พาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ผู้หญิงเวียดนามในฮานอย

หากใครที่กำลังลองหาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ในประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางการปกครองประเทศอย่างฮานอย โดยเฉพาะสายพิพิธภัณฑ์ ต้องไม่พลาดการไปเยือนพิพิธภัณฑ์ผู้หญิงเวียดนาม (Vietnamese Women’s Museum หรือ Bảo tang Phụ nữ Việt Nam) ซึ่งถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของผู้หญิงอย่างเป็นทางการประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการสำรวจของฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ผู้หญิงทั่วโลก จัดทำโดยสมาคมพิพิธภัณฑ์ผู้หญิงระหว่างประเทศ (International Association of Women’s Museums หรือ IAWM)

 

พิพิธภัณฑ์ผู้หญิงเวียดนาม กรุงฮานอย ก่อตั้งขึ้นปี 1987 โดยสมาคมผู้หญิงเวียดนาม เพื่อนำเสนอบทบาทของผู้หญิงเวียดนามในการสร้างวัฒนธรรมผ่านข้าวของเครื่องใช้ และการแต่งกายของผู้หญิงเวียดนามทั้ง 54 ชาติพันธุ์ อีกทั้งยังมีการนำเสนอเรื่องราวการสร้างชาติของวีรสตรีที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์

ตั้งอยู่เลขที่ 36 ถนนหลีเถื่องเกียด (Lý Thường Kiệt) ไม่ไกลจากสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่นิยมอย่างทะเลสาบฮว่านเกี๊ยม มีค่าเข้าชมราคา 30,000 ด่งหรือประมาณ 50 บาท อีกทั้งพิพิธภัณฑ์ผู้หญิงเวียดนามยังเป็นพิพิธภัณฑ์ไม่กี่แห่งในฮานอยที่เปิดทำการตลอดทั้งวันตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. โดยไม่มีการปิดพักกลางวันเหมือนพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีบริการเช่าอุปกรณ์สำหรับการเปิดฟังคำบรรยาย (Audio Guide) ในราคา 30,000 ด่ง ซึ่งมีคำบรรยายทั้งหมด 3 ภาษา ได้แก่ เวียดนาม อังกฤษและฝรั่งเศส

ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งการจัดแสดงนิทรรศการหลักออกเป็น 3 ชั้น จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงเวียดนามแตกต่างกันออกไป ดังนี้

ชั้นที่ 1 นำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงกับครอบครัว บอกเล่าวิถีชีวิตผู้หญิงเวียดนามชาติพันธุ์ต่างๆ เมื่อถึงวัยออกเรือน โดยเนื้อหาหลักจะเกี่ยวข้องกับประเพณีการแต่งงานทั้งแบบสังคมชายเป็นใหญ่ และผู้หญิงเป็นใหญ่ ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ในเวียดนามบริเวณที่ราบสูงภาคกลางของประเทศ รวมไปถึงการให้กำเนิดและหน้าที่ในชีวิตครอบครัว

การจัดแสดงพิธีการแต่งงานของคนเย้า

การจัดแสดงมุ้งนอนของคนไทดำที่นำผ้าทอไปใช้ในการตกแต่ง และการแต่งกายของผู้หญิงไทดำ

ตู้แสดงผ้าที่ใช้สะพายเด็กที่ด้านหน้า ด้านหลังหรือด้านข้างของผู้หญิงชาติพันธุ์

ชั้นที่ 2 นำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงในประวัติศาสตร์ ปกติทั่วไปแล้วตำแหน่งแห่งที่ของผู้หญิงในสงคราม มักถูกจำกัดแค่การเป็นคนรัก เป็นครอบครัว แม่ พี่สาวหรือน้องสาวของทหารที่ไปรบในสงครามต่างๆ แต่ในเวียดนาม บทบาทที่ผู้หญิงได้รับยามสงครามมีความแตกต่างออกไป เพราะผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างชาติในแนวหน้าเช่นเดียวกับผู้ชาย

ภาพแสดงการปฐมพยาบาลในสงครามที่จะต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บไปทำการรักษาในอุโมงค์

ตู้จัดแสดงสิ่งของที่ที่ผู้หญิงได้นำมาดัดแปลงเพื่อส่งต่อข่าวสารลับระหว่างสงคราม เช่น แจกัน ไม้กวาดทางมะพร้าว มีดกรีดยาง เสื้อผ้า ชุดชั้นใน ตะเกียง กระจก เป็นต้น

ภาพกลุ่มนักรบกองโจรหญิง ซึ่งพิพิธภัณฑ์ได้กล่าวถึงจำนวนของผู้หญิงที่เข้าร่วมเป็นนักรบกองโจรทั่วประเทศทั้งหมด 980,000 คนในช่วงสงครามต่อต้านฝรั่งเศส

โดยการจัดแสดงในชั้นนี้จะพบเจอกับป้ายอะคริลิกสีแดงใสที่มีรูปของวีรสตรี พร้อมกับประวัติโดยย่อของพวกเธอตั้งอยู่ตลอดทั้งชั้น สลับการจัดแสดงสิ่งของที่ใช้จริง และภาพถ่ายที่บอกเล่าบทบาทของผู้หญิงในสงครามตั้งแต่ปี 1930 ซึ่งเป็นปีที่มีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดจีนขึ้นในเวียดนาม รวมถึงยังเป็นปีที่ก่อตั้งสมาคมผู้หญิงเวียดนาม ก่อนจะเข้าสู่ช่วงเวลาที่ประเทศต้องเผชิญกับสงครามครั้งสำคัญ ได้แก่ สงครามต่อต้านฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1945- 1954 และการต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาในสงครามอเมริกา ปี ค.ศ. 1964 – 1975 ทั้งในเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ จนกระทั่งเกิดการรวมประเทศขึ้นในปี 1975

ชั้นที่ 3 เป็นการจัดแสดงเครื่องแต่งกายของผู้หญิงในเวียดนาม ทั้งหมด 42 ชุด ครอบคลุมทุกชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงเครื่องประดับที่ทำจากเงิน ทองเหลือง งาช้าง รวมถึงประดับตกแต่งบริเวณศีรษะด้วยหมวกหรือผ้าโพก และค่านิยมความงามของผู้หญิงชาติพันธุ์ เช่น การย้อมฟันให้เป็นสีดำและการกินหมาก

ทั้งนี้ ในชั้น 4 ของพิพิธภัณฑ์ยังมีส่วนจัดแสดงของ MAM – Art projects ซึ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะร่วมสมัยหรือนิทรรศการภาพถ่ายโดยศิลปินชาวเวียดนาม

ถึงแม้ว่าค่านิยมที่รัฐพยายามปลูกฝังให้กับผู้หญิงเวียดนามยังคงมุ่งเน้นไปที่การทำหน้าที่แม่และภรรยาที่ดี แต่จะเห็นได้ว่าบทบาทและความสำคัญของผู้หญิงเวียดนามถูกทำให้โดดเด่นขึ้นในช่วงสงคราม ทำให้ผู้หญิงเวียดนามสามารถออกมาจากบ้านซึ่งเป็นพื้นที่เดิมในสังคมเพียงน้อยนิดสู่บทบาทในพื้นที่สาธารณะ และเข้ามามีบทบาทในการต่อสู้จนกลายเป็นที่มาของเรื่องราวหลักในการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเปรียบได้กับพื้นที่แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างผู้หญิงเวียดนามกับผู้หญิงทั่วโลกที่มีโอกาสได้เข้าชม และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าชมให้ตระหนักถึงความแข็งแกร่งของผู้หญิงได้เป็นอย่างดี

References:

International Association of Women’s Museums, “Women’s Museums’ lists”, http://iawm.international/about-us/womens-museums/museums-list/museums/

Written by Dusida Worrachaddejchai

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply