The Book Women​: บรรณารักษ์บนหลังม้า

เราอาจเคยได้ยินเรื่องของวีรบุรุษขี่ม้าขาวในนิทาน แต่ในชีวิตจริงยังมีผู้หญิงบนหลังม้ากลุ่มหนึ่งที่กล้าหาญและมหัศจรรย์ไม่แพ้กัน พวกเธอไม่ได้จับดาบสู้กับมังกรและเหล่าร้าย แต่เหล่าบรรณารักษ์สาวสุดแกร่งแห่งรัฐเคนตักกีมีหน้าที่ขี่ม้าไปยังสถานทื่ที่การเดินทางแสนลำบากเพื่อนำเอาหนังสือไปส่งให้แก่ผู้คนในพื้นที่ห่างไกล แน่นอนว่า งานนี้ไม่ง่ายเลยสักนิด

โครงการห้องสมุดบนหลังม้า (Pack Horse Library Initiative) ซึ่งจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1933 จากมาตรการเพื่อแก้ปัญหาการว่างงานของประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเซอเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) โดยการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาและเปิดตำแหน่งเพื่อรับคนเข้ามาทำงานสาธารณประโยชน์ เนื่องจากช่วงทศวรรษ 1930 เป็นช่วงที่สหรัฐอเมริกาเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) อุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องลดการผลิตลงและส่งผลให้เกิดอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น

สิ่งที่ทำให้โครงการห้องสมุดบนหลังม้าของรัฐเคนตักกีต่างจากโครงการอื่นที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายแก้ปัญหาคนว่างงานก็คือ คนที่ได้รับการว่าจ้างให้มาทำงานเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง บรรณารักษ์ในโครงการนี้จึงได้ฉายาว่า ‘Book Women’

เหตุผลของการจัดตั้งโครงการนี้ขึ้น เพราะคนที่อาศัยอยู่ในแถบแอพพาลาเชียน (Appalachian) ทางตะวันออกของรัฐเคนตักกีซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลและเข้าถึงลำบากขาดทรัพยากรทางการศึกษาและมีอัตราการอ่านออกเขียนได้ต่ำ จึงเป็นโอกาสอันดีในการจ้างงานและส่งเสริมการรู้หนังสือไปพร้อมกันแบบยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

งานของเจ้าหน้าที่ห้องสมุดเคลื่อนไม่ใช่แค่นำหนังสือไปให้คนในพื้นที่ขาดแคลนได้อ่าน แต่ยังมีงานผลิตหนังสือและสื่อต่าง ๆ เพื่อให้มีทรัพยากรที่เพียงพอต่อความต้องการ โดยนำนิตยสารและหนังสือพิมพ์ที่ได้รับบริจาคมาตัด คัดแยกหมวดหมู่ และเข้าเล่มเป็นสมุดรวมข่าว (scrapbook) เพื่อให้สะดวกต่อการขนย้าย สามารถให้ยืมไปอ่านได้ง่ายกว่า และนำเอาพวกการ์ดอวยพรทั้งหลายที่เหลือใช้มาสอดเป็นที่คั่น เพื่อป้องกันไม่ให้คนอ่านพับมุมหนังสือ (คนรักหนังสือทั้งหลายสบายใจได้)

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว เหล่า Book Women ก็จะนำหนังสือและสื่อสำหรับอ่านต่าง ๆ ไปให้ชาวบ้านและเด็ก ๆ โดยการเดินทางแต่ละครั้ง พวกเธอจะเดินทางบนหลังม้า (และลงเดินเป็นบางครั้ง) รวมเป็นระยะทางเกือบ 200 กิโลเมตร ในเส้นทางต้องผ่านทั้งภูเขา ผ่านทั้งป่า และอาจพบความเสี่ยงสารพัดระหว่างเดินทาง แต่อุปสรรคทั้งหลายก็ไม่สามารถยับยั้งเธอเหล่านี้ได้ และนับว่าสิ่งที่ลงแรงกายแรงใจทำนั้นคุ้มค่า จากบันทึกของบรรณารักษ์บนหลังม้าคนหนึ่งบอกว่า ผู้คนในเขตแอพพาลาเชียนมีความกระตือรือร้นที่จะอ่านและอยากเรียนรู้ให้อ่านเขียนได้ โดยเมื่อไปถึงจุดหมาย พวกเธอได้พบผู้คนที่เฝ้ารอจะยืมหนังสือไปอ่านและรอให้พวกเธออ่านหนังสือให้ฟังอย่างใจจดใจจ่อ และพวกเด็ก ๆ ก็ขอร้องให้พวกเธอนำหนังสือใหม่ ๆ มาให้อ่านอีก จะเป็นหนังสืออะไรก็ได้ที่พวกเขายังไม่เคยอ่าน

ในช่วงระยะเวลา 5 ปีแรกของโครงการ มีบรรณารักษ์บนหลังม้าถึง 274 คน และขยายพื้นที่ทำการไปในรัฐอื่น ๆ ใกล้เคียงด้วย โดยในปี 1943 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของโครงการที่ต้องยกเลิกไปเพราะใกล้เข้าสู่ภาวะสงครามโลกครั้งที่สอง มีคนทำงานนี้ถึงเกือบพันคน และเรื่องราวของเธอเหล่านี้ก็ทำให้คำพูดว่า ‘ฮีโร่ไม่จำเป็นต้องมีผ้าคลุม’ (แต่มีม้ากับหนังสือ) เป็นจริงเลยละ

References

  1. Horse-Riding Librarians Were the Great Depression’s Bookmobiles
  2. Pack Horse Library Project
  3. The Women Who Rode Miles on Horseback to Deliver Library Books
  4. Horseback librarians during the Great Depression

Written by Piyarak
Illustration by Nipaporn Vattanasiriporn

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply