ชวนคุย 3 ศิลปินรุ่นใหม่จากงาน Awakening Bangkok 2020 กับฝีมือที่น่าจับตามอง
GARDEN ON THE SIXTH FLOOR
ศิลปิน: PEAK O’ VISUALS
สถานที่: ไปรษณีย์กลาง
ทำไมถึงมาร่วมงานกับ Awakening Bangkok 2020 คะ
ภูมิ : ผมก็เพิ่งจบจากคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาหมาดๆ เลยครับ เลยคิดว่ายังไม่อยากจะรีบทำงานที่จะกำหนดกรอบของตัวเอง ผมก็เลยคิดว่าจะทยอยส่งงานประกวดก่อนเรื่อยๆ แล้ว Awakening Bangkok ก็เป็นที่แรกที่ตอบรับ เพราะคิดว่าเป็นงานที่มีศักยภาพมากงานหนึ่งครับ
แล้วแรงบันดาลใจของงาน Garden on the Sixth Floor นี้มาจากไหน
ภูมิ : เพราะว่าเป็นคนที่อยากดีลกับเรื่อง space เรื่อง spacial experience ก็เลยอยากให้คอนเซปต์ของงานเป็นตามโลเคชั่นหลักๆ ของพื้นที่ที่งานจะไปจัด พอรู้ว่าเป็นย่านเจริญกรุงซึ่งเป็นย่านชุมชนจีนเนี่ย ผมก็เลยทยอยย่อยคอนเซปต์ที่เกี่ยวกับย่านชุมชนจีนมา จนเห็นว่าไอเดียของการเริ่มใหม่มันก็สอดคล้องพอดีกับทางงาน Awakening Bangkok 2020 นี้ครับ ก็เลยตัดสินใจเลือกเป็นคอนเซปต์นี้
ขั้นตอนของการทำงานนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ภูมิ : ในพาร์ทของการดีไซน์เราก็ใช้โปรแกรมที่ออกแบบแบบพาราเมตริก ก็คือเราพยายามที่จะหาลักษณะของงานที่เราจะทำ ถอดความ ถอดแบบ แปลงออกมาเป็นโค้ด ซึ่งชิ้นงานที่ผมเอามาใช้ก็คือตัวเต็งลั้งหรือว่าโคมไฟจีน ทีนี้ผมก็แปลค่าจากโคมไฟจีนเป็นโค้ดที่สามารถเอาไปทำเป็นดีไซน์ได้ครับ เพราะเราอยากให้งานมีความทันสมัยและมีความร่วมสมัยแต่ก็ยังมีความโบราณอยู่ในตัวครับผม ซึ่งตัวโค้ดก็ออกเป็นฟอร์มได้ชัดในระดับหนึ่งแล้ว แต่พอเป็นขั้นตอนที่ต้องส่งแบบให้ออกมาเป็นชิ้นงานก็เปลี่ยนจากฟอร์มที่ออกมาเล็กน้อย หยาบอยู่เหมือนกันเพราะว่าตอนแรกมันเป็นการดีไซน์แบบ custom นิดหนึ่ง ไม่สามารถใช้วัสดุทั่วไปได้เลย ก็ต้องขอบคุณทีมพี่ๆ ช่างแล้วก็ทีมงานช่างทุกคนที่ช่วยยำงานให้เสร็จได้ครับ (หัวเราะ)
นอกจาก Awakening Bangkok แล้ว ถ้ามีโอกาสได้ไปงานแสดงไฟต่างประเทศหรืองานใหญ่อื่นๆ มีงานไหนที่อยากจะไปโชว์งานบ้างไหม
ภูมิ : สมมติถ้าบอกว่าเป็นงานที่เรียกว่าเป็นจุดสูงสุดเลยก็คงเป็น Coachella เป็น Burning Man แต่อันนี้ก็เป็นความชอบส่วนตัวของผมอยู่แล้ว แต่ว่าถ้าใกล้ๆ ตัวหน่อย Vivid ก็ดูจะเป็นอะไรที่มาทาง Awakening Bangkok มากกว่า Vivid ก็เป็นงานที่น่าสนใจเหมือนกันครับ
SHRINE TUNES (ประ-ศาล-เสียง)
ศิลปิน: JARVIS
สถานที่: ศาลเจ้าโรงเกือก
กลุ่ม Javis มารวมตัวกันทำโปรเจกต์นี้ได้อย่างไร
วิน : เคยทำงานกันมาก่อนแล้วครับ เป็นผมกับพี่เจมส์ เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันที่ ดุริยางคศิลป์ ศิลปากร ส่วนพี่เจมส์เป็นเพื่อนกับพี่จ้าวที่จุฬาครับ เคยจัดอีเว้นท์คอนเสิร์ตด้วยกันมาก่อน Awakening Bangkok ปีที่แล้ว (2019) ก็เลยตัดสินใจลองทำงานหนึ่งด้วยกันดู ตอนนั้นทำงานชื่อว่า Charoenkrung’s Sound ก็ติดใจ เลยมาทำงานนี้ด้วยกันต่อ
ก่อนหน้านี้เคยส่งงานดีไซน์แนวนี้ที่ไหนมาก่อนหรือเปล่า
จ้าว : ส่วนตัวผมทำงานเป็นแนว Light Design อยู่แล้วครับ แต่ทีนี้ผมไม่เคยลองงานเสียงเลย หมายถึงว่างานที่เป็นทั้งเสียงและภาพ ก็เลยคิดว่าน่าสนใจดี ปีที่แล้วก็มีงาน Awakening Bangkok มาพอดี ก็รู้สึกว่ามันเป็นโอกาสของทีมเล็กๆ ที่ไม่เคยตั้งด้วย เลยลองส่งแบบไปดู ที่ Awakening Bangkok 2019 เป็นงานแรกที่เราฟอร์มทีมขึ้นมา หลังจากนั้นก็มีได้ลองทำบางนิดหน่อยครับ ซึ่งถ้าเป็นงานอื่นที่นอกเหนือจาก Awakning Bangkok แล้ว ผมก็เคยมีทำของ Bangkok Design Week แต่ไม่ใช่งานที่มีเสียงเป็นตัวหลัก จะเป็นงานที่เป็นภาพ interactive จัดๆ แต่งานที่มีเสีนยงมาร่วมด้วยก็มี Awakening Bangkok นี่แหละครับ ที่มาทำเป็นที่แรก
ไอเดียของงานนี้ได้มาจากไหน
วิน : มาจากตะเกียงครับผม ตอนแรกเลย พี่จ้าวไปสะดุดตาตะเกียงที่เยาวราช เลยอยากลองทำงานปีนี้แบบเล่นกับตัวตะเกียงดู ก็เลยคิดถึงเรื่องการเป่า แบบตอนดับเทียนขอพรครับ
จ้าว : มันมีเครื่องดนตรีที่เป็นเครื่องเป่าอยู่แล้วอะ เราก็คิดว่าตัวตะเกียงมันมีแอคชั่นที่มันคล้ายกัน เลยคิดว่าน่าจะเอามาทำงานเสียงด้วย ประมาณนี้
การเตรียมตัวและการทำงานนี้เป็นอย่างไรบ้าง
วิน : เดือดครับ (หัวเราะ)
จ้าว : ก็เริ่มจากคุยคอนเซปต์ก่อนคร่าวๆ ว่าเราสนใจตะเกียงนะ แล้วค่อยเอามาแตกว่าตะเกียงตัวนี้มันทำอะไรได้บ้าง แล้วมันก็มีหลายไอเดียที่เกี่ยวกับตะเกียง แต่ก็มาจบที่การเป่า แล้วขึ้นภาพ มีไฟ เรารู้สึกว่าตัวตะเกียงมันเหมาะกับการที่เอามาติดไฟติดอะไรที่ทำให้มันดูร่วมสมัยมากขึ้น จากตะเกียงที่เราเห็นในศาลเจ้าทั่วไปด้วย ก็เลยแตกไอเดียจากตรงนั้นออกมา
เจมส์ : ต่อมาพอรู้ว่าได้ที่ตรงศาลเจ้าโรงเกือกก็พอดีเลย มันก็อิงกับตัวตะเกียงของเรา แล้วก็อิงกับเรื่องของการขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรได้ด้วย เพราะอย่างในย่านนี้เราเห็นตะเกียงเยอะมาก
วิน : เพราะว่าเป็นย่านคนจีน
จ้าว : แล้วก็มีศาลเจ้าประปรายตามรอบๆ พื้นที่ครับ เราก็เลยคิดว่า เออ ตะเกียงมันก็ represent การเป็นเจริญกรุงได้ประมาณหนึ่งด้วย แล้วเราก็อยากตีความตัวตะเกียงใหม่ เวลาเราเข้าศาลเจ้าเราก็ไม่ได้สนใจตะเกียงขนาดนั้น เราก็เลยอยากชูตรงนี้เพราะเห็นว่าน่าสนใจดี
มีงานไหนอีกบ้างที่อยากจะมีโอกาสไปร่วมโชว์งานด้วย
จ้าว : จริงๆ เรายังไม่เคยคุยกันเรื่องนี้เลยครับ ไม่เคยฝันไกลว่าจะต้องไปโชว์งานต่างประเทศ เพราะว่าก็เป็นทีมเล็กๆ ประมาณหนึ่ง แต่คิดว่าจุดประสงค์ที่ตั้งทีมขึ้นมาก็คืออยากส่งงานที่เป็นงานสายโชว์เคส มากกว่าที่จะทำเป็น commercial ครับ
วิน : อยากลองทำอะไรใหม่ๆ ด้วย
จ้าว : ใช่ๆ ไม่ได้อยากจำกัดตัวเองด้วยว่าต้องทำงานเพื่อหาเงิน หรือเพื่อไปนู่นไปนี่ แต่ถ้ามีโอกาสจริงๆ ก็น่าสนใจครับ
CHAROEN FLOW
ศิลปิน: CHAROEN CREW, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
สถานที่: ชุมชนมัสยิดฮารูน
ทีม Charoen Crew นี้ มารวมตัวกันทำงานนี้ได้อย่างไร
มิลค์ : ที่ลาดกระบังเขามีจัดงานไฟอยู่แล้ว มีเป็นทีมเลย แต่พอรุ่นพี่จบไปเราก็เป้นคนรับช่วงต่อ แล้วอยากชวนเพื่อนกลุ่มอื่นมาทำด้วยกัน เพื่อจะได้ให้คนอื่นได้เข้าใจว่า งานไฟทำยังไงบ้าง ไม่ใช่แค่ทำโครงแล้วติดไฟเลย อาจจะคิดอะไรหลายๆ อย่างเพื่อให้ตอบโจทย์กับคอนเซปต์ อะไรประมาณนี้ค่ะ
และอย่างที่บอกไปคือเคยมีรุ่นพี่เคยทำงานนี้ เราก็เลยอยากจะชวนคนอื่นมาทำด้วย งานไฟคนจะคิดว่าเป็นของเด็กสายนิเทศ ถ้าเป็นที่มหาลัยเรานะคะ (หัวเราะ) แต่อย่างเราไม่ได้อยู่นิเทศ เรียนสถาปัตย์ ส่วนเพื่อนคนอื่นๆ ในทีมก็จะเป็นศิลปะอุตสาหกรรม ทำเก้าอี้ ทำเฟอร์นิเจอร์ อะไรพวกนี้ เราอยากลองเอามาลองใส่ความคิดของทั้งทีมเข้าไป ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีส่งงานดีไซน์แนวนี้ไป SCG เป็นการออกแบบอาคาร ทำกับเพื่อนเหมือนกัน แล้วก็มีพวกทำเวทีที่คณะบ้าง ข้างนอกบ้าง
แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดงานนี้ขึ้นมาคืออะไร
มิลค์ : มาจากที่ตอนแรกเราได้พื้นที่มาก่อน แล้วเราก็มาเลือกว่าพื้นที่นี้มีอะไร ก็เลยสนใจเรื่องชนชาติ เพราะตรงนี้อยู่ใกล้ๆ ชุมชนมุสลิม ก็ลองดูว่าถ้าเล่นเรื่องชนชาติจะมีอะไรที่เอามาจับเข้าตรงนี้ได้บ้าง เราเลยจับมา 3 ชนชาติ ไทย จีน มุสลิม มารวมกับ Golden Ratio ที่มีความลงตัวของมันเอง ให้เหมือนเป็นการอุปมาว่าทุกๆ ชนชาติมีความเหมือนกันค่ะ
ปัญหาที่เกิดขึ้นของการเตรียมงานชิ้นนี้มีบ้างไหม
มิลค์ : ของทีมเรามันยากตรงที่ว่า เพื่อนกับเราจะเรียนไม่ตรงกัน เวลาว่างไม่ตรงกัน เลยต้องแบ่งกันไปหาข้อมูลมาเลย แล้วก็นัดวันมาพูดคุยกันว่าอยากทำอะไร อยากทำแบบไหน เราจะเป็นพาร์ทของการดีไซน์กับคอนเซปต์ ส่วนเพื่อนจะเป็นพาร์ทสร้าง คอยดูว่าต้องใช้อะไร ทำยังไง ประกอบยังไงค่ะ ซึ่งความยากของงานก็คือเวลาว่างไม่ตรงกัน เกือบจะทำไม่ทัน (หัวเราะ) คือพอเราว่าง เพื่อนก็ไม่ว่าง เราก็ต้องรอ บางอย่างในนี้เขาก็ต้องรอเราเหมือนกัน มันก็เลยช้าด้วย
มีเทศกาลหรืองานอื่นๆ อีกบ้างไหมที่เราอยากลองไปร่วมงานด้วย
มิลค์ : ถ้าเป็นงานต่างประเทศไม่ค่อยรู้เลยอะ (หัวเราะ) ปกติเราจะทำกันแบบเป็นสเกลเล็กๆ คือเรายังไม่ค่อยมีเวลาในการพัฒนางานเยอะเท่าไร แต่ก็จะค่อยๆ ทำให้มากกว่าเดิม อย่างตอนแรกทำเป็น visual mapping แล้วก็พัฒนามาเป็นงานไฟ แล้วก็เริ่มทำเวที มันค่อยๆ เขยิบไปตามเวลาที่เราว่างมากกว่าถ้ามีเวลาศึกษาเรื่องงานเทศกาลต่างๆ เพิ่มเติมก็คงจะมีบ้างที่เราอยากร่วมงานด้วยค่ะ