Kate Warne… นักสืบเอกชนหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกา

  • เมื่ออายุ 23 ปี เคท วาร์นได้สมัครเข้าเป็นนักสืบในสำนักงานนักสืบพิงเคอร์ตันสาขาชิคาโก แม้จะไม่เคยมีธรรมเนียมการรับผู้หญิงเป็นนักสืบ แต่เมื่อฟังเหตุผลการสมัครแล้ว อัลลัน พิงเคอร์ตันก็ตัดสินใจรับเธอเป็นนักสืบหญิงคนแรก
  • ในฐานะนักสืบและสายลับ เคทมีผลงานที่ประสบความสำเร็จหลายอย่างและคลี่คลายคดีสำคัญได้หลายคดี รวมถึงเคยทำหน้าที่คุ้มกันประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐที่กำลังจะเดินทางไปสาบานตัวจากการลอบสังหารด้วย
  • หากไม่มีบันทึกของพิงเคอร์ตัน เราอาจไม่รู้ว่ามีเธออยู่ และยิ่งไปกว่านั้นเธอยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เป็นหัวหน้าของแผนกนักสืบหญิงที่พิงเคอร์ตันเปิดขึ้นใหม่อีกด้วย

ถ้าหากลองให้พูดถึงนักสืบหญิงในนิยายออกมาสักชื่อ ก็คงจะพอมีคนนึกออกบ้าง แต่ถ้าเป็นสาว ๆ ในแวดวงการสืบสวนในชีวิตจริงบ้างล่ะ? คำถามนี้คงมีคนคิดหนัก เพราะนึกไม่ค่อยออก โดยเฉพาะเมื่อสาว ๆ เหล่านั้นไม่ได้มีบทบาทอยู่บนแผ่นฟิล์มหรือนิยายที่เขียนขึ้นจากชีวิตจริง บางคนอาจนึกถึงสายลับสาวเจ้าเสน่ห์อย่างมาตาฮารี แต่จะมีสักกี่คนที่รู้จักนักสืบคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการและทำงานอยู่ในหน่วยงานของรัฐอย่าง เคท วาร์น (Kate Warne, 1833-1868) นักสืบหญิงของสำนักงานนักสืบพิงเคอร์ตัน และเคยทำหน้าที่สำคัญอย่างการคุ้มครองประธานาธิบดีสหรัฐที่มีคนรู้จักมากที่สุดอย่างอับราฮัม ลินคอล์นมาแล้ว

สำนักงานนักสืบพิงเคอร์ตัน (Pinkerton Detective Agency) เป็นสำนักงานนักสืบเอกชนที่รับทำงานสืบสวนและคุ้มครองบุคคลที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1950 โดยอัลแลน พิงเคอร์ตัน (Allan Pinkerton) ชายเชื้อสายสก็อต นักสืบที่ทำงานทั้งหมดในเวลานั้นเป็นผู้ชาย แต่จุดเปลี่ยนของสำนักงานนักสืบที่ชิคาโกก็มาถึงในปี 1956 เมื่อเคท วาร์นม่ายสาววัย 23 ปีก้าวเข้ามาในสำนักงาน เธอไม่ได้มาด้วยเรื่องคดีของตัวเอง ไม่ได้มาสมัครทำงานธุรการ แต่เธอมาสมัครเป็นนักสืบตามที่พิงเคอร์ตันลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์เอาไว้

ในนิยายหรือภาพยนตร์ นักสืบสาวส่วนมากมักมีรูปร่างหน้าตาดึงดูดใจ แต่สำหรับเคทแล้ว เธอจัดเป็นผู้หญิงหน้าตาธรรมดา เรียกไม่ได้ว่าสะสวยอะไร แต่สิ่งที่พิงเคอร์ตันมองเห็นในตัวเธอและได้เขียนเอาไว้ในหนังสือ The Spy of the Rebellion (1883) คือ ความฉลาด ความเชื่อมั่น และใบหน้าที่ดูซื่อตรงจนคนที่พูดคุยด้วยอาจเผลอบอกความลับของตัวเองออกมา

เมื่อแรกที่รู้ว่าเธอไม่ได้มาสมัครเป็นเลขานุการแต่มาเป็นนักสืบ พิงเคอร์ตันออกปากกับเธอว่า ไม่เคยมีธรรมเนียมในการรับผู้หญิงมาเป็นนักสืบมาก่อน แต่เคทบอกเขาว่า ผู้หญิงมีประโยชน์ในการเจาะเขาข้อมูลเชิงลึกที่นักสืบชายไม่สามารถทำได้ด้วยการตีสนิทกับภรรยาหรือเพื่อนหญิงของเป้าหมาย นอกจากนี้ ผู้ชายมักชอบคุยอวดกับผู้หญิง เธอจึงกระตุ้นให้พวกเขาคายข้อมูลออกมาได้ ยิ่งกว่านั้น ผู้หญิงยังมีความละเอียดและเป็นนักสังเกตการณ์ที่ดีด้วย จากเหตุผลที่เธอแสดงให้เห็น พิงเคอร์ตันจึงตัดสินใจรับเธอเข้าทำงาน นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเป็นนักสืบเอกชนหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ และเป็นการปฏิวัติธรรมเนียมการรับนักสืบซึ่งเดิมทีรับแต่นักสืบชายเลยก็ว่าได้

หลังจากอัลลัน พิงเคอร์ตันรับเคท วาร์นเข้าทำงานในฐานะนักสืบ เธอได้พิสูจน์ให้เห็นหลายครั้งว่า สิ่งที่เธอพูดกับเขาในวันแรกที่มาสมัครงานนั้นถูกต้อง จากแฟ้มคดีของสำนักงานนักสืบพิงเคอร์ตันเท่าที่เหลือรอดจากเหตุอัคคีภัยครั้งใหญ่ของชิคาโกมาได้และได้รับการเก็บรักษาไว้ในหอสมุดของสภาคองเกรส พิงเคอร์ตันบันทึกคดีที่เคทเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยไว้หลายคดี

เคทเคยปลอมเป็นหมอดูเพื่อหลอกล่อให้เป้าหมายเปิดเผยความลับว่าเป็นคนวางยาฆ่าญาติของตนเองเพื่อหวังมรดก เคยสืบหาตัวคนร้ายลักทรัพย์ห้าหมื่นดอลลาร์ในคดีอดัมเอ็กซ์เพรส (Adam Express) ด้วยการตีสนิทกับภรรยาคนร้าย ได้เงินคืนมาสามหมื่นดอลลาร์และทำให้คนร้ายยอมมอบตัวในที่สุด และยังมีส่วนร่วมในการคุ้มครองอับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่สิบหกของสหรัฐอเมริกาจากการลอบสังหารที่บัลติมอร์ ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นกรณีสำคัญมากครั้งหนึ่งในชีวิตนักสืบหญิงของเธอ

ในกรณีการวางแผนสังหารอับราฮัม ลินคอล์นที่บัลติมอร์ (The Baltimore Plot) ในปี 1961 สำนักงานนักสืบพิงเคอร์ตันได้รับการว่าจ้างให้คุ้มกันลินคอล์นซึ่งได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ (President-elect) ทีมของพิงเคอร์ตันได้สืบหาข่าวการปองร้ายและได้ข้อมูลมาว่าอาจมีการลอบสังหารลินคอล์นระหว่างเดินทางไปรัฐแมรี่แลนด์ พิงเคอร์ตันจึงจัดทีมคุ้มครองร่วมเดินทางไปบัลติมอร์กับว่าที่ประธานาธิบดีด้วย โดยเคท วาร์นเป็นหนึ่งในทีมนั้น

เคทซึ่งมีพื้นเพเป็นชาวนิวยอร์กได้ปลอมตัวเป็นสาวสังคมชาวใต้และพูดด้วยสำเนียงหนัก ๆ แบบคนทางใต้ ซึ่งในเวลานั้นเป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการเลิกทาสของลินคอล์น และระหว่างการสังสรรค์บนรถไฟ ผู้โดยสารคนหนึ่งก็บอกกับเธอว่า เขาเตรียมจะลอบสังหารลินคอล์นระหว่างเดินทางไปยังกรุงวอชิงตันดีซี โดยเมื่อถึงบัลติมอร์ นักลอบสังหารที่เตรียมไว้ส่วนหนึ่งจะดึงความสนใจจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและอีกส่วนหนึ่งอาศัยช่วงชุลมุนเข้าถึงตัวลินคอล์น เคทนำข่าวที่ได้รับมาแจ้งแก่พิงเคอร์ตัน หัวหน้าสำนักงานนักสืบจึงวางแผนให้ลินคอล์นปลอมตัวเป็นชายพิการในความดูแลของน้องสาว คือ เคท วาร์น และย้ายจากตู้โดยสารเดิมไปอยู่ท้ายขบวน และตลอดเวลาของการเดินทางนั้นเคทเฝ้าสังเกตการณ์และระวังความปลอดภัยให้ลินคอล์นโดยไม่นอนเลย จนกระทั่งถึงวอชิงตันดีซี อับราฮัม ลินคอล์นก็สามารถเข้าพิธีสาบานตัวเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่สิบหกได้อย่างปลอดภัย

ผลงานของเคท วาร์นทำให้เธอได้รับความไว้วางใจจากพิงเคอร์ตันและได้รับงานสำคัญอีกหลายครั้ง และความสำเร็จครั้งสำคัญที่สุดอีกครั้งหนึ่งของเธอก็คือ การได้เป็นหัวหน้าแผนกนักสืบหญิงของสำนักงานพิงเคอร์ตัน ซึ่งเป็นแผนกที่เขาตัดสินใจก่อตั้งขึ้นใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า ในบรรดานักสืบหญิงที่ทำงานอยู่ เคท วาร์นไม่เคยทำให้เขาผิดหวังเลย แม้จะมีความก้าวหน้าในงานของตนเองสูงสุด แต่น่าเสียดายที่เคทเสียชีวิตตั้งแต่อายุน้อย คือ 38 ปี จากโรคปอดบวม ถ้าเธอมีชีวิตอยู่นานกว่านั้นอีกสักหน่อย ก็คงสร้างผลงานที่น่าประทับใจในฐานะนักสืบหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกาได้อีกมากมายทีเดียว

References

  1. Kate Warne
  2. First in Their Field: Kate Warne
  3. The Untold Story Of Kate Warne, The World’s First Female P.I.
  4. The Untold Story of Kate Warne, America’s First Female Private Eye
  5. Kate Warne: America’s First Official Female Spy

Written by piyarak

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply