พลังแห่ง Soft Power ของซีรีส์เกาหลีที่ดูอยู่ดีๆ ก็มีอิทธิพลกับความคิดแบบไม่รู้ตัว

เชื่อว่าจนถึงตอนนี้คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินคำว่า Soft Power  ซึ่งเป็นคำที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ไม่คุ้นกับความหมายที่แท้จริงของคำคำนี้ ซึ่ง Joseph Nye นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่เป็นคนที่เริ่มพูดถึงคำว่า “Soft Power”หรือ “อำนาจอ่อน” ในหนังสือ Bound to Lead ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1990 ให้นิยามคำคำนี้ว่าหมายถึง การขยายอิทธิพล การเปลี่ยนแปลงทางความคิด ที่ทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม หรือมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่นโดยไม่ใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ (Hard Power) อย่างอำนาจเศรษฐกิจ อำนาจทางการทหาร เพื่อบีบบังคับให้ยอมปฏิบัติตามในสิ่งที่ต้องการ ในยุคปัจจุบันเราสามารถเห็น Soft Power ผ่านซีรีส์และภาพยนตร์ของแต่ละประเทศที่ถูกนำเสนอออกได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร การแต่งกาย เพลง ศิลปะ ดนตรี และการท่องเที่ยว เป็นต้น (อ้างอิง: Washingtonpost.Newsweek Interactive, LLC)

ใครที่ดูซีรีส์เกาหลีเป็นประจำคงจะรู้ดีว่าซีรีส์เกาหลีในแต่ละเรื่องนั้น มักจะมีการนำเสนอเรื่องราวของอาชีพต่างๆ ผ่านตัวละครได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น หมอ ตำรวจ ทนาย นักข่าว อัยการ เป็นต้น ซึ่งซีรีส์เกาหลีถือเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อ Soft Power ในประเทศเกาหลีเป็นอย่างมาก

ถ้าให้ยกตัวอย่างการสอดแทรกที่ประสบความสำเร็จสุดๆ ของเกาหลีคงหนีไม่พ้นเรื่องอาหารการกินที่ตอนนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็เจอร้านอาหารเกาหลีเต็มไปหมด หรือแม้แต่ช่วงล็อกดาวน์ทั้งที่ไทยและต่างประเทศในปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเดียวกันกับ Itaewon Class กำลังออนแอร์ ก็มีคนออกมาแจกสูตรสอนทำอาหารเกาหลีกันเยอะแยะไปหมด ทำให้การหาวัตถุดิบในการทำอาหารเกาหลีนั้นยากเย็นเหลือเกิน ไปที่ไหนก็หมดทุกที่พร้อมใจกันเกิดเป็นเชฟเกาหลีกันแทบทุกบ้าน ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้นแต่ตามโซเชียลของประเทศอื่นๆ ต่างก็ “อิน” กับการรับบทเป็นหนุ่มสาวชาวเกาหลีในการทุ่มเทลองทำอาหารเกาหลีด้วยตัวเองเหมือนกัน

ไม่ใช่ Itaewon Class แค่เรื่องเดียว แต่ซีรีส์เกาหลีเกือบทุกเรื่องจะมีฉากอาหารที่ชวนน้ำลายไหลกันแทบทั้งนั้น จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมอาหารการกินของเกาหลีใต้ถูกนำเสนอผ่านชีวิตประจำวัน จึงถือได้ว่าการนำวัฒนธรรมอาหารเข้ามาใส่ในสื่อเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จอย่างย่ิงใหญ่ของการส่งออกวัฒนธรรมของคนเกาหลีเลยก็ได้

ไม่เพียงแต่วัฒนธรรมทางด้านอาหารเท่านั้น แม้แต่ความรู้ด้านการแพทย์ก็สามารถสอดแทรกเข้ามาในสื่อบันเทิงด้วย อย่าง Hospital Playlist ซีรีส์ดังที่เพิ่งจบซีซันส์ที่ 2 ไปนั้นก็เป็นหนึ่งในที่ยังช่วยสร้างพลังในการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมเกาหลีใต้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นอีกด้วย ผ่านการถ่ายทอดชีวิตของผู้ป่วยที่ต้องเจ็บป่วยกับโรคร้ายและต้องรับการปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคควบคู่ไปกับเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและชีวิตการทำงานในโรงพยาบาล จนส่งอิทธิพลไปสู่ผู้ชมที่ได้รับรู้ถึงความยากลำบากของผู้ป่วยที่ต้องการปลูกถ่ายอวัยวะทำให้เกิดปรากฎการณ์ชาวเกาหลีใต้พากันลงชื่อเพื่อบริจาคอวัยวะกัน โดยตัวเลขบริจาคนั้นเพิ่มขึ้นถึง 11 เท่าเลยทีเดียว

หากพูดถึง Soft Power ที่แทรกอยู่ในซีรีส์ใหม่ล่าสุดที่กำลังมาแรงในขณะนี้จะเป็นเรื่องไหนไปไม่ได้นอกจากเรื่อง Hometown to Cha Cha Cha ที่มีฉากการถ่ายทำดูสวยและชวนให้เราไปเที่ยวกันที่หมู่บ้านชาวประมงกงจิน ที่ใช้ เมืองโพฮัง ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ริมทะเลที่ซีรีส์เรื่องนี้ใช้โลเคชั่นหลักในการถ่ายทำ โดยซีรีส์เกาหลีส่วนใหญ่จะนำเสนอมุมองต่างๆ ของแต่ละเมืองให้มีความแตกต่างกันออกไปผ่านซีรีส์ ที่ทำให้ผู้ชมได้รู้ว่าประเทศเกาหลีไม่ได้มีดีแค่เมืองหลวงอย่างโซลและเมืองติดทะเลแค่ปูซานเพียงเท่านั้น ในฐานะนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ อาจจะไม่เคยได้ยินชื่อเมืองโพฮังนี้มาก่อน แต่สิ่งที่เราได้เห็นภายในเรื่องนอกจากความสัมพันธ์ของชาวหมู่บ้านกงจินแล้ว เรายังได้เห็นบรรยากาศความสวยงามที่เป็นหนึ่งในคีย์หลักที่ส่งผลให้เรื่องดำเนินมาได้ด้วยเช่นกัน

ซึ่งภาพสวยๆ ที่เราได้เห็นกันนั้นกลายเป็นพลังดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศอยากไปท่องเที่ยวเยี่ยมชมวัฒนธรรมและเห็นบรรยากาศความสวยงามกับตาของตัวเอง และอีกสิ่งหนึ่งที่ซีรีส์เรื่องนี้พูดถึงด้วยนั่นก็คือ การโยกย้ายออกจากเมืองหลวงสู่ชนบท แม้ว่าเหตุผลการย้ายมาของ ยุนฮเยจิน (รับบทโดย ชินมินอา) จะไม่ค่อยดีเท่าไรนัก แต่เนื้อเรื่องก็จะดำเนินไปให้เราได้รู้สึกถึงโอกาสต่างๆ ในเมืองเล็กไม่หลากหลายเท่ากับเมืองหลวงก็ตาม แต่ถ้าเรียนรู้ที่จะปรับตัวควบคู่ไปกับหาช่องทางในการทำงานได้ การอาศัยอยู่ในต่างจังหวัดก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น และไม่จำเป็นที่ต้องย้ายเข้าเมืองหลวงก็ได้นะ

Hometown Cha Cha Cha (tvn)

Hometown Cha Cha Cha (tvn)

Hometown Cha Cha Cha (Netflix)

อีซังอี หนึ่งในนักแสดงของเรื่องนี้ก็ได้บอกเอาไว้อีกด้วยว่า ตอนนี้การย้ายถิ่นอาศัยจากโซลไปที่เกาะเชจูกำลังเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ๆ (อ้างอิง: Everything You Need To Know About ‘Hometown Cha-Cha-Cha) ดังนั้นภาพต่างจังหวัดที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านสื่อบันเทิงเกาหลีก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เหล่าคนรุ่นใหม่เปลี่ยนใจกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่เกาหลีเหมือนเดิมเพิ่มเติมอาจจะเป็นการย้ายถิ่นฐานก็ได้ หลังจากที่อัตราการอยากย้ายออกนอกประเทศเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีความสามารถในใช้ Soft Power ก็คงจะไม่นิ่งนอนใจใช้ประโยชน์จากสื่อบันเทิงเพื่อทำให้คนรุ่นใหม่ มองภาพประเทศของตัวเองในอีกแบบ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่นี่แหละที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคตได้

มองกลับมาที่บ้านเราก็อาจจะต้องรอการสนับสนุนอย่างเป็นทางการมากกว่านี้อีกสักหน่อย เพราะความจริงแล้ววัฒนธรรมของไทยนั้นมีหลายอย่างที่น่าสนใจและสามารถส่งออกได้ ตอนนี้ขั้นตอนการสร้าง Soft Power ของเราอาจจะยังไม่แข็งแรงพอ แต่ในอนาคตหากว่าผู้เกี่ยวข้องเล็งเห็นถึงการใช้ประโยชน์ตรงส่วนนี้ สื่อบันเทิงไทยก็คงจะทำได้ดีไม่แพ้ใครเลยล่ะ


Written By: Suchanan Chantanachard

 

reference:

South Korea Crosses a Population Rubicon in Warning to the World

75% of young want to escape South Korean ‘Hell’

Thanks To Drama Hospital Playlist 2, Organ Donors In South Korea Increase By 11x

 

cover:

tvn Drama

Netflix