มองผู้ชายด้วยสายตาผู้หญิง: สูตรลับเบื้องหลังแฟชั่นชายหนุ่มโดยดีไซน์เนอร์สาว

ถ้าพูดถึงเรื่องของแฟชั่นก็จะนึกถึงผู้หญิงมาก่อนเป็นอันดับแรก ดีไซเนอร์ผู้ชายออกแบบเสื้อผ้าผู้หญิงก็เป็นเรื่องปกติมากในโลกแฟชั่น ในขณะเดียวกันเรากลับไม่ค่อยเห็นดีไซเนอร์ผู้หญิงที่ทำเสื้อผ้าผู้ชายอย่างเดียวเท่าไรนัก แต่ อร-สิริอร เฑียรฆประสิทธิ์ เป็นดีไซเนอร์หญิงประเภทนั้น ที่เมื่อปี 2011 ตอนที่แบรนด์ Painkiller ของเธอเพิ่งเริ่มต้นได้เพียง 2 ปี แต่นิตยสารชื่อดังอย่าง Fader ก็บอกว่าเธอนั้นอาจจะเป็นแค่ 1 ใน 10 ดีไซเนอร์หญิงจากทั่วโลกที่ทำงานออกแบบเสื้อผ้าผู้ชายโดยเฉพาะ ความสำเร็จของ Painkiller ในวันนี้เกิดขึ้นด้วยตัวงานล้วนๆ และนั่นก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของแบรนด์มินิมอลแบรนด์นี้ จนเป็นงานออกแบบที่เหล่าสุภาพบุรุษรู้กันดีว่าควรมีติดตู้เสื้อผ้าไว้บ้าง

อรเป็นผู้หญิงบุคลิกอ่อนโยนและสุขุม  เธอเป็นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ไม่กี่คนที่ยังเย็บผ้าเป็น ทำแพทเทิร์นเองได้ และมีความเข้าใจในธรรมชาติของผ้าแต่ละประเภท เมื่อมีพื้นฐานแน่นแบบนี้แล้ว จะแหกกฏอะไรก็ได้ ความมินิมอลของ Painkiller จึงซ่อนความเซอร์ไพรส์ไว้บ่อยๆ ซึ่งชัดเจนมากในคอลเลกชันอันโดดเด่นของเธอเมื่อปี 2017 ที่เสื้อผ้าที่ดูสุภาพเรียบร้อย แต่ถ้าดูชิ้นงานดีๆ เราก็จะเห็นความซ่าของการทดลองลูกเล่นการตัดเย็บและแพทเทิร์นของเนื้องาน

เดือนมีนาคมที่ถือเป็นเดือนผู้หญิงสากล อรเป็นหนึ่งในตัวแทนผู้หญิงที่คอนเวิร์สชวนมาช่วยให้นิยามใหม่ของคำว่า ‘ผู้หญิง’ เพราะคำว่า ‘ผู้หญิง’ ในบางภาษา ยังถูกมองในแง่ลบอยู่และนี่ก็เป็นประเด็นที่คอนเวิร์สพยายามนำมาผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผ่านแคมเปญ ‘Love the Progress’ โดยให้อรเป็นหนึ่งในหญิงไทยที่ช่วยส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงทั่วและตอกย้ำว่าโลกว่าเราก้าวมาถึงจุดที่เรื่องเพศไม่ควรถูกนำมาใช้ตัดสินความสามารถอีกต่อไป

ก่อนหน้านี้ก็เห็น Painkiller ใช้รองเท้าคอนเวิร์สมาในลุคบุ๊คหรือแฟชั่นโชว์บ่อยๆ เพราะอะไรถึงเป็นคอนเวิร์ส

คอนเวิร์สมีความ unisex และคลาสสิค เป็นรองเท้าที่สัดส่วนลงตัว เหมือนกับว่าผู้ชายก็ใส่สวย ผู้หญิงก็ใส่สวย มันไม่บ่งบอก มันดีตรงนี้ ซึ่งในคอลเลกชั่นนี้ก็ชอบนะ มันดิบๆ ดี ชอบคู่ที่เป็นผ้าใบแล้วมันก็มีหัวใจ ซึ่งรู้สึกว่าถ้าเป็นผู้ชายใส่จะน่ารัก ส่วนถ้าให้ส่งต่อเมสเสจอะไรถึงผู้หญิงด้วยกันก็จะบอกว่าสู้ๆ นะ คือไม่ต้องคิดเรื่องเพศสภาพมาก อยากทำอะไรก็ทำไม่ต้องคิดว่าการเป็นเพศหญิงคือข้อด้อย ยอมรับกับสิ่งที่เป็น แล้วก็ move forward

นิยามความเป็น “ผู้หญิง” ในแบบของสิริอรคืออะไร

คือความอดทน แล้วก็อ่อนไหว ต้องชื่นชมทั้งสองข้อ ผู้หญิงทนเจ็บได้เยอะมาก อย่างเราคลอดลูกหรือเรามีประจำเดือน ผู้ชายไม่รู้หรอกว่ามันเจ็บแค่ไหน อรคิดว่าถ้าเราทนไหวแสดงว่าเราสตรอง อรก็เลยใช้คำว่าอดทน ส่วนเรื่องความอ่อนไหว คนจะคิดว่าการอ่อนไหวคือความอ่อนแอ เป็นเรื่องไม่ดีใช่ไหม แต่อรมองว่ามันเป็นเรื่องของความเข้าใจโลก ผู้ชายมักจะเดินไปข้างหน้าโดยที่ไม่มองสิ่งรอบข้าง แต่ผู้หญิงมองซ้ายมองขวา และชื่นชมสิ่งที่เป็นอยู่ อรคิดว่ามันเป็นข้อดีของผู้หญิง

ตอนไหนที่รู้สึกว่าอยากทำเสื้อผ้าผู้ชาย

มันคือ holy moment นะ (หัวเราะ) ตอนแรกอรไปปารีสจะไปเรียนกูตูร์ รู้สึกชอบงานปัก ชอบงานคราฟต์ ชอบอีฟส์ แซงต์ โลรองต์ ที่อยากไปอยู่ปารีสตั้งแต่อายุ 16 เพราะอยากจะไปเป็นศิษย์ของแซงต์ โลรองต์ แต่พอไปได้ 2 ปี เขาดันปิดแบรนด์ ประกาศเลิกทำงาน เราก็เสียใจ ออกไปดื่มจนไปหกล้มกลิ้งอยู่หน้าปอมปิดูเซ็นเตอร์ ไปหยุดอยู่ที่หน้า อาทีลีเย่ บรานคูซี่ (Atelier Brancusi) เป็นแกลเลอรี่ที่รวบรวมประติมากรรม [ของศิลปินคอนสแตนติน บรานคูซี่] อยู่ที่นั่น แล้วด้วยประติมากรรมทุกอันเป็นสีขาว เป็นสไตล์มินิมอล อยู่รวมกันมันดูเหมือนของศักดิ์สิทธิ์มาก เราเลยรู้สึกว่านี่มันคงเป็นเสียงจากสวรรค์ที่เราต้องเปลี่ยนไปเป็นสายมินิมอลแล้วล่ะ ในเมื่ออีฟ แซงต์ไม่ทำงานแล้ว เราเปลี่ยนมาเป็นสายมินิมอลก็ได้ ก็ค้นคว้าเรื่อง Minimalism

หลังจากนั้นเราก็รู้สึกว่าความโค้งเว้าของผู้หญิงมันยากเกินไป ก็เลยทำเสื้อผู้ชายดีกว่า ซึ่งอรเรียนที่โรงเรียนเฉพาะด้าน มันเป็นโรงเรียนระบบเก่าที่ใบปริญญาจะเขียนไว้เลยว่าเป็นดีไซเนอร์อะไร อย่างอรก็เป็น Menswear Designer ซึ่งก่อนจะเลือกก็จะมีอาจารย์แนะแนวให้ว่าเราจะเลือกแผนอะไร เขาก็จะแนะนำว่าเสื้อผ้าผู้ชายมีอะไรบ้าง ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเสื้อผ้าผู้หญิงเราเรียนมาตั้ง 2 ปีแล้ว มาทำเสื้อผู้ชายมันก็ได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ดี เพราะเราเป็นผู้หญิงแต่เราไม่มีวันที่จะศึกษาร่างกายผู้ชายได้เลยถ้าเราไม่ทำเสื้อผ้าผู้ชาย มันเป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้เพศตรงข้ามผ่านทางงานของเรา

เสื้อผ้าผู้หญิงกับผู้ชายแตกต่างกันไหม

พอได้เรียนเราก็รู้สึกว่าผู้ชายเป็นเพศที่ติดอยู่กับอะไรเดิมๆ โลกแฟชั่นผู้ชายน่าสงสารเพราะผู้หญิงมีช้อยส์เยอะมาก แต่ผู้ชายจะมีแบบแผนที่ค่อนข้างชัดเจน อย่างผู้หญิงไปงานกาล่าจะใส่ชุดยาว แต่จะใส่สีเขียว สีเหลือง จะมีแขนไม่มีแขนก็ได้ แต่ผู้ชายจำกัดแค่สูท มันจำกัดมาก เราเลยรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ เลยอยากสร้างทางเลือกใหม่ แบรนด์เราก็เลยชื่อว่า Painkiller คือเราอยากเป็นยาแก้ปวดให้เขา พยายามหาสิ่งที่มันน่าใส่ มี creativity ในเสื้อผ้าแต่ยังคงความเป็น menswear อยู่

ความยากของการทำเสื้อผู้ชายคืออะไร

การหาความพอดี คือถ้าหลวมไปก็ดูไม่สมาร์ท ฟิตไปก็ดูพยายาม มันต้องดูเป๊ะ ต้องดูไม่พยายาม งานเสื้อผู้ชายจะดูประดิษฐ์ก็ไม่ได้ ดูเซอร์ไปก็ไม่ดี ดูจนก็ไม่ได้ ดูรวยก็เอ๊ะ… คือ Painkiller พยายามตอบโจทย์ว่าเป็นผู้ชายที่มีของแต่ไม่ทำตัวเว่อร์ แล้วก็ไม่โชว์ออฟจนเกินไป นี่เป็นความยากของเสื้อผ้าผู้ชาย

มีคอลเลกชันไหนที่ใส่ความเป็นผู้หญิงของเราลงไปในการดีไซน์บ้าง

จริงๆ ก็ทุกอันนะ อย่างคอลเลกชันล่าสุดพูดถึงเรื่องแบนดาน่า (Bandana-ผ้าโพกหัว ผ้าพันคอลายหยดน้ำ) แต่เราไม่ได้พูดถึงโต้งๆ เราก็พูดว่ามาผสมระหว่างผ้าพันคอไหมฝรั่งเศสกับแบนดาน่า ซึ่งถ้าผู้ชายคิด เขาก็คงไม่ได้คิดถึงว่าเราจะเอาความซอฟต์ เอาลายผู้หญิงมาผสมกับแบนดาน่าเป็นลายใหม่ แล้วก็ดอกไม้ที่ใช้ในแบนดาน่าเราก็ใช้เป็นดอกมะลิ เพราะเรารู้สึกว่าถ้าเป็นแบนดาน่าแบบพวกสิงห์มอเตอร์ไซค์ ดอกไม้เขาจะเป็นดอกกุหลาบมีหนาม แต่เราไม่เอา ฉันจะเป็นมะลิริมรั้วก็แล้วกัน เข้าถึงง่ายขึ้นแล้วก็สื่อถึงความเป็นไทย ถ้าเราพูดถึงความรัก เราก็ไม่ได้อยากพูดถึงโรมิโอจูเลียต แต่อยากพูดถึงคู่รักที่เจอกันข้างบ้านเก็บมะลิให้กันแบบนั้นมากกว่า

 

นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงอีก 4 คนที่ได้รับเลือกจากคอนเวิร์สให้เป็นตัวแทนเหมือนกับที่ประเทศไทยของเรามี อร-สิริอร ในการเป็นตัวแทนเพื่อส่งต่อเรื่องราวของตัวเองให้เป็นแรงบันดาลใจกับผู้หญิงอีกหลายๆ คน เราเลยหยิบยกคำพูดของพวกเธอมาให้ทุกๆ คนได้อ่านกัน

 

Stephanie Kurlow จากประเทศออสเตรเลีย นักเต้นบัลเลต์

“I decided that I was going to be the first.”

ฉันอายุ 17 ปี เชื้อสายออสเตรเลียและรัสเซีย ฉันมุ่งมั่นในการฝึกฝนเพื่อที่จะก้าวขึ้นเป็นนักระบำปลายเท้าหญิงอาชีพคนแรกของโลกที่ใส่ฮิญาบ ความฝันของฉันก็คือการได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กผู้หญิงทั่วโลกให้วิ่งไล่ตามความฝันของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องของชาติพันธุ์ ศาสนา หรือปูมหลังของตัวเอง

 

QIN YUN QUAN จากประเทศสิงคโปร์ ครูฝึกสอนวิชาป้องกันตัว

“A well trained female bodyguard can.”

ฉันเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่อุทิศตัวเองให้กับการฝึกฝนและเสริมสร้างกำลังใจให้คนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงและเด็กในเรื่องความปลอดภัยของพวกเขา เพราะในโลกที่เรามักจำกัดขอบเขตความสามารถของตนเองด้วยเรื่องของเพศ ฉันเชื่อว่าการฝึกฝนและสนับสนุนพวกเขาแข็งแกร่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรื่องของความเท่าเทียมนั้นเป็นไปได้และดีมากยิ่งขึ้น

 

Kasia Gola จากประเทศโปแลนด์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ GeekGoesChic และแอปพลิเคชัน Flowbox

“Be brave enough to choose your path”

ฉันก่อตั้งเว็บไซต์ GeekGoesChic ซึ่งนำเอานวัตกรรมใหม่มารวมไว้กับเรื่องของแฟชั่นรวมทั้ง Flowbox ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยสร้างสเปเชี่ยลเอฟเฟ็กต์ลงในวิดีโอ ฉันให้ความสนใจและชอบค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องของเทคโนโลยีและแฟชั่นรวมไปถึงการคาดการณ์ต่างๆ จะเรียกว่าเป็นตัวฉกาจที่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สร้างโปรเจ็กต์ให้เป็นไปได้อยู่เสมอ รักในการทำงาน และคลั่งไคล้ไปกับสิ่งที่ฉันทำก็ว่าได้

 

Naomi Preizler จากประเทศอาร์เจนติน่า ศิลปินนักร้อง

“To be female is to be human, Music gave me the strength to make my voice heard”

ฉันคือศิลปิน ที่ไม่ใช้ชีวิตภายใต้กฎเกณฑ์ของคนอื่นและชอบทำในสิ่งที่เหนือความหมาย ฉันไม่ชอบความสะดวกสบายหรืออยู่นิ่งจนเกินไป ฉันรักที่จะค้นหาและทดลองอะไรใหม่ๆ ฉันต่อสู้กับความคิดที่คนมักบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ฉันนี่ล่ะคือผู้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ

 

สำหรับตอนนี้หากว่าใครที่อยากจะเป็นเจ้าของคอลเลกชันพิเศษ Love The Progress นี้ก็มีจำหน่ายแล้วที่ช้อป Converse ทุกสาขาจ้าา

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply