ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง: คุยกับ Blossom เรื่อง ‘ผู้หญิง’ และ ‘ความเท่าเทียม’ ในวันสตรีสากล

ถึงวันสตรีสากลของทุกปี แน่นอนว่าเราก็ต้องได้เห็นคอนเทนต์มากมายเกี่ยวกับผู้หญิง – แต่พอทุกวันนี้คำว่า ‘ผู้หญิง’ ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่เพศกำเนิดอย่างเดียวอีกแล้ว องค์กรวันสตรีสากลเองก็ปรับตัวเข้ากับยุคสมัย จากที่เคยมุ่งแต่ส่งเสริมสิทธิสตรี ก็ขยายมาสร้างความตระหนักรู้ถึงความหลากหลาย  ความเท่าเทียม การปราศจากอคติทางเพศและการเลือกปฏิบัติ ผ่านแคมเปญวันสตรีสากลปีนี้ #BreaktheBias ออกมา เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมสร้างความเข้าใจและเป็นส่วนหนึ่งว่าวันนี้ไม่ใช่แค่การยกระดับความเท่าเทียมของผู้หญิงเท่านั้น แต่เพื่อให้ตระหนักถึงความเท่าเทียมของ ‘ทุกคน’ อย่างเท่ากัน

เมื่อวันของผู้หญิงเลิกจำกัดความเป็นผู้หญิงแต่กำเนิด เราเลยอยากรู้ว่า trans คิดแบบเดียวกันไหม? NYLON เลยชวน บลอสซั่ม-ชนัญชิดา รุ่งเพชรรัตน์ นางแบบ trans มาพูดกันถึงเรื่องนี้ เลยไปถึงความเท่าเทียม ความเข้าใจผิด รวมไปถึงอคติทางเพศในฐานะของผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ในโอกาสวันของผู้หญิงทุกคน 

ประเทศไทยมีการประกาศ statement ตั้งแต่สมัยแม่เจิน (เจินเจิน บุญสูงเนิน) แล้วนะ ผ่านเพลงที่ชื่อว่า ‘ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง’ คือชอบตรงที่บอกว่าฉันก็เป็นแค่ผู้หญิงคนหนึ่ง

Blossom รู้สึกว่า ‘วันสตรีสากล’ เกี่ยวกับตัวเองไหม

เกี่ยวข้องมากๆ เพราะคิดว่าตัวเองก็เป็นผู้หญิง มีความเป็น feminism เลยรู้สึกเกี่ยวข้องมากๆ กับวันสตรีสากล ส่วนตัวคิดว่าประเทศไทยมีการประกาศ statement ตั้งแต่สมัยแม่เจิน (เจินเจิน บุญสูงเนิน) แล้วนะ ผ่านเพลงที่ชื่อว่า ‘ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง’ มีท่อนหนึ่งเขียนว่า ‘เป็นฉันมันผิดตรงไหน ชีวิตฉันใครกำกับ เป็นฉันใครจะยอมรับบทบาท…’ คือชอบตรงที่บอกว่าฉันก็เป็นแค่ผู้หญิงคนหนึ่ง 

แล้วก็อ่านเจอมาอันหนึ่ง เขาเขียนว่า ‘This women’s day, let’s remember that trans women are women too วันนี้คือวันของผู้หญิง อยากให้ทุกคนจำไว้ว่าผู้หญิงข้ามเพศก็คือผู้หญิงคนหนึ่งเหมือนกัน’

แล้วข้อเรียกร้องสิทธิสตรีต่างๆ ได้รวมตัวเราเข้าไปด้วยไหม

บางอย่างที่เราเกี่ยวข้องด้วย ก็รวมตัวเราเข้าไปนะ อย่างเช่น เรื่องการ Sexual Harassment หรือการ Bully เราก็เคยโดนแซว โดนแกล้ง อันนี้ก็รวมตัวเราเข้าไปด้วย แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยว กับบุตรหรือว่าผ้าอนามัย เกี่ยวกับเรื่องที่เป็นผู้หญิง [โดยกำเนิด] เท่านั้น อันนี้เราก็อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องมากนัก แต่เราก็ช่วยเรียกร้องได้ 

ทุกอย่างที่เราเกี่ยวข้องด้วยก็ต้องรวมเราอยู่แล้ว เพราะเราก็เป็นผู้หญิง หรือถ้ามีอะไรให้เราช่วย เราก็ช่วยได้อยู่แล้ว และเราก็อยากจะช่วยเพราะเราก็คือผู้หญิง (หัวเราะ) นี่คือย้ำมากเพราะ trans woman ก็คือ woman คนหนึ่งเหมือนกัน 

การที่ไม่ค่อยได้เห็นคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับ Trans ในวันสตรีสากลในปีก่อนๆ หน้า ทำให้เรารู้สึกโดนผลักออกไหม

แต่ละคน แต่ละเพศ แต่ละ way มันมีวันเฉลิมฉลองที่สร้างความตระหนักรู้อยู่แล้ว เลยไม่ได้รู้สึกถูกกีดกัน เพราะว่าเราก็มีพาร์ตที่เราได้แสดงออกทางความคิดเห็น มีวันที่ทำให้คนเข้าใจเราได้มากขึ้น อย่าง Pride Month หรือ Transgender’s Day ซึ่งพี่ก็ได้ไปพูดคุยถึงความเข้าใจถึงความเรื่องเพศด้วย 

เราว่าวันเฉลิมฉลองไม่ได้ [มีเพื่อ] แบ่งแยก แต่ช่วยสร้างความเข้าใจ ให้ความสำคัญของแต่ละเพศและคิดว่าทุกคนทุกเพศก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับความรู้ของแต่ละวันด้วยเหมือนกัน 

อย่างวันสตรีสากล ทุกคนก็จะได้เข้าว่าทำไมถึงเป็นวันสตรีสากล ให้เขาได้รู้ว่าทำไมถึงต้องมีวันนี้ ทำไมต้องรณรงค์ อย่างปีนี้ก็มีแคมเปญ #BreaktheBias ให้คนได้ตระหนักถึงการลบล้างอคติทางเพศ คนที่นิยามตัวเองว่าเป็นสตรีเพศหรือมีความเป็น feminism ก็สามารถให้ความสำคัญกับวันสตรีสากลได้เหมือนกัน

ถ้าเท่าเทียมจริงๆ ทุกคนต้องเท่ากัน แต่นี่ยังมีการแบ่งแยกบางอย่าง มีเส้นบางอย่างที่ทำให้เราไม่ได้ก้าวข้ามผ่านไปสักที เพราะทุกวันนี้ยังต้องมีคนที่ต่อสู้หรือมีคนที่เจออุปสรรคในการใช้ชีวิต

พอโลกก้าวมาไปโฟกัสเรื่อง gender equality แล้ว คิดว่ามันตอนนี้หมดยุคของวันสตรีสากลหรือยัง?

ยุคสมัยนี้มันคือยุคแห่งความหลากหลาย ความเท่าเทียม นี่คิดว่าในทุกๆ วันของแต่ละเพศหรือแต่ละวันมันคือการเฉลิมฉลองให้กับวันนั้นๆ Pride Month หรือ Transgender’s Day ก็เหมือนเป็นการเฉลิมฉลองของวันนั้นๆ [ก็คือ] คิดว่ายังไม่หมดยุคสำหรับวันสตรีสากลและวันอื่นๆ ด้วย เพราะเหมือนเป็นการฉลองมากกว่า

เรามีวันสตรีสากลต่อเนื่องมาทุกปี แล้วคิดว่าทุกวันนี้สังคมมีความเท่าเทียมทางเพศมากพอหรือยัง

ถ้าถามบลอสซั่ม บลอสซั่มคิดว่าไม่ค่ะ เพราะว่าถ้าเท่าเทียมจริงๆ ทุกคนต้องเท่ากัน แต่นี่ยังมีการแบ่งแยกบางอย่าง มีเส้นบางอย่างที่ทำให้เราไม่ได้ก้าวข้ามผ่านไปสักที เพราะทุกวันนี้ยังต้องมีคนที่ต่อสู้หรือมีคนที่เจออุปสรรคในการใช้ชีวิต เพราะคำนำหน้าของเขาไม่สามารถเปลี่ยนได้ ทั้งที่รูปลักษณ์ ร่างกาย จิตใจ ทุกอย่างเป็นผู้หญิงแล้ว แต่กลายเป็นคำนำหน้าทำให้เขาติดอะไรบางอย่างที่ทำให้ก้าวไปไกลกว่านี้ไม่ได้ คิดว่าตรงนี้ยังไม่เท่าเทียม รวมถึงกฎหมายต่างๆ สมรสเท่าเทียม ร่างพรบ.คู่ชีวิต ต่างๆ ลึกไปอีกก็ยังไม่ได้อะไรเลย คิดว่าถ้าเท่าเทียมแล้วตรงนี้มันต้องได้ 

แล้วพื้นที่ของ Trans มีมากขึ้นบ้างหรือเปล่า

เรื่องพื้นที่ ถ้าเป็นตอนนี้คิดว่าเพิ่มขึ้นมาก มากกว่าเมื่อก่อนที่ทุกคนเรียกร้องกันว่าทำไม [สื่อบันเทิง] ไม่มี transgender เลย ถึงมีก็มีเป็นตัวตลกหรือความรุนแรง หรือเป็นภาพที่ไม่สวยอะ เพราะเขาคิดว่าคนดูจะไม่ซื้อ จะไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้คนก็เริ่มให้ความสำคัญกับเพศ เรื่อความหลากหลาย การมองทุกคนเท่ากัน 

อย่างเมืองนอก เมื่อปี 2020 นิตยสาร Sports Illustrated ก็มี ‘Leyna Bloom’ เป็นนางแบบทรานส์ผิวดำขึ้นปก นี่คิดว่าเป็นการประกาศ statement ที่ดีมากๆ เลย คือปกติการขึ้นปกจะต้องเป็นผู้หญิง ผิวขาว แต่การเอาคุณ Leyna Bloom ขึ้นปกเนี่ยเป็นการประกาศเลยว่าทุกคนเทียมกัน และทุกคนก็สามารถสวยในแบบของตัวเองได้ 

อีกคนก็คือ ‘Ángela Ponce’ เป็น transgender คนแรกที่ได้ไปยืนบนเวที Miss Universe 2018 ก็เลยคิดว่า International Women’s Day ก็เริ่มมองแล้วแหละว่า transgender ก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง มีสิทธิ์เท่าเทียมกัน

อยากเห็นรัฐบาลอนุญาตให้ใช้คำนำหน้าว่า ‘นางสาว’ ได้ อันนี้คือสิทธิแรกที่อยากเห็น เพราะปัญหาที่เราเจอคือการเดินทางข้ามประเทศ

ในแคมเปญ #BreaktheBias อยากให้เล่าเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติของการเป็น Trans

เลือกปฏิบัติเนี่ย สำหรับพี่เนี่ย เรื่องเดียวเลยนะ หลายคนยังคิดแบบนี้อยู่ที่ว่าถ้าคบ ขอพูดแบบภาษาทั่วไปเลยนะ ถ้าคบกะเทยมีลูกไม่ได้หรอก สร้างครอบครัวไม่ได้หรอก ซึ่งตอนเด็กๆ ก็คิดจริงๆ นะว่าไม่อยากมีแฟนเพราะมีลูกไม่ได้ เดี๋ยวเราก็เสียใจ เดี๋ยวเราก็เลิกกัน แต่ว่าตอนนี้ทุกคนมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตในแบบของตัวเองได้ ลูกหรือมดลูกไม่ได้เป็นตัวจำกัดความเป็นผู้หญิง ทุกคนคือมนุษย์ เลยคิดว่าอย่าเอาเรื่องครอบครัวมาตัดสินกัน เราก็สร้างครอบครัวในแบบของตัวเองได้ แล้วเรื่องอยากมีลูก ที่ต่างประเทศ transgender เขาก็สามารถอุ้มบุญหรือรับเลี้ยงเด็กได้นะ

ความเข้าใจผิดต่อ Misconception ของ trans

Trans ทุกคนไม่ได้เสียงดัง ไม่ได้น่ากลัว ไม่ได้ aggressive ไม่ได้กรี๊ดกร๊าดโวยวาย ไม่ได้มีความตลกเป็นของตัวเอง อย่าคิดว่าเราตลกแล้วมาเล่นอะไรก็ได้ และผู้หญิงอย่างเราทุกคนก็มีจิตใจและความรู้สึกเหมือนทุกคน ไม่ใช่คิดว่าเราเคยเป็นผู้ชายมาก่อนแล้วจะมาทำอะไรกับเราก็ได้ 

แล้วคำว่าสายเหลืองอยากให้เลิกพูดได้แล้ว เพราะมันเก่ามากไม่มีใครเขาพูดกันแล้ว 2022 โนสายเหลืองค่ะ (หัวเราะ)

แล้วสิ่งที่อยากเห็นในอนาคตล่ะ 

สิ่งที่พี่อยากเห็นในอนาคตมากๆ คืออยากเห็นรัฐบาลอนุญาตให้ใช้คำนำหน้าว่า ‘นางสาว’ ได้ อันนี้คือสิทธิแรกที่อยากเห็น เพราะปัญหาที่เราเจอคือการเดินทางข้ามประเทศ พาสปอร์ตเราเป็น Mister แต่ตัวเราเป็นผู้หญิงก็จะต้องโดนเรียกและมันก็เป็นทุกครั้ง อันนี้คือเรื่องแรก 

แล้วก็เคยโดนถามเรื่องแต่งงาน ว่าเราจะแต่งงานไหม แต่กฎหมายมันไม่เอื้อให้เราสามารถที่จะแต่งงานได้ ก็เลยอยากให้มีพรบ.คู่ชีวิตและสมรสเท่าเทียม 

ส่วนเรื่องพื้นที่ในสังคม ตอนนี้เป็นโลกออนไลน์ทุกคนมีพื้นที่สื่อในมือ คุณอยากให้ทุกคนเห็นคุณแบบไหนทำเลย…แล้วทำให้สุด อยากให้คนมองว่าคุณเป็นผู้หญิงคนหนึ่งก็ทำได้เลย แต่ไม่ใช่ทำตัว aggressive โวยวาย อยากให้คนมองแบบไหนก็ทำแบบนั้น แล้วก็อย่าลืมคำพี่เจิน ‘ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง’ (หัวเราะ) ชอบมาก

 

Interviewer: Nichkamon Boonprasert