ร่างทรง คืนความขลังสู่หนังผีไทยผ่านความเชื่อ ศรัทธา และสิ่งที่มองไม่เห็น

หลังจากที่ตามรีวิวความน่ากลัวจากฝั่งเกาหลีมานาน ในที่สุดเราก็ได้มีโอกาสได้หลอนกันเองเสียที กับ “ร่างทรง” โปรเจ็กต์ความร่วมมือระหว่างโต้ง บรรจง และ นาฮงจิน 

“ร่างทรง” ดึงเอาความเชื่อท้องถิ่นเรื่องผีของภาคอีสานของไทยมาเล่าในรูปแบบของ Mockumentary หรือหนังที่แกล้งๆ ว่าเป็นสารคดีติดตามชีวิตของ ป้านิ่ม ร่างทรงย่าบาหยันที่ถูกสืบทอดหน้าที่กันมาจากรุ่นสู่รุ่น 

จากการเริ่มต้นจากการตามป้านิ่ม ทีมสารคดีตัดสินใจขยายไปติดตามสมาชิกครอบครัวของป้านิ่มอย่าง มิ้ง หลานสาวของป้าด้วย หลังจากที่อยู่ดีๆ มิ้งก็แสดงพฤติกรรมแปลกๆ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อเอาฟุตเทจที่ถ่ายมิ้งมาให้ป้านิ่มดู ก็ตัดสินใจว่าจะหาคำตอบกับอาการที่หลานสาวของเธอกำลังเป็น

ครึ่งแรกของ “ร่างทรง” อาจจะเรียกได้ว่าเหมือนหนังแนวสารคดีทั่วไปที่ติดตามชีวิตครอบครัวหนึ่ง เล่าถึงความเชื่อของฝั่งอีสานบ้านเรา แทรกบางเรื่องที่ทำให้รู้สึกแปลกใจแต่ยังไม่ถึงกับกลัว ราบเรียบจนสงสัยว่าแล้วคนเกาหลีเขากลัวอะไรกันนะ — แต่ความพีคอยู่ในครึ่งหลัง

ครึ่งหลังของหนังทำให้เราเข้าใจแล้วว่าทำไมบางรีวิวจากเกาหลีถึงบอกว่า ‘อยากลุกออกจากโรงกลางเรื่อง’ เพราะมีหลายตอนที่ทำให้เราอยากกดเร่งให้จบไวไว ดูต่อไม่ไหวแล้ว เหนื่อยมาก

ร่างทรงไม่ได้มีผีโผล่มาหลอกเหมือนหนังผีทั่ว แต่พี่โต้งสร้างความความน่ากลัวของ “ร่างทรง” ผ่าน ‘ผีในร่าง’ และความรู้สึกของการที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนที่วันหนึ่งเปลี่ยนไปเป็นคนละคน และความศรัทธาที่ถ่ายทอดต่อกันมาถูกสั่นคลอนจนกลายเป็นความลังเลใจ

ความน่ากลัวของ “ร่างทรง” ถูกเสริมให้สั่นประสาทยิ่งขึ้นด้วยการเล่าเรื่องเสมือนสารคดี เพราะการที่มีตากล้องไปติดตามถ่ายชีวิตนั้นเสมือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะฉากที่เล่าเรื่องผ่านกล้องเหมือน (อย่างที่เห็นในตัวอย่าง) ทั้งลุ้นทั้งกลัว กว่าจะผ่านการเล่าตรงนั้นไปได้ทำเอาหอบกันเลยทีเดียว แต่ก็มีบางจุดที่ชวนปวดหัวด้วยความเป็นสารคดีที่ต้องเก็บทุกอย่างผ่านกล้อง ทำให้บางอย่างอาจจะดูไม่เมคเซนส์บ้าง หรือถ้าถ่ายแบบเป็นหนังปกติทั่วไปอาจจะช่วยดึงอารมณ์ให้รู้สึกหลอนกว่าเดิม

นักแสดงในเรื่องนี้ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความ ‘จริง’ ของเรื่องราวในเรื่อง ทั้งป้านิ่ม (สวนีย์ อุทุมมา) ป้าน้อย (ศิราณี ญาณกิตติกานต์) ลุงมานิต (ยะสะกะ ไชยสร) และโดยเฉพาะ ญดา นริลญา ที่รับบทเป็น มิ้ง ตัวละครสำคัญที่ทำให้เรื่องดำเนินไปได้จนถึงนาทีสุดท้าย ยอมรับกันตามตรงเลยว่าเราไม่เคยได้ดูผลงานของเธอมาก่อน และด้วยฝีมือการแสดงของเธอก็ทำให้เราเชื่อสนิทใจว่าเธอคือมิ้งจริงๆ ไม่ใช่แค่เพียงการแสดงเท่านั้น 

ความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้เป็นเรื่องลึกลับ—และน่ากลัว—เสมอสำหรับคนไทยอย่างเราๆ และกลิ่นของความเป็นหนังเกาหลีไม่ได้ได้ทำให้ความรู้สึก ‘จริง’ ของความเชื่อไทยๆ เหล่านี้ลดน้อยลง ตลอดเรื่องมีการหยิบเอากิมมิคเรื่องราวต่างๆ ที่เราคุ้นเคยมาใส่ไว้เป็นสัญญะของความเชื่อแบบไทยๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น พิธีกรรมต่างๆ ความเชื่อการแขวนเสื้อสีแดงไว้หน้าบ้าน หรืออย่างการติดสติ๊กเกอร์ท้ายรถสีดำว่ารถคันนี้สีแดง 

ถึงแม้ว่าจะเป็นการร่วมมือของเกาหลีและไทย แต่ต้องยอมรับว่า “ร่างทรง” สามารถเรียกคืนความขลังของหนังผีไทยให้กลับมาดึงดูดนักดูหนังผีได้อยู่เหมือนกัน ไม่ใช่แค่โครงเรื่องที่หยิบเอาความไทยมาใส่ไว้ในหนังร่วมทุนสองชาติอย่างที่หลายคนอาจจะกังวล 

ถ้าถามว่าแนะนำให้ดูไหมก็ต้องบอกเลยว่าแน่นอน หากใครเคยดู The Wailing ฝีมือผู้กำกับ นา ฮงจิน มาก่อนแล้ว พอดูร่างทรงก็อาจจะพอเดาทิศทางของเรื่องได้บ้าง (แต่ก็ยังน่ากลัวอยู่ดี) แต่ใครที่ไม่เคยดูล่ะก็ เข้าโรงไปแล้วก็พร้อมเหนื่อยได้เลย เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรค่าแก่การดูในโรงภาพยนตร์จริงๆ