สะท้อนจิตวิญญาณงานศิลปะผ่านสติกเกอร์กับ roger.major.tom

ศิลปะรายล้อมรอบตัวเราเสมือนกับเป็นธาตุ ๆ หนึ่งที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ตั้งแต่ที่คุณตื่นเช้าแล้วปลดล็อคหน้าจอโทรศัพท์ ภาพหน้าจอหรือพื้นหลังที่ปรากฏนั้นก็ถือว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่กดเข้าแอพพลิเคชันไลน์เพื่อเข้าไปชิทแชทกับเพื่อนสนิท สติกเกอร์ไลน์ที่ถูกส่งแทนความรู้สึกนั้นก็ถือได้ว่าเป็นงานศิลปะ นี่ยังไม่นับรวมเมื่อคุณต้องเดินทางไปทำงานหรือเข้าเรียนในตอนเช้า ป้ายโฆษณาที่ถูกแปะตามห้างร้านหรือเต็มตู้รถไฟฟ้าบีทีเอสก็ถือเป็นงานศิลปะเช่นเดียวกัน เห็นไหมว่าศิลปะมีตัวตนอยู่มากมายรอบตัวเต็มไปหมด แล้วใครกันเล่าที่เป็นผู้นิยามว่า ศิลปะจะต้องอยู่เพียงแต่ในหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ หรือสถาบันทางศิลปะเพียงเท่านั้น ในวันนี้เราจะพาคุณมารู้จักกับสติกเกอร์ที่เป็นมากกว่าแค่คำว่า ‘ของตกแต่ง’ แต่กลับเป็นจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ของศิลปินท่านหนึ่งซึ่งถูกแฝงเร้นไว้ภายใต้ศิลปะสุดเก๋ไก๋ที่ยากจะมีใครคาดถึง 

ศิลปะไม่ใช่กระจกจึงไม่สามารถสะท้อนภาพลักษณ์ภายนอกของศิลปินได้ แต่ในขณะเดียวกันศิลปะกลับสามารถสะท้อนได้ถึงตัวตนข้างในของศิลปิน เช่นเดียวกับที่ roger.major.tom ทำให้เราเห็นว่า ศิลปะคือการสื่อสารที่ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเสียง เราสามารถสื่อสารหรือพูดคุยกันได้ผ่านผลงาน ในวันนี้เราจะพาชาวไนลอนมาทำความรู้จักกับ roger.major.tom ให้มากขึ้น เริ่มตั้งแต่ ‘คุณเจ๋’ เจ้าของร้านสติกเกอร์แห่งนี้

ความเป็นศิลปะสำหรับ roger.major.tom เป็นอย่างไร?

“ศิลปะมักจะแฝงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของนักเขียน” 

การจะหาคำนิยามของคำว่า ศิลปะ นั้นเป็นเรื่องยาก แต่ในมุมมองของเราแล้วศิลปะแทบจะเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้นที่เชื่อมโยงเข้ากันกับจิตใจ อารมณ์ และความคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ภายในตัวเรา จากนั้นนำมาการแสดงออกถ่ายทอดผ่านสิ่งที่เรียก ศิลปะ อาจบอกได้ว่า ศิลปะ เป็นเหมือนพื้นที่อีกพื้นที่หนึ่งที่เราใส่จิตวิญญาณเข้าไปอยู่ในพื้นที่นั้นให้มันกลายเป็นสิ่งมีชีวิต หรือเหมือนกับที่ใครหลายคนที่บอกกันว่า ศิลปะเป็นเหมือนตัวแทนของเจ้าของผลงาน นั่นอาจเป็นเพราะว่า ทุกๆ งานศิลปะมักจะมีเศษเสี้ยวของจิตวิญญาณของผู้คนแฝงอยู่

ปัจจุบันศิลปะแนว Protest Art หรือที่เรารู้จักกันว่า ศิลปะประท้วง สำคัญและยังจำเป็นต่อสังคมไหม?

ปัจจุบัน Protest Art ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอด ตราบใดที่สังคมยังต้องขับเคลื่อนไปสู่วันข้างหน้า และยังมีเรื่องราวที่คนในสังคมต้องช่วยกันตระหนัก รวมถึงหาหนทางแก้ไขกันต่อ ๆ ไป (ตามจริงแล้วสังคมที่ดีควรที่จะช่วยกันพัฒนาไปสู่วันที่ดีขึ้นอย่างไม่หยุดนิ่งอยู่แล้ว) ถ้าสังเกตจะพบว่า ส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ Protest Art มักจะมีบทบาทสำคัญตลอด ทำให้ตัวศิลปะแนวนี้ยังมีความจำเป็นต่อสังคมอย่างมาก เพราะงานศิลปะแนว Protest Art จะช่วยสร้างแรงกระตุ้นและสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ที่พบเห็นได้เป็นอย่างดี บางครั้ง ในบางประเด็นทางสังคมที่เราไม่สามารถพูดออกมาตรงๆ ได้ หรือไม่รู้ว่าควรจะสื่อสารออกมาด้วยวิธีใดที่เราจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือปัญหานั้นๆ งานศิลปะก็จะเข้ามาเป็นตัวช่วย ทำให้เราสามารถถ่ายทอดมันออกมาได้ง่ายยิ่งขึ้น และสามารถสื่อสารกับคนอื่นหรือโน้มน้าวใจเพื่อจุดประเด็นให้ปัญหานั้นๆ ได้รับการสนใจในวงกว้างได้สะดวกขึ้นผ่านงานศิลปะ 

ทำไมถึงเลือกใช้สติกเกอร์เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความคิด?

คำว่า สติกเกอร์ เวลานึกถึงทีไรก็มักจะเป็นภาพสติกเกอร์ที่ติดตามตู้รวมสายไฟเอย บนเสาไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เอย หรือแม้แต่พวกสติกเกอร์ที่ติดตามกำแพงผับ และรถยนต์ที่วิ่งผ่านไปมา สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เมื่อเจอเรามักชอบมองและสงสัยว่ามันคืออะไรอยู่เสมอ จากนั้นจึงพบว่า สติกเกอร์คือสิ่งที่คนเอาไปติดแปะป้ายประทับกับอะไรก็ได้แทบทุกอย่าง นอกจากนั้นสติกเกอร์ก็ยังสามารถแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของผู้ติดได้อีกด้วย ประมาณว่า ผู้ติดชื่นชอบอะไรหรือมีประสบการณ์ร่วมจากสิ่งใดมาก็มักจะเลือกเอาสติกเกอร์ที่สื่อถึงความเป็นตัวเองมาติดบนสิ่งของต่างๆ ของตัวเอง 

ประกอบกับในปีที่ผ่านมากระแสร้านแนวขายผลงานเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์แบบสติกเกอร์เป็นที่นิยมขึ้นมาก คนให้ความสนใจกันมากขึ้นเลยจับตรงนี้มาลองประกอบกันดูว่า แล้วถ้าเราใช้สติกเกอร์ที่คนให้ความสนใจตอนนี้เข้ากันกับการตระหนักรู้ถึงปัญหาสังคม คงจะดีอยู่ไม่น้อยเลย เพราะมันน่าจะทำให้คนที่อยู่รอบตัวคนที่ซื้อสติกเกอร์ของเราคงจะเอะใจขึ้นมาบ้างหรือเห็นบ่อยจนต้องอ่านบ้างแหละ ขนาดเราเห็นสติกเกอร์วัดท่าไม้บ่อยๆ จากที่ไม่เคยสนใจยังต้องให้ความสนใจขึ้นมาเลยว่ามันคืออะไร มันเลยทำให้เราค้นพบว่า ยิ่งสติกเกอร์เป็นอะไรที่ติดที่ไหนก็ได้แล้วยิ่งหมายความว่า สติกเกอร์ของเราสามารถเดินทางนำสารเหล่านี้ไปได้แทบทุกที่อีกด้วยค่ะ เคยมีคนซื้อสติกเกอร์ของเราไปติดตั้งแต่ไฟแช็กยันกระเป๋าเดินทางเลย แล้วก็มีชาวต่างชาติสนใจซื้อไปด้วยยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมาถูกทางแล้วที่เลือกสติกเกอร์มาใช้เป็นสื่อกลาง

สไตล์ที่บ่งบอกถึงความเป็น roger.major.tom นี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากไหน?

