GUTENBERG: BOOKs & eBOOKs

  • การมาถึงของเครื่องพิมพ์ของโยฮันเนส กูเตนเบิร์กในปี 1454 เป็นจุดเปลี่ยนของการเผยแพร่ศิลปวิทยาการฉันใด การเกิดขึ้นของดิจิตอลอาร์ไคฟ์ที่มีชื่อว่าโปรเจกต์กูเตนเบิร์กก็ฉันนั้น
  • กูเตนเบิร์กเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งโดยไมเคิล ฮาร์ท มีจุดมุ่งหมายในการรวบรวมและเผยแพร่หนังสือที่เป็นสาธารณสมบัติแล้วในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันมีหนังสืออยู่ในระบบแล้วเกือบหกหมื่นเล่ม

อย่างที่เคยผ่านหูผ่านตากันไปในวิชาสังคมศึกษาตอนม.ปลายว่าการเกิดขึ้นของแท่นพิมพ์กูเตนเบิร์กทำให้เกิดแรงกระเพื่อม จนกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกตะวันตกและนำไปสู่ยุคแห่งการปฏิรูปศาสนา (Reformation)

การที่หนังสือเกิดขึ้นทีละเยอะๆ นี่เปลี่ยนโลกได้ขนาดนั้นเลยเหรอ?

เล่าย้อนกลับไปสักหน่อย ในประมาณศตวรรษที่ 4 ที่การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ไม่ได้ถูกจำกัดหรือกลายเป็นสิ่งต้องห้าม แต่ถึงอย่างนั้นการเรียนรู้ศาสนาก็ยังจำกัดอยู่ในอาราม นักบวชเท่านั้นที่มีโอกาสแตะต้อง อ่าน และตีความพระคัมภีร์ การส่งต่อความรู้ ข้อมูล การสร้างหนังสือก็ยังใช้วิธีเขียนมือ อ่านต้นฉบับออกเสียงให้คนลอกตาม เป็นระบบการผลิตหนังสือที่ทำได้ในจำนวนจำกัด และบีบให้การเข้าถึงความรู้อยู่ในวงจำกัด ทั้งเพราะระเบียบปฏิบัติของศาสนาและความขาดแคลนของเทคโนโลยีในการผลิต แค่ลองคิดภาพว่ากว่าจะคัดจะเขียนให้ได้หนังสือหนึ่งเล่มก็กินเวลาเป็นเดือนๆ แล้ว

จนกระทั่งปี 1454 นายช่างชาวเยอรมัน ชื่อโยฮันเนส กูเตนเบิร์ก (Johannes Gutenberg) ได้สร้างเครื่องพิมพ์แบบเรียงพิมพ์ (Letterpress) ขึ้น โดยต่อยอดขึ้นจากตัวพิมพ์ที่ในยุคนั้นมีอยู่ แล้วก็ บู้ม! เกิดไบเบิลเล่มแรกของโลก

โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก

ไบเบิลของกูเตนเบิร์ก

การเกิดขึ้นของแท่นพิมพ์ทำให้การผลิตหนังสือง่ายกว่าเดิมหลายเท่า ไม่ต้องมาอ่านออกเสียงให้เขียนตามอีกแล้ว แค่เรียงข้อความลงไป กลิ้งหมึก เข้าแท่น กดพิมพ์ ก็ได้หนังสือหนังหน้าออกมาแล้ว พอง่าย ก็กลายเป็นผลิตได้ในจำนวนที่มากขึ้น จากความรู้และพระคัมภีร์ที่จำกัดให้อยู่แต่ในอารามก็แพร่กระจายออกไปสู่มือคนทั่วไป ไม่ได้มีแต่นักบวชที่จะได้อ่านและตีความพระคัมภีร์ แถมนอกจากพระคัมภีร์แล้ว ตำรับตำรา วรรณกรรมยุคคลาสสิก (สมัยกรีกโรมันนู่น) วรรณกรรมจากยุคกลาง เรื่องทางกฎหมายต่างๆ ก็ถูกตีพิมพ์และเผยแพร่ออกไปด้วยเช่นกัน

เพราะแบบนั้น เรื่องที่มีโอกาสสาบสูญไปตามกาลเวลาไปก็เลยยังคงอยู่

แต่ถ้าจะบอกว่าการเกิดขึ้นของหนังสือเล่มเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเข้าถึงความรู้แล้ว การเกิดของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ที่ต่อไปจะขอเรียกทับศัพท์ไปเลยว่า “อีบุ๊ค” ก็ไม่ได้ส่งแรงกระเพื่อมไปน้อยกว่า

ต้องย้อนเวลาอีกตามเคย คราวนี้กลับไปในปี 1971 ไมเคิล เอส ฮาร์ท (Michael S. Hart)  นักศึกษามหาวิทยาลัยอิลินอยได้รับอนุญาตให้ใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมของมหาวิทยาลัยในแล็บ แถมได้บัญชีผู้ใช้ที่ไม่จำกัดเวลาใช้งานด้วย (ซึ่งมีมูลค่าสูงมากๆ ในสมัยนั้น) เขาอยากจะตอบแทนมหาวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่แล็บคอมพิวเตอร์ จึงตั้งใจว่าจะเผยแพร่หนังสืออย่างน้อย 10,000 เล่มสู่สาธารณะก่อนสิ้นสุดศตวรรษที่ 20 โดยหนังสือพวกนั้นต้องเข้าถึงได้ในราคาที่ถูกมากๆ หรือไม่ต้องจ่ายเงินได้ยิ่งดี

แล้วอีบุ๊คเล่มแรกก็เกิดขึ้นในตอนนั้น — เขาคัดลอกคำประกาศอิสรภาพอเมริกาให้อยู่ในรูปแบบข้อความอิเล็กทรอนิกส์ กลายเป็นอีบุ๊คเล่มแรกของโลก ที่ตอนนี้ก็ยังเข้าไปอ่านได้อยู่เลยนะ

มีโครงการแล้วก็ต้องมีชื่อ ฮาร์ทตั้งชื่อโปรเจ็กต์นี้ตามบิดาแห่งการพิมพ์ว่าโปรเจกต์กูเตนเบิร์ก (Project Gutenberg) ชื่อนี้เลยกลายเป็นทั้งชื่อของคนสร้างแท่นพิมพ์หนังสือเล่มคนแรก และชื่อของห้องสมุดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แห่งแรกของโลกไปพร้อมๆ กัน

ไมเคิล เอส ฮาร์ท (1947-2011) ผู้ก่อตั้งโปรเจ็กท์กูเตนเบิร์ก

ด้วยความว่าเป็นห้องสมุดออนไลน์ และมีหนังสือมากมายหลายหมด โปรเจกต์กูเตนเบิร์กก็เลยแบ่งอีบุ๊คในความดูแลออกเป็นสามหมวดใหญ่ๆ คือ

  • Light Literature หรือวรรณกรรมอ่านง่าย อย่างอลิซอินวอนเดอร์แลนด์ ปีเตอร์แพน นิทานอีสป
  • Heavy Literature หรือวรรณกรรมอ่านยากหน่อย อย่างงานของเชคสเปียร์ ข้อบันทึกทางศาสนาต่างๆ ไบเบิล พาราไดส์ลอสท์ โมบี้ดิ๊ก
  • References หรือหนังสืออ้างอิง หนังสือความรู้ต่างๆ สารานุกรม พจนานุกรมคำเฉพาะ

 

 

ไฟล์ที่มีให้ดาวน์โหลดก็มีทั้งเป็นเท็กซ์ล้วนสำหรับอ่านออนไลน์ ไฟล์ epub สำหรับอ่านด้วยโปรแกรมอ่านอีบุ๊คต่างๆ ทั้งในคอมพิวเตอร์และมือถือ แล้วก็ไฟล์ mobi สำหรับอ่านในเครื่องคินเดิล (Kindle) แถมมีให้เลือกทั้งแบบตัวหนังสือล้วนๆ สำหรับใครที่ต้องการความรวดเร็วฉับไว และแบบมีภาพประกอบ (กรณีที่ต้นฉบับมีรูปด้วย) สำหรับคนที่ต้องการรูปเล่มสำเนาที่สมบูรณ์แบบ เรียกได้ว่ามีตัวเลือกให้ดาวน์โหลดมากมายเลยทีเดียว

ส่วนใครที่กำลังสงสัยว่าแล้วเอาหนังสือมาปล่อยให้ดาวน์โหลดฟรีแบบนี้ไม่ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์เหรอ — หนังสือทุกเล่มในโปรเจกต์กูเตนเบิร์กเป็นหนังสือที่เป็น Public Domain หรือสาธารณสมบัติเรียบร้อย นั่นก็คือไม่มีใครสามารถอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของผลงานนั้นได้ ใครจะเอาไปทำอะไรก็ได้ (ผลงานที่ผู้สร้างเสียชีวิตไปแล้ว 90 ปีตามกฎหมายอเมริกา ประเทศที่ตัวโปรเจกต์นี้จดทะเบียนอยู่ก็เข้าข่ายเหมือนกัน) เพราะงั้นใครที่กังวลว่าดาวน์โหลดไปแล้วจะเป็นอะไรไหม ก็หายห่วงแล้วนะ

ในวันที่กำลังเขียนบทความนี้ โปรเจกต์กูเตนเบิร์กก็มีหนังสืออยู่ทั้งหมด 58,083 เล่มแล้ว ทั้งหมดเป็นฝีมือของอาสาสมัครที่ช่วยกันทำสำเนาหนังสือ ทั้งคัดลอกด้วยมือและใช้ซอฟต์แวร์ต่างๆ ช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้การเข้าถึงอีบุ๊คพวกนั้นยังคงไม่มีค่าใช้จ่าย สมกับเจตนารมณ์ของไมเคิล ฮาร์ทผู้ก่อตั้ง

ถึงโปรเจกต์กูเตนเบิร์กจดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องการเงินทุนหรือไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างน้อยก็ค่าบำรุงรักษาตัวเซิร์ฟเวอร์ล่ะ โดยทางโครงการเปิดรับบริจาคผ่านทาง Paypal ใครสนใจสามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ตามลิงก์นี้ได้เลย

นอกจากโปรเจกต์กูเตนเบิร์กแล้ว ยังมีอีกหลายองค์กรที่เผยแพร่อีบุ๊คให้ไปดาวน์โหลดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น

References:

  1. Free ebooks – Project Gutenberg
  2. The History and Philosophy of Project Gutenberg by Michael Hart
  3. Project Gutenberg

Written by Yanynn

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply