The Eagle Huntress… พรานอินทรีหญิงแห่งมองโกเลีย

  • การเป็นพรานอินทรีหรือการล่าสัตว์บนหลังม้าโดยใช้นกอินทรีที่ฝึกฝนมาโดยเฉพาะเป็นวัฒนธรรมและกีฬาที่สืบทอดกันมาในหมู่ชนเผ่าคาซัก ซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อนที่อยู่ในมองโกเลีย คาซักสถาน และคีร์กิซสถาน
  • มีข้อมูลว่า ผู้หญิงสามารถเป็นพรานอินทรีได้เช่นเดียวกับผู้ชาย โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีชี้ให้เห็นว่า มีพรานอินทรีที่เป็นผู้หญิงด้วย และไม่มีข้อห้ามทางศาสนาหรือสังคมห้ามไม่ให้ผู้หญิงเป็นพรานอินทรี
  • พรานอินทรีหญิงมีน้อยกว่าผู้ชาย และเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นอีกครั้งจากสารคดี The Eagle Huntress ของ Otto Bell แต่เด็กสาวที่เข้าแข่งขันการล่าสัตว์ด้วยนกอินทรีก็ไม่ใช่พรานอินทรีหญิงแค่คนเดียวของชนเผ่าคาซักอย่างที่ในภาพยนตร์เคยว่าไว้ เพราะเคยมีผู้หญิงเข้าแข่งขันมาก่อนหน้านี้แล้ว และมีผู้หญิงที่เข้าแข่งขันกับผู้ชายต่อเนื่องกันมาหลายปีแล้ว

ในปี 2018 ที่ผ่านมา ทาง Documentary Club ได้นำเอาสารคดี The Eagle Huntress จากฝีมือของผู้กำกับ Otto Bell ซึ่งเป็นเรื่องของไอโชลปาน นาเกอีฟ (Aisholpan Nagaiv) เด็กสาวชนเผ่าคาซักแห่งมองโกเลียที่เป็นผู้หญิงเพียงหนึ่งเดียวที่เข้าร่วมแข่งขันการล่าสัตว์ด้วยนกอินทรีท่ามกลางบรรดาพรานอินทรีผู้ชายมาฉายในไทย และเป็นหนังที่สร้างแรงบันดาลใดให้ใครหลายคนได้มากมาย

ในต่างประเทศ แม้ The Eagle Huntress จะได้รับการยอมรับและได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ชมจำนวนมาก แต่ก็มีคนตั้งข้อสงสัยว่า “ไอโชปานเป็นผู้หญิง ‘คนแรก’ ที่ได้รับการฝึกขี่ม้าล่าสัตว์ด้วยนกอินทรีในรอบสองพันปีจริงหรือ” และมีผู้ที่ได้ข้อมูลว่า ถึงเธอจะเป็นผู้หญิงคนแรกในครอบครัวสิบสองรุ่นที่ได้รับการสืบทอดวิชาการเป็นพรานอินทรีบนหลังม้า แต่ก่อนหน้านั้นก็เคยมีผู้หญิงที่เป็นพรานอินทรีมานานแล้ว จากการค้นคว้าของเอเดรียนน์ เมเยอร์ (Adrienne Mayor) นักประวัติศาสตร์ พบว่ามีพรานอินทรีที่เป็นผู้หญิงปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์ของชนเช่าคาซักซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อนในมองโกเลียมาก่อน และมีด้วยกันหลายคน ดังนั้นการให้ข้อมูลว่า ไอโชปานเป็นผู้หญิงคนแรกอาจทำให้เข้าใจผิดได้  

จากบทความของเมเยอร์ คือ “The Eagle Huntress: Ancient Traditions, and Evidence for Women as Eagle Hunters” (พรานอินทรีหญิง: ประเพณีเก่าแก่และหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงเป็นพรานอินทรีได้) ผู้หญิงเผ่าคาซักในสมัยก่อนเป็นทั้งนักรบและพรานอินทรี และในอดีต ผู้หญิงเป็นพรานอินทรีกันเป็นเรื่องปกติ เมื่อเทียบกับในปัจจุบันที่การล่าสัตว์บนหลังม้าโดยใช้นกอินทรีเป็นกีฬาของผู้ชายเป็นหลัก โดยหลักฐานทางโบราณคดีจากการขุดค้นสุสานโบราณในบริเวณที่ราบสเต็ปป์แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมีส่วนร่วมในการรบและล่าสัตว์ นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบมัมมี่โบราณของผู้หญิงที่สวมถุงมือหนังชนิดหนาที่ใช้กันในกลุ่มของพรานที่ฝึกนกอินทรีเป็นเครื่องมือในการล่าสัตว์ด้วย

ในวัฒนธรรมชนเผ่าคาซัก ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมทางการศึกษา เล่นกีฬา และทำงานเช่นเดียวกับผู้ชาย โดยเด็กหญิงและเด็กชายจะเริ่มฝึกขี่ม้า ช่วยครอบครัวต้อนสัตว์ และปลูกกระโจม (ger) ตั้งแต่อายุห้าขวบ การล่าสัตว์ด้วยนกอินทรีเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมาในครอบครัว ไม่พบว่ามีข้อห้ามทางศาสนาหรือสังคมที่ห้ามไม่ให้ผู้หญิงเป็นพรานอินทรี ใครก็ตามที่แข็งแรงพอจะฝึกและให้นกอินทรีเกาะแขนไปพร้อมกับขี่ม้าได้ คนนั้นก็สามารถฝึกเป็นพรานอินทรีได้

ก่อนหน้าที่จะมีสารคดี The Eagle Huntress ชาวตะวันตกได้รู้จักกับพรานอินทรีหญิงชาวมองโกล คือ เนียร์กิดมา (Nirgidma) จากภาพในนิตยสาร National Geographic เมื่อปี ค.ศ. 1937 โดยในภาพนั้นเธอสวมชุดพื้นเมืองและถ่ายภาพคู่กับนกอินทรีที่ฝึกมาเพื่อการล่าสัตว์ของเธอ

การล่าสัตว์ด้วยนกอินทรีสร่างซาไปช่วงหนึ่งระหว่างช่วงสงครามและช่วงที่โซเวียตรุกราน กระทั่งทศวรรษที่ 1990 จึงมีการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีการแข่งขันประจำปีในหลายประเทศ เช่น คาซักสถาน คีร์กิซสถาน และมองโกเลีย

ในการแข่งขันขี่ม้าและใช้นกอินทรีล่าสัตว์เมื่อปี ค.ศ. 2009 มีพรานอินทรีหญิงเข้าร่วมแข่งขันด้วย คือ มักปาล อับดราซาโควา (Makpal Abdrazakova) ซึ่งปัจจุบันมีอาชีพเป็นทนายความ เธอเข้าร่วมการแข่งขันทั้งในปี 2010 และ 2011 ด้วย มักปาลเคยช่วยพ่อขอเธอฝึกนกอินทรีและได้ฝึกนกอินทรีของตัวเอง เธอได้รับการยอมรับจากผู้อาวุโสชนเผ่าคาซักและได้รับคำอวยพรในการเข้าแข่งขันจากพวกเขาด้วย เพราะคนรุ่นเก่ายังคงจำได้ว่า มีผู้หญิงที่ขี่ม้าและใช้สุนัขกับนกอินทรีในการล่าสัตว์

ไม่เพียงแต่คนในเผ่าคาซักด้วยกันเท่านั้น พรานอินทรีชาวคาซักยังสอนผู้หญิงต่างชาติให้เป็นพรานอินทรีอีกด้วย ลอเรน แมคกัฟ (Lauren McGough) เป็นหญิงสาวชาวอเมริกันที่มาฝึกเป็นพรานอินทรีและเข้าร่วมแข่งขันในเทศกาลแข่งอินทรีประจำปีกับพรานอินทรีคนอื่น ๆ  

ในบรรดาเด็กสาวรุ่นราวคราวเดียวกัน นอกจากไอโชลปานแล้ว ยังมีซามันโบล (Zamanbol) เด็กสาวอีกคนหนึ่งที่เข้าร่วมการแข่งขันด้วย เธอใช้เวลาช่วงวันหยุดนอกจากการเรียนหนังสือในการฝึกเป็นพรานอินทรี โดยวิชาการฝึกนกอินทรีนี้ส่วนหนึ่ง เธอได้รับการสืบทอดมาจากปู่ และเมื่อปู่เสียชีวิต เธอก็ได้รับเป็นนกอินทรีของปู่ที่เคยแข่งขันจนชนะมาแล้วเป็นมรดก และพี่ชายของเธอ บาร์ซาไบ (Bazarbi) ซึ่งเป็นพรานอินทรีก็ช่วยสอนเธอด้วยอีกคนหนึ่ง และยังมีไอซูลู (Aisulu) เด็กหญิงที่เริ่มฝึกการเป็นพรานอินทรีตั้งแต่อายุห้าขวบ โดยได้รับการสนับสนุนจากพ่อและแม่ รวมถึงปู่ของเธอด้วย โดยพวกเขาคาดหวังว่า เมื่อเติบโตขึ้นเธอจะสามารถเข้าร่วมการแข่งขันล่าสัตว์ด้วยนกอินทรีได้

เห็นได้ว่า มีการฝึกสอนให้ผู้หญิงเป็นพรานอินทรีมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่สัดส่วนของผู้หญิงที่มาเป็นพรานอินทรีมีน้อยกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด เมื่อมีสารคดีเกี่ยวกับไอโชลปาน สาวน้อยชาวคาซักที่เข้าร่วมและชนะการแข่งขันล่าสัตว์ด้วยนกอินทรี ทำให้บทบาทของพรานอินทรีหญิงเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ไม่ว่าไอโชปานจะเป็นผู้หญิงคนแรกที่เป็นพรานอินทรีหรือไม่ แต่การเข้าร่วมการแข่งขันที่มีคู่แข่งเป็นผู้ชาย ความกล้าหาญ และความตั้งใจจริงของเธอก็เป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้ใครอีกหลายคนได้อย่างที่เธอพูดเอาไว้ใน The Eagle Huntress

“ผู้หญิงจะทำอะไรก็ได้ ถ้าเธอพยายาม”

 

References

Is the Eagle Huntress really a documentary? https://www.bbc.com/news/magazine-38874266

Fact about Ishol-pan: The Eagle Huntress of Mongolia https://www.toursmongolia.com/mongolia_travel_news/facts-about-aishol-pan-the-eagle-huntress-of-mongolia

The Eagle Huntress: Ancient Traditions, and Evidence for Women as Eagle Hunters – Part I https://www.ancient-origins.net/news-history-archaeology/eagle-huntress-ancient-traditions-and-evidence-women-eagle-hunters-part-i-020797

The Eagle Huntress: New Generations of Eagle Huntresses in Kazakhstan and Mongolia – Part II https://www.ancient-origins.net/news-history-archaeology/eagle-huntress-new-generations-eagle-huntresses-kazakhstan-and-mongolia-020798

At 14, She Hunts Wolves and Takes Selfies With Cherished Eagle in Mongolia https://www.nytimes.com/2018/12/22/world/asia/mongolia-golden-eagle-festival.html

Kazakhstan’s lone female eagle hunter http://blogs.reuters.com/photographers-blog/2012/03/06/kazakhstans-lone-female-eagle-hunter/

Written by piyarak

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply