดูแล้วต้องบอกว่า โห ทำถึง
อย่างในทีวีสมัยก่อน LGBTQ+ เป็นได้แค่ตลก แต่ทุกวันนี้ channel เขามีทุกแนว ดูเพลินเลย ด้วยช่องทางที่หลากหลาย ด้วยโอกาสทางสังคมที่เปิดมากขึ้นด้วย ด้วยความที่คนเองก็รู้สึกว่าเป็นปกติ พอเป็นเรื่องปกติแล้ว มันก็จะดีขึ้นเอง
เติร์ด: พูดถึงเรื่องโชว์ อย่างรุ่นผมตอนที่จัดรับน้องที่นิเทศฯ เขาก็จะมีโชว์ผู้ชาย โชว์ผู้หญิง ถ้า LGBTQ+ เขาก็เรียกโชว์ตุ๊ด แล้วมีเพื่อนผมที่เป็นทอม 2 คน เขาก็บอกว่า ทำไมไม่มีโชว์ทอมบ้างวะ กูอยากโชว์ แต่กูไม่รู้ต้องไปอยู่ประเภทไหน เขาก็เลยทำโชว์ทอมขึ้นมา ทอมก็เดาะบาสกันแล้วก็เต้นเท่ๆ เลย เท่มาก น้องๆ ก็เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องระบุเพศไปเลย ใครจะโชว์อะไรก็มา ซึ่งการที่ไม่ต้องฟิกซ์แบบนี้มันดีมาก เพราะบางคนที่เขาเป็นเกย์ เขาก็ไม่แน่ใจว่า กูต้องโชว์ตุ๊ดหรือโชว์ผู้ชาย พอไม่มีอะไรกำหนด คุณอยากโชว์อะไรก็ทำได้ ไปโชว์กับผู้หญิงก็ได้
บิลลี่: ผมว่าเรื่องพวกนี้มันเป็นการสะสมมาตั้งแต่เด็ก เหมือนที่ทุกคนเล่ามา ทุกๆ วัย วัยมัธยม วัยมหาวิทยาลัย จนกระทั่งจบแล้วเราก็โตมาเป็นผู้ใหญ่ ผมว่าความคิดหนึ่งที่กว้างและชัดที่สุดก็คือ ความคิดที่มองว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คุณจะเป็นคนแบบไหน เพศสภาพไหน คุณก็เจอคนไม่น่ารักมาทุกๆ แบบ แล้วในทางเดียวกันก็เจอคนน่ารักในหลายๆ แบบ คือผมว่าเรื่องความเท่าเทียมมันเป็นเรื่องของบุคคล แล้วก็เป็นเรื่องที่เราก็แค่อย่าเหมารวมว่าคนกลุ่มนี้จะต้องเป็นอย่างนี้ จริงๆ มันแค่นั้นเอง
ความเท่าเทียมก็คือการมองทุกอย่างด้วยความแฟร์ ไม่เหมารวม สุดท้ายถ้าคนนั้นจะนิสัยไม่น่ารักก็คือคนคนนั้น
ในฐานะศิลปิน เราสามารถมีส่วนในการขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมได้อย่างไรบ้าง
เติร์ด: หน้าที่ของพวกเราคือทำเพลง เล่นดนตรี เราเพอร์ฟอร์ม เราให้ความสุขกับผู้อื่น แต่ถ้าอะไรที่เราช่วยแชร์ได้ ช่วยเป็นกระบอกเสียงได้ เราก็จะทำเพื่อให้สังคมดีขึ้น เพื่อให้สิ่งนี้ถูกมองเห็นมากขึ้น
บิลลี่: ถ้าในทางอ้อม ผมว่าแค่เราเปิดในผลงานเรามากๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คุณสามารถอินกับเพลงเราได้ เพลงเราไม่มีเพศ ตัวผลงานเราเปิดกว้าง ไม่ต้องบอกว่าคืออะไร ให้เขาไปเลือกใส่ในชีวิตของเขาเอง ให้เป็นเหมือนเสื้อผ้าที่เขากล้าสวม ผมว่าตรงนั้นแหละที่เราเปิดกว้าง
ถ้าให้เลือกเพลงของ Tilly Birds ที่เหมาะกับ Pride Month แต่ละคนจะนึกถึงเพลงไหนเติร์ด: ของผมเลือก ‘ฉันมันเป็นใคร’ ที่มีเนื้อเพลงบอกว่า ฉันมันเป็นใคร ชีวิตนี้คนกำหนดไม่ใช่เธอ เพราะว่าเรากำหนดชีวิตเราเอง
บิลลี่: ถ้าในมุมทัศนคติ จริงๆ Tilly Birds ตรงหลายเพลงเลย อย่าง ‘ฤดูหนาว’ ก็เป็นเพลงที่เชื่อว่าทุกคนน่าจะเข้าถึงจริตความเซ็กซี่นี้ได้ หรืออย่าง ‘แค่พี่น้อง’ นี่ใช่มาก เพราะจริตมันได้ มีความกระดี๊กระด๊าที่ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหนก็น่าจะลิงก์กับสิ่งนี้ได้
ไมโล: ของผมเลือกเพลง ‘ผู้เดียว’ ครับ นอกจากจะมีความรู้สึกของการเฉลิมฉลอง Pride Month แล้ว เพลงนี้มันเกิดจากการที่เราเคยดาร์ก เคยไม่รักตัวเอง จนเราหาคำตอบได้ว่าทำอย่างไรให้กลับมาได้ พอเพลงนี้มันมี core idea อย่างนั้น มีจิตวิญญาณนั้นอยู่ ถ้ามีคนบอกว่ามีคนเอาเพลงนี้ไปฉลอง Pride Month ผมว่ามันก็น่าภูมิใจนะ
.
.
[Models]
@tillybirds
Anuroth Ketlekha (Third)
Nutdanai Chuchat (Billy)
Thuwanon Tantiwattanaworakul (Milo)
[Brand]
Top @in.blooommm @heidisecret / Shoes @onitsukatigerth
[Style]
Stylist: Supavit Lerkneelawat / Asst stylist: Natthamet Kudthalaeng,Methinee tongfuang / Makeup: Benchaya Chavatanavorakul / Hair: Sittikorn Ru-arn
[Photography]
Photographer: Tanisorn Vongsonton / Assistant photographer: Nontawat Sutthikorn / Videographer: Santi Kaewboonmueng / Video Editor: Wacharapon wanid
[Editorial]
Producer: Thunyares Phuboonrung / Project Coordinator: Wittawat Karpkert / Content Creator: Maytinee Teatananun / Project Manager: Pornnapat Suporn / Art Direction: Narin Machaiya, Anchisa Sukkaeo / Group Editor-in-Chief: Top Koaysomboon