Tilly Birds กับเกือบปีที่เป็น “เดอะแบก” เรื่องเพลง ชีวิต โควิด และความฝันในการไปแสดงต่างประเทศ
อะไรที่หนักไปฝืนแบกเอาไว้มันจะดีเหรอ? Tilly Birds ไม่ได้พูดเอาไว้ แต่บอกใบ้อยู่ในเพลงใหม่อย่าง “เดอะแบก” ที่เพิ่งปล่อยมาให้ได้ฟังกันไม่นานมานี้
“เดอะแบก” เป็นหนึ่งใน 3 เพลงที่ Tilly Birds ปล่อยมาแบบรัวๆ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาของการล็อกดาวน์ และแน่นอนว่าทุกเพลงขึ้นชาร์ตยอดนิยมเสมอ (และในขณะที่เรากำลังพิมพ์บทสัมภาษณ์นี้อยู่นั้น ก็ดูเหมือนว่า Tilly Birds กำลังจะมีเพลงใหม่ออกมาให้ฟังกันอีกแล้ว!)
เมื่อสถานการณ์เริ่มกลับมา (เหมือนจะ) ปกติอีกครั้ง กลับมาคราวนี้ NYLON Live ก็เลยขอชวน Tilly Birds มาร้องเพลงให้ฟังแบบ exclusive เป็นวงแรกกันถึง 2 เพลง แถมเรายังชวน เติร์ด, บิลลี่, และไมโล มาคุยกันถึงเรื่องชีวิตช่วงที่ผ่านมา เพลงใหม่ และเรื่องอื่นๆ ที่เชื่อว่าใครที่ได้มาตามอ่านสัมภาษณ์ของหนุ่มๆ แล้วจะต้องคอยเป็นกำลังใจและรอดูความสำเร็จในอนาคตไกลๆ ในชื่อวง Tilly Birds แน่นอน
เกือบ 2 ปีของโควิด Tilly Birds เป็นอย่างไรกันบ้าง? ทั้งเรื่องเพลง เรื่องงาน และเรื่องชีวิต
เติร์ด: ทำอัลบั้มเสร็จครับ (หัวเราะ) เป็นอัลบั้มที่ 2 ครับ แล้วสมาชิกวงแต่ละคนก็ได้มีโอกาสไปโปรดิวซ์ให้คนอื่นด้วย มาเขียนเพลงให้คนอื่นด้วย
บิลลี่: ชีวิตหลายคนก็เปลี่ยนไปนะครับ 2 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนไปทั้งด้านการใช้ชีวิต ด้านมุมมอง แล้วก็ด้านสังคม
วงการศิลปินในช่วง Covid ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
ไมโล: แย่ครับ
เติร์ด: ซบเซา
บิลลี่: ซึมเศร้า
ไมโล: คนที่รอดได้คือคนที่เก่ง ทุกคนที่สู้มาได้ถึงตรงนี้คือคนที่ต้องได้รับการยกย่องครับ หมายถึงควรได้รับคำชม ควรได้รางวัล ควรได้กำลังใจ คือเขาแบกรับสิ่งที่เป็นปัญหาที่ไม่ได้มาจากตัวเองทั้งหมด ด่านหน้าที่ว่าหนักแล้วในขณะเดียวกัน คนกลุ่มหนึ่งก็ต้องเผชิญหน้ากับความซบเซากับเศรษฐกิจ
คือจะบอกว่าทุกคนได้รับผลกระทบก็ถูก แต่ทุกคนไม่ได้รับผลกระทบเท่ากัน อย่างมาตรการการล็อกดาวน์ง่ายๆ เลย โซนที่โดนก่อนกลุ่มแรกคือโซนสถานบันเทิง แล้วก็งานอีเวนต์ที่เกี่ยวกับสิ่งบันเทิง ซึ่งก็รวมถึงวงดนตรีและอาชีพศิลปินและทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันในการกลับมาฟื้นตัว สิ่งเหล่านี้ก็กลับมาเปิดเป็นสิ่งสุดท้าย เพราะฉะนั้นกลุ่มคนที่ทำส่วนนี้เป็นอาชีพหลักตั้งแต่แรกเขาก็ไม่มีรายได้ ต้องไปหาอาชีพอื่นเสริม แต่มันก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะไปเลือกอาชีพเสริมได้ทุกคน บางคนก็ไม่ได้มีสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้มีอะไรลงทุนไว้รองรับ มันก็เลยเป็นสิ่งที่ยากกว่าด้วย
“ทุกคนที่สู้มาได้ถึงตรงนี้คือคนที่ต้องได้รับการยกย่อง ควรได้รับคำชม ควรได้รางวัล ควรได้กำลังใจ เขาแบกรับสิ่งที่เป็นปัญหาที่ไม่ได้มาจากตัวเองทั้งหมด … คือจะบอกว่าทุกคนได้รับผลกระทบก็ถูก แต่ทุกคนไม่ได้รับผลกระทบเท่ากัน”
ไมโล – ธุวานนท์ ตันติวัฒนวรกุล (Tilly Birds)
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการใช้ชีวิตเกือบใหม่
เติร์ด: ต้องใส่แมสก์ (หัวเราะ) ออกจากห้องคือไม่ใส่แมสก์ไม่ได้ เดี๋ยวนี้ก็ไม่ลืมแล้วนะ แต่งตัวเสร็จแล้วต้องหยิบแมสก์มาใส่ กลายเป็นเรื่องปกติไป แล้วก็การพกเจลแอลกอฮอล์ การล้างมืออะไรพวกนี้ด้วยครับ ที่เกี่ยวกับโควิดนะ
บิลลี่: ผมว่ารวมๆ มันทำให้พวกเราทุกคนรักสะอาดมากขึ้น ทำให้ทุกคนคิดถึงชีวิตเมื่อก่อนมากขึ้น ได้รู้ว่าสิ่งที่มีเมื่อก่อนมันมีค่า
ไมโล: และในมุมหนึ่งก็แบกความเสี่ยงของการที่จะต้องสัมพันธ์กับชีวิตคนอื่นในแบบที่อาจจะเกิดผลลบได้ตลอดเวลา หมายถึงทุกคนเลย ไม่ว่าจะคนรวยหรือคนจน มีสิทธิ์เป็นคนที่แพร่เชื้อได้หมด ถ้าเราไม่ได้รับวัคซีน เพราะฉะนั้นมันกลายเป็นความรับผิดชอบของทุกคนร่วมกัน นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทุกคนก็เริ่มตระหนักมากขึ้น ส่วนเรื่องวัคซีนก็–ครับ (หัวเราะ)
ได้กลับมาขึ้นเวที (งาน Food and Art Free Market) แบบมีคนดูจริงๆ ครั้งแรกในรอบหลายเดือนเป็นอย่างไรบ้าง
เติร์ด: ดีครับ ดีมาก เล่นคอนเสิร์ตล่าสุดประมาณ 6 เดือนที่แล้ว พอได้กลับมาเล่นอีกครั้งก็ดีใจ ได้ฟังเสียงคนดูจริงๆ สักทีที่ปล่อยมา 3 เพลงในปีนี้ โดยเฉพาะเพื่อนเล่นไม่เล่นเพื่อน ดีใจมากเลยครับ เป็นสิ่งที่แบบ สักทีนะ
บิลลี่: แต่ในอีกมุมก็รู้สึกเสียวๆ นะ เราก็รู้ทั้งรู้อยู่ว่ามันยังไม่กลับมาแบบ 100%
ไมโล: สิ่งนี้ (โควิด) ก็ยังอยู่ แต่ว่ามันก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องทำทั้ง 2 อย่างไปพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้นก็บอกได้ว่า ส่วนตัวผมมันดีใจไม่สุด เพราะว่ามันก็กลายเป็นความเสี่ยงอีกแบบหนึ่งอะ ตอนเล่นๆ อยู่ก็ต้องใส่แมสก์ แล้วการใส่แมสก์และเล่นดนตรีไปด้วยก็คือเหนื่อยมาก เพราะมันหายใจไม่สะดวก ทำให้ศักยภาพการเล่นมันก็ลดลงไปอีก ทุกคนลงมาก็หอบ มีจังหวะแบบจะวูบ อันนี้เป็นสิ่งที่ลำบาก แต่สิ่งที่เราดีใจก็อย่างที่เติร์ดบอกเลยคือได้ยินเสียงคนดูสักที
เติร์ด: ตั้งแต่งานนี้เป็นต้นไป เรากับคนดูจะต้องระวังกันมากๆ มาตรการต้องเข้มงวดขึ้นด้วยแหละ กลัว
เรื่องของเพลงใหม่ “เดอะแบก” ที่มาเนื้อหาเพลงนี้เป็นมาอย่างไร
เติร์ด: มันคือเรื่องความสัมพันธ์ จริงๆ แรงบันดาลใจเพลงมาจากการเผชิญกับความสัมพันธ์ที่เรารู้สึกว่าเราอยากให้มันรอด เราอยากทำให้มันไปต่อได้ เราก็จะรู้สึกเหมือนว่าพยายามแบกตรงนี้เอาไว้ ในขณะที่อีกฝ่ายก็รู้สึกว่าตัวเองแบกอยู่เหมือนกัน แต่มีบางอย่างที่ทำให้เราทั้งคู่ต้องวางสิ่งที่แบกลง เพลงมันก็เลยตั้งคำถามว่าแบกต่อไปหรือวางไว้แค่นี้อะไรจะดีกว่า
“มาจากการเผชิญกับความสัมพันธ์ที่เรารู้สึกว่าเราอยากให้มันรอด เราก็พยายามแบกตรงนี้เอาไว้ ในขณะที่อีกฝ่ายก็รู้สึกว่าตัวเองแบกอยู่เหมือนกัน แต่มีบางอย่างที่ทำให้เราทั้งคู่ต้องวางสิ่งที่แบกลง เพลงเลยตั้งคำถามว่าแบกต่อไป …หรือวางไว้แค่นี้ อะไรจะดีกว่า”
เคยต้องเป็นเดอะแบกในเรื่องอะไรบ้างไหม
เติร์ด: แบกธีสิสครับ (หัวเราะ) พูดเลยว่าแบกธีสิสจริง คนอื่นอะ
ไมโล: ยกให้บิลลี่เลย ล่าสุดอะ นั่งมิกซ์เพลง โคตรแบกเลย
เติร์ด: เออ เป็นเดอะแบกจริงๆ ทำรวดเดียวเลย
ไมโล: ให้ผมทำผมก็ทำไม่ได้อะ ไม่ทำด้วย ยอมจ่ายเงินอะ แต่บิลลี่เป็นคนที่เลือกที่จะแบกสิ่งนี้เอาไว้
บิลลี่: ก็ต้องแบกแหละ เพราะถ้าไม่ทำก็ไม่มีใครทำงาน เงินถ้าจะจ่ายก็ต้องเยอะกว่านี้
แต่ละคนคิดว่าถ้าเป็นเราจะแบกต่อไปหรือจะวางเอาไว้
เติร์ด: พอเป็นงานมันก็วางไม่ได้ไง (หัวเราะ) มันก็ต้องแบกให้รอด แต่อะไรที่มันไม่ดีกับตัวเรา ที่มันไม่เกี่ยวกับงาน เป็นเรื่องแบบแบกภาระหรืออะไรที่ไม่ใช่เรื่องของเราที่ต้องมาแบกก็วางดีกว่า มีอยู่แล้วแหละ ผมว่าทุกคนมี ไม่ก็เคยมี
ก็ให้คนฟังเพลงไปชั่งน้ำหนักกันว่าจะทำอย่างไรดี
เติร์ด: ใช่ๆ ซึ่งก็มีบางคนที่บอกว่าขอบคุณเพลงนี้ที่ออกมาตรงจังหวะตอนที่กำลังจะจบความสัมพันธ์กับคนๆ หนึ่ง เพราะเขารู้สึกว่าเขาแบกมานานเกิน จนไม่ไหวแล้ว เขาบอกว่า ขอบคุณมากนะครับที่พี่ๆ ทำเพลงนี้ ทำให้ผมเลิกทนเขาได้
แล้วความตั้งใจแรกที่ปล่อยเพลงนี้ออกมาเราได้คาดหวังคนฟังได้อะไรจากเพลงนี้ของเราบ้างไหม
เติร์ด: ก็ไมได้คาดหวัง
บิลลี่: อ้าว แต่เราคาดหวังนะ มันเป็นเพลงสะกิดความรู้สึกนะ ถ้าใครกำลังคิดอยู่ ฟังเพลงนี้จะ เอ๊ะ ยังไงเรา จริงๆ เพลงมันเหมือนจะบอกว่าให้วาง แต่มันไม่ได้บอกสุด เลยเป็นจุดที่สะกิดเหมือนกันว่าจะเอายังไง จะวางหรือจะแบกต่อไป ถ้าเกิดเขาคิดอยู่แล้วถ้าฟังเพลงนี้จบก็อาจจะกลับมาคิดอีกที
เติร์ด: สำหรับเราไม่เหมือนบิลลี่คือ เราไม่ได้เชิงคาดหวังว่าจะไปทำให้ใครสักคนเปลี่ยนความคิดหรือคิดได้ แต่แค่รู้สึกว่าคนเขาน่าจะอินเพราะว่าทุกคนน่าจะต้องแบกอะไรอยู่สักอย่างหนึ่ง แค่นั้นเลย แต่ไม่ได้คาดหวังเชิงแบบ โห ขอบคุณเพลงนี้ อะไรอย่างนั้น
จากกระแสที่วง P1Harmony เอาเพลงของเราไปร้อง ตอนที่ได้ดูคลิปนั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง
เติร์ด: เราตกใจในตอนแรก ว่า ฮะ เดี๋ยวนะ นี่วงอะไร วงเกาหลีเหรอ
บิลลี่: ตกใจก่อนเลยที่ร้องชัด
เติร์ด: เออ ด้วย
ไมโล: ต้องซ้อมเยอะเลยนะภาษาไทยอะ คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนอะ
เติร์ด: ถ้าไม่นับเรื่องของภาษา ตัวดนตรี หรือทำนอง หรือตัวเพลงโดยตรงเลยมันก็ไปเมืองนอกได้นะ เพลงพวกเราก็ไปได้นะเว้ย ตอนแรกก็คิดว่าอินเตอร์กับเพลงไทยหรือวงไทยมันจะเป็นไปได้ไหม คลิปนี้ก็ทำให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถ
หลังจากคลิปนี้ปล่อยออกไปมีแฟนต่างชาติตามมาฟังเพลงเยอะไหม
เติร์ด: มีครับ คือพอคลิปนี้ลงไปประมาณหนึ่งคืน ผมก็กลับไปดูคอมเมนต์เพลงเพื่อนเล่นไม่เล่นเพื่อน ก็มีคนมาเม้นต์เยอะนะว่า มาจาก P1Harmony แบบ I came here because of P1Harmony มีประมาณหนึ่งเลย แต่ไม่ได้เทียบว่ายอดวิวเพิ่มขึ้นขนาดไหนนะ
ในอนาคตมองภาพของ Tilly Birds ไว้เป็นแบบไหน
บิลลี่: ก็ยังคงเป็นแบบนี้นะครับ แต่ว่าอาจจะเริ่มพูดอะไรที่โตขึ้น แล้วก็เริ่มทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันมากกว่านี้ สมมติอัลบั้มที่ 2 นี้ปล่อยไปแล้ว เป็นยังไงไม่บอกแล้วกัน (หัวเราะ) ในอนาคต อัลบั้มที่ 3 ที่ 4 ก็อาจจะเป็นไปในแนวทางอื่นแล้ว ไม่ได้เปลี่ยนแนวเพลง แต่ภาพน่าจะเป็นอะไรใหม่ๆ มากกว่าเดิม ที่คิดไว้นะ อันนี้คือที่ใกล้สุด แต่ถ้าไกลกว่านี้ก็–สองคนนี้ว่าไง
เติร์ด: ในอนาคตอันไกลขนาดไหนไม่รู้นะ คงอยากจะทำเพลงภาษาอังกฤษกัน ลองดูว่าเพลงเราจะไปได้ไกลขนาดไหน
ไมโล: อยากเป็นที่รู้จักในระดับโลกครับ ภาษาอังกฤษอาจจะเป็นวิธีการหนึ่งแต่แค่รู้สึกว่าอยากให้ตัววงและดนตรีของวงไปไกลกว่าในประเทศ เหมือนที่เติร์ดบอกว่าไกลแค่ไหนยังไม่รู้ แต่หลายๆ อย่างที่ผ่านมาทั้งเรื่องวงเกาหลีคัฟเวอร์เพลง หรือเรื่องที่มีชาวต่างชาติเข้ามาสนใจ ก็ทำให้เราเหมือนเห็นลู่ทางและเป็นโจทย์ให้เราไปคิดต่อว่าจะทำยังไง
มีคิดไหมว่าอยากไปทำคอนเสิร์ตที่ต่างประเทศบ้าง
ไมโล: จริงๆ ก็รู้สึกว่าน่าจะได้ไปแล้วนะ ประเทศใกล้ๆ อย่าง ลาว เวียดนาม (เติร์ด: ประเทศในแถบนี้) ถ้าไม่มี Covid ก็น่าจะได้ไปแล้วแหละ สักหนึ่ง แต่พอเกิด Covid ก็เลยไม่มี
บิลลี่: อยากไปครับ เป้าหมายแรกเลยผมอยากไปอินโดนีเซีย อยากไปใกล้ๆ ก่อน บวกกับมีคนฟัง Tilly Birds ไม่น้อยเลย คิดว่าเป็นที่แรกที่ควรไป
เติร์ด: ของผมคือ ถ้าเราไปในแถบนี้จนได้ฐานแฟนรอบๆ นี้แล้ว ผมว่าคงเป็นเกาหลี เพราะตอนนี้เกาหลีบูมมาก ทั้งอุตสาหกรรมเพลง ทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ เลยรู้สึกว่าถ้าเอเชียผนึกกำลังกัน มีการจับมือกัน น่าจะยิ่งใหญ่เลย
ไมโล: ยากละ ตอบคนละทางเลย (หัวเราะ)
เติร์ด: ผมขอเป็นแถบเอเชียก่อนนะ เพราะยังไม่เห็นภาพไปในประเทศทวีปอื่นเลยเหมือนกัน
ไมโล: ผมว่ามันไม่เชิงประเทศอาจจะเรียกว่าเป็นงานเฟสติวัลมากกว่า เพราะว่าเฟสติวัลแต่ละประเทศที่ดังๆ ใหญ่ๆ ก็ไม่ได้มีเรื่องสัญชาติหรือทวีปเป็นปัจจัยอะ สมมติอย่าง Glastonbury ที่เป็นเทศกาลดนตรีใหญ่ๆ ก็จะมีทั้งวงยุโรป อเมริกา เอเชีย ถ้าวงนั้นเจ๋งจริง ก็จะมีเวทีสำหรับวงนั้นอยู่ในงานนั้น ก็เลยไม่ได้มองเป็นประเทศแต่มองเป็นตัวเฟสติวัลมากกว่า เอาจริงๆ เหมือนบิลลี่เคยตอบไว้ว่าอยากให้วงไปถึง Glastonbury ซึ่งก็จริง ผมรู้สึกว่าถ้าได้ไปสักครั้ง ก็ถือว่าเป็นเป้าหมายที่สุดยอดแล้วของวง ก็เป็นเฟสติวัลต่างประเทศแหละครับ ถ้าได้ไป
Photographer: Tanisorn vongsoontorn
Interview: Nichkamon Boonprasert