Mother of Forensics: นักทำบ้านตุ๊กตากับคดีฆาตกรรมปริศนา

หลายคนมองว่าบ้านตุ๊กตาเป็นของเล่นน่ารักของเด็กผู้หญิง แต่บ้านตุ๊กตาของฟรานเซส เกลสเนอร์ ลี (Frances Glessner Lee ค.ศ. 1878–1962) ไม่ใช่ของเล่น ทว่าเป็นแบบฝึกหัดของแพทย์และตำรวจในการคลี่คลายคดีของจริง

ฟรานเซส เกลสเนอร์ เป็นลูกสาวคนเล็กของครอบครัวเกลสเนอร์ เธอเรียนหนังสือที่บ้านกับครูที่พ่อแม่จ้างมาสอน เนื่องจากจอร์จ พี่ชายของเธอมีสุขภาพไม่แข็งแรง เมื่อโตขึ้น จอร์จได้เข้าเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างฮาวาร์ด แต่ฟรานเซสไม่ได้เรียนต่อ เนื่องจากผู้ปกครองไม่เห็นความจำเป็นที่ลูกสาวจะต้องเรียนหนังสือในระดับสูง ต่อมาเธอแต่งงานกับบลีเว็ตต์ ลี (Blewett Lee) เพื่อนทนายความของพี่ชาย มีลูกด้วยกันสามคน แต่ท้ายที่สุดก็ลงเอยด้วยการหย่าขาดจากกัน

แม้จะไม่ได้รับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แต่ความกระตือรือร้นสนใจในทางวิชาการของฟรานเซสก็ไม่ได้หยุดนิ่ง ในวันหนึ่ง เธอได้พบกับจอร์จ เบอร์เกส แมแกรธ (George Burgess Magrath) เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยของพี่ชาย ซึ่งเป็นหัวหน้าแพทย์สอบสวน (Chief Medical Examiner) ของซัฟโฟล์คเคาน์ตี รัฐแมสซาชูเซ็ตต์ ผู้ทำหน้าที่ตรวจศพและเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบสวนเพื่อสืบสวนหาสาเหตุการตายในเบื้องต้น เมื่อได้พูดคุยกัน ฟรานเซสจึงได้เรียนรู้เกี่ยงกับการตรวจที่เกิดเหตุ ความยากลำบากในการคลี่คลายคดี และความขาดแคลนอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้ฝึกบุคคลด้านนิติวิทยาศาสตร์ เธอเห็นว่าการหาพยานหลักฐานตาม ‘ลางสังหรณ์’ ไม่ได้ช่วยไขคดี แต่สร้างความเสียหายมากกว่า

จากจุดเริ่มต้นนั้น ฟรานเซสได้เริ่มรวบรวมข้อมูลและทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับช่วยตำรวจในการตรวจที่เกิดเหตุอย่างเป็นระบบ เมื่อได้รับมรดกมา เธอเป็นผู้สนับสนุนการจัดตั้งภาควิชานิติเวชวิทยาในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดบริจาคเงินเพื่อซื้อหนังสือที่จำเป็นกับงานนิติวิทยาศาสตร์เข้าห้องสมุด และเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานสืบสวนสอบสวนมารับประทานอาหารเย็นและพูดคุยเกี่ยวกับคดีและการพิสูจน์หลักฐาน จากนั้นเธอจึงเริ่มใช้ความชำนาญด้านงานฝีมือที่เธอมีอยู่ในการสร้างแบบจำลองสามมิติในสัดส่วน 1/12 จากขนาดจริง หรือ ‘บ้านตุ๊กตา’ ที่มีฉากฆาตกรรมเสมือนจริง โดยอาศัยข้อมูลจากคดีที่เกิดขึ้นจริงมาเป็นอุปกรณ์ฝึกการเข้าพื้นที่เกิดเหตุเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานต่าง ๆ อย่างถูกต้องและเป็นระบบ

แบบจำลองที่เกิดเหตุของฟรานเซสมีความสมจริงในทุกรายละเอียด ไม่ว่าตำแหน่งของศพ รอยเลือดบนผนัง หรือแม้กระทั่งสภาพของห้องที่เต็มไปด้วยเขม่าและเถ้าถ่านของสถานที่ที่เกิดเพลิงไหม้ รวมไปถึงรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งห้อง เหตุผลของเธอในการทำทุกอย่างให้เหมือนจริง ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ผู้เรียนรู้สังเกตว่าเหยื่อตายอย่างไร ควรจะตรวจดูอะไรภายในห้องบ้างเท่านั้น เธอยังต้องการให้สภาพห้องสะท้อนถึงลักษณะ ตัวตน สถานะของเหยื่อฆาตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการบ่งชี้อัตลักษณ์ของบุคคลและอาจชี้นำไปสู่บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือคนร้ายด้วย

ฟรานเซส เกลสเนอร์ ลีย้ำว่า วัตถุประสงค์หลักของ ‘บ้านตุ๊กตา’ นี้มีไว้เพื่อให้นักศึกษาและเจ้าหน้าที่ฝึกทักษะการรวบรวมข้อมูล การสังเกต การคิดวิเคราะห์ และการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และ ‘เครื่องมือ’ ที่เหมือนของเล่นที่เธอริเริ่มทำขึ้นก็ทำให้เธอได้ฉายาว่า ‘มารดาแห่งนิติวิทยาศาสตร์’ (Mother of Forensics) เนื่องจากเธอมีส่วนสำคัญในการสร้างบุคคลากรที่มีทักษะที่จำเป็นต่อการพิสูจน์หลักฐานและสืบสวนสอบสวนอย่างมีหลักการนั่นเอง

ผลงานแบบจำลองสถานที่เกิดเหตุของฟรานเซสชุด The Nutshell Studies of Unexplained Death ในปัจจุบันเป็นสมบัติของภาควิชานิติเวชศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกาและเคยมีการนำออกแสดงที่ Renwick Gallery เพื่อให้ผู้คนได้รู้จักและได้ชมมรดกชิ้นสำคัญของผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาการพิสูจน์หลักฐาน เรื่องของเธอทำให้เราเห็นว่า แม้จะในโลกและยุคสมัยที่ผู้ชายมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรการศึกษามากกว่าผู้หญิง แต่ไม่มีอุปสรรคใดที่หยุดยั้งเธอจากการเรียนรู้ และเมื่อมีโอกาสได้ลงมือสร้างสรรค์และมีคนเห็นความสามารถ เสียงพูดและผลงานของผู้หญิงก็ทำประโยชน์มหาศาลและสร้างพื้นฐานสำคัญในการสร้างบุคคลากรทางนิติวิทยาศาสตร์ได้

หมายเหตุ ชมผลงานและทำความรู้จักกับฟรานเซส เกลสเนอร์ ลีมากขึ้นสามารถเข้าไปชมภาพบ้านและที่เกิดเหตุจำลองแบบออนไลน์ได้ที่ Death in Diorama

 

References

1. Lee, Frances Glessner. “Legal Medicine at Harvard University.” The Journal of Criminal Law, Criminology, and Police Science 42, no. 5 (1952): 674-78. doi:10.2307/1139962.

2. Frances Glessner Lee, Harvard Magazine

3. Frances Glessner Lee (1878–1962)

4. The Grim Crime-Scene Dollhouses Made by the ‘Mother of Forensics’

5. Murder Is Her Hobby: Frances Glessner Lee and The Nutshell Studies of Unexplained Death

6. The Tiny, Murderous World Of Frances Glessner Lee

Written by Piyarak
Illustration by Nipaporn Vattanasiriporn

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply