Vera Atkins สุดยอดสายลับสาวชาวอังกฤษ

  • เวร่า แอทคินส์เกิดที่โรมาเนีย หลังจากพ่อเสียชีวิต เธอและแม่ก็หลบภัยสงครามและการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านยิวในยุโรปมายังลอนดอน
  • เวร่าสมัครเข้าทำงานในตำแหน่งเลขานุการของหน่วยปฏิบัติการพิเศษของรัฐบาลอังกฤษ เมื่อได้สัญชาติอังกฤษแล้ว เธอได้เข้าเป็นสายลับและเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองแผนกเอฟหรือแผนกประเทศฝรั่งเศส และเป็นหัวหน้าของสายลับหญิงในองค์กร
  • เวร่าเคยถูกสงสัยว่าเป็นสายลับของเยอรมนี แต่ก็มีข้อพิสูจน์ว่าเธอไม่เกี่ยวข้อง หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบสิ้นแล้ว เวร่าเข้าทำงานกับองค์การยูเนสโกจนกระทั่งเกษียณอายุ

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากการต่อสู้ทางการทหารในสนามรบแล้ว สงครามด้านการข่าวและสายลับก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่เข้มข้นไม่แพ้กัน เหล่าสายลับที่มีบทบาทในการหาข่าวที่จะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายของตนไม่ได้มีแค่ผู้ชายเท่านั้น ยังมีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่เข้าร่วมภารกิจนี้ด้วย เวร่า แอทคินส์ (Vera Atkins, 1908-2000) เป็นหนึ่งในสายลับหญิงประจำหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (Special Operation Executive หรือ SOE) ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นที่สุดในช่วงเวลานั้น

เวร่า มาเรีย โรเซ็นเบิร์กเกิดในครอบครัวนักธุรกิจเชื้อสายเยอรมัน-ยิวที่โรมาเนีย ได้รับการศึกษาที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศสและโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากแม็กซ์ โรเซ็นเบิร์ก พ่อของเธอล้มละลายและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหลือเพียงเวร่ากับฮิลดา แม่ของเธอ ซึ่งเป็นชาวอังกฤษเชื้อสายยิวเพียงสองคน แต่เมื่อสถานการณ์ในยุโรปเริ่มเปลี่ยนแปลงและมีขบวนการต่อต้านคนเชื้อสายยิว เธอกับแม่จึงตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และที่นี่เองที่เวร่าได้รับการศึกษาเกี่ยวกับวิชาเลขานุการและทำงานเป็นล่ามให้กับบริษัทค้าน้ำมัน เธอเปลี่ยนนามสกุลจากโรเซ็นเบิร์กเป็นแอทคินส์ตามนามสกุลเดิมของแม่

ระหว่างอยู่ที่โรมาเนีย เวร่าเป็นสมาชิกคนหนึ่งในองค์กรต่อต้านพรรคนาซีเยอรมันและมีโอกาสได้รู้จักกับนักการทูตหลายคนที่เป็นสายลับให้กับหน่วยข่าวกรองของประเทศอังกฤษ บุคคลเหล่านี้เป็นผู้สนับสนุนให้เธอทำเรื่องโอนสัญชาติจากโรมาเนียเป็นอังกฤษและเข้าทำงานกับหน่วยข่าวกรองของอังกฤษในเวลาต่อมา  

ระหว่างที่ยังไม่ได้สัญชาติอังกฤษ เวร่าสมัครเข้าทำงานในฐานะเลขานุการของหน่วยปฏิบัติการพิเศษในปี 1941 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยของพันเอกมัวริซ บัคมาสเตอร์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษ และในปี 1944 หลังจากได้รับสัญชาติอังกฤษเรียบร้อยแล้ว เธอได้เข้าทำงานกับหน่วยข่าวกรองในฐานะเจ้าหน้าที่ในแผนกเอฟ (F Section) โดยมีหน้าที่หลักในการแสวงหาและคัดเลือกบุคคลที่จะมาเป็นสายลับอังกฤษที่ต้องไปทำงานในประเทศฝรั่งเศส และกำกับดูแลสายลับหญิงจำนวน 37 คนของหน่วยปฏิบัติการพิเศษและงานด้านการสื่อสารแบบไร้สายด้วย

แม้จะมีปัญหาเรื่องมาทำงานสาย และมีความผิดพลาดในการปฏิบัติงานในบางครั้ง เช่น การไม่ยอมแจ้งความจริงแก่ครอบครัวของสายลับหญิงในหน่วยงานคนหนึ่งว่าเธอเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติการ แต่เวร่าก็ถือเป็นหัวหน้างานที่มีความสามารถ และได้สร้างผลงานชิ้นสำคัญเอาไว้ในช่วงเวลาที่มีวิกฤติเกี่ยวกับความลับขององค์กรที่รั่วไหลเนื่องจากสายของหน่วยปฏิบัติการพิเศษคนหนึ่งทรยศ และทำให้สายลับที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษของอังกฤษขาดการติดต่อ รวมถึงสูญหายไปจำนวน 14 คน

หลังสงครามสิ้นสุด เวร่า แอทคินส์ซึ่งในเวลานั้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่กองกำลังสนับสนุนหญิงของกองทัพอากาศได้ดำเนินการตามหาตัวเจ้าหน้าที่หญิงในสังกัดแผนกเอฟที่หายตัวไปในยุโรปโดยเริ่มจากในเยอรมนีที่เธอได้เดินทางไปทำงานก่อนเป็นอันดับแรก

เวร่าใช้ความพยายามของตนเองในการตามหาร่องรอยของเจ้าหน้าที่แผนกเอฟทั้งหมด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่หญิง 14 คนอยู่หลายปี จนกระทั่งได้พบกับความจริงที่น่าเศร้าว่า สายลับหญิงทั้ง 14 คนเสียชีวิตทั้งหมดแล้ว โดยจำนวน 12 คนเสียชีวิตจากการถูกสังหารในค่ายกักกันและที่เหลืออีก 2 รายเสียชีวิตจากอาการเจ็บป่วย

อย่างไรก็ตาม แม้ข้อค้นพบของเธอจะจบลงด้วยความสูญเสีย แต่สายลับหญิงทั้ง 14 คนก็ไม่ได้ตายเปล่า เพราะเวร่าสืบหาสาเหตุการณ์ตายของพวกเธอ พยายามหาทางยืนยันตัวตน และหาข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของพวกเธอให้ได้มากที่สุด เพื่อให้แน่ใจได้ว่า ‘สาว ๆ’ ของเธอ ตามที่เธอเรียกเจ้าหน้าที่หญิงในการบังคับบัญชาของตนเอง จะได้รับการจดจำในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่และได้รับรางวัลความกล้าหาญจากรัฐบาลอังกฤษ

หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว เวร่าหยุดปฏิบัติการและออกจากการเป็นสายลับ แม้จะมีชื่อเธอยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันวิเศษยิ่งแห่งจักรวรรดิอังกฤษ (Most Excellent Order of the British Empire) ขั้น MBE ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศ แต่สุดท้ายแล้ว เธอก็ไม่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว ระหว่างทำงานกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษ มีคนสงสัยว่าเธออาจเป็นสายลับสองหน้าให้กับเยอรมนี แต่เวร่าก็สามารถขจัดข้อกล่าวหานั้นไปได้โดยมีนักเขียนชีวประวัติของเธอ คือ ซาราห์ เฮล์มหาข้อมูลมาสนับสนุนข้อพิสูจน์ดังกล่าวด้วย ในเวลาต่อมา เธอก็ไปทำงานให้กับองค์การยูเนสโกจนกระทั่งเกษียณอายุในปี 1961 และย้ายกลับมาอยู่ที่วินเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร

ในช่วงกลางถึงปลายปี 1990s เวร่า แอทคินส์ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันวิเศษยิ่งแห่งจักรวรรดิอังกฤษ ชั้น CBE และเหรียญกล้าหาญครัวซ์เดอแกร์ (Croix de guerre 1939–1945) ที่รัฐบาลฝรั่งเศสมอบให้แก่สมาชิกฝ่ายสัมพันธมิตรที่ได้สู้รบกับฝ่ายอักษะ เธอมีชีวิตอยู่มาอย่างยาวนาน เป็นที่ปรึกษาให้กับหนังสือและภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวประวัติของเธอและงานสายลับสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และเสียชีวิตในปี 2000 เมื่ออายุ 92 ปี

 

 

References

Vera Atkins https://www.telegraph.co.uk/news/obituaries/1344950/Vera-Atkins.html

Vera Atkins https://spartacus-educational.com/SOEatkins.htm   

Vera Atkins https://www.theguardian.com/news/2000/jul/06/guardianobituaries.ianjack

Woman on a Hunt for Spies Who Didn’t Come Home https://www.nytimes.com/2006/08/30/books/30grim.html

Vera Atkins, Spymistress http://the-toast.net/2013/08/02/vera-atkins-spymistress/

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply