ซอลลี่และรอยยิ้มที่หายไปตลอดกาล: ไอดอลสาวกับการส่งเสียงในสังคมชายเป็นใหญ่ของเกาหลีใต้
ตุลาคมปีที่แล้ว ที่ประเทศเกาหลีใต้มีข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งที่สร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมไปทั่วภูมิภาค คือข่าวการตัดสินใจจบชีวิตตนเองลงของ ชเว จินรี หรือ ซอลลี่ ไอดอลสาวชื่อดังอดีตสมาชิกวง f(x) หลังจากที่เธอต้องเผชิญกับการ Cyberbully มาตลอดหลายปี เพียงเพราะเธอกล้าที่จะ “ต่าง”
เป็นความ “ต่าง” ที่ถูกปั้นขึ้นโดย “วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่” ซึ่งฝังรากอยู่ในสังคมเอเชียมาหลายชั่วอายุคน
Cyberbullying ที่มาขโมยรอยยิ้มและความสดใสของ ซอลลี่ ไปอย่างไม่มีวันกลับ ได้จุดประกายให้เกิดแรงผลักดันที่ยิ่งใหญ่ในสังคมเกาหลีใต้ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิง
แล้วสังคมชายเป็นใหญ่สำคัญอย่างไร? ขึ้นชื่อว่าสังคมชายเป็นใหญ่ก็หมายถึงผู้ชายมีอำนาจมากเพียงพอที่จะกำหนดคุณค่าสรรพสิ่งในสังคม ผ่านการตีกรอบความคิดและการกระทำ และมอบสิ่งที่เรียกว่า ‘บทบาททางเพศ’ (Gender Role) ให้ทุกคนตั้งแต่เกิด พร้อมๆ กับคำว่า ‘สุภาพบุรุษ’ และ ‘สุภาพสตรี’ ที่อย่างหลังกลายเป็นสูตรสำเร็จของการเป็นผู้หญิงที่มีคุณค่าตามความคาดหวังของสังคม
ความคาดหวังนี้ อีกนัยหนึ่งก็เหมือนกับเชือกที่ผูกติดตัวเด็กผู้หญิงทุกคนตั้งแต่ครั้งแรกที่พวกเธอลืมตาดูโลก
เมื่อครั้งยังมีชีวิต ซอลลี่มักถูกพูดถึงในฐานะผู้ที่บุกเบิกมูฟเมนต์ทางสังคมเกาหลีใต้ ผลักดันให้ผู้หญิงกล้าปลดปล่อยอิสระให้แก่ร่างกาย ผ่านการฉีกภาพลักษณ์เดิมของตัวเองแล้วแทนที่ด้วยลุคที่โตขึ้น ทั้งการแต่งตัวเปิดเผยสัดส่วนอย่างการโนบรา กล้าแสดงออกในเรื่องเพศ และเปิดเผยเรื่องความสัมพันธ์อย่างชัดเจน ถึงอย่างนั้น การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นกลับไม่ใช่เรื่องดี แต่เป็นการสร้างบาดแผลขนาดใหญ่ให้กับเธอ เพราะพฤติกรรมของเธอไม่ใช่สิ่งที่ ‘ผู้หญิงที่ดี’ ควรทำ การกระทำที่ตรงข้ามกับบรรทัดฐานของสังคมทำให้เธอถูกตราหน้าว่าเป็นผู้หญิงเลว ร้าย และแรง
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนี้ ล้วนมาจากความไม่เข้าใจจากกรอบที่สังคมตั้งขึ้น จนนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ‘สุดท้ายแล้วผู้หญิงก็ไม่เคยได้รับความยุติธรรมอย่างที่ควรจะเป็น’
ซอลลี่ไม่ใช่เหยื่อเพียงคนเดียวของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ของเกาหลีใต้ มีหญิงสาวหลายต่อหลายคนที่ถูกแนวคิดสังคมชายเป็นใหญ่ทำลายชีวิต การแสดงออกว่าต่อต้านมาตรฐานของสังคมแบบนี้แม้เพียงเล็กน้อย ก็ถูกกระแสสังคมตอกกลับอย่างรุนแรง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่พวกเธอจะกล้าออกมาแสดงท่าทีสวนกระแส หักล้างบทบาททางเพศ หรือเป็นขบถต่อกรอบที่สังคมวางไว้ แต่ถึงอย่างนั้น ในหลายปีที่ผ่านมาก็มีไอดอลหญิงหลายคนที่พยายามออกมาสนับสนุนสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงด้วยกันมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น ไอรีน วง Red Velvet ที่ได้ประกาศผ่านแฟนมีตติ้ง ที่จัดขึ้นในวันที่ 18 มีนาคม 2018 ว่าเธอได้อ่านหนังสือ คิมจียอง เกิดปี 82 ซึ่งมีเนื้อหาที่แฝงความเป็นเฟมินิสต์ จนเป็นเหตุให้แฟนเพลงผู้ชายหลายคนไม่พอใจ และออกมาประกาศเลิกสนับสนุน รวมถึงเผาและฉีกทึ้งรูปภาพของเธอ นอกจากนี้ยังมี นาอึน วง Apink ที่อัพรูปเคสมือถือ Girl Can Do Anything ลงใน Instagram ส่วนตัว ซึ่งเข้าข่ายการโปรโมทเฟมินิสต์ ทำให้เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง จนเธอต้องลบโพสต์นั้นทิ้งไป แล้วไหนจะ เบ ซูจี ที่โพสต์ Instagram โปรโมทภาพยนตร์เรื่อง คิม จียอง เกิดปี 82 ซึ่งเท่ากับประกาศว่าตัวเองสนับสนุนเฟมินิสต์ นำไปสู่การโดนต่อว่าต่างๆ นานา
เรื่องราวของเหล่าไอดอลหญิงที่เราได้ยกขึ้นมาพูดนี้ เป็นตัวอย่างของการพยายามใช้พื้นที่ในสปอตไลท์ให้มีคุณค่า ในการออกมาพูดถึงและสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง และด้วยชื่อเสียงที่มีจึงทำให้เสียงของพวกเธอดังและไปได้ไกล การเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีพวกเธอริเริ่มจึงจุดติดง่ายกว่าคนทั่วไป เห็นได้จากแคมเปญและกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น
การจากไปของซอลลี่ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติของเกาหลีใต้หันมาให้ความสนใจปัญหาที่เป็นอันตรายจากบุคคลนิรนามบนโลกออนไลน์อย่างจริงจัง โดยสมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้จำนวน 9 คน เตรียมเสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อจัดการกับ Cyberbullying อย่างจริงจัง โดยโลกออนไลน์เกาหลีใต้เรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า “กฎหมายซอลลี่”
หลังจากการสูญเสียครั้งใหญ่ และการเปิดตัวสนับสนุนสิทธิเสรีภาพผู้หญิงของเหล่าไอดอลหญิง ทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศถูกหยิกยกเข้ามาในสังคมเกาหลีอีกครั้ง นอกจากนั้น หญิงสาวในสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสังคมชายเป็นใหญ่แต่ไม่อาจส่งเสียงได้ ก็ยังได้รับประโยชน์จากพื้นที่ที่เหล่าไอดอลหญิงเปิดไว้ให้ เพื่อใช้ชูเรื่องราวและแชร์ปัญหาที่ต้องพบเจอ นำไปสู่การเรียกร้องให้สังคมหยิบยื่นโอกาสในการก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญให้กับผู้หญิง และหันกลับมาตั้งคำถามกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ ลดอคติทางเพศ และมุ่งหน้าไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศในสังคมจริงๆ
written by : Thananya Tanchawalit