มันเริ่มมาจากการที่เราได้แอบดูร้านสติกเกอร์หลายๆ ร้านมาก่อนว่าเขาทำแบบไหนกันบ้าง แล้วก็พบว่า ไม่ค่อยเจอในแบบที่เป็นตัวเราเลย เพราะส่วนตัวแล้วเป็นคนหลงใหลในงานกราฟิกอยู่แล้ว เลยชอบซื้ออะไรที่เป็นงานกราฟิกไปเลยมากกว่างานวาดภาพประกอบ ทีนี้พอมันไม่ค่อยมีร้านที่ทำสไตล์กราฟิก เราเลยไปลองค้นหาดูว่าสติกเกอร์กราฟิกจากประเทศอื่นๆ ว่าแบบไหนประมาณไหนที่คนชอบ น่าจะยังสามารถนำมาใช้ตกแต่งสิ่งของน่ารักกรุบกริบได้โดยไม่เป็นไปในแนวกราฟิกจ๋า และเราก็ไปเจอ Thence ซึ่งเป็นสตูดิโอกราฟิกดีไซน์เนอร์สัญชาติเกาหลีที่ประสบความสำเร็จมากๆ เขามีแนวทางที่ชัดเจน ไม่ว่าจะทำคอลเลกชั่นไหนออกมา คนก็ดูออกว่านี่ Thence นะ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่มันชัดเจนมาก มันเป็นตัวแทนของเขาเลย พอเห็นแบบนั้นเราก็เลยอยากให้ roger.major.tom มีอัตลักษณ์แข็งแรง แต่ถึงจะเป็นงานกราฟิกแต่เราก็ไม่ลืมใส่อุปนิสัยที่เป็นเราลงไปด้วย ทั้งความขี้เล่น เสียดสีนิดหน่อย มุกตลกร้าย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นบุคลิกแบบตัวเราเอง เรามักจะคิดข้อความคำพูดแสบๆ คันๆ เลือกคอนเซปต์ชัดๆ ใส่ลงไปในแต่ละลาย แล้วตัวสติกเกอร์ก็ทำเป็นกราฟิกในสไตล์ของเรา พอทุกอย่างสร้างขึ้นจากความเป็นตัวเรา ทุกคนก็จะจำได้เอง เพราะนั่นคือตัวตนของเราจริง ๆ 

ในแง่ของสีสันถือว่าเป็นการแสดงออกทางความคิดที่สำคัญไหม? 

ใช่ค่ะ แต่ละลายของเราก็จะมีสัญญะในตัวของมันเอง อย่างลาย Take Care เราเลือกใช้สีที่แรกเริ่มนั้น นึกไปถึงพาเลตต์แบบเดียวกับโชว์ของ Gucci A/W 2018 ซึ่งมีธีมหลักเป็นห้องผ่าตัดในโรงพยาบาล เราชอบสีของตัว Venue โชว์มากๆ เพราะตัวลายนี้เรามีคอนเซปต์หลัก คือ สุขภาพจิต และเราก็อยากใช้สีที่ยังดูเท่ แต่ยังสามารถสื่อถึงอะไรที่เกี่ยวกับความเจ็บป่วยในโรงพยาบาลได้ ด้วยเหตุผลนี้ก็เลยออกมาเป็นการเน้นใช้สีฟ้า – ส้ม – เขียว – เนื้อ

คิดอย่างไรกับคำว่า ‘ศิลปะบำบัด’ ?

ตอนเด็ก เราเคยเข้าร่วมศิลปะบำบัดช่วงสั้น ๆ กับนักศิลปะบำบัด จำได้ว่าตอนนั้นชอบมาก และด้วยความที่ชอบศิลปะอยู่แล้ว ศิลปะบำบัดจึงเติมเต็มเราได้พอสมควรเลย เพราะศิลปะเชื่อมโยงกับจิตใจของมนุษย์ การบำบัดด้วยศิลปะจึงเป็นสิ่งที่เราอยากให้ทุกคนได้ลองสักครั้งในชีวิตจริง ๆ หลังจากได้เข้าร่วม เรารู้สึกเหมือนได้ปลดล็อค ปล่อยให้ก้อนตะกอนในใจได้กลั่นออกมาผ่านผลงานศิลปะของตัวเราเอง ยิ่งไปกว่านั้นคือบางชิ้น แม้ก่อนหน้านั้นเราจะรู้สึกว่าเราไม่ได้รู้สึกอะไร แต่พอปล่อยให้มันไหลออกมาผ่านพื้นที่ที่เรียกว่าศิลปะ มันกลับปรากฏให้เราเห็นว่า ‘อา.. แย่แล้ว.. เรากำลังไม่สบายใจนี่หว่า’ 

มีช่วงหนึ่งที่เราดีเพรสหนักแล้วทานยาประคอง แต่กลับยังคิดว่ามันหนักมาก ๆ จนรู้สึกแทบทนไม่ไหว อีกทั้งก็ไม่รู้ว่าจะหานักบำบัด ณ ช่วงเวลานั้นได้จากที่ไหน เลยจับตัวเองมานั่งทำงานศิลปะแทน ผลคือจากที่ดูเฉย ๆ แต่พอเวลาผ่านไปที่เราเริ่มรู้สึกดีขึ้น แล้วกลับมาดูผลงานของเราอีกที ตอนนั้นแหละถึงได้รู้ว่า แย่แล้วจริงด้วย งานมันออกมาในแนวคล้ายๆ กัน มู้ดคล้ายๆ กัน สีมืดหม่น ดูแล้วหดหู่

เรามีโอกาสได้ไปดูผลงานศิลปะจากศิลปะบำบัดภายในคุก และจากตัวนักบำบัดเองที่หอศิลป์แล้วพบว่า เราได้เห็น ได้เรียนรู้หลายอย่างผ่านมันจริงๆ ทั้งที่เราไม่จำเป็นต้องเห็นหน้าเลย แม้ว่าหลายคนจะยังไม่รู้ว่าศิลปะบำบัดในไทยต้องไปยังไง ที่ไหน มีด้วยเหรอ แต่ปัจจุบันศิลปะบำบัดในไทยก็เริ่มเป็นที่รู้จักขึ้นบ้างแล้ว เพราะโซเชียลเน็ตเวิร์คสามาถค้นหาได้เลยจากคำว่า ศิลปะบำบัด ซึ่งมีทั้งศิลปะบำบัดสำหรับเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่เลย และถึงแม้ว่านักศิลปะบำบัดในไทยจะยังมีไม่เยอะ และไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่พอลองหาดูกลับพบว่ายังมีที่เจ๋ง ๆ อยู่บ้าง นักศิลปะบำบัดน่าไปบำบัดด้วยมีอยู่หลายคนเลย 

ระหว่างทางตั้งแต่เริ่มเปิดร้าน roger.major.tom จนถึงตอนนี้ คุณเจ๋ได้พบเจอกับอะไรบ้าง?

ตั้งแต่เริ่มก็ได้เสียงตอบรับที่ดีมาก ในตอนแรกเราไม่ได้คิดว่าคนจะให้ความสนใจเยอะขนาดนี้ เพราะความจริงแล้วมันเริ่มขึ้นมาจากที่เราเป็นร้านเล็ก ๆ ที่ทำขายไม่จริงจังมากกว่า แถมแอบกลัวด้วยว่าคนจะไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร แต่พอเอาเข้าจริงๆ แล้วก็มีคนเข้ามาซื้อเพราะเราเลือกใช้ประเด็นทางสังคมต่างๆ โดยเฉพาะเลย และบางคนก็ช่วยเสนอแนะนำหัวข้ออีกด้วยว่าอยากให้ทำเรื่องอะไรต่อไป มันเลยกลายเป็นสนุกและท้าทายมากว่าผลตอบรับของลายนั้นๆ จะออกมาเป็นอย่างไร คนจะเข้าใจไหม ชอบรูปแบบที่เรานำเสนอหรือเปล่า

แต่ที่ดีใจมากที่สุดก็คือ พอเขาไม่เข้าใจ ก็มีคนเข้ามาถามเราว่าสติกเกอร์ลายนี้หมายถึงอะไร เคยมีคนสงสัยขึ้นมาว่า toxic femininity คืออะไร มีจริงหรือเปล่าจากสติกเกอร์ของเราด้วย แล้วก็มีคนที่สงสัยในความแตกต่างระหว่างคนว่า pansexual กับ genderqueer ยิ่งทำให้ยืนยันว่างานของเรามันสร้างคำถามให้กับผู้คนที่พบเห็นได้อีกด้วย ซึ่งพอเขาถามมา ก็ถือเป็นการเปิดช่องทางหรือโอกาสในการอธิบาย เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ๆ จากตรงนี้จึงทำให้เราคิดว่า อยากอธิบายสติกเกอร์ทุกลายของเราให้ได้มากที่สุด ด้วยเพื่อให้คนรับสารสามารถเข้าใจถึงสิ่งที่เราต้องการจะบอกอย่างครบถ้วนจริงๆ 

อีกอย่างที่ทำให้รู้สึกดีมากคือ ไม่ใช่เพียงแค่คนไทยที่สนใจแต่คนต่างชาติเองก็สนใจสติกเกอร์ของเราด้วยเหมือนกัน มีลูกค้าคนหนึ่งที่เรียนอยู่ต่างประเทศเอาสติกเกอร์ของเราไปติดโน้ตบุ๊ก แล้วเพื่อนชาวต่างชาติของเขาก็สนใจในตัวสติกเกอร์นั้นด้วย ซึ่งเหนือความคาดหมายของเรามาก พอได้ลองมาทำสินค้าออกงาน Art Happens ถือเป็นงานอาร์ตแฟร์ที่ roger.major.tom ได้มีโอกาสไปออกครั้งแรก เราก็ยิ่งได้เห็นปฏิกิริยากับคนที่มายืนดูสติกเกอร์ของเรา มีทั้งคนที่เข้ามาอ่านแล้วอมยิ้ม บ้างก็ขำขัน บ้างก็เข้ามาบอกเลยว่าชอบลายนี้ มีบางคนรู้ด้วยซ้ำว่ามุกนี้มีที่มาจากมีมไหน กลายเป็นว่าเหมือน roger.major.tom เป็นเวทีหนึ่งๆ ที่ดึงดูดผู้คนที่มีความคิดหรืออุดมการณ์คล้ายกัน ชอบอะไรเหมือนๆ กันเข้ามาหากัน นั่นถือเป็นสิ่งที่มีมากเลยค่ะ

แต่เส้นทางก็ไม่ได้ราบรื่นทั้งหมด ระหว่างก็เจอปัญหาจากเรื่องกระบวนการพิมพ์ที่มีผิดพลาดบ้าง เราส่งของพลาดบ้าง ช่วงแรกๆ ก็มีปัญหาเยอะด้วยความที่ไม่เคยขายของมาก่อน และไม่ถนัดเลยกับการรับบทแม่ค้าออนไลน์ แต่พอมาถึงตอนนี้ก็รู้สึกว่าเราจัดการกับตัวเองและรับมือกับปัญหาได้เก่งขึ้นบ้างแล้ว บางลายเราทำเสร็จแล้วก็กลัวว่ามัน controversial เกินไปไหม มันแรงหรือไปกระทบใครหรือเปล่า แล้วมันไปคล้ายกับสติกเกอร์ของที่ไหนไหม ทุกอย่างนี้จะส่งให้เพื่อนช่วยกรองช่วยเช็คระหว่างทำตลอด แต่สุดท้ายกลับโดนลอกเลียนแบบแทนเฉยเลย ซึ่งเกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งครั้งแต่ก็ทำอะไรได้ไม่ค่อยมาก เราให้อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่เคยเจอเลย แอบบอกว่าร้านอื่นๆ เองก็มีโดนบ้างเหมือนกัน แต่ผลคือไม่สามารถจัดการอะไรได้เด็ดขาดเลย

ในระหว่างการทำสติกเกอร์แต่ละครั้ง ขั้นตอนแรกคือการเลือกคอนเซปต์ บางคนเลือกเพราะเรื่องนี้อยู่ในกระแส บางคนก็เลือกเพราะเรื่องนี้ยังไม่ถูกพูดถึงเท่าไหร่ในสังคม ส่วนบางคนก็เลือกเพราะมันจำเป็นที่จะต้องพูด แล้วสำหรับ roger.major.tom มีวิธีในการเลือกคอนเซปต์ของสติกเกอร์แต่ละลายอย่างไรบ้าง?

เลือกจากประเด็นที่เราสนใจเองประกอบกับเป็นประเด็นทางสังคมที่กำลังถูกพูดถึงหรือเป็นที่โต้แย้งกันอยู่ด้วย อย่างลายแรกที่ออกมา Dem 4.0 เราก็เลือกจับสิ่งที่แทบทุกคนสามารถรีเลทได้ทันที พอต่อมาเราก็เริ่มเน้นเจาะเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น คือ เควียร์ เฟมินิสต์ พอมาแนวนี้คนก็เริ่มพอจดจำเราได้บ้างแล้ว เราต้องการสร้างฐานกลุ่มลูกค้าก่อน ลายต่อมาคอลเลกชั่นล่าสุดอย่าง Take Care จึงเลือกหยิบยกสิ่งที่มันเป็นที่โต้เถียงกันมา ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ mental health เกิดขึ้นจากช่วงที่มีทวีตโต้เถียงเรื่องคำพูดที่ใช้กับผู้ป่วยบนทวิตเตอร์ ส่วนลาย Too $exy ก็มาจากประเด็นความเข้าใจผิดถึงเรื่อง consent และ victim blaming ที่ชอบเกิดขึ้นบ่อยๆ ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก มีแอบคิดเหมือนกันว่าคนจะนึกไปถึงว่าร้านนี้ซีเรียสไปไหม ไม่กล้าซื้อ ก็เลยทำสติกเกอร์ลายที่ไม่เกี่ยวกันออกมาขนานไปด้วย หวังว่าในอนาคตเราจะได้หยิบจับประเด็นที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงมาทำให้เป็นที่พูดถึงได้มากยิ่งขึ้น

View this post on Instagram

สายรุ้งของโรเจอร์เมเจอร์ทอมไม่ใช่เป็นเพียงแค่สายรุ้งสีหวานธรรมดา แต่ทุกแบบมีความหมาย เพราะสติกเกอร์สายรุ้งของเราหมายถึงอัตลักษณ์ของ lgbtq+ 🏳️‍🌈 gender 101 กับ @roger.major.tom วันนี้ ขอเสนอ ✨สีแทนอัตลักษณ์และความหมายของสายรุ้งในมุมมองเพศ✨ เราตั้งใจทำสติกเกอร์ลายเจนเด้อขึ้นมาเพื่อให้กลุ่มความหลากหลายทางเพศ/ผู้ที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางเพศ ได้นำไปใช้ด้วยความภาคภูมิใจและต้องการแสดงออกถึงการมีอยู่ของ lgbtq+ ในประเทศไทย เพื่อเป็นการไม่เกิดความเข้าใจผิดซื้อลายสายรุ้งไปใช้โดยยังไม่เข้าใจความหมายที่มีอยู่นอกจากเห็นว่าน่ารัก เราเลยได้ทำโพสต์นี้ขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนได้เห็นกันว่าสีแบบไหนเป็นของเจนเดอร์ใดกันบ้าง นอกจากสายรุ้งจะน่ารักสวยงามแล้วสายรุ้งยังสามารถนำมาเสนอความหลากหลายทางเพศที่ลื่นไหลและมีอยู่หลากสีเหมือนสายรุ้งด้วยนะ โลกใบนี้ไม่ใช่ผู้ชายที่ *ต้องคู่กับสีน้ำเงินสีฟ้า* กับผู้หญิง *ต้องคู่กับสีชมพู* แต่ว่าเราจะเป็นสีอะไรก็ได้ที่เราชอบเนอะว่ามั้ย! 🌈🏳️‍🌈🗿 It is a spectrum😼☝️

A post shared by RMT (@roger.major.tom) on

การเป็นเฟมินิสต์ช่วยปลดแอกอะไรได้บ้าง?

เฟมินิสต์ช่วยทำให้เราได้รู้สึกตัวกับสิ่งที่เราไม่เคยได้นึกถึง ไม่ทันได้ฉุกคิดมาก่อนว่าสิ่งเหล่านั้นมันคือความไม่เท่าเทียมทางเพศ เป็นสิ่งที่เรากำลังถูกกดอยู่จากสังคมชายเป็นใหญ่แต่เราดันไม่รู้ตัว ทีแรกเราคิดว่าเฟมินิสต์มันคงหมายถึงเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น เพราะเราได้รับสารผิดๆ จากสื่อทั่วไปในไทยที่ยังไม่ได้มีใครพูดถึงเรื่องของเฟมินิสต์แบบจริงจังมากไปกว่าการเกลียดผู้ชายเจ้าชู้ หรือการลุกให้ผู้หญิงนั่งบนรถไฟฟ้า เราเสียใจมากที่ตัวเองก็เคยเป็นคนที่รู้สึกรำคาญกับคำว่าเฟมินิสต์ทั้งที่ไม่รู้จริง ๆ ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร

พอได้เปิดใจเรียนรู้คำว่า เฟมินิสต์ ในมิติที่เป็นสากลมากขึ้น ได้เห็นความเคลื่อนไหวในประเทศต่างๆ การร่วมมือกันทำเป็นองค์กรเพื่อความเท่าเทียมทางเพศมากมายในหลายๆ ประเทศ มันช่วยปลดแอกขยายอาณาเขตความรู้ความเข้าใจของเราไปอีก แล้วช่วยให้เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ประจำวันที่เราคิดว่าอาจหงุดหงิดไปเอง คิดมากไปเอง หรือประสาทไปเอง แต่แท้จริงแล้วมันก็เป็นผลพวงจากสังคมชายเป็นใหญ่หลายๆ อย่าง เช่น เรื่องในครอบครัวที่เราเดิมทีก็คิดว่าพ่อเราอาจมีนิสัยส่วนตัวแบบนั้นเฉยๆ แต่มันสามารถยึดโยงไปถึง toxic masculinity ความรุนแรงในครอบครัว gender roles ส่วนมากที่เราเจอมักถูกครอบครัวคาดหวังให้เป็นผู้หญิงที่เรียบร้อย ทำกับข้าวเป็น และแต่งงาน ส่วน victim blaming เมื่อเราถูกคุกคามทางเพศ 

การเป็นเฟมินิสต์มันไม่ใช่อะไรที่ดูย่ำแย่ การเรียกร้องและยืนหยัดในความไม่เท่าเทียมมันเป็นเรื่องของทุกคนที่มีชีวิตอยู่บนโลกผืนนี้ แน่นอนว่าการเลือกเป็นเฟมินิสต์นั้นมันเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล แต่เราเห็นด้วยกับประโยคที่ว่า ‘เราทุกคนเป็นเฟมินิสต์ในมิติที่ว่าไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไร’ เราต่าง suffer กับกรอบทางเพศที่สังคมวางและคาดหวังเอาไว้ให้เราเป็นไปตามบรรทัดฐานนั้น ๆ เพียงเพราะเราเกิดมามีอวัยวะเพศที่เรียกว่า จู๋ กับ จิ๋ม แบบที่เราไม่ได้เลือกได้ตอนไข่กับอสุจิปฏิสนธิกัน แค่การเกิดมามันก็แรนด้อมมากแล้ว ทำไมเราถึงต้องปล่อยให้กรอบสังคมที่ยึดติดเพียงแต่เพศที่เราไม่ได้เลือกโดยสมัครใจมาจำกัดตัวตน การกระทำ ความคิดของเราด้วย ซึ่งเฟมินิสต์มีแนวคิดที่ทลายกรอบเหล่านั้นและนำสิ่งที่เป็นประโยชน์มาสู่ทุกคน แม้กระทั่งผู้ชายแบบคำว่า ‘สุภาพบุรุษ’

ความคิดเห็นของคุณเจ๋ต่อแนวคิด ‘สุภาพบุรุษ’ เป็นอย่างไร? 

สุภาพบุรุษเป็นกรอบให้ผู้ชาย toxic masculinity มาก เนื่องจากต้องทำงานหาเงิน ปกป้องผู้หญิง ห้ามด่าผู้หญิง ช่วยผู้หญิงถือของ  ให้เกียรติผู้หญิงเลยต้องห้ามทำร้ายร่างกายผู้หญิง ถ้าทำร้ายร่างกายผู้หญิงคุณก็จะไม่ใช่สุภาพบุรุษ คนมักใช้คำนี้ไว้ชื่นชมพฤติกรรมที่ทุกคนต่างควรที่จำปฏิบัติกันเป็นปกติอยู่แล้วโดย ซึ่งไม่จำเป็นต้องตีกรอบทางเพศนี้ขึ้นมาเลยด้วยซ้ำว่านี่คือพฤติกรรมของสุภาพบุรุษ ไม่ว่าใครก็ไม่ควรทำร้ายร่างกายหรือไม่ให้เกียรติกันอยู่แล้ว 

ความเป็นสุภาพบุรุษบางทีมันก็เคลือบแฝงอำนาจของเพศชายที่มองว่าผู้หญิงมีอำนาจน้อยกว่า อ่อนแอกว่า จึงต้องมีผู้ชายคอยปกป้อง แอบมีคำถามขึ้นมาเหมือนกันว่า ถ้าอีกฝ่ายเป็น transgender หรือเป็นทอมจะยังใช้คำว่า ‘สุภาพบุรุษ’ ด้วยหรือเปล่า สำหรับเราการทำตัวเป็นสุภาพชนมันไม่ใช่เรื่องที่ต้องเอามายึดโยงเกี่ยวกับเรื่องของเพศ แถมเรื่องนี้ยังทำให้ผู้ชายหลายคนรู้สึกไม่คอมฟอร์ทด้วยซ้ำไป เพราะมันกลายเป็นการห้ามให้ผู้ชายแสดงความอ่อนแอของตัวเองออกมา ซึ่งความอ่อนแอมันถือเป็นความรู้สึกอ่อนไหวของมนุษย์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว ผู้ชายเองก็ควรได้รับการถูกปลดปล่อยจากกรอบนี้เหมือนกันไม่ใช่แค่กับผู้หญิง เคยคิดเล่นๆ เหมือนกันว่าทำไมถึงไม่มีใครชมผู้หญิงในแง่ของความเป็นสุภาพสตรีเช่นเดียวกับที่สังคมใช้ยกย่องผู้ชายว่าเป็นสุภาพบุรุษ

นอกจากสติกเกอร์แล้ว roger.major.tom ยังอยากสื่อสารหรือนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ไปในแง่มุมไหนบ้าง? ในอนาคตเรามีโอกาสได้เห็น roger.major.tom ในรูปแบบไหนบ้างนอกเหนือจากสติกเกอร์ 

ยังมีอีกหลายอย่างหลายประเด็นเลย อาจจะมีทั้งเรื่องที่ political บ้าง ไม่ political บ้าง บางอย่างอาจไม่ได้อยู่ในรูปแบบสินค้า แต่เราจะพยายามทำเป็นคอนเทนต์แทรกเสริมด้วย ในอนาคตคิดว่าอาจจะได้เจอกันในรูปแบบสินค้าชนิดอื่นๆ แอบกระซิบว่า เราอยากทำโปสเตอร์กับ griptok มาก ไว้ปีนี้มารอดูกันนะคะว่าจะออกมายังไงบ้าง ฝากติดตามด้วยนะคะ ☺

 

ติดตาม roger.major.tom ได้ที่ Instargram และ Twitter

 

 

written by : Thananya Tanchawalit