ทำความรู้จัก Ball Floor : โลกใบที่สองของเหล่า แดรกควีน 80s ผ่าน Pose และ Paris is Burning

สำหรับใครที่ยังอินกับ Pride Festival อยู่และยังอยากหาซีรีส์หรือสารคดีดู NYLON ก็อยากจะแนะนำเรื่องที่สามารถดูได้ง่ายๆ ผ่านช่อง Netflix อย่าง Pose (2018) และ Paris is Burning (1990, Jenny Livingston) ที่ว่าด้วยเรื่องสังคมของกลุ่มคน LGBT ในยุค 80 ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาพสังคมที่ถูกกดขี่อย่างรุนแรง พื้นที่ตามท้องถนนของเมืองนิวยอร์ก ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา นั่นจึงเป็นสาเหตุให้กลุ่มคนดังกล่าวสร้างโลกใบที่ 2 ของตัวเองขึ้นเรียกว่า Ball Room ที่หากมองผิวเผินอาจเป็นเพียงสถานที่สังสรรค์ยามราตรีเพียงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงโรงละครแห่งนี้กลับเป็นสถานที่เดียวที่ให้โอกาสได้แสดงออกว่า แท้จริงพวกเขานั้นคือใครกันแน่ 

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงสงสัยว่าแล้วเรื่องนี้มันเกี่ยวกับซีรีส์และสารคดีอย่างไร? แล้วทำไมจึงต้องดูหนังทั้งสองเรื่องนี้ควบคู่กัน 

 

ครอบครัวที่ 2 และเรื่องราวการต่อสู้ในโลกบอลรูมกับ Pose

การที่เราต้องมีหน้าที่คุณแม่ในงานบอลก็เพราะ เด็กๆ ต้องการคนที่คอยรับฟัง คอยดูแล จากใครสักคนแทนพ่อแม่ที่ทำให้พวกเขาต้องกลายเป็นแบบนี้ คำพูดจาก เปปเปอร์ ลาไบจา (Pepper Labeija) คุณแม่ของบ้านลาไบจาใน Paris is Burning นี้อาจจะเป็นการสรุปเรื่องราวของระบบบ้านในสังคม LGBT ได้ครบถ้วนอย่างแท้จริง

เพราะสิ่งสำคัญที่ทำให้ระบบบ้าน มีคุณค่ากว่าการเป็นเพียงกลุ่มปกติโดยทั่วไปคือการมี แม่ เป็นผู้มีอำนาจใหญ่ที่สุดในครอบครัว แน่นอนว่าหน้าที่ของแม่คือการอบรมและดูแลเหล่าลูกในบ้านอย่างเต็มใจและที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ทุกคนต่างสมัครใจที่จะมาเป็นแม่ลูกกันอย่างเต็มที่ ดังที่เราเห็นในเรื่อง Pose ที่ บลังก้า (Blanca) แม่ประจำบ้าน แวนจาลิสต้า (Evangelist) นั้น ได้หยิบยื่นโอกาสให้เดเมี่ยน (Damon) เด็กหนุ่มที่ถูกครอบครัวไล่ออกจากบ้านเพียงเพราะเขาชอบเพศเดียวกัน มาเป็นสมาชิกประจำบ้านโดยสมัครใจทั้งสองฝ่าย ที่สำคัญเมื่อเดเม่ียนเข้ามาในบ้านแล้วนั้น บลังก้าก็ดูแลเขาอย่างต็มที่ทั้งให้ที่อยู่อาศัยรวมถึงการพาเดเมี่ยนไปสมัครโรงเรียนสอนเต้น เพื่อสานฝันของเดเมี่ยนให้เป็นจริงอีกต่างหาก


 

และถ้าหากย้อนกลับไปถึงคำพูดของบาไลจาที่ว่า เมื่อเด็กๆ ถูกปฏิเสธจากครอบครัว เขาจะออกตามหาใครบางคนที่มาเติมเต็มช่องว่าง นั่นทำให้เด็กๆ มาหาฉัน ก็กลับเป็นจริงอย่างยิ่งเพราะสุดท้ายแล้ว หากเด็กคนหนึ่งที่เขาหนีออกมาจากบ้านหลังเก่านั้น เขาควรที่จะมีบ้านหลังใหม่ที่ดีกว่าเก่าที่เขาหนีหรือถูกไล่มา นั่นจึงเป็นหน้าที่ของเหล่าแม่ๆ ที่ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการเสริมสร้างชีวิตที่ดีให้ลูกบ้าน การสร้างชื่อเสียงให้บ้านผ่านงาน Ball Floor ด้วยการประกวดเดินแบบ รวมไปถึงการเต้นโว้ก (Vogue) เพื่อประชันความสามารถกัน ซึ่งในสังคม Ball Room นั้น เป็นเรื่องที่จริงจังกันอย่างมาก ถึงขนาดเกิดการจิกกัด ทะเลาะเบาะแว้งกัน เพื่อที่จะคว้าชัยชนะมาสู่บ้านตัวเองให้ได้

คำถามคือทำไมแต่ละบ้านถึงต้องพยายามกันขนาดนี้และทำไมถึงต้องใช้วิธีแบบนี้กันด้วย? แต่ทว่าความสงสัยนี้ก็ได้ถูกคลี่คลายเมื่อเราได้ดูเรื่อง Paris is Burning 

 

Paris is Burning เพราะโลกใบแรกมันแย่เกินไป โลกไปที่สองจึงเกิดขึ้นมา

แน่นอนว่าในสังคมที่มีหลายบ้านหลายก๊กนั้น การแข่งขันย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกบ้านต่างต่อสู้เพื่อชิงตำแหน่งที่ 1 ใน Ball Room แต่การแข่งขันของพวกเขานั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงแต่อย่างใด แต่เป็นเพียง การเดินแบบและเต้นเท่านั้น 

ในสังคม Ball Room ยุคนั้นจะมีการจัดงาน Ball Floor ในแต่ละค่ำคืนเพื่อให้แต่ละบ้านส่งสมาชิกเข้ามาประกวดตามแต่ละหมวดหมู่ ซึ่งมีตั้งแต่เจ้าหญิงราชวงศ์ชั้นสูงจนไปถึงทหารชั้นประทวนมาดแมนสุขุมเลยทีเดียว นอกจากนี้อีกหนึ่งการประกวดที่เป็นไฮท์ไลท์ของงานคือการเต้น โว้ก (Vogue) ซึ่งเป็นการเต้นประชันกันในแต่ละบ้าน การใช้ท่าทางวาดลวดลายแทนคำพูดต่างๆ เพื่อต่อสู้กันไปมา โดยผู้ที่ชนะใจกรรมการเท่านั้นถึงจะสามารถคว้ารางวัลไปครอง 

หากมองเพียงผิวเผินนี่อาจจะเป็นการประกวดทั่วไปที่เกิดขึ้นในทุกสังคม แต่ทว่า Paris is burning กลับบอกเล่าที่มาที่ไปของเรื่องราวทั้งหมดนี้ได้อย่างลึกซึ้งและทำให้เข้าใจมากไปกว่ามุมมองที่ผิวเผินเหล่านั้น 

การกระทำของพวกเราไม่ใช่การเลียนแบบหรือล้อเลียน แต่นี่คือการสวมบทบาทให้เหมือนจริงมากที่สุดทั้งเสื้อผ้าและท่าทางที่ควรจะเป็น ดอเรียน คอรีย์ (Dorian Corey) หนึ่งในแม่ประจำบ้านได้เล่าไว้ เขายังเล่าต่อว่าการประกวดสำหรับสังคมบอลรูมนั้น มันเป็นเหมือนการเติมเต็มความฝันให้กับเหล่าเด็กๆ เพราะในสังคมภายนอกพวกเขาคือกลุ่มคนที่ถูกเหยียดหยาม ถูกตราหน้าว่าเป็นเด็กไร้บ้าน พวกติดยา รุนแรงไปจนถึงพวกจิตวิปริต แต่ในบอลรูมและงานประกวดนั้น พวกเขาจะเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น จะเป็นราชินีในแบบที่เขาวาดฝัน หรือจะเป็นทหารหนุ่มก็แล้วแต่ความต้องการแทบทั้งสิ้น นี่จึงเป็นเหมือน การเติมเต็มความฝันที่ยังไม่ถูกเติมเต็มหรือไม่มีวันที่ถูกเติมเต็มให้พวกเขา ได้ 

และนั่นรวมไปถึงการเต้นโว้ก (Vogue) ด้วยเช่นกัน เพราะสังคมที่การเต้นในยุคนั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในงานเลี้ยงของคนชนชั้นสูง พวกเขาที่ถูกเปรียบในฐานะคนชั้นล่าง ย่อมไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศเหล่านั้นเลยเพียงสักครั้งเดียว นี่จึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ให้พวกเขาได้แสดงออกอย่างเต็มที่ เพราะหากเดินออกจากประตูบอลรูมนี้ไป พวกเขาอาจจะไม่มีโอกาสได้ขยับร่างกายเป็นท่าเต้นต่างๆ แบบนี้อีกเลยก็ว่าได้

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทั้ง Pose และ Paris is Burning คือส่วนที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน ในขณะที่ Pose ได้ถ่ายทอดให้เห็นว่าประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติของ LGBT และบอลรูมในยุค 80 นั้นเป็นอย่างไร  Paris is Burning ก็คือส่วนที่มาเติมเต็มให้กับความจริงที่ว่า ทำไมโลกมนุษย์ภายนอกถึงโหดร้ายต่อพวกเขา จนถึงขนาดที่พวกเขาต้องสร้างโลกใบที่สองเล็กๆ ของตัวเองเพียงเพื่อหวังจะได้โลดแล่นอยู่บนแสงสีด้วยเช่นกัน 

 

Written by Kithanai Jongaijuk