หมวก Pussyhat สัญลักษณ์การต่อสู้ของผู้หญิงยุคใหม่
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2016 ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมากในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะกับผู้หญิง จนเกิดเป็นการเดินขบวนมีผู้เข้าร่วมมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมกว่า 3,300,000–4,600,000 คนอย่างการเดินขบวน Women’s March ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2017 หลังจากการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม เพื่อเป็นการแสดงออกถึงจุดยืนเคียงข้างผู้หญิง กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้อพยพ และกลุ่มคนอื่นๆ ซึ่งถูกมองว่าเป็นชายขอบของสังคม
ทะเลสีชมพูในการเดินขบวน Women’s March ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2017
ความตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเข้าไปมีบทบาทต่อทุกแง่มุมของการดำรงชีวิต แม้กระทั่งในวงการแฟชั่นเอง ก็เกิดสินค้ามากมายที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและอุดมการณ์สตรีนิยม เช่นเดียวกับอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของผู้คน ได้แก่ หมวกไหมพรม Pussyhat
วันนี้ NYLON จะพามาทำความรู้จักกับจุดกำเนิดอันเรียบง่ายของหมวกไหมพรมสีชมพูหูแมวสดใสที่มีความหมายถึงการต่อต้านความไม่เท่าเทียมทางเพศ จนกลายเป็นสิ่งที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของสตรีนิยมและเป็นแฟชั่นทางการเมืองของผู้หญิงทั่วโลก
ชื่อของหมวกไหมพรมล้อมาจากคำพูดของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบันที่กล่าวว่าตนเองมีอิสระในการสัมผัสอวัยวะเพศของผู้หญิงได้ ซึ่งเป็นการนำแสลงภาษาอังกฤษว่า Pussy มาตีความใหม่ในเชิงบวกให้มีความหมายที่ทรงพลังแก่ผู้หญิง และเลือกใช้สีชมพูที่ค่านิยมของสังคมมองว่าเป็นสีตัวแทนของเพศหญิงมาใช้เป็นโทนสีหลัก
Krista Suh และ Jayna Zweiman
หมวกไหมพรมสีชมพูนี้เริ่มต้นคิดค้นโดย Jayna Zweiman และ Krista Suh จากการที่ Jayna อยู่ในช่วงฟื้นฟูร่างกายหลังอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเมื่อช่วงสิ้นปี 2016 ทำให้เธอไม่สามารถทำกิจกรรมที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวทางร่างกายหนักๆ ได้ เธอจึงหากิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายระหว่างการพักฟื้น จนกระทั่ง Krista เพื่อนบ้านของเธอมีโอกาสแนะนำงานอดิเรกอย่างหนึ่งที่เธอกำลังสนใจอยู่ในขณะนี้จากการไปร่วมเรียนในร้านค้าท้องถิ่นชื่อ Little Knittery นั่นคือการถักไหมพรม นอกจากการสร้างสรรค์งานฝีมือแล้ว ยังทำให้ทั้งคู่ได้แบ่งบันแนวคิดสตรีนิยมและความคิดเห็นทางสังคมระหว่างกัน
โดย Krista วางแผนที่จะร่วมไปเดินขบวน Women’s March และต้องการเครื่องนุ่งห่มที่เป็นเอกลักษณ์และช่วยสร้างความอบอุ่นให้แก่ศีรษะของเธอระหว่างการเดินขบวนอันเหน็บหนาว สำหรับ Jayna ที่ยังคงต้องพักฟื้นอยู่ ทำให้เธอไม่สามารถไปเดินขบวนได้ ทั้งคู่จึงต้องการจัดทำอะไรบางอย่างเพื่อเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ให้แก่ผู้ที่เดินขบวนและผู้ที่ไม่สามารถเข้าร่วมเดินขบวนได้ จนเกิดเป็นหมวกไหมพรมที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพวกเธอได้เป็นอย่างดี
Krista Suh, Kat Coyle และ Jayna Zweiman
เมื่อตกผลึกทางความคิด พวกเธอจึงขอให้ Kat Coyle เจ้าของร้าน Little Knittery ช่วยออกแบบหมวกไหมพรมที่มีรูปแบบไม่ซับซ้อนมากนัก เพื่อเปิดโอกาสทุกคน ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไหร่ สภาพร่างกายแบบไหน หรืออยู่ที่ใดก็ตามสามารถมีส่วนร่วมในการเดินขบวนเรียกร้องความเท่าเทียมให้แก่ผู้หญิงได้ด้วยการช่วยจัดทำหมวกไหมพรม
ก่อนจะเปิดตัวและโพสต์แพทเทิร์นหมวกลงโลกออนไลน์ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2016 ซึ่งได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง โดยช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม 2017 มีหมวกไหมพรมดังกล่าวถักขึ้นมาแล้วสำหรับการเดินขบวนราว 60,000 ใบ และเมื่อวันเดินขบวนมาถึง โลกก็ได้เห็นภาพทะเลสีชมพูโดดเด่นท่ามกลางป้ายประท้วงมากมาย
แม้ว่าภายหลังจะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนักสตรีนิยมที่มองว่าหมวกเป็นสัญลักษณ์แทนแค่เพศหญิงเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงกลุ่มคนข้ามเพศหรือนอนไบนารี่ที่ต่างเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเช่นกัน รวมถึงภาพลักษณ์ของหมวกที่ดูไม่น่าเกรงขามนั้น เป็นการแสดงออกทางอุดมการณ์ในการต่อสู้อย่างผิวเผิน เมื่อเทียบกับปัญหาที่ผู้หญิงต้องเผชิญที่มีความโหดร้าย ทำให้มีผู้คนบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการใส่หมวกในการเดินขบวน
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านการร่วมด้วยช่วยกันถักหมวกไหมพรมแสนธรรมดาได้กลายเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการรวมตัวและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อสร้างกลไกในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่อนาคตที่เท่าเทียมกันของทุกเพศ
References:
https://www.pussyhatproject.com/our-story
https://www.elle.com/culture/career-politics/news/a42152/pussyhat-project-knit-protest/
https://www.freep.com/story/news/2018/01/10/pink-pussyhats-feminists-hats-womens-march/1013630001/
Written by Dusida Worrachaddejchai
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!