Girls in Tech ผู้หญิงกับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก #BBC100Women

100 Women เป็นซีรีส์ประจำปีที่สำนักข่าว BBC จัดตั้งขึ้นในปี 2013 เพื่อเสนอภาพตัวแทนของผู้หญิงที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติ สีผิว ภาษา ศาสนาและสายอาชีพ รวมถึงยังเป็นการมอบพื้นที่สื่อให้แก่ผู้หญิงโดยเฉพาะ ซึ่งเอกลักษณ์ของซีรีส์ดังกล่าว คือการพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับผู้หญิงจำนวน 100 คนจากทั่วโลกที่มีส่วนช่วยส่งเสริม พัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้หญิง โดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในด้านการเมือง กฎหมาย หรือสิทธิของผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงทุกแง่มุมของสายงานที่มีผลต่อชีวิตของผู้หญิง รวมถึงในด้านของเทคโนโลยี ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่มักมีภาพจำว่าผู้หญิงกับเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ไม่เข้ากันด้วยเหตุผลที่มาจากความเข้าใจผิดหรืออคติทางเพศ

วันนี้ NYLON จะขอนำเสนอเรื่องราวของบรรดาหญิงสาวสร้างแรงบันดาลใจจำนวน 5 คนที่ต่างใช้ความสามารถของพวกเธอในการพิสูจน์ว่าผู้หญิงสามารถทำได้ทุกอย่าง เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น!

 

Abisoye Ajayi-Akinfolarin

ผู้ก่อตั้งโครงการ GirlsCoding ในปี 2012 เพื่อฝึกอบรมด้านการเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น HTML CSS JavaScript Python หรือ Scratch ให้แก่เด็กสาวจากหมู่บ้านที่ยากจน ชุมชนแออัด สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า หรือแม้กระทั่งหญิงสาวที่หลบหนีมาจากการลักพาตัวของกลุ่มโบโก ฮาราม ในช่วงเวลาหลังเลิกเรียนหรือปิดเทอมภายในเมือง Lagos อดีตเมืองหลวงของไนจีเรีย แอพพลิเคชั่นที่เป็นผลิตจากโครงการนี้ เช่น Makoko Fresh แพล็ตฟอร์มที่ช่วยเชื่อมโยงระหว่างชาวประมงกับผู้บริโภคโดยตรง และโครงการ Break the Blade เพื่อต่อต้านการการขลิบอวัยวะเพศหญิงที่กำลังอยู่ในระหว่างพัฒนา โดยมีการจัดทำสายรัดข้อมือแบบพิเศษที่สามารถแจ้งเตือนเหตุไปยังเจ้าหน้าที่
Abisoye อยากส่งต่อความรู้สึกหลังจากการได้สัมผัสกับคอมพิวเตอร์ในที่ทำงานของเพื่อนของพี่ชายเธอ เมื่อครั้งที่เธอมีอายุได้ 10 ปี จนกลายเป็นแรงผลักดันให้เธอก้าวเข้าสู่เส้นทางสายเทคโนโลยีนับแต่นั้นมา ซึ่งเธอเชื่อมั่นว่าโอกาสในการเรียนรู้จะช่วยให้ผู้หญิงสามารถคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการใช้เทคโนโลยี

 

Alina Anisimova

หัวหน้าของ Kyrgyz Girls’ Space School โครงการฝึกอบรมสำหรับผู้หญิงทุกวัย เพื่อสร้างดาวเทียมดวงแรกของประเทศคีร์กีซสถานที่ทำโดยผู้หญิงทั้งหมดเข้าสู่วงโคจรในปี 2020 ชั้นเรียนแรกของโครงการเกิดขึ้นในวันที่ 5 มีนาคม 2018 ในขั้นต้นผู้ที่เข้าร่วมจะได้เรียนรู้ในเรื่องของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และวิศวกรรม อาทิ การเชื่อมโลหะ การใช้แพล็ตฟอร์ม Arduino ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการพิมพ์ 3 มิติ
โดยทั่วไปแล้ว บรรดาเด็กสาวจำนวน 10 คนในประเทศคีร์กีซสถานจะมี 1 คนที่ต้องแต่งงานทั้งที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยมีผู้หญิงเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถประกอบอาชีพในสายงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่ง Alina ได้แรงบันดาลใจในการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาจากคุณย่าของเธอที่มีอาชีพเป็นวิศวกรด้านวิศวกรรมชลศาสตร์มากว่า 40 ปี

 

Joy Buolamwini

Joy เป็นนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จาก MIT และผู้ก่อตั้งโครงการ Algorithmic Justice League ที่ต้องการเรียกร้องความเท่าเทียมในการเขียนโปรแกรมให้ครอบคลุมถึงคนทุกสีผิว โดยไม่ควรมีคนชาติพันธุ์ใดรู้สึกว่าถูกผลักไสให้เป็นคนชายขอบของสังคม หลังจากที่เธอค้นพบว่าการทำงานของระบบปัญญาประดิษฐ์ในซอฟต์แวร์ตรวจจับใบหน้าไม่สามารถตรวจจับใบหน้าหรือแยกเพศของคนผิวสีได้ เนื่องจากโปรแกรมส่วนใหญ่ที่ใช้งานกันโดยทั่วไปถูกพัฒนาโดยคนผิวขาว ทำให้การประมวลผลจึงอิงกับสีผิวของผู้พัฒนาเป็นหลัก

ผลงานเกี่ยวกับการรณรงค์แก้ไขปัญหาด้านอคติของอัลกอริทึมมีการเผยแพร่ผ่าน TED Talk หรือวิดีโอที่ทำให้เธอได้รับฉายาว่าเป็น Poet of Code ชื่อว่า AI, Ain’t I A Woman? ภายในช่อง Youtube ส่วนตัว เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเด็นเรื่องความเท่าเทียม ไม่ว่าจะในโลกจริง หรือโลกดิจิทัล ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญทั้งสิ้น

 

กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์

หญิงไทยเพียงคนเดียวที่อยู่ในรายชื่อของปี 2018 เธอเป็นผู้คิดค้นและพัฒนาแอพพลิเคชั่น Ooca (อูก้า) แพล็ตฟอร์มออนไลน์สำหรับผู้ที่ต้องการรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยากว่า 30 คนที่พร้อมให้บริการ โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทำให้การเข้าถึงการรักษาด้านสุขภาพจิตเป็นไปได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้นด้วยการพูดคุยผ่านวิดีโอได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านระบบปฏิบัติการมือถือแบบ iOS และ Android รวมถึงบนเว็บไซต์

คุณหมออิ๊กได้ใช้ประสบการณ์โดยตรงของเธอในการรักษาปัญหาสุขภาพจิตมาพัฒนาสตาร์ทอัพดังกล่าว โดยคำนึงถึงปัญหาทั่วไปที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องเผชิญ จนอาจทำให้ต้องปฏิเสธการเข้ารักษาจากผู้เชี่ยวชาญและไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เช่น ความไม่เข้าใจของผู้คนในสังคมต่อการเข้ารับการรักษาด้านสุขภาพจิต ความไม่สะดวกในการเดินทาง เวลา หรือแม้กระทั่งเรื่องของความเป็นส่วนตัว ซึ่งแอพพลิเคชั่น Ooca สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างครอบคลุม

 

Hayat Sindi

นักเทคโนโลยีชีวภาพผู้ก่อตั้ง i2 Institute ในปี 2011 แพล็ตฟอร์มที่ให้การสนับสนุนเยาวชนผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงผู้คนในสายอาชีพวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อสร้างโอกาสและพื้นที่ในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ จัดเตรียมความพร้อมด้านการศึกษา เครื่องมือ และสรรหาตลาดมารองรับความคิดเหล่านั้น ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้พวกเขาสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างเต็มศักยภาพ
โดย Hayat เป็นผู้หญิงคนแรกในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพจากมหาวิทยาลัย Cambridge นอกจากนี้ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตสันถวไมตรี สาขาวิทยาศาสตร์ โดยองค์การ UNESCO อีกด้วย

ทั้งนี้ หากใครต้องการทำความรู้จักกับผู้หญิงเก่งจากทุกมุมโลกในด้านอื่นๆ จากรายชื่อของ 100 Women 2018 สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bbc.com/news/world-46225037

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply