เล่าเรื่องผ่านภาพจากประสบการณ์และเลนส์กล้อง ในการเดินทางแบบเถื่อนๆ ของ สิงห์-วรรณสิงห์

“เถื่อน” ถ้าได้ยินคำนี้สิ่งแรกอาจจะนึกถึงคำที่มีความหมายไปในทางลบ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่รู้จักและติดตาม สิงห์-วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล อยู่เป็นประจำก็คงจะนึกถึงแต่การเดินทางสุดโหดที่หลายคนอาจจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับความโหดนั้น เราได้เห็นความ เถื่อน ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือ เถื่อน7 เถื่อน8 และรายการ เถื่อนTravel ให้แฟนๆ ได้เห็นความทรหดอดทนกับการเดินทางไปในที่ต่างๆ นอกจากเรื่องเล่าผ่านตัวอักษรและรายการทาง youtube แล้วนั้น ยังมีรูปภาพอีกมากมายที่เขายังไม่ได้ปล่อยออกมาให้ได้เห็นความเถื่อนกัน วันนี้ วรรณสิงห์ ได้รวบรวมเอาไว้ในหนังสือเล่มใหม่ เถื่อน100 ที่ให้ทุกคนได้เห็นภาพของการเดินทางในที่ต่างๆ ของเขากัน ทาง NYLON ก็ได้มีโอกาสได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวการเดินทางต่างๆ มาให้ทุกคนได้อ่านกัน และสำหรับใครที่ติดใจการท่องเที่ยวแบบสิงห์แล้วก็ไม่ควรพลาดหนังสือเล่มนี้ไปนะ

ช่วยอธิบายคำว่า “เถื่อน” ในการเดินทางของวรรณสิงห์หน่อย ว่ามีความหมายว่าอย่างไรบ้าง

จริงๆ คือคำว่า “เถื่อน” เป็นคำที่จับพลัดจับผลูได้มาตอนที่ผมทำหนังสือเดินทางเล่มแรกเมื่อประมาณ 4 ปีก่อนครับ ก็คือหนังสือ “เถื่อน7” ตอนนั้นเนี่ยเราก็แค่อยากรวบรวมเส้นทางการเดินทางตลอดหลายปีที่ผ่านมาแล้วมาเขียนเป็นหนังสือ แล้วก็ตอนแรกตั้งชื่อไว้อย่างเท่เลย The Way หนทาง อะไรแบบนี้ อยู่ดีๆ พี่ โหน่ง วงศ์ทนง ก็ให้ไอเดียมาว่า ชีวิตผมเนี่ยเถื่อนมากรู้ไหม (หัวเราะ) ก็เลยได้ชื่อ Working Title ของหนังสือเล่มนั้นว่า เถื่อน7 เพราะว่ามี 7 เรื่อง ตอนแรกเราก็คิดว่าเราจะมีชื่ออื่นผุดขึ้นมาระหว่างทำงาน แต่ทุกคนก็คิดชื่ออื่นไม่ออกอยู่ดี ก็เลยจบที่ชื่อนี้ครับ แล้วเราก็รู้สึกร่วมกันว่าคำว่า “เถื่อน” มัน Represent อะไรบางอย่างที่เราทำอยู่ แต่มันไม่ใช่เถื่อนในเชิงที่ว่า บ้านป่าเมืองเถื่อน หรือว่า ความป่าเถื่อน แต่มันคือการผจญภัยการไปสำรวจสิ่งที่คนอื่นไม่ค่อยไปกัน การได้เอาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ ที่ Extreme ต่างๆ เพื่อเรียนรู้อะไรบางอย่าง สำหรับผมเถื่อนคือ Spirit ของการผจญภัยครับ แล้วจากนั้นก็เลยต่อเนื่องมาเป็นหนังสือ “เถื่อน 8” เป็นรายการ “เถื่อนTravel” แล้วก็จะมี “เถื่อน Channel” ทำออนไลน์ด้วย คำนี้มันไปได้เรื่อยๆ เลย 

จากประเทศที่ไปมาทั้งหมด ชอบประเทศไหนที่สุด

จริงๆ มีคนถามคำถามนี้บ่อยนะครับ ก็เริ่มจากไปมาเท่าไหร่ตอนนี้ก็อยู่ที่ 71-72 ประเทศนะครับ  ผมก็ตอบไม่เคยได้สักทีว่าชอบที่ไหนที่สุด แต่ถ้าให้เลือกที่มีความสุขที่สุดที่บอกได้ก็คือ ประเทศนามิเบีย ครับ เพราะว่าโล่งดีไม่ค่อยมีคนเลย มีความสุขดีนะครับตอนที่เราขับรถอยู่กลางทะเลทรายคนเดียวแล้วข้างทางมีแต่ เก้ง กวาง ขับรถไปร้อยกว่ากิโลไม่สวนกับรถสักคันเลย มันเป็นความรู้สึกสงบ อิสระ และวิวมันก็ไม่ใช่แค่เรื่องความสวยอย่างเดียว มันคือความรู้สึกแบบหลุดพ้นจากเรื่องของมนุษย์ทั้งปวง เราอยู่แค่กับธรรมชาติจริงๆ มันก็เลยเป็นประเทศที่ทำให้เราแฮปปี้มากๆ เพราะว่าตอนนั้นเราไปด้วยจิตใจที่ค่อนข้างอ่อนแอและก็ซึมเศร้ามากๆ พอไปเจอสิ่งเหล่านั้นมันก็ช่วยเยียวยาจิตใจเราได้ แต่ว่านั่นก็เป็นแค่เรื่องความสบายใจส่วนตัว ถ้าพูดถึงประเทศที่ได้เรียนรู้เยอะสุดก็คือ ประเทศอัฟกานิสถาน เพราะว่าเป็น War Zone ที่แรกที่เราได้ไป แล้วมันก็เหมือนได้เรียนรู้อะไรเยอะมากในการไปครั้งนั้น หรือประเทศที่สะเทือนใจที่สุดคือ ประเทศซีเรีย ซึ่งยังไม่ได้เข้าประเทศเลยแค่อยู่ตะเข็บชายแดน เรื่องราวที่เจอแต่ละเรื่องก็ไม่ไหวแล้ว แล้วก็มีทั้งเรื่องประเทศที่สวยสุด ประเทศที่โหดสุด อะไรแบบนี้ครับ ก็แล้วแต่ในแต่ละพื้นที่ ก็มีรสชาติต่างกันไปในทุกการเดินทาง

แล้วมีประเทศที่ไม่ประทับใจบ้างไหม

ก็จะเป็นประเทศที่ จริงๆ เขาคงมีอะไรแหละ แต่ว่าเราอาจจะพลาดในการประสานงานและเตรียมการ จนไปถึงแล้วเราไปติดอยู่กับความเป็นนักท่องเที่ยวมากเกินไป ขอไม่พูดชื่อแล้วกันครับ (หัสเราะ) แต่ว่ามันจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ มันขึ้นอยู่กับเราว่าไปแล้วเราออกแบบการเดินทางอย่างไร ถ้าเราออกแบบการเดินทางให้มันลุยจริงๆ เข้าถึงแก่นจริงๆ เราก็ได้อะไรอยู่แล้ว บางทีติดต่อไปอย่างหนึ่ง บริษัททัวร์ที่ติดต่อไว้ให้อีกอย่างหนึ่งมา ก็กลายเป็นเราต้องไปแวะตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ถ่ายวิวอะไรแบบนี้ ก็ไม่ค่อยได้อะไรเท่าไหร่กลายเป็นทัวร์สไตล์ไป  แต่ยิ่งทำรายการมานานหนึ่งใน Skill ที่เราได้ก็คือ การแยกแยะออกว่าบริษัทไหนดีลกับสื่อมืออาชีพ บริษัทไหนทำกับนักท่องเที่ยวเพราะฉะนั้นตอนช่วงคุยตั้งแต่แรกก็จะพยายามคุยให้เคลียร์ว่าสิ่งที่เราต้องการคืออะไร

คิดว่าจากประเทศทั้งหมดที่ไปมาที่ไหน “เถื่อน” ที่สุด

มันก็มีหลายเถื่อนนะ ถ้าเถื่อนทางกายเนี่ย ผมก็จะบอกว่า ประเทศกรีนแลนด์ นะครับ คือการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในอุณหภูมิ -32 องศา ไม่ใช่เรื่องสนุกเลยมันสวยก็จริง ผมกลับมาจากกรีนแลนด์ได้สองเดือนปลายนิ้วผมชาไปเลย แบบไม่รู้สึกเลยเพราะว่า ตอนอยู่ที่นั่นไม่ได้ใส่ถุงมือหนา เพราะใส่แล้วกดกล้องไม่ได้ ก็เลยใส่ถุงมือบางๆ แต่ชาวท้องถิ่นเข้าใส่ถุงมือหนังแมวน้ำกัน ผมมีแค่ถุงมือบางๆ แล้วไม่รู้สึกตรงปลายนิ้วไป 2 เดือนแต่ยังดีที่มันกลับมา (หัวเราะ) ถ้าผมทะลึ่งไปถอดถุงมืออยู่นานๆ ผมอาจจะต้องตัดมือก็ได้ โดยที่อาจจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำเพราะมันจะค่อยๆ ตายไปโดยไม่รู้ตัวแต่นั่นคือทางกายภาพนะครับ ถ้าเถื่อนในเชิงสงครามประเทศที่ผมมีความวิตกที่สุดคือ ประเทศอัฟกานิสถาน เพราะว่าเป็น War Zone ที่แรกที่ผมไป แต่ถ้าเอาที่บรรยากาศก็จะเป็น ประเทศโซมาเลีย ครับ คืออย่างเช่นผมลงจากสนามบินตอนแรกผมก็โดนสอบสวนเลยว่า “คุณเป็นสปายหรือเปล่า?” โดนกักอยู่ที่ชายแดนอีก 4 ชั่วโมง แล้วก็เวลาไปไหนมาไหนผมต้องมีรถอารักขาที่เป็นตำรวจ ซึ่งเป็นตำรวจนะแต่เราจ้างตำรวจไปเป็นบอดี้การ์ดได้ในประเทศนี้ (หัวเราะ) เป็นรถติดปืนกลครับมีอยู่สี่คนถือปืนกลไว้ตลอดเวลา แล้วระหว่างขับรถไปมาใน กรุงโมกาดิชู ที่โซมาเลีย ก็มีคนมาแทรกตรงกลาง ตำรวจที่เป็นคนอารักขาเราเขาก็ยิงปืนขึ้นฟ้า แล้วก็ลงไปเคลียร์กับคนที่ขับรถมาแทรกระหว่างรถอารักขากับรถเรา แล้วรถที่มาแทรกตรงกลางก็ดันเป็นผู้ใหญ่ในกองทัพอีกก็ทะเลาะกัน แบบบรรยากาศมันชวนงงมาก หรือเดินอธิบายสถานที่อยู่ก็มีคนมาต่อยกันอะไรแบบนี้ มันมีอะไรเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาที่เลยโมกาดิชู แต่ว่าตอนนั้นเราก็ไป War Zone มาหลายที่แล้ว ก็เลยไม่ได้ตื่นตระหนกตื่นเต้นอะไร เอาแต่คิดว่าเราจะถ่ายทันไหมมากกว่า (หัวเราะ)

คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ท้าทายที่สุดของการเดินทาง

ก็ถ้าเป็นช่วงแรกๆ มันก็จะท้าทายอยู่หลายระดับนะ คือบางประเทศนี่แค่จะเข้าไปก็ยากแล้วอย่างพวกประเทศ War Zone ทั้งหลายขั้นตอนการขออนุญาตมันยากมากเหมือนกัน อย่าง อิรัก นี่คือเป็นประเทศที่ขอวีซ่ายากที่สุดในชีวิตแล้ว ต้องใช้เอกสารหลายอย่าง ต้องบินไปที่ กัวลาลัมเปอร์ ต้องให้สถานทูตไทยในกัวลาลัมเปอร์รับรองเอกสารที่เราแปลมาอะไรแบบนี้ หลายขั้นตอนมาก สรุปคือผมเสียค่าวีซ่า อิรัก ไปก็ 20,000 บาทแล้ว เพราะว่ามันต้องรวมค่าตั๋วเครื่องบินไปกัวลาลัมเปอร์ด้วย แล้วไปวันเดียวไม่ได้ก็ต้องเสียค่านอนโรงแรมที่นั่นสองคืนเพื่อรอวีซ่า เป็นวีซ่าที่ได้ยากที่สุดบอกได้เลย จริงๆ ไปแล้วคนอิรักเขาน่ารักมากนะ แต่เราทำวีซ่าไปแบบเที่ยวเดียวเข้าไป ก็เลยคิดหนักแล้วว่าไม่อยากทำวีซ่าอีก (หัวเราะ) แล้วตอนได้วีซ่ามาคือเขาสะกดชื่อผมผิดไปหนึ่งตัว ผมก็แบบซวยแล้วต้องไปทำใหม่หรือเปล่า (หัวเราะ) สุดท้ายเข้าได้ก็เลยโอเค นั่นก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง แต่ว่าถ้าเป็นความท้าทายที่มีในทุกทริปเนี่ย ก็คือเราต้องใช้สมองหลายส่วนมากๆ พร้อมกัน สมองส่วนพิธีกรก็ต้องคิดไปว่าจะพูดอะไร จะเอ็นเตอร์เทนคนอย่างไร จะสัมภาษณ์อะไร สมองส่วนตากล้องก็ต้องคิดว่าสัมภาษณ์เสร็จจะต้องใช้ภาพอะไรในการเล่าเรื่องนี้ สมองส่วนเทคนิคก็คือเรื่องของอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมไหมต้องเสียบอะไร คือระหว่างสัมภาษณ์อยู่เราก็ต้องคิดว่าเดี๊ยวจะต้องถ่ายภาพอะไรมาเสริมสัมภาษณ์นี้ และต้องคิดว่าต้องใช้อุปกรณ์อะไรในการถ่าย และเมื่อสัมภาษณ์เสร็จต้องหยิบอุปกรณ์เหล่านั้นออกมาทันที ให้พร้อมเพื่อเซฟเวลาทั้งหมดให้รวดเร็วที่สุดเพราะเวลาในแต่ละพื้นที่มันมีจำกัดมาก และความท้ายทายในเชิงเทคนิคก็เยอะ อย่างเช่นล่าสุดผมลองที่ซาฮาร่า ผมขับรถไปด้วยและบินโดรนตามรถไปด้วยและถ่ายตัวเองกำลังบินโดรนอยู่ในรถอีกที (หัวเราะ) ซึ่งก็ว่ายากแล้ว ล่าสุดไป จอร์เจีย ก็ลองใหม่คือขี่ม้าและบินโดรนตามตัวเองแต่ว่ามันไม่ไหว (หัวเราะ) ก็ได้ลองอะไรใหม่ๆเรื่อยๆ ครับแต่สมองต้องทำงานทั้งใน เชิงครีเอทีพ เชิงโปรดักชั่น ในเชิงประสานงานและในเชิงเอาตัวรอดต่อสถานการณ์ต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย และบวกกับร่างกายที่ต้องแบกของหนักมากแล้วก็ทนร้อน ทนหนาวไปเรื่อยๆ มันก็ท้าทายจริงแต่ว่านั่นคือช่วงทำประมาณสองปีแรก พอทำไปสักพักมันก็เริ่มง่ายขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราชิน แล้วความท้าทายพวกนี้มันก็ลดลงไปเยอะ ทำให้ส่วนหนึ่งที่หยุดไปก่อนหน้านี้ประมาณเกือบปีเนี่ยก็เพราะว่ามันเริ่มง่ายขึ้นเยอะแล้วเราไม่สนุก ก็เลยต้องหาอะไรที่ยากกว่าเดิม ก็เลยไปนั่งคิดว่าอะไรยากกว่านี้

แล้วมีความกลัวหรือความกังวลไหมเวลาที่ต้องเดินทางไปยังที่ใหม่ๆ

ไม่ค่อยนะครับ คือความกลัวจะเป็น กลัวในเชิงที่ว่ายเราะจะได้คอนเทนต์ครบหรือเปล่า จะทำงานเสร็จไหม แต่ถ้าเป็นกลัวจริงๆ จำได้ครั้งเดียวคือกลัวก่อนเครื่องจะลงที่อัฟกานิสถานเพราะเป็น War Zone ครั้งแรกแล้วเราไม่รู้จะเจออะไร แล้วตอนอยู่บนน่านฟ้าอัฟกานิสถานคือมองลงไปแล้วบรรยากาศเหมือนในหนังสงครามที่เราดูมาตลอดทั้งชีวิตแล้วพอมาเห็นของจริงอยู่ข้างล่างมันก็เริ่มวิตก เพราะว่าเราไม่เคยไง แต่หลังจากนั้นพอผ่านอัฟกานิสถานมาได้จะไปที่ไหนก็สบายแล้ว ขนาดตอนอยู่เกาหลีเหนือเราก็รู้สึกค่อนข้างปลอดภัยพอสมควร เพราะเรารู้ว่าตราบใดที่เราทำตามที่เขาบอกไม่นอกลู่นอกทางมากก็ไม่มีอะไร ตอนเข้าไปหาเผ่ากินคนก็ไม่ได้กลัวอะไรเพราะรู้ว่าเขาคงไม่กินเราหรอก คิดว่าอย่างนั้นนะ (หัวเราะ) เพราะว่าคนที่เข้าไปกับเราก็เป็นบริษัททัวร์ที่เคยพานักท่องเที่ยวเข้าไปมาก่อน เขาก็รู้ดีว่าต้องจัดการบริหารอย่างไรคือทุกที่ที่มันมีความเสี่ยงเราสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ด้วยการหาคนที่รู้จริงไปกันเราด้วย ถ้าเราไปอิรักแบบไม่มีใครอยู่ด้วยอันนี้ก็บ้าแล้ว เราก็ต้องหาคนท้องถิ่นที่เขาทำงานกับสื่อเป็นปกติเป็นการช่วยงานเรา ซึ่งก็จะเป็นแบบนี้ทุกที่ไม่เคยเข้าไปเดี่ยวๆ ประมาณนั้น แต่ถ้าจะมีกลัวบ้างก็แบบเป็นกลัวเรื่องติ๊งต๊องครับ (หัวเราะ) เช่น ที่ที่เราไปมันต้องขึ้นเครื่องบินเล็กเยอะใช่ไหมครับ แล้วเครื่องบินเล็กเนี่ยมันจะสั่นมาก เราก็กลัวว่าจะร่วงอะไรแบบนี้ครับ

 

หนังสือเล่มก่อนตั้งชื่อว่า เถื่อน 7 – 8 ทำไมมาเล่มนี้ถึงกลายเป็น เถื่อน 100

 คือ 7 มันมาจากมี 7 เรื่องใช่ไหม 8 ก็มาจากมี 8 เรื่อง ตอนแรกก็ว่าจะเขียนเถื่อน 9 แต่ว่าไม่ค่อยอินเท่าไหร่ เขียนไปเขียนมาก็คิดว่าจะทำแบบเดิมอีกแล้วหรอ เราก็เบื่อ แล้วเผอิญประจวบเหมาะกับช่วงกลางปีมานี้ UNHCR เขาให้เราจัดนิทรรศการภาพถ่ายเพื่อระดมทุนให้ผู้ลี้ภัยพอดี ก็เลยได้กลับไปค้นรูปจำนวนมากที่มีเก็บไว้ในอดีตประมาณ 4 – 5 หมื่นรูป ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา แล้วก็พบว่า มีอีกหลายเรื่องมากเลยที่ยังไม่ได้เล่าผ่านรูปถ่าย แล้วภาพนิ่งเนี่ยก็ไม่ได้ใช้งานเลย ถ่ายไปเยอะมากแต่ส่วนใหญ่ใช้งานแค่วิดีโอ ใช้งานแค่เอาไปเขียนหนังสือ แต่ภาพนิ่งไม่เคยเอาไปใช้ก็เลยคิดว่าทำหนังสือภาพดีกว่า แต่ภาพอย่างเดียวเราก็ไม่ได้มั่นใจ เราก็ไม่ได้ถ่ายภาพสวยขนาดนั้น ไม่ได้เป็นช่างภาพมืออาชีพ ก็เลยทำ Story Book คือภาพกับเรื่องรวมกัน แต่ไม่ใช่เรื่องยาวเป็นเรื่องสั้นๆ แล้วได้ 100 เรื่อง 100 ภาพพอดี ก็รวมมาเป็น เถื่อน 100 ตอนแรกก็คิดชื่ออื่น แล้วคุยไปคุยมากับทีม ก็เอาอันนี้แหละง่ายดีไม่ต้องคิดอะไรมาก (หัวเราะ) ก็เริ่มขี้เกียจในการตั้งชื่อเพราะมีแบรนด์อันชัดเจนแล้ว ตอนนี้ทำอะไรก็ เถื่อนทีม เถื่อนChannel เถื่อนทุกอย่าง แล้วก็ไปไหนบางทีคนจำชื่อเราไม่ได้ก็เรียกเราพี่เถื่อนบ้าง เราก็ครับๆ ผมเถื่อนครับ (หัวเราะ) ก็เลยใช้แบรนด์นี้มา แต่เถื่อน 100 มันก็ค่อนข้างต่างกับหนังสือเล่มอื่นของเราเหมือนกันเพราะเป็นหนังสือที่เน้นภาพ แต่ภาพมาพร้อมเรื่องอย่างที่บอกไป เป็นหนังสือที่ใช้เวลาในการเก็บวัตถุดิบนานมากคือ 11 ปี แล้วถ้าใครไม่เคยอ่านงานหรือเสพรายการผมมาก่อน แล้วอยู่ดีๆ มาอ่านหนังสือเล่มนี้เลย ก็คงสงสัยว่าเราเป็นใคร ไปไหนมากมายขนาดนี้ มันเยอะมากจริงๆนะครับ 100 ภาพเนี่ยก็ครอบคลุม 38 ประเทศ แล้วก็แบ่งเป็น 4 หัวข้อคือ Human (มนุษย์), Nature (พิภพ), Civilization (วัฒนธรรม) แล้วก็ War (สงคราม) เล่มนี้ก็คงเป็นหนังสือที่แพงที่สุดเท่าที่เคยทำมา เราก็คิดว่าแฟนหนังสือแฟนรายการเขาก็คงอยากเก็บเอาไว้ เพราะว่า สำหรับผมมันมีมูลค่ามาก ถ้าเป็นศิลปินหรือนักดนตรีอันนี้ก็คงเป็นเหมือนอัลบั้มรวมฮิตเลยครับ

มีเกณฑ์การคัดเลือกภาพที่จะเข้ามาอยู่ในหนังสือเล่มนี้อย่างไรบ้าง

ก็มีสองเกณฑ์ครับ เกณฑ์แรกสำคัญสุดก็คือมีเรื่องราวอยู่หลังภาพนั้น เรื่องที่เราจำไม่รู้ลืม เรื่องที่สำคัญ เรื่องที่เล่าแล้วมีคุณค่า หรือเรื่องที่เราฮาก็ได้เหมือนกัน แล้วก็เกณฑ์ที่สองก็คือภาพสวยพอจะโชว์ได้ ถ้าบางอันภาพสวยมากแต่ว่าไม่มีเรื่องอะไรเลยก็ไม่ใช้ แต่บางอันภาพปานกลางนะแต่มีเรื่องอยู่ก็โอเคอันนี้ได้ ก็เลยใช้เวลาเลือกภาพ 100 ภาพจาก 4 – 5 หมื่นภาพเนี่ยก็นานมากแล้ว แต่การมานั่งเขียนแต่ละเรื่องแต่ละภาพก็ใช้เวลานานอีก แล้วรอบนี้เราทำเป็นหนังสือสองภาษาด้วย เพราะเราอยากลองขายต่างประเทศดูด้วยในอนาคต ก็เลยต้องมาใช้เวลาอีกประมาณหนึ่งในการแปลเป็นภาษาอังกฤษอีก แต่ก็จะสองภาษาในเล่มเดียวกันครับ เรารู้สึกว่างานที่เราทำเนี่ย ลักษณะคอนเทนต์คนดูคนชมก็น่าจะเป็นระดับอินเตอร์ได้ เพราะเนื้อหาก็เป็นระดับนานาชาติทั้งหมด ไม่มีอะไรเกี่ยวกับประเทศไทยเท่าไหร่เลย ก็อยากลองดูว่าในตลาดเมืองนอกเราสามารถส่งงานของเราไปขายได้บ้างหรือเปล่า ก็เลยทำเป็นสองภาษาครับ

รายการ เถื่อนTravel จะกลับมาเมื่อไหร่

ก็มีคนถามเยอะนะครับคือ เถื่อนTravel จะกลับมาช่วงปลายปีนี้ แต่ว่าเราจะไม่ทำเป็นซีซั่นแล้ว จะไม่ทำเป็นรายการทีวี เราจะย้ายมาเป็นช่องออนไลน์ของเราเองชื่อ เถื่อนChannel ซึ่งก็จะมีหลายคอนเทนต์ เถื่อนTravel ก็เป็นหนึ่งในคอนเทนต์ของ เถื่อนChannel แล้วก็จะมีรายการนู่น รายการนี่เต็มไปหมด แล้วก็ Theme ใหม่ของ เถื่อนTravel ในปีนี้และปีต่อๆ ไปก็จะลดเรื่องความขัดแย้งหรือสงครามลง ประเด็นหลักที่จะเล่นคือ Climate Change (ภาวะโลกร้อน) เราอยากพาคนไปดูภาวะเปลี่ยนแปลงของโลกนี้จริงๆ จังๆ แต่แน่นอนว่ากว่าจะบุกป่าฝ่าดงขึ้นภูเขาไปหาอะไรพวกนี้ได้ มันก็โหดๆ เหมือนเดิมแค่ไม่ได้โหดเชิงกระสุนแต่เป็นโหดด้วยธรรมชาติ อาจจะต้องฝ่าพายุ ฝ่าน้ำท่วมอะไรเข้าไปแบบนั้นครับ แต่ว่าเบื้องหลังความเอ็นเตอร์เทนที่ได้เห็น วรรณสิงห์ ลำบาก เราก็อยากที่จะส่งข้อความออกไปว่า โลกเราเริ่มไม่ไหวแล้วจริงๆ นะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกมาตลอดการเดินทางหลายปีที่ผ่านมานี้แล้วก็เริ่มต้นเราไม่ได้สนใจเรื่องโลกร้อน ไม่ได้ตั้งใจจะทำเรื่องนี้แต่มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็น จากการที่ได้ไปพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ยิ่งเห็นเยอะก็ยิ่งรู้สึกเยอะ แล้วตอนนี้ก็อยากส่งต่อความรู้สึกนี้ให้คนทั่วไปตระหนักมากยิ่งขึ้นอยากทำอันนี้เป็น Theme หลักของคอนเทนต์ใน เถื่อนChannel กับ เถื่อนTravel ครับ